เงินเฟ้อและโลกร้อน พาราคาขนมพุ่ง รับ Halloween - Forbes Thailand

เงินเฟ้อและโลกร้อน พาราคาขนมพุ่ง รับ Halloween

เมื่อกล่าวถึงวันฮาโลวีน (Halloween) คงไม่พ้นต้องกล่าวถึงการที่เด็กๆ จะพากันแต่งตัวเป็นภูตผีปีศาจไปเคาะประตูตามบ้านและถามว่า “หลอกหรือเลี้ยง? (Trick or Treat?)” หากเลือกหลอกอาจได้รับการกลั่นแกล้งพอเป็นสีสัน ในขณะที่หากเลือกเลี้ยงก็เป็นการแบ่งปันความสุขเล็กๆ แก่ผู้มาเยือน น่าเสียดายที่ต้องแจ้งให้ทราบว่าฮาโลวีนปีนี้ ขนมหวานต่างๆ มีราคาแพงขึ้น ซึ่งนี่ไม่ใช่เรื่องหลอกแต่อย่างใด


    ปัญหาเงินเฟ้อเรื้อรังมายาวนานในสหรัฐอเมริกา และได้ส่งผลต่ออุตสาหกรรมขนมทั่วประเทศรับวันฮาโลวีนติดต่อกันเป็นปีที่สองแล้ว จากรายงานเมื่อต้นเดือนตุลาคม 2023 ขนมและลูกอมต่างๆ มีราคาสูงขึ้น 12.8% เทียบกับปี 2022 และคิดเป็นสองเท่าเทียบกับการขึ้นราคาของสินค้ากินใช้ประเภทอื่นซึ่งเพิ่มขึ้น 6.7%

    สาเหตุสำคัญคือการขาดแคลนวัตถุดิบหลักอย่างน้ำตาลและเมล็ดโกโก้ สืบเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับราคาปุ๋ยที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้พื้นที่เพาะปลูกอ้อยและโกโก้ไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้มากเท่าที่ควร

    สหรัฐฯ พึ่งพาน้ำตาลนำเข้าจากเม็กซิโกซึ่งมีการผลิตตกลงกว่า 15% ในปีนี้อันเป็นผลจากภัยแล้ง อีกทั้งองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ยังเปิดเผยว่าราคาน้ำตาลในตลาดโลกพุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 13 ปีเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ด้วยปรากฏการณ์เอลนีโญส่งผลต่อการผลิตในอินเดียและไทย ซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่ของโลก

​เมล็ดโกโก้ วัตถุดิบสำหรับผลิตช็อกโกแลต


    อย่างไรก็ตาม แม้น้ำตาลราคาแพง ก็ยังมีสิ่งให้ความหวานทดแทนได้ ทว่าสำหรับเมล็ดโกโก้ที่นำมาทำช็อกโกแลตนั้นแตกต่างออกไป การเพาะปลูกต้นโกโก้ทำได้เฉพาะภูมิภาคใกล้เส้นศูนย์สูตรเท่านั้น ที่ขึ้นชื่อคือฝั่งตะวันตกของทวีปแอฟริกา ซึ่งเผชิญภัยแล้งหนักในปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ราคาพุ่งทะยาน เร็วๆ นี้มีรายงานราคาโกโก้ในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์สูงถึง 3,800 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน ซึ่งเป็นราคาสูงสุดในรอบครึ่งทศวรรษ

    ทางสมาคมผู้ผลิตลูกกวาดแห่งชาติ (National Confectioners Association) เผยว่าวันฮาโลวีนถือเป็นโอกาสทองในการดันยอดขายของธุรกิจขนม โดยคาดการณ์ว่าชาวอเมริกันจะใช้จ่ายกับขนมหวานราว 3.6 พันล้านเหรียญสำหรับฮาโลวีนปีนี้ เพิ่มจากปีที่แล้ว 16% ซึ่งก็มาจากการขึ้นราคาสินค้าสู้ค่าวัตถุดิบที่แพงขึ้นของบรรดาบริษัทอาหารด้วยเช่นกัน ทำให้บริษัทสามารถทำกำไรได้แม้ผู้บริโภคจะซื้อของน้อยลงก็ตาม แต่นั่นก็อาจไม่ใช่กลยุทธ์ที่เหมาะสมในระยะยาว

    ตัวอย่างหนึ่งคือผู้จำหน่ายขนมชื่อดัง Hershey ฝั่งอเมริกาเหนือที่ขึ้นราคาสินค้ามากกว่า 7% ตลอด 7 ไตรมาสที่ผ่านมา ในช่วงแรกพวกเขายังสามารถทำกำไรได้ แต่ล่าสุด Hershey เผยว่าปริมาณการขายตกลง 1% ระหว่างเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2023

    “เรารู้ว่ามูลค่าและราคาที่จับต้องได้ยังคงเป็นสิ่งสำคัญสูงสุดสำหรับผู้บริโภคในยามที่ต้องรัดเข็มขัด” Michele Buck ซีอีโอของ Hershey กล่าวโดยอ้างถึงวิกฤตด้านการเงินและค่าครองชีพที่กำลังเป็นปัญหาสำคัญในสหรัฐฯ

แบรนด์ขนมภายใต้ Hershey รับวัน Halloween


    Buck ยังเผยว่าจะมีการปรับกลยุทธ์ อาจมีการขายขนมชิ้นเล็กลงในราคาที่ถูกลง หรือเจาะตลาดร้านขายของราคาถูก แต่สำหรับตอนนี้พวกเขาฝากความหวังไว้ที่วันฮาโลวีน โดยในปีนี้ผู้บริโภคเริ่มซื้อขนมหวานสูงขึ้นเมื่อใกล้ถึงวันฮาโลวีน ต่างจากปีก่อนที่มีการซื้อล่วงหน้ากันมากกว่า Hershey จึงขอไม่ยอมแพ้จนกว่าจะผ่านพ้นวันที่ 31 ตุลาคมไป

    อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมยอดขายสินค้าประเภทขนมของสหรัฐฯ ยังคงเติบโต ผู้วิจัยตลาด NIQ เผยว่านับจาก 30 กันยายน 2022 ถึง 30 กันยายน 2023 ยอดขายเป็นราคาตามร้านค้าปลีกเพิ่มขึ้น 10.7% แม้ว่ายอดขายเป็นหน่วยจะตกลงราว 2.8% ก็ตาม



อ่านเพิ่มเติม : L’Oreal แถลงเติบโตต่อเนื่อง คว้ารางวัลด้านสิ่งแวดล้อม

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine