เครือข่าย Ivy League และ Ivy-Plus สายเลือดและความมั่งคั่งของกลุ่มอภิมหาเศรษฐี - Forbes Thailand

เครือข่าย Ivy League และ Ivy-Plus สายเลือดและความมั่งคั่งของกลุ่มอภิมหาเศรษฐี

สถาบันการศึกษาชั้นนำระดับแนวหน้าของสหรัฐอเมริกาเปรียบเสมือนประตูสู่ตำแหน่งแห่งความมั่งคั่งและอำนาจ จำนวนนักศึกษามหาวิทยาลัยชื่อดังสิบสองแห่งของประเทศคิดเป็นเพียง 0.8% ของนักศึกษาทั้งหมด ทว่าในบรรดาผู้มีรายได้สูงสุดของประเทศ กลับเป็นบัณฑิตจากสถาบันในกลุ่มที่เรียกว่า Ivy-Plus ไปแล้ว 13% และยังครอบครองพื้นที่ 12% บนทำเนียบ Fortune 500 CEOs ของนิตยสาร Fortune 


    ศิษย์เก่าของสถาบัน Ivy-Plus ยังได้รับตำแหน่งสำคัญในรัฐสภาและกองบรรณาธิการ New York Times มากเกินสัดส่วนเสียด้วย โดย Ivy-Plus เป็นคำเรียกกลุ่มมหาวิทยาลัยชั้นนำของสหรัฐฯ ที่มีชื่อเสียงและการแข่งขันสูงเทียบเคียงกับสถาบันกลุ่ม Ivy League ทั้ง 8 แห่งอันเป็นสถาบันเก่าแก่และโด่งดังที่สุดของประเทศ 

    จึงเป็นเรื่องน่ากังวลเมื่อนักเรียนซึ่งเติบโตมาในครอบครัวที่มั่งคั่งมีโอกาสเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัย Ivy-Plus มากกว่าคนอื่น แม้จะนำวุฒิการศึกษาด้านวิชาการมาร่วมพิจารณาแล้วก็ตาม 

    ในบรรดานักเรียนมัธยมปลายชนชั้นกลางที่ได้คะแนน SAT หรือ ACT ในกลุ่มเปอร์เซ็นไทล์ที่ 99 มีราว 10% เข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัย Ivy-Plus แต่มองลึกลงไปยังหมู่นักเรียนจากครอบครัวอภิมหาเศรษฐีที่มีคะแนนสอบเท่ากัน เกือบครึ่งเข้าศึกษาต่อที่หนึ่งในสถาบันชั้นนำทั้งสิบสองแห่งของประเทศ 

    ผลการวิจัยใหม่โดยนักเศรษฐศาสตร์ Raj Chetty, David Deming และ John Friedman ใช้ชุดข้อมูลใหม่เพื่อสืบหาสาเหตุที่เป็นเช่นนี้ พวกเขาพบว่านักเรียนที่มีพ่อแม่ร่ำรวยได้รับผลประโยชน์จากการสมัครเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยชั้นนำอย่างใหญ่หลวงชนิดที่หนังสือรับรองวุฒิการศึกษาเพียงอย่างเดียวไม่สามารถนำมาอธิบายได้หมด


แผนภูมิแสดงจำนวนบัณฑิตจากสถาบัน Ivy-Plus ในแวดวงต่างๆ


    นอกเหนือจากนี้บัณฑิตจากสถาบันมีชื่อเสียงชั้นนำยังคว้าโอกาสสำคัญต่างๆ ไปเป็นจำนวนมากเมื่อเทียบกับบัณฑิตจากสถาบันที่มีชื่อเสียงน้อยกว่า 

    ผลการวิจัยชี้ว่า การรับสมัครนักศึกษาของมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับแนวหน้าจะยุติธรรมกว่านี้หากเจ้าหน้าที่รับเข้าศึกษายึดถือปัจจัยทางวิชาการมากกว่านี้ เช่น คะแนน SAT เป็นต้น ในขณะเดียวกันผลการวิจัยนี้ก็ควรจะเป็นเสมือนสัญญาณเตือนนายจ้างทั้งหลายให้ลดการให้น้ำหนักกับชื่อสถาบัน และพิจารณาคุณสมบัติของแต่ละบุคคลในการจ้างงานมากกว่า

    

เมื่อนักศึกษาผู้ร่ำรวยย่างเข้า Harvard

     

    ความแตกต่างอันมีผลมาจากรายได้ซึ่งมีผลต่ออัตราการเข้าศึกษาในสถาบันชั้นนำสามารถแบ่งออกเป็นสามขั้นในกระบวนการสมัครเข้าเรียน ได้แก่ การส่งใบสมัคร การได้รับข้อเสนอให้เข้าศึกษา และการเข้าศึกษาอย่างเป็นทางการหลังตอบรับข้อเสนอ 

    ทีมผู้วิจัยพบว่า นอกเหนือจากคะแนนสอบตามมาตรฐานแล้ว นักเรียนจากครอบครัวรายได้สูงมีแนวโน้มสมัครเข้าศึกษาในสถาบัน Ivy-Plus สูงกว่าเล็กน้อย ซึ่งความแตกต่างในอัตราการสมัครนี้เองที่อธิบายราว 22% ของช่องว่างที่เกี่ยวข้องกับรายได้ในอัตราการมาเข้าศึกษาต่อ (Attendance Rates) ที่สถาบันเหล่านี้ 

    ความแตกต่างของอัตราการสมัครเข้าศึกษา นักเรียนจากครอบครัวรายได้สูงที่มาสมัครมีโอกาสได้รับจดหมายตอบรับจากมหาวิทยาลัย Ivy-Plus มากกว่า ความต้องการนักศึกษาที่มีความสามารถทางกีฬาประมาณ 16% ของการตอบรับจากมหาวิทยาลัย 

    ส่วนพื้นที่อีก 20% เต็มไปด้วยข้อเท็จจริงที่ว่าเจ้าหน้าที่รับเข้าศึกษามอบหมายภาระหน้าที่นอกเหนือจากเรื่องวิชาการให้นักเรียนที่มั่งคั่งมากกว่า เช่น กิจกรรมนอกหลักสูตรต่างๆ (เป็นเรื่องปกติที่นักเรียนจากครอบครัวร่ำรวยจะใช้จ่ายเงินเพื่อบทเรียนเสริมอื่นๆ ได้อย่างง่ายดาย) 

    อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสำคัญที่เอื้อผลประโยชน์แก่นักเรียนที่มั่งคั่งในการสมัครเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยชั้นนำคือความต้องการผู้สมัครจากครอบครัวที่มีประวัติกับทางสถาบัน (Legacy Preference) หรือก็คือลูกหลานของศิษย์เก่านั่นเอง เปรียบเทียบผู้สมัครสองคนที่มีคุณสมบัติอื่นๆ เหมือนกันทุกประการ คนที่มีพ่อแม่เคยเรียนที่สถาบันมาก่อนมีโอกาสได้จดหมายตอบรับสูงกว่าคนที่ไม่ได้เป็นทายาทศิษย์เก่าถึงสามเท่า 

    การรับทายาทศิษย์เก่าเข้าศึกษาเช่นนี้อาจเป็นวิธีการรับประกันเงินบริจาคจากศิษย์เก่าผู้ร่ำรวย อันที่จริงผู้สมัครมหาวิทยาลัยมีชื่อเสียงเก่าแก่จากชนชั้นกลางมีโอกาสได้รับเลือกเข้าศึกษาเพิ่มขึ้นสามเท่าหากเป็นลูกหลานศิษย์เก่า ทว่าผู้สมัครที่เป็นลูกหลานศิษย์เก่าในกลุ่มประชากรรายได้สูงมีโอกาสมากกว่าถึงห้าเท่า ซึ่งความต้องการทายาทศิษย์เก่านี้เองคือสาเหตุของช่องว่าง 30% อันเกี่ยวเนื่องกับรายได้ในอัตราการมาเข้าศึกษาต่อในสถาบันกลุ่มนี้

สัดส่วนนักเรียนที่ได้รับคัดเลือกเข้า Harvard ด้วยปัจจัยต่างๆ


    ส่วนช่องว่างที่เหลือมาจากอัตราการเข้าศึกษาอย่างเป็นทางการ ผู้สมัครที่มั่งคั่งเมื่อตอบรับข้อเสนอแล้วมีแนวโน้มลงทะเบียนเรียนสูงกว่าเล็กน้อย เน้นว่าเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ทีมผู้วิจัยพิจารณาสาเหตุสำคัญน่าจะเพราะนักศึกษาที่ร่ำรวยกว่าส่วนใหญ่แล้วจะตัดสินใจตั้งแต่การรับสมัครเข้าศึกษารอบ Early ซึ่งเป็นการบังคับให้ตกลงกลายๆ 

    (การรับสมัครเข้าศึกษาของสหรัฐฯ จะแบ่งเป็นรอบ Early และ Regular หากตอบรับมหาวิทยาลัยใดในรอบ Early แล้วจะไม่สามารถสมัครที่อื่นได้ ส่วน Regular เป็นรอบปกติ สามารถสมัครได้หลายที่) 

    อัตราการเข้าศึกษาอย่างเป็นทางการคิดเป็น 12% ของช่องว่างที่เกี่ยวกับรายได้ ในทัศนะของทีมผู้วิจัย ข้อเท็จจริงเหล่านี้แนะว่า “อุปสรรคทางการเงินไม่ใช่แรงขับเคลื่อนสำคัญอันก่อให้เกิดความแตกต่างในอัตราการมาเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัย Ivy-Plus ด้วยรายได้ของผู้ปกครอง”

    

สถาบันชั้นนำเปิดทางสู่หน้าที่การงานระดับสูง

     

    ต่อมาทีมผู้วิจัยลงลึกว่าการได้เข้าเรียนในสถาบันการศึกษาชั้นนำทำให้นักศึกษาเหล่านี้คว้าตำแหน่งหน้าที่การงานระดับสูงและเงินเดือนจำนวนมากได้อย่างไร การเปรียบเทียบงานของผู้ที่เข้าศึกษาในสถาบันชั้นนำกับนักศึกษาจากสถาบันอื่นไม่อาจชี้ชัดผลกระทบของมหาวิทยาลัยมีชื่อเสียง เพราะนักศึกษาเหล่านี้มีความแตกต่างกันในมิติอื่นๆ ด้วย เช่น ฐานะของครอบครัว 

    ดังนั้นทีมผู้วิจัยจึงเลือกใช้วิธีการที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น เช่น การเปรียบเทียบนักศึกษาที่ได้รับการตอบรับจากสถาบันชั้นนำอย่างหวุดหวิด กับนักศึกษาที่ถูกปฏิเสธไปอย่างน่าเสียดาย สำหรับนักศึกษาที่ได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัย Ivy-Plus ทีมผู้วิจัยสำรวจทั้งชีวิตหลังเรียนจบและจำลองสถานการณ์ชีวิตหากพวกเขาไปเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยชื่อดังประจำรัฐแทน วิธีการนี้ช่วยให้สามารถชี้ชัดผลกระทบของสถาบัน Ivy-Plus กับตัวเลือกที่ดีรองลงมาได้ 

    ผลการจำลองค่อนข้างผิดคาด ทีมนักวิจัยพบว่าผลกระทบของการเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัย Ivy-Plus เป็นเรื่องเล็กสำหรับนักเรียนที่มีลักษณะเหมือนกัน บัณฑิตโดยทั่วไปจากสถาบัน Ivy-Plus อยู่ในกลุ่มเปอร์เซ็นไทล์ที่ 79 ว่าด้วยรายได้เมื่อเข้าทำงาน ส่วนในการจำลองหากพวกเขาเข้าเรียกมหาวิทยาลัยชื่อดังของรัฐแทน ปรากฏว่าอยู่ในกลุ่มเปอร์เซ็นไทล์ที่ 77 นับว่าไม่ต่างกันมาก 

 แผนภูมิแสดงผลประโยชน์ที่บัณฑิตจากสถาบัน Ivy-Plus ได้รับ 

    

    ทว่าสถาบัน Ivy-Plus ส่งผลกระทบอย่างยิ่งกว่าด้านโอกาสคว้าตำแหน่งสูงและมีหน้ามีตาในสังคม นักศึกษาจากสถาบันชั้นนำแห่งใดแห่งหนึ่งมีโอกาสเป็นกลุ่มผู้มีรายได้สูงสุดซึ่งมีเพียง 1% ของประเทศถึง 44% แม้ผลกระทบของสถาบัน Ivy-Plus โดยเฉลี่ยจะไม่ได้หวือหวา ก็กลับมีความสำคัญอย่างมากในช่วงหลังของชีวิต 

    นอกจากนี้ยังมีเรื่องของโอกาสที่ไม่ได้เป็นตัวเงินอีกด้วย บัณฑิตจากมหาวิทยาลัย Ivy-Plus มีโอกาสสูงกว่าราวสองเท่าในการเข้าเรียนต่อระดับปริญญาโทในสถาบันมีชื่อเสียงโด่งดัง และยังมีความเป็นไปได้สูงถึง 173% ที่จะได้เข้าทำงานในบริษัทระดับแนวหน้า ซึ่งอาจนิยามได้ว่าเป็นบริษัทที่ดึงดูดใจบรรดานักศึกษาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำ แต่ให้เงินเดือนต่ำกว่าค่าเฉลี่ย สาเหตุที่นักข่าว New York Times จำนวนมากจบการศึกษาจากสถาบันเครือ Ivy-League นั้นมีอยู่

    

ทลายการผูกขาดของ Ivy League

     

    มหาวิทยาลัย Ivy-Plus แสดงออกอย่างมีนัยสำคัญว่าต้องการผู้สมัครเข้าศึกษาที่มีฐานะทางการเงินสูงกว่า แม้จะพิจารณาวุฒิการศึกษาต่างๆ แล้วก็ตาม บัณฑิตจากสถาบันชั้นนำยังมีมากเกินสัดส่วนในกลุ่มผู้มีรายได้สูงสุด 1% ของประเทศ ตลอดจนยึดงานที่ได้รับการเชิดหน้าชูตาและตำแหน่งหัวหน้าไปเป็นจำนวนมาก 

    ในขณะที่กลุ่มผู้สนับสนุนให้ผู้คนเข้าศึกษาระดับมหาวิทยาลัยต้องการให้มหาวิทยาลัยต่างๆ เป็นเสมือนเครื่องยนต์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สถาบัน Ivy-Plus กลับเป็นอุปสรรคขัดขวาง แล้วจะทำอย่างไรกันได้บ้าง?

    

    การรับเข้าศึกษาต่อควรยึดเอาข้อสอบมาตรฐานเป็นเกณฑ์ให้มากขึ้น

    

    นักวิจารณ์กล่าวว่าการสอบ SAT และ ACT เอื้อประโยชน์ให้นักศึกษาจากครอบครัวมีฐานะที่สามารถจ่ายเงินค่าคอร์สเตรียมสอบ แต่ผลวิจัยของ Chetty แสดงให้เห็นว่าโดยสรุปแล้วนักศึกษาที่มั่งคั่งยังคงมีโอกาสสมัครเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษามากกว่าแม้จะนำคะแนนสอบมาตารฐานเหล่านี้มาร่วมพิจารณาแล้วก็ตาม เพราะพวกเขามีคุณสมบัตินอกเหนือจากด้านวิชาการ เช่น การเป็นนักกีฬา และการเป็นทายาทศิษย์เก่า

SAT ข้อสอบมาตรฐานสากลวัดความถนัดวิชาคณิตศาสตร์และภาษาอังกฤษ

     

    เมื่อเป็นดังนั้น การเน้นไปที่ข้อสอบมาตรฐานและลดการให้ความสำคัญกับปัจจัยนอกเหนือจากด้านวิชาการอาจช่วยเพิ่มความแตกต่างทางเศรษฐกิจสังคมในการเข้าศึกษาต่อได้ ถ้าแบบสุดโต่งก็คือ สุ่มเลือกนักศึกษาจากผู้สมัครที่มีคะแนน SAT สูงกว่า 1500 คะแนนจะช่วยให้มีนักศึกษาจากกลุ่มครอบครัวรายได้น้อยและปานกลางมากขึ้นในสถาบันการศึกษาชั้นนำ

    แต่สถาบันการศึกษาเหล่านี้ไม่น่าจะทำเช่นนี้ การปฏิเสธนักศึกษาที่เป็นลูกหลานศิษย์เก่าผู้มั่งคั่งย่อมกระทบรายได้ของพวกเขา (แน่นอนว่า มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่กำลังดำเนินไปในทิศทางตรงกันข้าม)

    

ขยายขนาดของมหาวิทยาลัยชั้นนำ

     

    จำนวนนักศึกษาที่เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยหลักสูตรสี่ปีเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวตลอดสี่สิบปีมานี้ แต่สถาบันชั้นนำระดับแนวหน้าส่วนใหญ่ยังไม่ขยายปริมาณการรับเข้าศึกษา แม้ปัจจัยที่นำมาพิจารณาคัดเลือกจะยังคงเดิม แต่การขยายจำนวนนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยรับได้จะเปิดโอกาสกว่าเก่าให้นักศึกษาจากครอบครัวรายได้น้อยและปานกลางสร้างรายได้เพิ่มขึ้น ทำงานอาชีพระดับสูง และได้ตำแหน่งผู้นำในองค์กร มีผู้สมัครที่คุณสมบัติยิ่งกว่าเหมาะสมมาเติมเต็มชั้นเรียนต่างๆ ในมหาวิทยาลัย Ivy-Plus เหล่านี้

ยอดพีระมิด พื้นที่ของเหล่าอภิสิทธิชน


    ทว่าสถาบันการศึกษาชั้นนำไม่น่าจะขยับขยายปริมาณการรับเข้าศึกษาตราบเท่าที่พวกเขายังคงเชื่อว่ามูลค่าปริญญาของพวกเขาผูกพันอย่างลึกซึ้งกับการจำกัดที่ดูพิเศษ บางทีความสามารถของสถาบันเหล่านี้ในการผลักบัณฑิตสู่กลุ่มผู้มีรายได้สูงสุด 1% ของประเทศอาจเป็นเรื่องของแบรนด์เสียส่วนใหญ่

    นายจ้างชั้นนำเสนอเงินจำนวนมากเพื่อชิงตัวผู้สมัครเข้าทำงานที่จบการศึกษาจาก Harvard หรือ Yale เพราะพวกเขารู้ดีว่าปริญญาเหล่านี้มีเพียงน้อยนิด หากมหาวิทยาลัยที่ถูกเลือกเหล่านี้มีความน่าเลือกน้อยลงสักนิด ก็อาจทลายภาพลวงที่ว่าปริญญาจากสถาบัน Ivy-Plus มีมูลค่าแท้จริงเหนือกว่ามหาวิทยาลัยสำคัญประจำรัฐ

    

ยกเลิกความต้องการที่ไม่สมเหตุสมผลในการคัดเลือกผู้สมัคร

     

    คณะกรรมการคัดเลือกผู้สมัครเข้าศึกษาของมหาวิทยาลัยกลุ่ม Ivy League คงไม่คิดเปลี่ยนพฤติกรรมของตน แต่เราที่เหลือไม่จำเป็นต้องตามน้ำไปด้วย ง่ายๆ แค่ในการคัดเลือกเรซูเม่ผู้สมัครงาน นายจ้างสามารถมองข้ามชื่อสถาบันและใส่ใจคุณสมบัติอื่นของผู้สมัครให้มากกว่าแทน New York Times ควรสนใจพิจารณาบัณฑิตจาก University of Kansas ให้มากเท่าที่พวกเขาสนใจศิษย์เก่า Ivy League

    ข้อเท็จจริงที่ว่าการคัดเลือกผู้สมัครเข้าศึกษาต่อของสถาบัน Ivy-Plus ให้น้ำหนักกับปัจจัยนอกเหนือจากด้านวิชาการอย่างความมั่งคั่งของผู้ปกครองและสถานะทายาทศิษย์เก่า ควรอธิบายให้เห็นภาพได้ชัดเจนว่าปริญญาจาก Ivy-Plus ไม่ใช่ตัวชี้วัดความเป็นเลิศทางวิชาการที่เชื่อถือได้ตามที่ทุกคนเชื่อ

    นายจ้างอาจจะละทิ้งความต้องการด้านชื่อเสียงสถาบัน หันมาเลือกจ้างงานจากทักษะและประสบการณ์ของผู้สมัครงานจะดีกว่า ซึ่งจะช่วยให้ผู้จบการศึกษาจากทุกสถาบันมีโอกาสได้งานที่ยอดเยี่ยม ไม่ใช่เพียงกลุ่มที่มาจากครอบครัวมีฐานะเท่านั้น

    มหาวิทยาลัยชั้นนำนิยมชมชอบอภิสิทธิ์ชน และเป็นเรื่องยากหากต้องการเปลี่ยนแปลงพวกเขา ทว่าเราที่เหลือสามารถปฏิเสธพวกเขาได้ ตั้งแต่สถานะการเป็นผู้ผูกขาดประตูสู่ตำแหน่งแห่งความมั่งคั่งและอำนาจ นั่นเป็นหนทางที่ดูมีหวังที่สุดเพื่อสร้างความยุติธรรมในการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย

    

    แปลและเรียบเรียงจาก New Study Investigates Why Elite Colleges Favor Rich Kids ซึ่งเผยแพร่บน Forbes

    

    อ่านเพิ่มเติม : Stephanie Barber เติมความมั่นใจใส่วิก ผมร่วงแค่ไหนก็ไม่หวั่น

    ​ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine