อ่านความคิดของ Regeneron บริษัทยาผู้เฝ้าหาจังหวะแหกกฎตลาด - Forbes Thailand

อ่านความคิดของ Regeneron บริษัทยาผู้เฝ้าหาจังหวะแหกกฎตลาด

FORBES THAILAND / ADMIN
13 Nov 2018 | 11:50 AM
READ 7501

Leonard Schleifer ประณามความละโมบของบริษัทยาอื่นๆ แล้วยารักษาผื่นคันราคา 37,000 เหรียญสหรัฐฯ ของเขาล่ะ

Regeneron ต้องใช้เวลา 24 ปีจึงจะสามารถสร้างผลตอบแทนคืนให้กับนักลงทุนที่ทุ่มทุนนับพันล้านเหรียญได้ และในเวลานี้บริษัทกำลังทำเงินได้ดีทีเดียว โดยในปีที่แล้วทำกำไร 1.2 พันล้านเหรียญจากยอดขายทั้งสิ้น 6 พันล้านเหรียญ ขณะที่ Wall Street ประเมินมูลค่าของบริษัทไว้ที่ 3.7 หมื่นล้านเหรียญ Leonard Schleifer กับ George Yancopoulos นักวิทยาศาสตร์ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทร่วมกับเขานั้นต่างก็มีพื้นเพอยู่ในเขต Queens ทั้งสองทำเงินเข้ากระเป๋าได้มหาศาล โดย Schleifer รับไป 1.3 พันล้านเหรียญ ส่วนมากแล้วมาจากหุ้นใน Regeneron ขณะที่ Yancopoulos ได้ไป 900 ล้านเหรียญ ทำให้เขาเกาะกลุ่มหัวหน้านักวิจัยที่มีรายได้สูงสุดคนหนึ่งเท่าที่เคยมีมาเมื่อนับรวมทุกกลุ่มอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม Regeneron ซึ่งมูลค่าหุ้นลดลง 40% จากที่เคยทำราคาสูงสุดไว้ในปี 2015 ยังไม่สามารถทำผลงานได้ตามความคาดหมายเท่าที่ควร Regeneron ป้อนยาเข้าสู่ตลาด 6 รายการ โดยที่ Yancopoulos มีส่วนร่วมในการผลิตทั้งหมด แต่มีเพียง Eylea เท่านั้นที่ประสบความสำเร็จ ทำยอดขายทั่วโลกไปได้ปีละ 6 พันล้านเหรียญ โดยมี Bayer ซึ่งทำการตลาดนอกสหรัฐฯ ให้กับยาตัวนี้ ได้ส่วนแบ่งไปประมาณ 20% Eylea ทำรายได้คิดเป็น 80% ของรายได้รวมของ Regeneron อย่างไรก็ตาม ยาอื่นอีก 4 รายการถือเป็นข้อผิดพลาดเล็กน้อย
Leonard Shleifer ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Regeneron
ในเวลานี้ความสนใจทั้งหมดอยู่ที่ Dupixent ยารักษาผื่นคัน และอาจช่วยรักษาอาการหอบหืดได้ด้วย วาณิชธนกิจอย่าง Leerink ประเมินว่า Dupixent อาจจะทำยอดขายได้ถึง 5 พันล้านเหรียญ แต่ยอดขาย Dupixent ในเวลานี้ยังคงน่าผิดหวังสำหรับหลายๆ คน “เราคิดว่าผู้บริหารน่าจะมีปัญหาเรื่องความน่าเชื่อถือกับพวกนักลงทุน” Dane Leone นักวิเคราะห์ประจำวาณิชธนกิจ BTIG กล่าว Schleifer กับ Yancopoulos ไม่มีวันเสียสิทธิควบคุม Regeneron อย่างแน่นอน เพราะเขามีหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนน แต่การจะทำให้ยา Dupixent เป็นที่นิยมได้นั้นจะต้องเผชิญแง่มุมลับทางการตลาดต่างๆ มากมายที่ทำให้ยาอื่นๆ ของ Regeneron โซซัดโซเซมาแล้ว ในกระบวนการอันซับซ้อน นักพัฒนายาจะกำหนดราคายาตัวใหม่ๆ เอาไว้สูงลิบ จากนั้นจึงเข้าทำสัญญาส่วนลดกับคนกลางที่เรียกว่า ผู้จัดการผลประโยชน์ทางเภสัชกรรม เงินส่วนลดนี้จะนำไปจ่ายให้กับบริษัทประกันหรือนายจ้างที่ต้องจ่ายเงินให้กับบริษัทประกัน เท่ากับว่าแผนประกันต่างๆ จะเอื้อประโยชน์ให้กับยาตัวหนึ่งมากกว่าอีกตัวหนึ่งด้วยเหตุผลด้านการเงิน Schleifer บอกว่า “ต้องตั้งระบบกันใหม่” ทั้งหมด แต่ตอนนี้ เขาจำต้องเล่นตามเกมไปก่อน แง่มุมทางการตลาดที่ว่านั้น Schleifer อธิบายว่า “ผู้ป่วยกำลังโดนทำร้าย” ผู้ป่วยในแผนประกันที่ต้องรับผิดชอบส่วนแรกเป็นเงินที่สูงมากนั้นมักจะต้องจ่ายในราคาแนะนำ ขณะที่ผู้จัดการผลประโยชน์ของพวกเขาจะเก็บส่วนลดเอาไว้เพื่อนำไปส่งต่อให้กับนายจ้าง ไม่ใช่ให้กับผู้ป่วย Schleifer บอกด้วยว่า สิ่งนี้เองที่น่าจะทำให้เป็นเรื่องยากที่เขาจะลดราคายารักษาโรคข้อรูมาตอยด์ Kevzera (ยอดขายปีละ 13 ล้านเหรียญ) เพราะว่าบริษัทอื่นๆ ต้องจ่ายส่วนลดของผลิตภัณฑ์ตัวเองเป็นเงินมากมายเลยทีเดียว ความแตกต่างระหว่างยาราคา 1 หมื่นเหรียญพร้อมส่วนลด 4,000 เหรียญ กับยาราคา 6,000 เหรียญ คือ ยาตัวแรกจะทำให้ผู้จัดการผลประโยชน์เอาไปโฆษณาได้ว่า เขาจะสามารถประหยัดเงินให้ได้และส่งเงินส่วนต่างนั้นกลับไปให้บริษัทที่ซื้อแผนประกันสุขภาพ “ผมอยากให้ระบบส่วนลดนี้หมดไป” Schleifer กล่าว อย่างไรก็ตาม ตอนนี้เขาต้องทนไปก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากต้องการให้ Dupixent แสดงผลงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
George Yancopoulos ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิทยาศาสตร์ของ Regeneron ต้องสวมรองเท้าหุ้มข้อเพราะอาการบาดเจ็บจากการเล่นบาสเกตบอล กีฬาที่มีความดุเดือดในตัว กับ Len Schleifer ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ซึ่งยืนอยู่ด้านหน้า Tarrytown ใน New York ที่เป็นห้องทดลองที่นำดีเอ็นเอของคน 5 แสนคนมาจัดเรียงกัน
Dupixent อาจเป็นยาเปลี่ยนชีวิตสำหรับผู้ป่วยที่เป็นผื่นคันเรื้อรังได้เลยทีเดียว ก่อนหน้านี้ Stephen Orel ทนายความวัย 58 ปี จาก New York City สวมเสื้อสีขาวไม่ได้เลยเพราะเลือดจะซึมออกมาจากแผลตามผิวหนัง ร้านซักแห้งถึงกับไม่ยอมซักเสื้อผ้าให้เขาอีกต่อไป หลังจากที่ใช้ยา Dupixent มา 1 ปี เขาบอกว่าผิวของเขาไม่เหมือนผิวตัวเองเลย “ตอนนี้ผมรู้สึกเป็นไท” ผู้ป่วยจะต้องได้รับยา Dupixent ทุก 2 สัปดาห์ ไปตลอดเพื่อให้มีอาการปกติ อย่างไรก็ตาม ในเวลานี้นักลงทุนต่างวิตกกันว่า Schleifer จะไม่พยายามทำอะไรมากพอที่จะทำให้บรรดาผู้จัดการผลประโยชน์พอใจได้ หรืออาจจะไม่สามารถเลยด้วยซ้ำ ในไตรมาสแรกยอดขาย Dupixent อยู่ที่ 131 ล้านเหรียญ ต่ำกว่าคาดการณ์ของ Wall Street ถึง 22% คำถามสำคัญกว่านั้นคือ Dupixent จะประสบความสำเร็จในการรักษาอาการหอบหืดได้จริงหรือไม่ Geoffrey Porges จากวาณิชธนกิจ Leerink โต้ว่า ผู้ป่วยโรคหอบหืดกลุ่มที่แสดงอาการแพ้มากที่สุดรักษาด้วย Dupixent ได้ผลมากกว่ายาคู่แข่งอย่าง Nucala ของค่าย GlaxoSmithKline หรือ Fasenra ของ AstraZeneca สองเท่าตัว แต่ Phil Nadeau นักวิเคราะห์ประจำ Cowen แย้งว่า ผลิตภัณฑ์ทั้งหมดมีความคล้ายคลึงกันมากจนเรื่องเงินต่างหากที่จะเป็นตัวตัดสินส่วนแบ่งทางการตลาด ไม่ใช่เรื่องยา นั่นคือเกมส่วนลดที่เล่นกันมานานแล้วนั่นเอง แต่ Porges กล่าวปกป้อง Schleifer กับ Yancopoulos ที่กล้าทำอะไรแตกต่าง “พวกเขาอาจจะขวานผ่าซากและคิดไม่เหมือนใคร แต่พวกเขามีความเชื่อมั่นในอะไรบางอย่าง ยากมากที่จะพบคนที่เชื่อมั่นในอะไรบางอย่างในอุตสาหกรรมนี้” แปลว่าจะมีการเดิมพันที่รุกหนักยิ่งกว่าเดิมเสียอีก ในปีที่ผ่านมา Regeneronเซ็นสัญญากับองค์กรการกุศลของสหราชอาณาจักร เพื่อนำดีเอ็นเอของคนครึ่งล้านมาจัดเรียง โดยหวังว่าจะนำไปสู่การค้นพบที่จะทำให้ได้ยาใหม่ๆ นอกจากนี้ยังจัดการทดสอบยาที่จะมาเป็นคู่แข่งของ Keytruda ยารักษามะเร็งขายดีของ Merck ด้วย ตลาดนี้อาจจะมีมูลค่าถึง 1.2 หมื่นล้านเหรียญ แต่บรรดานักวิเคราะห์มองว่า Merck กับคู่แข่งสำคัญอย่าง Bristol-Myers Squibb คุมเกมไว้หมดแล้ว สิ่งที่นักลงทุนต้องการจึงเป็นยาใหม่ๆ ที่ออกฤทธิ์ในรูปแบบใหม่ๆ “ผมว่ามันไม่ใช่เรื่องของลักษณะเฉพาะตัวหรอก” Schleifer กล่าว “มันคือเรื่องของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่จะเปลี่ยนชีวิตผู้ป่วยได้” กล่าวได้อลังการแต่ก็มีเหตุผลไม่น้อย   เรื่อง: Matthew Herper และ Ellie Kincaid เรียบเรียง: ปาริชาติ ชื่นชม