ด้วยราคาประเมิน 2 หมื่นล้านเหรียญทำให้ WeWork ขึ้นแท่นกลายเป็นหนึ่งในบริษัทสตาร์ทอัพที่มีมูลค่าสูงที่สุดของสหรัฐฯ และเป็นรองเพียง Uber และ Airbnb เป้าหมายของบริษัทไม่ใช่แค่สร้างพื้นที่ทำงานร่วมกันแต่มุ่งสร้างสรรค์ประสบการณ์การทำงานที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง
“ทุกวันนี้ผมยังตื่นเต้นจนขนลุกทุกครั้งที่นึกถึง” Adam Neumann ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอของ WeWork กล่าวถึงเมื่อครั้งที่ Masayoshi Son ประธานบริหาร Softbank แวะมาชมสำนักงานของเขาโดยให้เวลาเพียง 12 นาที จากนั้นก็ชวน Neumann กระโจนขึ้นรถของเขาซึ่งกลายเป็นที่มาของการเดินทางมูลค่า 2 หมื่นล้านเหรียญ แผนการลงทุนของ Softbank ใน WeWork ถูกร่างขึ้นใน iPad ของ Son เมื่อรถไปถึงจุดหมาย Son ก็ลงนามบนร่างสัญญา พร้อมยื่นปากกาให้ Neumann ลงนาม ในนั้นระบุใจความสำคัญของการเป็นพันธมิตรระดับโลกด้วยกัน จากสัญญาที่ทำขึ้นบนเบาะด้านหลังรถ ทนายความได้สรุปข้อตกลงด้านการลงทุนเป็น 2 ส่วน สำหรับก้อนแรก Softbank จะลงทุนโดยตรงใน WeWork เป็นมูลค่า 3 พันล้านเหรียญ ส่วนเงินก้อนที่ 2 มูลค่า 1.4 พันล้านเหรียญ จะนำไปขยายกิจการของ WeWork เพื่อเปิดสาขาใหม่ 3 แห่งในเอเชีย ได้แก่ WeWork Japan, WeWork Pacific และ WeWork China ในการดำเนินธุรกิจ Neumann และทีมงานจะเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างตลอดจนบริหารพื้นที่สำนักงาน ส่วน Softbank รับหน้าที่จัดการดูแลสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทกับผู้คนและหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ เพื่อกรุยทางการทำธุรกิจให้กับบริษัท ในการปิดดีลระดมทุนที่กรุง Tokyo เมื่อเดือนมีนาคม 2017 Neumann เดินทางไปพร้อมกับ Miguel McKelvey ซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง WeWork เขาเป็นอดีตนักบาสเก็ตบอลทีม University of Oregon ที่ยังดูหนุ่มแน่นแม้ตอนนี้ก้าวสู่วัย 43 ปี “Masa หันมาหาผมและถามว่า ‘ในการแข่งขันใครจะเป็นผู้ชนะระหว่างคนฉลาดกับคนบ้า’” Neumann กล่าว “ผมตอบว่า ‘คนบ้า’ แล้วเขาก็จ้องมาที่ผมและว่า ‘ถูกต้อง แต่คุณและ Miguel ยังบ้าไม่พอ’” ทว่าคนที่บ้าที่สุดเห็นจะเป็น Son เมื่อพิจารณาจากมูลค่ามหาศาลที่เขาประเมินไว้สูงถึง 2 หมื่นล้านหรียญเทียบเคียงกับบรรดาธุรกิจสตาร์ทอัพในสหรัฐฯ แล้ว ตัวเลขนี้จะเป็นรองก็เพียง Uber และ Airbnb เท่านั้น WeWork ดำเนินธุรกิจให้เช่าสำนักงานแต่ไม่ได้เป็นเจ้าของพื้นที่ให้เช่าในรูปแบบเดียวกันกับ Uber และ Airbnb ที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการให้บริการ โดยบริษัทจะเช่าเหมาพื้นที่ขนาดใหญ่แล้วนำมาปรับปรุงใหม่เพื่อปล่อยเช่าต่อในราคาที่สูงขึ้นสำหรับความทันสมัยของสถานที่และสิ่งอำนวยความสะดวกทุกอย่างที่มีไว้บริการ ไม่ว่าจะเป็นอินเทอร์เน็ต พนักงานธุรการ ห้องรับจดหมาย และบริการทำความสะอาด (พร้อมกาแฟและเบียร์ฟรี) บริษัท WeWork ก่อตั้งขึ้นในปี 2010 โดยเริ่มจากพื้นที่เล็กๆ ใน New York และขยายธุรกิจจนมีสาขา 163 แห่ง ปัจจุบันพวกเขาบริหารจัดการพื้นที่เช่ารวมกันกว่า 10 ล้านตารางฟุตให้กับสมาชิก 150,000 ราย และคาดว่าจะทำรายได้ตามเป้าที่ตั้งไว้มูลค่า 1.3 พันล้านเหรียญสำหรับปี 2017 (อัตรากำไรจากยอดขายอยู่ที่ราว 30%) ก่อนที่ Son จะเข้ามาร่วมทุน บริษัทต่างๆ อย่างเช่น Benchmark, Fidelity, Goldman Sachs และ JPMorgan ได้ควักกระเป๋ารวมแล้ว 1.55 พันล้านเหรียญเพื่อลงทุนใน WeWork โดยมองว่าวิธีประเมินมูลค่าแบบเดิมๆ ใช้ไม่ได้กับโมเดลธุรกิจรูปแบบใหม่ที่มีศักยภาพเปลี่ยนแปลงโลกได้ Jamie Dimon ซีอีโอของ JPMorgan ยกให้ WeWork เป็นเทรนด์ใหม่แห่งการใช้ชีวิตโดยกล่าวว่า “พวกเขาได้สร้างธุรกิจแบบใหม่ที่เกิดจากการผสมผสานระหว่างการให้บริการด้านที่พักและเทคโนโลยีเข้าด้วยกันซึ่งแตกต่างจากตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่เคยมีอย่างสิ้นเชิง” ปัจจุบันรายได้จากบรรดาบริษัทขนาดใหญ่คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 30% ของยอดขายแต่ละเดือน ซึ่ง WeWork ตอบโจทย์ที่ทำให้พนักงานของบริษัทใหญ่สามารถพบปะสมาชิกรายอื่นใน co-working space สำหรับบริษัทที่กำลังขยายกิจการ WeWork นำเสนอทางเลือกใหม่โดยไม่ต้องวุ่นวายกับการเสาะหาสำนักงาน เจรจาต่อรองสัญญาออกแบบตกแต่งและจ้างผู้รับเหมา แนวคิดธุรกิจที่มีสไตล์การรวมตัวช่วยเหลือกันของชุมชนแบบนี้นั้น เกิดจากประสบการณ์ชีวิตของทั้งสองผู้ร่วมก่อตั้ง Neumann และ McKelvey เติบโตมาจากคนละมุมของโลก ทว่าชีวิตช่วงวัยเด็กของพวกเขาผ่านการย้ายที่อยู่บ่อยครั้งและต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากชุมชนเหมือนกัน โดย Neumann เกิดที่อิสราเอลในครอบครัวแพทย์ แต่พ่อแม่หย่าขาดกันตอนเขายังเด็ก เมื่ออายุ 22 ปีเขาย้ายบ้านมาแล้วถึง 13 ครั้ง หลังจากรับใช้ชาติเป็นทหารเรือของอิสราเอล เขาจึงได้ย้ายไป New York ส่วน McKelvey เติบโตใน Eugene รัฐ Oregon ท่ามกลางกลุ่มแม่เลี้ยงเดี่ยว ช่วงวัยเด็กเขาต้องอพยพย้ายบ้านบ่อยครั้งและต้องอาศัยอาหารฟรีจากรัฐบาลเพื่อประทังชีวิต McKelvey เป็นนักศึกษาหัวดี เคยเป็นนักกีฬาบาสเก็ตบอลทีมโรงเรียน Colorado College ก่อนย้ายไป University of Oregon เขาต้องจัดสรรเวลาระหว่างการเล่นทีมโรงเรียนที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงและการทุ่มเทเล่าเรียนในสาขาสถาปัตยกรรม พวกเขาเจอกันที่ New York โดยการแนะนำของเพื่อนและสนิทสนมกันอย่างรวดเร็ว Neumann เคยเปิดธุรกิจเสื้อผ้าเด็กชื่อ Egg Baby โดยแบ่งพื้นที่สำนักงานส่วนหนึ่งเพื่อให้เช่า McKelvey ในตอนนั้นทำงานเป็นสถาปนิก และ Neumann ได้พูดคุยถึงแผนการเช่าพื้นที่ว่างราคาไม่แพงแล้วนำมาเปลี่ยนเป็นออฟฟิศเพื่อเปิดให้คนมาทำงานร่วมกัน ในที่สุดพวกเขาเปิดตัวธุรกิจ coworking space ที่เน้นความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมโดยใช้ชื่อว่า Green Desk ในย่าน Brooklyn ซึ่งได้รับความนิยมในทันที ปัจจุบัน ภายในสำนักงานใหญ่ของ WeWork มีหน้าจอระบบสัมผัสขนาด 60 นิ้วตั้งอยู่ โดยแสดงภาพปักหมุดระบุที่ตั้งสาขาทั้ง 63 แห่งของบริษัทบน Google Map ซอฟต์แวร์ภายใต้ลิขสิทธิ์ของ WeWork ที่จะเปลี่ยนทุกอย่างให้กลายเป็นข้อมูล เพียงใช้นิ้วเคาะที่หน้าจอจะปรากฏสถานะงานก่อสร้าง การจัดส่งของและซ่อมบำรุง หากใช้นิ้วลากก็จะเห็นข้อมูลทำเลที่มีศักยภาพพอจะพัฒนาเป็นสาขาแห่งใหม่ ซึ่งประกอบด้วยระบบขนส่งสาธารณะ ร้านกาแฟ สถานที่ออกกำลังกายและแบรนด์ค้าปลีกที่มาเปิดละแวกใกล้เคียงที่จะเป็นสัญญาณบอกว่าพื้นที่ในย่านนั้นพร้อมแล้วหรือไม่ ในบางมุม WeWork ดูเหมือนเป็นธุรกิจสายการบินมากกว่าบริษัทด้านอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องพยายามจัดวางพื้นที่ให้จุที่นั่งได้มากที่สุดพร้อมมีสิ่งอำนวยความสะดวกและบริการอันน่าพอใจเพื่อดึงดูดผู้โดยสาร แต่ภายในเครื่องบินมีการออกแบบจัดผังที่นั่งเป็นมาตรฐาน แต่พื้นที่สาขาแต่ละแห่งของ WeWork มีขนาดและข้อจำกัดแตกต่างกัน WeWork เคยดัดแปลงทั้งโรงภาษี โรงเบียร์ โกดังสินค้าและโรงงานฝิ่นเก่าใน Shanghai มาเป็นพื้นที่สำนักงาน เพื่อใช้สอยพื้นที่ให้คุ้มค่า WeWork ได้นำเทคโนโลยีสแกนภาพ 3 มิติมาเป็นเครื่องมือในการวัดระยะและจำลองโมเดลเสมือนจริงขึ้นมาก่อนลงมือสร้างจริง เทคโนโลยีแสดงความหนาแน่นของคนด้วยความร้อนจะเก็บข้อมูลการเข้าใช้บริการและการใช้พื้นที่และนำข้อมูลเหล่านี้มาวิเคราะห์เพื่อปรับพื้นที่ส่วนกลาง โต๊ะทำงาน และห้องประชุม ให้มีความเหมาะสม ประสิทธิผลที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีนี้จะออกมาเป็นผลผลิตที่โดดเด่นไม่เหมือนใคร ยกตัวอย่างเช่น WeOs ระบบปฏิบัติการอัจฉริยะที่จะทำให้ WeWork เป็นบริการที่กลายเป็นสิ่งจำเป็นแม้แต่กับบริษัทที่ไม่ได้ต้องการเช่าพื้นที่ทำงานร่วมกัน โดย WeWork จะให้บริการออกแบบตกแต่งและดูแลบริหารสำนักงานให้กับบริษัทต่างๆ วิธีการก็คือจะนำเอาสีสันการทำงานแบบ WeWork เข้าไปปรับบรรยากาศออฟฟิศที่เคร่งขรึมและดูน่าเบื่อ เรื่อง: Steven Bertoni เรียบเรียง: นวตา สันติวัฒนาอ่านฉบับเต็ม "วิถีแห่ง WeWork" ได้ใน นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับ ธันวาคม 2560 ในรูปแบบ E-Magazine