สองพี่น้อง Collison นำฟินเทค Stripe ฝ่าวิกฤต - Forbes Thailand

สองพี่น้อง Collison นำฟินเทค Stripe ฝ่าวิกฤต

FORBES THAILAND / ADMIN
17 Sep 2022 | 12:30 PM
READ 4121

สองพี่น้องเศรษฐีพันล้าน John และ Patrick Collison สร้าง Stripe จนกลายเป็นสตาร์ทอัพที่ได้รับการพูดถึงมากที่สุด และมีมูลค่าสูงที่สุดแห่งหนึ่งของโลกด้วยมูลค่าราว 9.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่ในเวลานี้ "ผู้พลิกโฉมอุตสาหกรรม" อย่างพวกเขาต้องหาทางหนีจากการถูกพลิกโฉมเสียเอง

แหล่งข่าวที่มีข้อมูลการเงินของ Stripe เผยว่า ในปีที่ผ่านมาบริษัทให้บริการประมวลผลการชำระเงินใน 50 ประเทศทั่วโลก รวมมูลค่า 6.4 แสนล้านเหรียญ คิดเป็นรายได้เกือบ 1.2 หมื่นล้านเหรียญในปี 2021 หรือเพิ่มจากปีก่อนหน้านั้น 60% โดยมากแล้วมาจากการเก็บค่าธรรมเนียมในอัตรา 2-3% เมื่อหักส่วนแบ่งให้กับพันธมิตร เช่น Visa และ Chase แล้ว Stripe มีรายได้สุทธิเกือบ 2.5 พันล้านเหรียญ ตัวเลขทางการเงินของ Stripe น่าทึ่งมาก จึงไม่น่าแปลกใจที่นักลงทุนระดับ Fidelity และกองทุนพัฒนาแห่งชาติไอร์แลนด์เพิ่มเงินลงทุนอีก 600 ล้านเหรียญไปเมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้ว ส่งผลให้จำนวนเงินระดมทุนรวมจนถึงตอนนี้เพิ่มเป็น 2.4 พันล้านเหรียญ โดยมีการประเมินมูลค่าบริษัทที่ 9.5 หมื่นล้านเหรียญ เป็นรองเพียง Bytedance (เจ้าของ TikTok) Shein (ยักษ์ใหญ่แห่งธุรกิจอี-คอมเมิร์ซในจีน) และ SpaceX ของ Elon Musk ในศึกชิงตำแหน่งสตาร์ทอัพที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก สองพี่น้อง Collison เติบโตขึ้นมาก จากเจ้าหนูมหัศจรรย์เกินวัยที่เรียกเสียงว้าวกระหึ่ม Silicon Valley ด้วยโค้ดเพียง 9 บรรทัดเมื่อ 12 ปีที่แล้ว เวลานี้ Stripe มีเครื่องมือทางการเงินให้บริการมากมาย รองรับการทำงานทุกอย่างตั้งแต่ระบบจ่ายเงินให้กับนักขับของ DoorDash ไปจนถึงการทำภาษีสำหรับการชำระเงินทางแอป Duolingo และการสมัครสมาชิก Atlantic โดยมีหัวใจสำคัญคือ Patrick และ John Collison ที่ยังคงตรวจสอบผลิตภัณฑ์ทุกชิ้นก่อนวางจำหน่าย สองพี่น้องยังจัดทำบันทึกปัญหาที่ผู้ใช้งานพบเจอขณะใช้งาน Stripe ด้วยตนเอง บางครั้ง Patrick ยังเข้ามาจัดการเรื่องโค้ดอีกด้วย

ก้าวแรกสู่วงการฟินเทค

ตอนอายุได้ 17 ปี Patrick คว้าแชมป์การแข่งขันรายการใหญ่ระดับประเทศ ซึ่งจัดขึ้นให้กับบรรดานักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ โครงการของเขาเอาชนะ Lisp ภาษาโปรแกรมที่พัฒนาขึ้นโดย MIT และคว้าอันดับ 2 ในการแข่งขันระดับสหภาพยุโรป ในปี 2009 John ออกเดินทางสู่เมือง Cambridge ตามรอยพี่ชายโดยเข้าศึกษาที่ Harvard ช่วงนั้นพวกเขามีความคิดที่จะเขียนโค้ดโปรแกรมงานเบื้องหลังที่เรียกว่า API (ส่วนต่อประสานโปรแกรมประยุกต์) เพื่อที่จะสามารถเพิ่มตัวเลือกบัตรเครดิตทางเว็บไซต์ได้ง่ายขึ้น ในวันแสดงผลงาน (Demo Day) สองพี่น้องไม่ได้เสนอบริษัทของตัวเองซึ่งตอนแรกมีชื่อเรียกว่า /dev/payments แต่ YC ก็ตัดสินใจเข้าลงทุน พวกเขาลาออกจากวิทยาลัยในอีก 1 ปีให้หลัง และย้ายไปอยู่ Buenos Aires ชั่วคราว ที่นั่นเองที่พวกเขาอาศัยร้านกาแฟเปิดตัวเครื่องมือที่กลายมาเป็น Stripe ในที่สุด API ของพวกเขาได้ผล บวกกับเรื่องเล่าเบื้องหลัง และคำสัญญาของ Patrick ที่จะ “สานต่อสิ่งที่ PayPal ทิ้งไว้” ไปโดนใจ Michael Moritz แห่ง Sequoia (เขาเองเป็นผู้อพยพจากเวลส์) หลายสัปดาห์หลังจากที่ Stripe เปิดตัวในปี 2010 Moritz ก็เข้าลงทุนรอบ Seed พร้อมกับบรรดาเศรษฐีพันล้านแห่ง PayPal ไม่ว่าจะเป็น Max Levchin, Peter Thiel และ Elon Musk และยังเป็นผู้นำการระดมทุนรอบซีรีส์ A ได้อีก 18 ล้านเหรียญในปี 2012 ผู้ร่วมก่อตั้ง Stripe ดึงดูดผู้ใช้งานยุคแรกๆ ด้วยเครื่องมือทรงพลังที่เรียกว่า “Collison Installation” ซึ่งปัจจุบันยังใช้กันอยู่ที่ YC  พนักงานชุดแรกของ Stripe เป็นคนรุ่นเยาว์ที่มีหัวคิดผู้ประกอบการ พวกเขาจะทดสอบระบบกับ Patrick และ John เป็นประจำทุกสัปดาห์ที่ Bernal Heights ใน San Francisco และพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างภาคภูมิใจโดยใช้วิศวกรเพียง 1-2 คน วิธีการนี้ช่วยให้ Stripe สามารถเปิดตัวผลิตภัณฑ์หลักรายการที่ 2 ได้อย่างรวดเร็วในปี 2012 เพื่อรองรับลูกค้ารุ่นแรกที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซอย่าง Shopify หรือแอปเรียกรถอย่าง Lyft โดยมี Stripe Connect คอยอำนวยความสะดวกในการชำระเงินต่อไปยังร้านค้าและคนขับ ไม่นานนักลูกค้าอื่นๆ ก็ตามมา เช่น Amazon, Wayfair, Instacart และ Postmates “Stripe คือเครื่องมือจัดระเบียบอี-คอมเมิร์ซ” Elad Gil นักลงทุนรุ่นแรกกล่าว “ไม่ต้องไปทดลองลงทุนในสตาร์ทอัพให้ครบทุกที่หรอก แค่ Stripe ก็พอ”

ความท้าทายที่ธุรกิจต้องเผชิญในช่วงวิกฤต

การทำงานในทุกวันนี้ยากกว่าปีที่แล้ว ย้อนกลับไปตอนนั้นคำถามสำคัญที่สุดสำหรับ Stripe มีเพียง พวกเขาจะเริ่มเสนอขายหุ้นแก่ประชาชนทั่วไป (IPO) เมื่อไร แต่เวลานี้การระบาดของโรคโควิดยังคงยืดเยื้อ สงครามอันป่าเถื่อนในยุโรป วิกฤตพลังงานทั่วโลก และห่วงโซ่อุปทานที่หักสะบั้นกลายเป็นความวิตกกังวลที่ยังหาทางออกไม่ได้ ดัชนี S&P 500 ปรับตัวลดลงเกือบ 20% แล้วในปีนี้ ขณะที่ยักษ์ใหญ่สายเทคโนโลยีที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์กลับแย่เสียยิ่งกว่า ธุรกิจน้อยใหญ่สัมผัสได้ถึงคลื่นแห่งความไร้เสถียรภาพ Stripe ซึ่งเป็นกลไกขับเคลื่อนการทำธุรกรรมในทุกสิ่งทุกอย่าง ยืนประจันหน้ากระแสคลื่นอยู่แถวหน้าเลยทีเดียว การเป็นบริษัทเอกชนอาจจะดีกว่าในวิกฤตเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้น เมื่อเดือนมีนาคม Fidelity จำเป็นต้องปรับปรุงมูลค่าการถือครองหุ้นของตน และได้ปรับลดมูลค่าของ Stripe ลงไป 20% บริษัทยูนิคอร์น (สตาร์ทอัพที่มีการประเมินมูลค่าตั้งแต่ 1 พันล้านเหรียญขึ้นไป) ส่วนใหญ่ซื้อขายกันในตลาดรองด้วยมูลค่าที่ลดลงจากรอบการร่วมลงทุนอย่างเป็นทางการครั้งสุดท้ายถึง 20-40% บรรดาธุรกิจที่มีความใกล้เคียงกับ Stripe มากที่สุดที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เช่น Adyen, PayPal และ Square ต่างมีมูลค่าหุ้นปรับลดลงกว่า 40% แล้วในปีนี้ อย่างไรก็ตามสำหรับนักลงทุนหน้าใหม่ หุ้นของ Stripe ใช่ว่าจะได้กันมาง่ายๆ และยังคงเป็นที่ต้องการเป็นจำนวนมาก จากรายการธุรกรรมเมื่อไม่นานมานี้บอกเป็นนัยๆ ว่า มีมูลค่าสูงถึง 1.65 แสนล้านเหรียญตามข้อมูลของ EquityZen ซึ่งเป็นตลาดซื้อขายหุ้นก่อน IPO ใน New York Jordan McKee นักวิเคราะห์ประจำ 451 Research มองว่า หากจะมีดาวรุ่งสายเทคโนโลยีรายใดที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในเวลานี้ย่อมต้องมีชื่อของ Stripe เป็นผู้สมัครด้วยแน่ๆ

แผนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่

เช่นเดียวกับผู้ประกอบการทุกแห่ง พี่น้อง Collison จะต้องสำรวจเส้นทางใหม่นี้ พวกเขากำลังผลักดัน Stripe เข้าสู่ตลาดใหม่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และตะวันออกกลาง ขณะเดียวกันก็ต้องจัดส่งผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ พวกเขากำลังต่อยอดจากผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ด้วยการพา Stripe เจาะลึกเข้าไปสู่ระบบการเงินที่ไหลเวียนของบริษัทและลูกค้าต่างๆ พวกเขาเริ่มทำธุรกิจนายหน้าสินเชื่อสำหรับธุรกิจขนาดย่อม และออกบัตรเครดิตสำหรับนิติบุคคล นอกจากนี้ ยังลือกันว่าพวกเขากำลังสำรวจธุรกิจใหม่อย่างสิ้นเชิง เช่น การทำบัญชีทั้งหมดนั้นท่ามกลางการแข่งขันที่ทวีความเข้มข้นและยังต้องเอาใจลูกค้าธุรกิจรายใหม่ๆ ที่มีความต้องการสูงอย่าง Ford และ Maersk ไปในเวลาเดียวกัน ผมมองว่า ธุรกิจที่ไม่ต้องหาเช้ากินค่ำในแต่ละวันจะกลายเป็นเฉื่อยและขี้เกียจ” John Collison กล่าว “เรายังมีรายการสิ่งที่อยากทำมากกว่านี้อีก เท่า” เวลานี้ลูกค้ารายใหญ่อย่าง Shopify ใช้บริการ Stripe ในการประมวลผลการชำระเงินมูลค่านับพันนับหมื่นล้าน แต่ลูกค้าส่วนมากยังคงเป็นบริษัทขนาดกลางและย่อม เช่น Gaelic Athletic Association องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ประหยัดเงินกว่า 1 ล้านเหรียญด้วยการให้สโมสรในเครือที่กระจายอยู่ทั่วโลกบริหารสมาชิกของตนเอง ซึ่งมีอยู่รวมกันราว 500,000 คนผ่านทาง Stripe ช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ในปีแรก Postmates ผู้ให้บริการส่งอาหารมียอดขายเพิ่มขึ้น 70 ล้านเหรียญ และยังประหยัดค่าธรรมเนียมได้อีกหลายล้านเหรียญจากการใช้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของ Stripe เพื่อกู้คืนรายการและการเรียกเก็บค่าบริการที่ดำเนินการไม่สำเร็จ รวมทั้งการใช้งานอื่นๆ ทุกวันนี้ Stripe มีระบบการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ซับซ้อน มีปัจจัยพิจารณาทั้งความซับซ้อนของกฎหมาย มูลค่าในเชิงกลยุทธ์ และความจำเป็นเร่งด่วนของลูกค้า “มันเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง” John กล่าว “เมื่อข้อเท็จจริงเปลี่ยนไป มุมมองของคุณต้องเปลี่ยนตาม” Patrick กล่าวเสริม “ท้ายที่สุดแล้วสิ่งสำคัญคือ ลูกค้าเห็นว่าเรามีประโยชน์หรือไม่” โดยมากแล้วหมายถึง การให้ความสำคัญกับฝ่ายวิจัยและพัฒนา ในเรื่องของการผสมผสานการพัฒนาต่างๆ ที่ใช้งานได้จริง เช่น เพิ่มการชำระเงินในประเทศกำลังพัฒนา หรือปรับปรุงร้านค้าแอปพลิเคชันที่เพิ่งเปิดใหม่ แต่ก็หมายถึงการติดตามผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และจับคู่ผลิตภัณฑ์ด้วย เช่น Link ซึ่งเป็นระบบเช็กเอาต์เพียงคลิกเดียวของ Stripe และเป็นคู่แข่งโดยตรงกับ Bolt ธุรกิจสตาร์ทอัพใน Miami ที่เพิ่งระดมทุนได้จากการประเมินมูลค่าบริษัทที่ 1.1 หมื่นล้านเหรียญส่งผลให้ Ryan Breslow ผู้ก่อตั้งขึ้นแท่นเศรษฐีพันล้านทันที
Dhivya Suryadevara
"ข้อเท็จจริงที่ว่า เรากำลังบริหารเงินของคนอื่นอยู่นั้นทำให้มาตรฐานการดำเนินงานของบริษัทถูกตั้งไว้สูง" Dhivya Suryadevara ซีเอฟโอของ Stripe กล่าว
John ยอมรับว่า สถานการณ์ระดับมหภาคที่ถาโถมอาจทำให้ Stripe ไม่สามารถเติบโตได้มากนักในปีนี้ แต่อย่างไรเสียคนเราก็หยุดซื้อของกันไม่ได้ และคนที่ทำธุรกิจก็ต้องพึ่งพา Stripe ขณะที่ซีเอฟโอ Dhivya Suryadevara ที่ย้ายจาก General Motors มาร่วมทีม Stripe เมื่อปี 2020 มองว่ายังมีข่าวดีคือ ในภาวะทางเศรษฐกิจที่เลวร้ายลงเรื่อยๆ เช่นนี้ การพัฒนาซอฟต์แวร์ใช้ทุนน้อยกว่ากิจกรรมอื่นอย่างการผลิตรถยนต์ ภายในองค์กรนั้น Stripes (ชื่อเรียกพนักงาน) มักจะนำสถิติจากงานวิจัยของ IMF เมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งสรุปได้ว่าคนทั่วโลกจับจ่ายใช้สอยออนไลน์เพียง 12% เท่านั้น และนั่นคือโอกาส “โลกข้างนอกมันกว้างใหญ่ไพศาล เป้าหมายของเราคือ ทำให้ GDP เติบโตในโลกอินเทอร์เน็ต”  เรื่อง: ALEX KONRAD เรียบเรียง: รัน-รัน  ภาพ: ETHAN PINES, LEVON BISS อ่านเพิ่มเติม:
คลิกอ่านฉบับเต็มและบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนสิงหาคม 2565 ในรูปแบบ e-magazine