Calendly ซอฟต์แวร์จัดตารางเวลา ของเศรษฐีพันล้าน Tope Awotona - Forbes Thailand

Calendly ซอฟต์แวร์จัดตารางเวลา ของเศรษฐีพันล้าน Tope Awotona

FORBES THAILAND / ADMIN
07 Sep 2022 | 01:14 AM
READ 2895

Calendly ถือกำเนิดขึ้นจากความคับข้องใจ ปัจจุบันแอปพลิเคชันสำหรับนัดหมายนี้มีมูลค่า 3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ แถมยังตกเป็นประเด็นวิวาทะบน Twitter ในหมู่ผู้ทรงอิทธิพลแห่ง Silicon Valley

Tope Awotona ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ Calendly วัย 40 ปี ทอดกายพิงเก้าอี้ของตัวเองและระเบิดหัวเราะออกมา “คุณเรียกมันตามที่คนอื่นเห็นพ้องกันได้นะ แต่ผมเรียกมันว่า ความจริง” เขากล่าวพร้อมตบมือสองข้างลงกับโต๊ะ ความจริงที่ Awotona พูดถึงก็คือ ซอฟต์แวร์จัดตารางเวลา Calendly ของเขานั้นจำเป็นสำหรับทุกคน เพื่อช่วยให้บริหารงานได้ดียิ่งขึ้น ทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นและมีความสุขกับชีวิตการงานมากขึ้นด้วย เมื่อ 9 ปีก่อน Awotona เริ่มลงมือสร้าง Calendly จากเงินเก็บทั้งชีวิต 200,000 เหรียญ และต่อมายังได้ลาออกจากงานขายซอฟต์แวร์ที่ EMC มาวันนี้บริษัทของเขามีผู้ใช้งาน 10 ล้านคน และในจำนวนนั้นมีทั้ง Lyft Ancestry.com, Indiana University และ La-Z-Boy รวมอยู่ด้วย รายได้เมื่อปีที่แล้วทะลุ 100 ล้านเหรียญ มากกว่าปีก่อนหน้าถึงเท่าตัวและอาจจะยังเพิ่มขึ้นได้อีกเท่าตัวในปีนี้ บริษัทที่ก่อตั้งขึ้นใน Atlanta แต่ปัจจุบันไม่มีสำนักงานแห่งนี้แล้ว ได้เริ่มทำกำไรได้ตั้งแต่ปี 2016 โดยปีที่แล้วระดมทุนได้ 350 ล้านเหรียญจาก OpenView Venture Partners และ Iconiq Capital ในราคาประเมินมูลค่าบริษัทสูงถึง 3 พันล้านเหรียญ ซึ่งหมายความว่าสัดส่วนของผู้ถือหุ้นใหญ่ที่ Awotona เป็นเจ้าของอยู่นั้นมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1.4 พันล้านเหรียญ แม้จะหักลบ 10% ตามวิธีคำนวณหลักทรัพย์บริษัทเอกชนทั้งหมดของ Forbes นอกจากนี้ Awotona ยังเป็นเพียง 1 ใน 2 เศรษฐีพันล้านด้านเทคโนโลยีในสหรัฐฯ ที่เป็นคนผิวดำอีกคนหนึ่งคือ David Steward วัย 70 ปี ผู้ก่อตั้ง World Wide Technology บริษัทผู้ให้บริการด้านไอทีใน Missouri “Tope อาจเป็นนักธุรกิจด้านเทคโนโลยีเชื้อสายแอฟริกัน-อเมริกันที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในหมู่คนรุ่นราวคราวเดียวกันก็เป็นได้” David Cummings ผู้ก่อตั้ง Atlanta Ventures ซึ่งร่วมลงทุนกับ Calendly ในระยะเริ่มต้นถึง 550,000 เหรียญเมื่อ 7 ปีก่อนกล่าว Calendly ไม่ได้ครองตลาดธุรกิจจัดตารางเวลาอยู่เจ้าเดียว มีทั้ง Square, Microsoft และ Doodle จาก Zurich ซึ่งต่างออกผลิตภัณฑ์มาแข่งขันกัน แต่ความได้เปรียบจากการออกแบบที่เรียบหรู เป็นมิตรต่อผู้ใช้งาน และโมเดลการใช้งานแบบไม่จ่ายเงิน แต่ต้องจ่ายหากต้องการบริการเพิ่ม โดยปราศจากการทำการตลาดใดๆ ตอนนี้ Awotona กำลังจะก้าวไปไกลกว่าการนัดประชุมงานและมุ่งสู่การสร้างเครื่องมือที่จะช่วยให้ผู้สรรหาพนักงาน พนักงานขาย และบรรดาพนักงานสำนักงานอื่นๆ จัดการการนัดเหล่านี้ได้ทั้งก่อนและหลัง ซึ่งหมายถึงการเชื่อมนัดหมายกับผู้ที่เกี่ยวข้องในกรณีของบริษัทใหญ่ๆ และเพิ่มเอกสารที่จำเป็นต้องใช้ในการประชุม เช่น กำหนดการหารืองบประมาณไว้ในคำเชิญด้วย เพื่อช่วยให้การประชุมลื่นไหลมากขึ้น นอกจากนี้ ยังรวมเอาเครื่องมือเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานต่างๆ เช่น Salesforce เข้ามาติดตามผลร่วมด้วยหลายคนอาจมองว่าการนัดประชุมเป็นงานที่ทั้งหนักและน่าเบื่อ แต่ Awotona มองเห็นมันเป็นเสมือนกุญแจในการเชื่อมโยงเข้ากับทุกอย่างที่เกิดขึ้นภายในองค์กรแต่ละแห่ง ซึ่งมุมมองที่กว้างไกลและครอบคลุมนี้เองทำให้เขาคาดการณ์ได้ว่า ตลาดผู้ใช้งานของซอฟต์แวร์นี้จะอยู่ในระดับโลกอาจมีมูลค่าสูงถึง 2 หมื่นล้านเหรียญ “ในชีวิตของผม ผมได้ประโยชน์จากการไม่เลือกทำตามอย่างที่คนทั่วไปเชื่อ” Awotona กล่าว “สิ่งนี้เป็นประโยชน์ต่อตัวผมเอง และผมคิดว่าน่าจะเกิดประโยชน์ต่อธุรกิจนี้ด้วย” Awotona เกิดที่เมือง Lagos ประเทศไนจีเรีย ในครอบครัวชนชั้นกลาง พ่อของเขาเป็นนักจุลชีววิทยา ส่วนแม่ทำงานที่ธนาคารกลาง Lagos มีประชากร 15 ล้านคน มีเศรษฐกิจที่คึกคัก แต่ก็เป็นเมืองที่อันตรายเมื่อเขาอายุได้ 12 ปีก็ต้องประสบเหตุจี้ชิงรถที่ทำให้พ่อของเขาถูกยิงเสียชีวิต “ส่วนหนึ่งของผมอยากจะชดใช้ให้พ่อมาตั้งแต่เล็กๆ แล้ว” เขาเคยกล่าวเอาไว้ ในปี 1996 เมื่อเขาอายุได้ 15 ปี จึงได้ย้ายไปอยู่ที่ Atlanta พร้อมครอบครัว เขาเรียนสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ที่ University of Georgia และเปลี่ยนไปเรียนด้านธุรกิจและสารสนเทศเพื่อการจัดการ “ผมชอบการเขียนโค้ด แต่มันราบเรียบเกินไป” เขากล่าว “ผมอาจจะเป็นคนชอบเข้าสังคมมากเกินกว่าจะเป็นนักเขียนโปรแกรมได้” Awotona จึงเบนเข็มมาขายซอฟต์แวร์ให้บริษัทด้านเทคโนโลยีต่างๆ แทน ทั้ง Perceptive Software รวมทั้ง Vertafore และ EMC (ตั้งแต่ Dell เข้าซื้อกิจการ) โดยเขายังทำธุรกิจอีกหลายอย่างควบคู่กันไปด้วย มีทั้งเว็บไซต์หาคู่ บริษัทขายโปรเจกเตอร์ และบริษัทขายอุปกรณ์ทำสวน ซึ่งทั้งสามอย่างก็ล้มไม่เป็นท่า แต่ทว่าการริเริ่มบุกเบิกสร้างซอฟต์แวร์ของ Tope แตกต่างออกไปตรงที่ต้นตอมาจากความคับข้องใจของเขาเองในฐานะพนักงานขายที่ต้องคอยนัดหมายเวลาต่างๆ ซึ่งบางครั้งจะต้องส่งอีเมลโต้ตอบกันไปมาหลายสิบฉบับและล่าช้าไปนานหลายวัน “ความคิดที่ผุดขึ้นมาในหัวของผมอย่าง ชัดเจนคือ การนัดหมายเป็นเรื่องที่มีปัญหา” เขากล่าว ในปี 2013 เขาเปิดตัว Calendly ที่ Atlanta Tech Village ซึ่งเป็น coworking space สำหรับบรรดาเจ้าของกิจการหน้าใหม่ทั้งหลาย เขาทุบกระปุกแผนการออมเพื่อวัยเกษียณของตัวเอง และรูดบัตรเครดิตเต็มวงเงินเพื่อลงทุนทำธุรกิจนี้“เรื่องนี้อาจจะจบแบบเลวร้ายสุดๆ ก็ได้” เขากล่าว “กับธุรกิจอื่นๆ ที่เคยทำมาก่อนหน้านี้ผมยั้งตัวเองไว้อยู่บ้าง และพอเหลือช่องทางให้เอาตัวรอดต่อไปได้ แต่กับ Calendly ผมทุ่มสุดตัวหมดทุกบาททุกสตางค์ที่มีไปตายเอาดาบหน้า ถ้าจะทำอะไรสักอย่างก็ต้องทำให้เต็มที่” สำหรับความช่วยเหลือด้านการเขียนโปรแกรม Awotona ทำสัญญากับบริษัทสัญชาติยูเครนที่ชื่อว่า Railsware ซึ่งเมื่อ 8 ปีก่อนตอนที่กลุ่มผู้ประท้วงปะทะกับกองกำลังของรัฐบาลในขณะนั้นตัวเขาเองก็อยู่ที่ Kyiv มาถึงตอนนี้ท่ามกลางสภาวะสงคราม Calendly ได้ช่วยหาที่อยู่ใหม่ให้นักพัฒนาของ Railsware ในยูเครนที่มีสัญญาว่าจ้างกันอยู่ 10 คน และให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่พวกเขาและครอบครัวด้วย ปลายปี 2013 เขามีผลิตภัณฑ์ที่ใช้การได้อยู่ในมือแต่ไม่มีเงินเหลือเลย บรรดานักลงทุนรุ่นบุกเบิกที่นำโดย Cummings เข้ามากอบกู้สถานการณ์โดยการอัดฉีดเงินทุนให้ครึ่งล้านเหรียญ และเปิดให้ใช้ฟรีสำหรับผู้ใช้งานรายบุคคล แต่สำหรับองค์กรต่างๆ จะมีค่าใช้จ่ายคิดตามจำนวนผู้ใช้งานคนละ 25 เหรียญต่อเดือน “เสียงชื่นชมผลิตภัณฑ์ของเราถูกบอกต่อกันแบบปากต่อปากจากระดับพนักงานไปสู่หัวหน้างาน และกระจายต่อขึ้นไปเรื่อยๆ” Awotona กล่าว “เปรียบเสมือนม้าไม้กรุงทรอย เป็นกลยุทธ์ลับในการแทรกซึมเข้าสู่บริษัทต่างๆ ของเรา” ลูกค้าองค์กรสามารถปรับแต่งการตั้งค่าหน้าแรกของการเข้าใช้งานได้ จัดการประชุมต่างๆ สำหรับคนเฉพาะกลุ่ม และเชื่อมซอฟต์แวร์เข้ากับเครื่องมืออื่นๆ ได้ด้วย เช่น Salesforce, Stripe, Zoom หรือ Hubspot ลูกค้าที่จ่ายเงินมากกว่า 100,000 เหรียญต่อปี หรือที่จัดว่าเป็นลูกค้ารายใหญ่เพิ่มจำนวนขึ้นถึง 10 เท่าตัวในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ควบคู่ไปกับการสร้างทีมขายภายในของทาง Calendly เอง ยกตัวอย่างเว็บไซต์ซื้อขายรถ CarGurus ที่เป็นบริษัทมหาชนใช้ซอฟต์แวร์เพื่อนัดหมายการซื้อขายกับดีลเลอร์มากกว่า 2,000 ครั้งตั้งแต่เริ่มใช้บริการเมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว ซึ่ง Michael Riley นักวางแผนกลยุทธ์ดิจิทัลอาวุโสของ CarGurus ที่เป็นผู้ริเริ่มนำซอฟต์แวร์ของเขาเข้ามาใช้งานบอกว่า ช่วยพนักงานประหยัดเวลาได้ถึง 500 ชั่วโมง เดือนมิถุนายนปีที่แล้ว US Foods ผู้จำหน่ายอาหารรายใหญ่ซึ่งบริษัทตั้งอยู่นอก Chicago เริ่มนำซอฟต์แห่งนี้มาใช้กับกลุ่มคนที่ทำงานกับร้านอาหารต่างๆ 100 คน ซึ่งส่วนมากจะเป็นร้านเล็กๆ และทำให้ US Foods สามารถจัดทำแม่แบบการประชุมได้ทั้งเป็นภาษาอังกฤษและภาษาสเปน รวมทั้งยังนำยอดขายใหม่กับผลประกอบการด้านอื่นๆ มารวมเข้าสู่การวางแผนเชิงกลยุทธ์ได้อีกด้วย “คุณสมบัติเช่นนี้ถือเป็นจุดขายสำคัญที่นำไปสู่การทำข้อตกลงระดับองค์กรกับ Calendly” David Eschler รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ฝ่ายกิจการร้านอาหารของ US Foods กล่าว ซึ่งสำหรับลูกค้าระดับองค์กรแล้ว Awotona บอกว่า ต้นทุนการใช้บริการนั้นได้ตอบแทนความคุ้มค่าให้กับบริษัทด้วยประสิทธิภาพการทำงานที่เพิ่มขึ้น การใช้งานอาจมีเรื่องสถานะทางอำนาจที่ค่อนข้างซับซ้อน เช่น ใครเป็นคนเชิญและใครเป็นฝ่ายตอบรับนัดหมาย โดยเฉพาะสายงานอย่างบริษัทร่วมลงทุนที่สถานะทางอำนาจเป็นประเด็นสำคัญอย่างมาก Awotona ซึ่งมองว่าเรื่องนี้ไม่เป็นปัญหาสำหรับผู้ใช้งานทั่วไปอย่างผู้สรรหาพนักงานหรือพนักงานขาย แต่กลับต้องเจอเหตุการณ์ที่น่าประหลาดใจเมื่อบริษัทของตัวเองตกเป็นประเด็นร้อนในศึกวิวาทะบน Twitter เมื่อช่วงฤดูหนาวที่ผ่านมา โดยเมื่อวันที่ 26 มกราคม Sam Lessin นักลงทุน VC จาก Slow Ventures ทวีตถึงความเกลียดชังที่มีต่อซอฟต์แวร์ของเขา โดยเรียกว่าเป็น “การแสดงถึงการเปลี่ยนแปลงของทุนทางสังคมอย่างหยาบ และล่อนจ้อนที่สุดในทางธุรกิจ” “ใครทำคุณเจ็บนะ Sam” Dustin Moskovitz เศรษฐีพันล้านผู้ร่วมก่อตั้ง Facebook ทวีตสวนทันควัน ซึ่งธุรกิจบริหารโครงการของ Asana เองก็เป็นลูกค้าและจากนั้น Marc Andreessen นักลงทุน VC (มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 1.7 พันล้านเหรียญ) ทวีตสมทบก่อนจะลบทิ้งภายหลังว่า “ประกาศให้มีผลทันที: ใครที่เพิกเฉยต่อลิงก์ Calendly ของผมจะถูกตัดสิทธิ์การระดมทุนใน Silicon Valley เป็นการถาวร” Awotona บอกว่า วิวาทะย่อมๆ ที่เกิดขึ้นทำให้มีผู้ใช้งานหน้าใหม่สมัครเพิ่มเข้ามาหลายหมื่นราย “ฝ่ายการตลาดของเรานั่งคิดนอนคิดอยู่นานว่า จะทำอย่างไรให้ Calendly เป็นที่สนใจให้ผู้คนโจษจัน เราคิดไม่ถึงเลยว่าวิธีที่ง่ายที่สุดคือ การทวีตข้อความแค่ไม่กี่ครั้ง” เขากล่าว “ต่อให้พวกเราวางแผนกันอย่างไรก็ไม่ได้แบบนี้” ตอนนี้ Awotona ซึ่งนำบริษัทที่มีพนักงานในสังกัด 424 คน ทำงานทางไกลอย่างเต็มรูปแบบตั้งแต่ฤดูร้อนปีที่แล้วกำลังวางแผนเพิ่มฟีเจอร์เพื่อผลักดันให้ Calendly ตอบโจทย์ในเรื่องสิ่งที่จะต้องทำก่อนการประชุมแต่ละนัด (เช่น การแนบประวัติของผู้สมัครงานเข้าไปกับคำเชิญรับนัดบนปฏิทินที่ให้ผู้สรรหาพนักงานกดเข้าร่วมการประชุม) และรวมถึงหลังเสร็จสิ้นการประชุมด้วย (เช่น เพิ่มบทวิเคราะห์เข้าไป) เขายังมีแผนจะขยายตลาดไปยังต่างประเทศเพราะเชื่อว่าการจัดตารางเวลานัดหมายถือเป็นเรื่องน่าปวดหัวที่ต้องเจอกันทุกชาติทุกภาษา “โอกาสในการทำให้การประชุมแต่ละครั้งมีประสิทธิภาพและบรรลุผลสำเร็จตามที่ตั้งเป้าไว้ถือเป็นภารกิจของเรา” Awotona ผู้ซึ่งสารภาพว่า ในสัปดาห์ปกติที่ไม่ยุ่งมากนักเขามักใช้เวลาถึง 25 ชั่วโมงไปกับการประชุมได้กล่าวทิ้งท้ายเอาไว้ “เราเล็งเห็นการจัดตารางเวลาเป็นโอกาสในการทำให้การประชุมประสบความสำเร็จ การวางแผนจัดตารางการประชุม การเตรียมการและติดตามผลที่ง่าย เหล่านี้เป็นวิสัยทัศน์อันยิ่งใหญ่ของพวกเรา” เรื่อง: Amy Feldman เรียบเรียง: วินิจฐา จิตร์กรี ภาพ: Jamel Toppin
คลิกอ่านฉบับเต็มและบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนสิงหาคม 2565 ในรูปแบบ e-magazine