ลงทุนไร้ขีดจำกัดแบบ Tencent - Forbes Thailand

ลงทุนไร้ขีดจำกัดแบบ Tencent

FORBES THAILAND / ADMIN
23 Nov 2018 | 11:02 AM
READ 8911

เบื้องหลังการบรรลุข้อตกลงธุรกิจนับไม่ถ้วนของ Tencent มีจุดประสงค์สำคัญเพื่อดึงดูดผู้ใช้ให้กลับมาใช้แพลตฟอร์มของตัวเอง

ตลอดเวลาที่ผ่านมา Tencent บริษัทเว็บไซต์ยักษ์ใหญ่ของจีน ดำเนินธุรกิจโดยพึ่งพาเกมออนไลน์และแอพพลิเคชั่นสื่อสังคมออนไลน์ WeChat ในการดึงดูดผู้ใช้ แต่บริษัทกำลังให้ความสำคัญกับกลยุทธ์ใหม่เพื่อสร้างความเติบโต นั่นคือลงทุนในสตาร์ทอัพเพื่อสร้างบริการใหม่ สำหรับธุรกิจหลักของบริษัทบริษัทจาก Shenzhen ซึ่งติดอันดับ Fabulous 50 ของ Forbes เป็นปีที่ 10 ติดต่อกันแห่งนี้กำลังค่อยๆ ผันตัวมาเป็นนักลงทุนด้านเทคโนโลยีรายสำคัญ เว็บไซต์ Dealogic รายงานว่า จนถึงขณะนี้บริษัทได้ลงทุนใน 68 ข้อตกลงธุรกิจที่มีมูลค่ารวมกัน 54.7 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ มากกว่าปีที่แล้ว ซึ่งบริษัทลงทุน 31.1 พันล้านเหรียญใน 72ข้อตกลง ตัวเลขดังกล่าวนี้เหนือกว่าคู่แข่งสำคัญอย่าง Alibaba ซึ่งในปีนี้ลงทุนใน 52 ข้อตกลงธุรกิจ คิดเป็นมูลค่ารวม 25.6 พันล้านเหรียญ ข้อมูลจาก Dealogic ระบุว่าในระดับโลก อัตราการลงทุนที่รวดเร็วของ Tencent ทำให้บริษัทขึ้นมาอยู่ในระดับเดียวกับ Softbank กลุ่มบริษัทจากญี่ปุ่นที่ในปีนี้ลงทุนไปแล้วคิดเป็นมูลค่ารวม 62.5 พันล้านเหรียญ จาก 97 ข้อตกลง Ken Xu หุ้นส่วนจาก Gobi Partners บริษัทร่วมทุนซึ่งลงทุนเคียงคู่กับ Tencent กล่าวว่า Tencent ลงทุนเพื่อค้นหาผลิตภัณฑ์ที่จะช่วยให้บริษัททำรายได้เพิ่มขึ้นจากฐานผู้ใช้ขนาดใหญ่ บริษัทให้ความสนใจในธุรกิจหลายประเภท อาทิ วิดีโอเกมสตรีมมิ่ง บริการทางการเงินและซื้อขายสินค้าออนไลน์ โดยส่วนใหญ่จะเริ่มต้นจากการเข้าถือหุ้นร้อยละ 10-20 ในสตาร์ทอัพน้องใหม่หรือธุรกิจที่ติดตลาดแล้วจากนั้นจะกระตุ้นให้บริษัทในพอร์ตแข่งขันกันเอง และจะให้การสนับสนุนเฉพาะแต่กับบริษัทที่ยังยืนหยัดได้ เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว Alibaba บริษัทจาก Hangzhou ให้ความสำคัญกับธุรกิจค้าปลีกและพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์มากกว่า และยังเข้าไปมีส่วนร่วมในธุรกิจสตาร์ทอัพที่ลงทุนมากกว่า โดยในบางครั้งยังมีเป้าหมายสุดท้ายที่จะเข้าซื้อกิจการด้วย “Alibaba มักหวังที่จะได้อำนาจบริหารงานในระดับใดระดับหนึ่งในบริษัทที่ลงทุน” Xu ซึ่งเคยทำงานกับบริษัทอี-คอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่แห่งนี้ให้ความเห็น “สิ่งที่ Tencent ต้องการคือหุ้นส่วนธุรกิจที่สามารถสร้างความได้เปรียบให้แก่ทรัพยากรของบริษัทและนำมาซึ่งบริการที่เพิ่มมากขึ้น” Shi Jialong นักวิเคราะห์จาก Nomura ยกตัวอย่างการเข้าลงทุนใน Pinduoduo หรือ PDD บริการช็อปปิ้งสินค้าราคาประหยัดว่าได้ช่วยให้ WeChat แอพฯ ของ Tencent มีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้น PDD ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ Nasdaq ดำเนินธุรกิจโดยใช้โมเดลที่คล้ายคลึงกับโมเดลของ Groupon ซึ่งเน้นการซื้อเป็นกลุ่ม แต่ PDD ใช้ WeChat เป็นฐานในการดำเนินธุรกิจ ทำให้ผู้ใช้ประจำ 3 ล้านคนบนแพลตฟอร์มสามารถรวมกลุ่มซื้อและรับส่วนลดเพิ่มขึ้น สิ่งที่ตามมาคือมีผู้ใช้งานระบบชำระเงินของ WeChat เพิ่มมากขึ้นจากการชำระเงินให้กับ PDD “ลูกค้าของ PDD จำนวนมากอาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลและไม่ค่อยคุ้นเคยกับระบบชำระเงินดิจิทัล” Shi กล่าวในการประชุมทางโทรศัพท์เมื่อเร็วๆ นี้ “แต่ขณะที่ PDD ติดตลาด มันก็ได้ช่วยนำผู้ใช้มาสู่ระบบกระเป๋าสตางค์ดิจิทัลของ WeChat”
เชื่อมโยงเครือข่าย: คนงานกำลังติดตั้งสำนักงานของ Pinduoduo ใน Shanghai โดย PDD ใช้ระบบชำระเงินของ WeChat ในการจำหน่ายสินค้าออนไลน์
Tencent ยังได้ผลตอบแทนมหาศาลเมื่อสามารถเปลี่ยนการลงทุนให้เป็นผลกำไรตั้งแต่ต้นปีที่แล้ว บริษัท 12 แห่งในพอร์ตของ Tencent ได้เปลี่ยนสถานะเป็นบริษัทมหาชน ซึ่ง CB Insights ระบุว่ามากกว่าพอร์ตของบริษัทด้านการลงทุนหรือส่วนงานธุรกิจการลงทุนของบริษัททุกแห่งทั่วโลกในช่วงของความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นหุ้นของ Tencent ในบริษัทต่างๆ เช่น China Literature และ Sea แพลตฟอร์มเกมออนไลน์ มีมูลค่ามากกว่า 2 หมื่นล้านเหรียญ บริษัทยังมีแผนลงทุนในอีกหลายธุรกิจไม่นานมานี้ บริษัท 3 แห่งที่ Tencent ร่วมลงทุน ไม่ว่าจะเป็น Meituan Dianping เว็บไซต์ด้านบริการท้องถิ่น Qutoutiao แพลตฟอร์มศูนย์รวมข่าว และ Nio ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ต่างก็ยื่นคำร้องขอเปลี่ยนแปลงสถานะเป็นบริษัทมหาชนอย่างไรก็ดี แผนลงทุนจำนวนมากเหล่านี้ก็ไม่ได้มีแต่ด้านบวกเสมอไป การเสนอขายหุ้นแก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (ไอพีโอ) ของบางบริษัทเมื่อไม่นานมานี้ล้มเหลวไม่เป็นท่าแสดงให้เห็นว่าการสนับสนุนจาก Tencent ไม่ได้เป็นสิ่งรับประกันความสำเร็จ นอกจากนี้ยังมีความกังวลว่าการลงทุนอย่างไร้ขีดจำกัดอาจทำให้ Tencent สูญเสียจุดโฟกัสการดำเนินธุรกิจ “บริษัทค่อยๆ ผันตัวเป็นบริษัทร่วมทุน โดยมีธุรกิจเกมและสื่อสังคมออนไลน์เป็นธุรกิจรอง” Brock Silvers กรรมการผู้จัดการบริษัทที่ปรึกษา Kaiyuan Capita lกล่าว “นี่เป็นผลมาจากการผสมกลมกลืนของการเข้าถึงเงินทุนจำนวนมหาศาล การส่งเสริมจากรัฐบาล และอาจจะรวมถึงความฮึกเหิมในอหังการขององค์กร” แต่ Xu จาก Gobi Partners กล่าวว่าเป็นเรื่องสมเหตุสมผลที่ Tencent จะลงทุนต่อไป WeChat มีผู้ใช้มากกว่า 1 พันล้านคน แต่ Tencent ไม่มีวิธีในการหาเงินจากผู้ใช้เหล่านี้ นอกจากการโฆษณาและเชื่อมโยงพวกเขากับเกมออนไลน์ บริษัทจำเป็นต้องสำรวจบริการภายนอกอื่นๆ ที่จะสามารถนำมาผนวกรวมเข้ากับแพลตฟอร์มที่มีอยู่เพื่อให้ผู้ใช้มีส่วนร่วมมากขึ้น และอยู่นานขึ้น “Tencent ไม่สามารถทำทุกอย่างด้วยตัวเอง” เขากล่าว “ฉะนั้นบริษัทจึงมองเห็นคุณค่ามหาศาลจากการลงทุน” เรื่อง Yue Wang เรียบเรียง: เอมวลี อัศวเปรม
ติดตามฉบับเต็มจากการจัดอันดับ FAB 50 "50 สุดยอดบริษัทมหาชนแห่งเอเชีย" ได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนตุลาคม 2561 ได้ในรูปแบบ e-Magazine