การจราจรทางอากาศและโครงข่ายถนนที่เชื่อมโยงประเทศในอุษาคเนย์กำลังคึกคักด้วยยวดยานและฝูงชนที่ช่วยกันขับเคลื่อนการท่องเที่ยวไทย หลังนโยบายอาเซียนคอนเนกถูกผลักดัน
ความพยาพยามของ กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาที่จะขับเคลื่อนนโยบายอาเซียนคอนเนก เพื่อเชื่อมโยงการท่องเที่ยวในภูมิภาคและก่อให้เกิดความมั่งคั่งแก่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย กำลังเป็นรูปธรรมมากขึ้น ภายใต้การนำของ ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ผู้รับหน้าที่แม่งานช่วยผลักดันให้เป็นจริงภาครัฐย้ำชัดในแนวทางนี้ ในฐานะกลไกการเปิดพรมแดน เพื่อสร้างขุมทรัพย์ใหม่ให้กับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทย ที่โกยเงินรายได้เข้าประเทศอย่างมหาศาลในปีที่ผ่านมา ไม่เพียงช่วยหนุนเศรษฐกิจที่ยังไม่แน่นอน แต่ยังลดความเสี่ยงจากตลาดท่องเที่ยวโลกที่ผันผวนจากภาวะเศรษฐกิจ ก่อนหน้านี้ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้สนับสนุนแนวคิดดังกล่าวโดยเล็งเห็นว่า การเชื่อมโยงการท่องเที่ยวภายในกลุ่มอาเซียน จะช่วยเพิ่มจุดแข็งให้กับการท่องเที่ยวของภูมิภาค เพื่อแข่งขันกับภูมิภาคอื่นๆ นอกจากนี้ ประชากรในภูมิภาคอาเซียนเองก็มีกำลังซื้อเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะการเติบโตของกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางถึงสูงมาก โดยบริษัทเบเคอร์แอนด์ แม็คเคนซี่ ได้ประมาณว่า ในช่วงปี2555-2563 เวียดนามและพม่าจะมีประชากรในกลุ่มคนชั้นกลางและคนร่ำรวยถึงราว 21 ล้านคนและ 5 ล้านคน ซึ่ง ททท.ได้มีแผนเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อ ดังนั้นยุทธศักดิ์ ได้มอบหมายให้สำนักงานของ ททท.ในต่างประเทศทำการบ้านอย่างหนัก ค้นหาเส้นทางการบินที่มีศักยภาพ เพื่อเสนอให้สายการบินต่างๆ ของไทยพิจารณา โดยเน้นให้ผู้ประกอบการพูดคุยหารือตามแนวทางจัดสรรผลประโยชน์ที่ลงตัวมากกว่ามุ่งแข่งขันกันแบบชิงไหวชิงพริบอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เพื่อให้จุดประสงค์หลักก่อเกิดผลประโยชน์สูงสุดตกอยู่กับประเทศเป็นจริงขึ้นมาได้ เส้นทางบินที่ททท.เห็นว่ามีศักยภาพนั้นจะไม่เพียงเชื่อมโยงเมืองหลักกับเมืองหลัก แต่จะรวมเมืองรองกับเมืองรอง เพื่อสร้างโครงข่ายการเดินทางให้ครอบคลุมมากที่สุด ล่าสุด 3 เส้นทางใหม่ก็คลอดออกมาและมี 3 สายการบินแสดงความสนใจเข้าร่วมให้บริการในเส้นทางดังกล่าวได้แก่ ไทยแอร์เอเชีย ได้บินเส้นทางกรุงเทพฯ-เวียงจันทน์ ถึง 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ สายการบินนกแอร์บินระหว่างดอนเมือง-มัณฑะเลย์ 3 บินต่อสัปดาห์และสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส บินเชียงใหม่-หลวงพระบาง โดยเที่ยวบินปฐมฤกษ์เปิดให้บริการในวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา ขณะที่การท่องเที่ยวแบบเดินทางโดยรถยนต์นั้น ยุทธศักดิ์ ก็พยายามขยายความร่วมมือกับจังหวัดชายแดนของไทยที่มีพื้นที่ร่วมกับของประเทศต่างๆ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบ “สองอาณาจักรหนึ่งจุดหมายปลายทาง” (Two Countries, One Destination) รวมถึงส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบอาเซียนคาราวาน เพื่อสร้างความคึกคักมากยิ่งขึ้นการท่องเที่ยวในกลุ่มอาเซียนมีศักยภาพมากในอนาคต เนื่องจากเศรษฐกิจแต่ละประเทศยังอยู่ในแนวโน้มขาขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคมีกำลังซื้อมากขึ้น รวมไปถึงการเกิดขึ้นของสายการบินต้นทุนต่ำที่แข่งขันกันเปิดเส้นทางใหม่ๆ และถนนเชื่อมโยงแต่ละประเทศให้มีความสะดวกในการไปมาหาสู่กันมากขึ้นปัจจุบันกลุ่มอาเซียน 10 ประเทศมีประชากรโดยรวม 680 ล้านคน และมีตลาดที่มีกำลังซื้อประมาณ 68 ล้านคน หรือใกล้เคียงกับจำนวนคนไทยทั้งประเทศ ยุทธศักดิ์บอกว่าหากประเทศไทยสามารถจับคนกลุ่มนี้เพียง10% ก็จะได้นักท่องเที่ยวราว 6.8 ล้านคนซึ่งจะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยมาก แนวทางนี้เป็นการสานต่อนโยบายการท่องเที่ยวของประเทศที่ประกาศไว้ก่อนหน้าคือ เน้นนักท่องเที่ยวคุณภาพมากกว่าปริมาณเพื่อก่อให้เกิดเงินสะพัดหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น โดยปี 2558 ประเทศไทยต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติราว 29.88 ล้านคน มีการจับจ่ายทั้งสิ้นราว 1.45 ล้านล้านบาท และคาดว่าปีนี้น่าจะเกิน 32 ล้านคน “เราพยายามหาตลาดใกล้ๆ...เพื่อลดความเสี่ยง” ยุทธศักดิ์กล่าวและอธิบายเพิ่มเติมว่าการมุ่งจับตลาดอาเซียนจะช่วยพยุงการท่องเที่ยวไทยในยามที่ตลาดท่องเที่ยวโลกยังเผชิญกับความผันผวน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ นักท่องเที่ยวชาวจีน ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นหนึ่งในกลุ่มนักท่องเที่ยวหลักของไทยหากวันใดกลุ่มนี้หายไป แน่นอนว่า ผลกระทบก็จะเกิดตามมากับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวโดยรวม การแสวงหาตลาดใหม่และการชักชวนให้นักท่องเที่ยวจากตลาดที่มีอยู่เป็นทุนเดิมเดินทางมามากขึ้นจะช่วยสร้างความมั่นคงให้กับการท่องเที่ยวไทยแต่ความพยายามที่จะยกระดับอุตสากรรมท่องเที่ยวของอาเซียนให้เต็มรูปแบบยังเต็มไปด้วยอุปสรรค เช่น “อาเซียนวีซ่า”ที่อนุญาตให้พลเมืองของประเทศสมาชิกสามารถเดินทางท่องเที่ยวได้ทั้งภูมิภาคเหมือนกับวีซ่าเชงเก้นในยุโรปที่ขอได้ครั้งเดียวไปได้ 26 ประเทศ ปัจจุบันนี้กลุ่มอาเซียนอยู่ระหว่างการพูดคุย และมีแนวโน้มว่ายังต้องใช้เวลานานกว่าจะหาข้อสรุปที่เป็นที่พอใจของทุกประเทศสมาชิก เนื่องจากมีปัญหาที่รัฐบาลหลายประเทศกังวลใจ เช่น อาชญากรรมข้ามชาติ ปัญหาผู้อพยพ และแรงงานเข้าเมืองผิดกฎหมายหากวีซ่าอาเซียนได้รับไฟเขียวจะส่งผลดีกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวโดยรวมของอาเซียนรวมถึงนักท่องเที่ยวจากนอกกลุ่มอาเซียนจะได้รับความสะดวกในการเดินทางเข้าออกแต่ละประเทศแบบอิสระ ซึ่งจะเป็น “แม่เหล็ก”ช่วยดึงนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกให้หันมาเที่ยวในภูมิภาคนี้และช่วยเพิ่มยอดใช้จ่ายมากขึ้นเป็นเงาตามตัว เนื่องจากภูมิภาคนี้มีจุดขายที่โดดเด่น คือ ความหลากหลายทางวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นแหล่งท่องเที่ยว สถาปัตยกรรม การจัดงานประเพณี รวมทั้งอาหารการกินต่างๆ ก็นับเป็นสิ่งดึงดูดการเชื่อมโยงในระดับภูมิภาค นี่คือเรื่องราวที่ถูกขับเน้น ในงาน “ไทยแลนด์ ทราเวล มาร์ท พลัส” ระหว่างวันที่ 8-10 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยจัดทุกๆ ปี ในปีนี้นับเป็นปีที่ 15 และจัดขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่เป็นงานส่งเสริมการขายด้านการท่องเที่ยวลักษณะบีทูบี โดยผู้ประกอบการท่องเที่ยวของไทยและผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวจากประเทศกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงได้นำเสนอสินค้าและบริการท่องเที่ยวที่หลากหลาย มีผู้ซื้อจากต่างประเทศเข้าร่วม 459 ราย จาก 59 ประเทศ และผู้เยี่ยมเยียนด้านการค้าอีก 100 ราย โดยจุดเด่นของไทยที่นำเสนอเผยแพร่ในงาน คือ ได้แถลงข่าวความร่วมมือในฟอรั่ม “CLMV link: Prosper together” เพื่อให้ข้อมูลสินค้าท่องเที่ยวล่าสุดและกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศไทย เมียนมาสปป.ลาว เวียดนาม และกัมพูชา ภาพ: การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยคลิกอ่านบทความทางด้านธุรกิจ ได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ AUGUST 2016 ในรูปแบบ e-Magazine