ททท.จับมือ มิชลิน เปิดตัว ‘มิชลิน ไกด์’ ฉบับกรุงเทพฯ ประกาศความร่วมมืออย่างเป็นทางการ 5 ปี ด้วยงบประมาณ 4.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สร้างชื่ออาหารไทยสู่มาตรฐานระดับโลก
ขวบปีแรกของมิชลิน ไกด์ ในประเทศไทย เปิดตัว ‘มิชลิน ไกด์’ ฉบับกรุงเทพฯ ที่วางแผนช่วงเดือนธันวาคมนี้ ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ 2 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นประเทศที่ 6 ในทวีปเอเชีย ที่ มิชลิน ไกด์ ตัดสินใจนำมาตรฐานการตรวจสอบที่ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ โดยทิศทางการจัดอันดับของมิชลินในเอเชียนั้นเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2007เกิดที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศแรก
“ความร่วมมือครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นทุ่มเทและความผูกพันของกลุ่มมิชลินที่มีต่อประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศที่เราดำเนินธุรกิจมานานกว่า 25 ปีและประสบความสำเร็จอย่างเต็มภาคภูมิด้วยความร่วมแรงร่วมใจของพนักงานราว 7,000 คนทั่วประเทศ”
Lionel Dantiacq กรรมการผู้จัดการกลุ่มมิชลินประจำภาคพื้นเอเชียตะวันออกและออสเตรเลีย เปิดเผย
ในการเปิดตัวคู่มือแนะนำร้านอาหารและที่พักระดับโลก ‘มิชลิน ไกด์’ ฉบับกรุงเทพฯ ประจำ 2561 หรือ MICHELIN Guide Bangkok 2018 มีกำหนดเผยโฉมเดือนธันวาคม 2559 โดยความพิเศษของทีมมิชลิน ไกด์ สำหรับประเทศไทยในครั้งนี้คือการจัดตั้งทีมพิเศษสำหรับผู้คัดเลือกที่เชี่ยวชาญอาหารไทยโดยเฉพาะ
ด้าน
ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “คู่มือ มิชลิน ไกด์ เป็นเอกสารอ้างอิงด้านอาหารที่ทรงอิทธิพลอย่างยิ่งต่อผู้คนทั่วโลก เรามั่นใจว่าความร่วมมือระหว่างมิชลินและ ททท.ในครั้งนี้จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการท่องเที่ยวของไทยในหลายระดับ ช่วยดึงดูดกลุ่มนักท่องเที่ยวระดับบน กระตุ้นให้มีการใช้จ่ายด้านอาหารต่อหัวมากขึ้น ซึ่งในปัจจุบันค่าเฉลี่ยค่าใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวอยู่ที่ 5,000 บาทต่อคน โดยในจำนวนค่าเฉลี่ยการใช้จ่ายเหล่านี้จะเป็นส่วนของค่าอาหารโดยประมาณ 1,000 บาทต่อหัว”
“การมาถึงของ มิชลิน ไกด์ จะเพิ่มค่าเฉลี่ยของการใช้จ่ายด้านอาหารของนักท่องเที่ยวโดยประมาณ 15-20% ในปีต่อๆ มาเนื่องจากความน่าเชื่อถือของ ‘มิชลิน ไกด์’ ยังจะกลายมาเป็นบรรทัดฐานใหม่กระตุ้นให้ธุรกิจร้านอาหารในไทยต้องพัฒนาความเป็นเลิศทั้งด้านคุณภาพอาหารและบริการให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป”
ทั้งนี้
ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าฯ ททท. ยังได้กล่าวเสริมถึงงบประมาณจำนวน 4.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็นงบประมาณระยะยาว 5 ปี ที่ได้รับการอนุมัติการคณะรัฐมนตรี โดยแบ่งจ่ายเป็นงวดๆ โดยในงวดปีแรกแบ่งจ่ายเป็นจำนวน 900,000 เหรียญสหรัฐฯ
ด้าน
เสกสรรค์ ไตรอุโฆษ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สยามมิชลิน จำกัด อีกหนึ่งผู้ประสานงานคนสำคัญกล่าวถึงมาตรฐานซึ่งเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศของผู้ตรวจสอบที่เดินทางเข้ามาภายในประเทศ “การเชิญอินสเปคเข้ามาไม่ใครรู้ว่าผู้ใดได้รับรางวัลแม้กระทั่งผม จนกระทั่งเชฟ ได้รับโทรศัพท์จากทาง มิชลิน ไกด์ เพื่อให้เข้ามารับรางวัล”
ทั้งนี้ภายในงานเปิดตัว
‘มิชลิน ไกด์’ ยังได้รับเกียรติจาก
กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รีฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่ได้กล่าวเปิดงานถึงความสำคัญของมาตรฐานของมิชลิน
“การเดินทางมาถึงกรุงเทพมหานครของมิชลิน ไกด์ ถึงว่าเป็นคัมภีร์ด้านอาหารที่ทรงอิทธิพลต่อผู้คนทั่วโลก จึงถือว่าเป็นมิติที่ดีสำหรับประเทศไทย เพื่อให้คนทั่วโลกรู้จักอาหารของประเทศไทยและคุณค่าอาหารของประเทศไทยซึ่งถือเป็นสิ่งที่สำคัญ โดยเราหวังว่านักท่องเที่ยวที่เดินทางมาประเทศไทยเกิดการใช้จ่ายเงินเพิ่มขึ้น ภายใต้ความร่วมมือนี้เชื่อว่าจะทำเกิดประโยชน์กับการท่องเที่ยวในประเทศไทย”
ทั้งนี้เกณฑ์การตัดสินผู้ตรวจสอบจาก มิชลิน ไกด์ จะประเมินคุณภาพของร้านอาหารโดยใช้หลักเกณฑ์ 5 ประการที่มิชลินกำหนดขึ้นเอง ดังนี้ คุณภาพสินค้า, การจัดเตรียมและรสชาติ, ลักษณะเฉพาะตัวของเชฟที่สื่อผ่านอาหารที่ปรุง, ความคุ้มค่าสมราคา ตลอดจนความเสมอต้นเสมอปลายของคุณภาพและรสชาติอาหาร ทั้งนี้หลักเกณฑ์ดังกล่าวจะถูกนำมารวมกัน โดยมีการจัดประชุมเพื่อพิจารณามอบรางวัลมิชลินให้แก่ร้านอาหารที่มีคะแนนสูงสุด โดยการประชุมดังกล่าวจะมีผู้บริหารมิชลิน ไกด์ เป็นประธาน รวมทั้งมีผู้ตรวจสอบของมิชลินและบรรณาธิการใหญ่ของคู่มือ มิชลิน ไกด์ ฉบับประจำประเทศนั้นๆ เข้าร่วมประชุมพิจารณา
ทั้งนี้ดาวมิชลินแบ่งออกเป็น 3 ระดับและถือเป็นราววัลที่มอบให้กับร้านอาหารเพื่อยกย่องเซฟและทีมงานโดยไม่จำกัดประเภทอาหาร นอกจากดาวมิชลินแล้ว มิชลินยังมีสัญลักษณ์อีกมากมายเพื่อการันตี อาทิ
บิบ กูร์มองด์ (BIB GOURMAND) ซึ่งเป็นการนำเสนอร้านอาหารที่นำเสนออาหารคุณภาพสูงในราคาที่เอื้อมถึง และ
สัญลักษณ์ช้อนส้อมไขว้กัน (FORKS AND SPOONS) ที่แบ่งเป็น 5 ระดับ อาทิช้อนส้อม 1 คู่ หมายถึง “ร้านอาหารที่สะดวกสบาย” ช้อนส้อม 5 คู่ ซึ่งหมายถึง “ร้านอาหารที่หรูหรา” หรือ สีแดงของช้อนส้อม ที่หมายถึง ร้านอาหารที่ถือว่ามีบรรยากาศ “น่าพอใจ”
3 ประเทศที่รับดาวมิชลินมากที่สุด ในระดับต่างๆ
ดาวมิชลิน 1 ดวง (ร้านอาหารที่อร่อยมากเมื่อเทียบกับร้านประเภทเดียวกัน)
อันดับ 1 ฝรั่งเศส 485 ร้าน
อันดับ 2 อิตาลี 250 ร้าน
อันดับ 3 ญี่ปุ่น 224 ร้าน
ดาวมิชลิน 2 ดวง (ร้านอาหารที่อร่อยเป็นพิเศษคุ้มค่ากับการขับรถออกนอกเส้นทางเพื่อแวะชิม)
อันดับ 1 ฝรั่งเศส 83 ร้าน
อันดับ 2 ญี่ปุ่น 61 ร้าน
อันดับ 3 อิตาลี 38 ร้าน
ดาวมิชลิน 3 ดวง (ร้านอาหารที่อร่อยยอดเยี่ยมและโดดเด่นควรค่าแก่การเดินทางไกลเพื่อไปชิมสักครั้ง)
อันดับ 1 ญี่ปุ่น 32 ร้าน
อันดับ 2 ฝรั่งเศส 26 ร้าน
อันดับ 3 อเมริกา 12 ร้าน