สายการบิน New Gen Airways ตั้งเป้าขยายเส้นทางการบินทั้งในและระหว่างประเทศมากกว่า 50 เส้นทาง ชูกลยุทธ์เมืองรองที่ประสบความสำเร็จจากตลาดจีน คาดปลายปีมีผู้โดยสารใช้บริการรวม 1.5 ล้านราย พร้อมตั้งเป้าเพิ่มอากาศยานปีละ 4 ลำ
New Gen Airways สายการบินน้องใหม่สัญชาติไทยเผยธันวาคมนี้ เปิดเส้นทางบินในประเทศ หลังจับมือภาครัฐ-เอกชน จ.นครราชสีมา เปิดเส้นทางบิน นครราชสีมา-เชียงใหม่ และ นครราชสีมา-ภูเก็ต รองรับผู้โดยสารจากภาคธุรกิจ ท่องเที่ยว คาดมีผู้ใช้บริการปีละ 2 แสนคน
“สาเหตุที่เลือกเปิดเส้นทางบินในประเทศแห่งแรกโดยใช้ท่าอากาศยานนครราชสีมา เป็นศูนย์กลางนั้น เนื่องจาก ความพร้อมหลายด้านของจังหวัด เนื่องจากเป็นหัวเมืองใหญ่เป็นประตูสู่ภาคอีสานเป็นศูนย์กลางการค้าและการคมนาคม รวมถึงการท่องเที่ยว เป็นจังหวัดที่มีขนาดใหญ่ที่สุด มีประชากรเป็นอันดับ 2 รองจากกรุงเทพฯ และมี GDP สูงที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือถึง 2.9 แสนล้านบาท” เจริญพงษ์ ศรประสิทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบิน
New Gen Airways กล่าวและตั้งเป้าให้บริการเที่ยวบินใหม่ทั้ง 2 เส้นทางวันละหนึ่งเที่ยวบินและทำให้ผู้โดยสารเพิ่มขึ้นปีละ 2 แสนราย
เจริญพงษ์ เผยอีกว่า หลังจากองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ได้ปลดธงแดงหน้าชื่อประเทศไทย สายการบินนิวเจนมีแผนที่จะขยายธุรกิจอย่างเต็มรูปแบบ โดยจะทำการขยายเส้นทางการบินควบคู่กันทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันสายการบิน New Gen Airways ประสบความสำเร็จในการให้บริการสายการบินระหว่างประเทศในเมืองรอง โดยเส้นทางระหว่างประเทศไทย-จีน เอง มีสัดส่วน 100 % ของรายได้หลักของบริษัท และเป็นการเดินทางท่องเที่ยวแบบเช่าเหมาลำเพื่อเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทย โดยลงเครื่องที่ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา
สำหรับเส้นทางการบินระหว่างจีนเรามี กรุงเทพฯ (ดอนเมือง) ภูเก็ต และกระบี่ เป็นฐานการบิน ส่วนสนามบินสำหรับประเทศเช่าเหมาลำ เราให้บริการที่
ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา สัตหีบ และ สุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นการบินตรงไปยัง 26 หัวเมืองประเทศจีน อาทิ กุ้ยหลิง หนานหนิง หางโจว เป็นต้น โดยปัจจุบันสายการบิน New Gen Airways ให้บริการ 40 เส้นทาง และมีสัดส่วนทางการตลาดราว 7-8 % ในประเทศจีน ปัจจุบันนักท่องเที่ยวชาวจีนมีความต้องการเดินทางเข้าประเทศราว 10 ล้านคนต่อปี ซึ่งตัวเลขปีที่ผ่านมา New Gen ให้บริการนักท่องเที่ยวจีนอยู่ที่ราวประมาณ 8 แสนคน
“นิวเจนเน้นการให้บริการที่เมืองรองซึ่งไม่ใช่ 5 เมืองหลักอย่าง เซี้ยงไฮ้ ปักกิ่ง กวางโจว เฉิ่งตู เสิ้นเจิ้น และจากการเปิดการบินตรงสู่ไทยจากเมืองรองทำให้เราได้ลูกค้าที่เป็นกลุ่มทัวร์ เป็นนักท่องเที่ยวที่เดินทางจากเมืองรองมีข้อจำกัดด้านภาษาจึงจำเป็นต้องเดินทางมากับกรุ๊ปทัวร์ เพื่อให้เกิดความสะดวกสบาย” เจริญพงษ์ ศรประสิทธิ์ กล่าว และเสริมอีกว่ากลุ่มนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวระดับกลางและมีการใช้จ่ายสูง
สำหรับแผนที่การเปิดให้บริการเส้นทางการบินภายในปี 2561 เจริญพงษ์ตั้งเป้าเปิดอีก 3 ประเทศ ไต้หวัน เกาหลีใต้ และอินเดีย สำหรับเกาหลีและไต้หวัน เราเปิด 1 เส้นทาง ส่วนอินเดียมองไว้ 3 เส้นทาง สำหรับความคืบหน้าของเส้นทางกรุงเทพฯ-เมียนม่า มีกำหนดการเปิดราวต้นเดือนหน้า โดยเป็นเส้นทางบินไปยังเมืองมะริดแบบเช่าเหมาลำก่อนปรับเป็นเส้นทางบินประจำในเวลาต่อมา ส่วนประเทศจีนตั้งเป้าเพิ่มเมืองเพิ่ม 5 เส้นทาง
ทั้งนี้หลังจากที่สายการบินนิวเจนเปิดเส้นทางการบินใหม่ทั้งในประเทศและต่างประเทศได้ตามแผนจะทำให้มีผู้โดยสารเพิ่มขึ้น ประมาณ 5 แสนราย โดยคาดการณ์สิ้นปี 2560 มีจำนวนผู้โดยสาร 1.5 ล้านราย สำหรับเป้าหมายปีหน้าตั้งเป้าผู้โดยสารมากกว่า 2 ล้านคน โตตามสัดส่วนของเส้นทางบินและอากาศยานที่เพิ่มขึ้น
“หลังจากเปิดเส้นทางบินในประเทศอื่นๆ สัดส่วนของผู้โดยสารชาวจีนอยู่ที่ราว 70 % โดยคาดการณ์ผู้โดยสารภายในประเทศจะอยู่ในลำดับที่สองราว 2 แสนคน”
สำหรับรายได้รวมครึ่งปีแรกของ New Gen Airways มีรายได้รวม 3.3 พันล้านบาท โดยปลายปี เจริญพงษ์ เผยตัวเลขรายได้อยู่ที่ราว 7-8 พันล้านบาท โดยปีหน้าหมายมั่นรายได้แตะหมื่นล้านบาท ขณะที่การลงทุนอากาศตั้งเป้าปีละ 4 ลำ เข้ามาสมทบจากอากาศยาน 12 ลำ เดิม คือ Boeing 737-400 จำนวน 4 ลำ และ Boeing 737-800 จำนวน 8 ลำ โดยอากาศยานที่ New Gen Airways นำเข้ามาสมทบจะเป็น Boing 737-400 ทั้งหมดโดยมีอายุการใช้งานราว 10-12 ปี โดยเครื่องที่ลำเข้ามาในลักษณะเช่าจากบริษัทให้เช่าอากาศยานอาทิ AER Cap โดยมีราคาราว 100 ล้านบาทต่อลำ
“สำหรับนโยบายการเปิดเส้นทางบินของสายการบินนิวเจนนั้น เราจะเน้นเส้นทางบินที่ยังไม่มีการเปิดให้บริการหรือมีการเปิดให้บริการที่ยังน้อย เช่นปัจจุบันที่เราประสบความสำเร็จในการบินไทย-จีน ก็เป็นการบินในเส้นทางที่บินไปเมืองรอง ทำให้ได้รับการตอบรับจากผู้โดยสารที่ไม่ต้องการเดินทางไปขึ้นเครื่องบินในเมืองใหญ่” เจริญพงษ์ ศรประสิทธิ์ ทิ้งท้าย