พ.ต.พญ.จัณจิดา รัตนภูมิภิญโญ ทายาทรุ่นที่ 2 กำลังผสมสีปรุงกลิ่นให้ อาร์ แอนด์ บี ฟู้ด ซัพพลาย หรือ RBF หอมฟุ้งกระจายไปทั่วโลก ขึ้นเป็นผู้นำนวัตกรรมด้านกลิ่น รสชาติ รูปลักษณ์ และเนื้อสัมผัสของอาหารและเครื่องดื่มระดับโลก
หมอผิวหนัง พ.ต.พญ.จัณจิดา รัตนภูมิภิญโญ ทายาทรุ่นที่ 2 ของตระกูล เจ้าของ บมจ.อาร์ แอนด์ บี ฟู้ด ซัพพลาย หรือ RBF ให้เวลากับ Forbes Thailand เข้าพูดคุย คุณหมอนักผู้บริหารวัย 37 ดูอ่อนเยาว์ อารมณ์ดีและพูดคุยอย่างสนุก
เธอเข้ามาช่วยงานใน RBF ทั้งๆ ที่ไม่คิดมาก่อนว่าจะเข้ามาสู่เส้นทางอุตสาหกรรมอาหาร เนื่องจากบิดา ดร.สมชาย รัตนภูมิภิญโญ เลี้ยงลูกอย่างอิสระ ไม่ได้วางตัวไว้จะให้ช่วยงานที่บ้าน เธอบอกว่า ใจจริงเธอ “อิน” กับอาชีพแพทย์ด้านผิวหนังมากกว่า
อาร์ แอนด์ บี ฟู้ด ซัพพลาย ก่อตั้งโดย ดร.สมชาย เมื่อ 30 ปีที่แล้ว บัณฑิตสาขาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์จากการฝึกงานที่ประเทศอังกฤษ บวกกับความหลงรักในเทคโนโลยีทางเคมี จึงได้เริ่มทำธุรกิจวัตถุแต่งกลิ่นรสกับหุ้นส่วนชาวอังกฤษรายหนึ่ง วันหนึ่งได้มองเห็นโอกาสการเติบโต จึงตัดสินใจสร้างโรงงานขึ้นในปี 2528
กว่า 3 ทศวรรษ บริษัทเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้เศรษฐกิจประเทศไทยเผชิญกับความท้าทายมากมายก็ตามที โดยเฉพาะวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 ปัจจุบันดร.สมชาย อายุ 67 ปี สุขภาพไม่แข็งแรงเหมือนก่อน และกำลังส่งไม้ต่อให้ พ.ต.พญ.จัณจิดา โดยเขาทำหน้าที่เป็นเทรนเนอร์ให้ลูกสาวก่อนที่จะปล่อยให้เข้าดูแลอย่างเต็มตัวในอนาคต
ปัจจุบัน RBF เป็นบริษัทอาหารแบบครบวงจร มีสินค้า 6 กลุ่มภายใต้การดำเนินงานคือ 1. กลุ่มวัตถุแต่งกลิ่นและสีผสมอาหาร 2. กลุ่มแป้งและซอส 3. กลุ่มผลิตอบแห้ง 4. กลุ่มผลิตภัณฑ์แช่แข็ง 5. กลุ่มบรรจุภัณฑ์พลาสติก และ 6. กลุ่มผลิตภัณฑ์ซื้อมาเพื่อจำหน่าย (เทรดดิ้ง) ปัจจุบัน กลุ่มวัตถุแต่งกลิ่นและสีผสมอาหารยังเป็นธุรกิจหลักและสร้างชื่อให้กับบริษัท
“ผู้เล่นในตลาดมีไม่มาก ทั้งในยุคก่อนหน้าและยุคนี้ เพราะต้องใช้เทคโนโลยีสูง ไม่ใช่ทุกบริษัทผลิตได้ บริษัทไทยที่ผลิตได้ ที่มี flavor list เป็นของตนเอง น่าจะมี Thai flavor ที่เป็นบริษัทในเครือแค่เจ้าเดียว ที่สามารถคิดกลิ่นขึ้นมาเอง กลิ่นเพื่อผสมอาหารให้น่าทานขึ้น” พ.ต.พญ.จัณจิดากล่าว
พ.ต.พญ.จัณจิดาเข้ามาช่วยงานที่อาร์ แอนด์ บี ฟู้ด ซัพพลาย เมื่อราว 6 ปีที่แล้ว เธอบอกว่า บิดาของเธอได้วางรากฐาน RBF ไว้อย่างแข็งแกร่ง และในฐานะเป็นคนรุ่นที่ 2 ภารกิจที่สำคัญคือการ “ต่อยอด” ให้บริษัทเติบโต
เพื่อเตรียมความพร้อมนั้น เธอยอมลงทุนเรียนปริญญาโทสาขาเศรษฐศาสตร์ที่จุฬาฯ เพิ่มอีก 1 ใบ และขณะนี้กำลังเรียนเพิ่มอีก 1 ใบที่ภาควิชาเทคโนโลยีอาหาร มหาวิทยาลัยศิลปากร
ทั้งนี้ RBF ดำเนินธุรกิจหลากหลายรูปแบบ ซึ่งรวมไปด้วย บริการลูกค้าในกลุ่มอุตสาหกรรม หรือแบบ B2B รับผลิตสินค้าภายใต้ OEM ให้กับแบรนด์ต่างๆ รวมทั้งผลิตสินค้าภายใต้แบรนด์ตัวเองอาทิ อังเคิลบาร์นส์ เบสท์ โอเดร์ แองเจโร และเฮโย เพื่อจำหน่ายในตลาดค้าปลีก ปัจจุบัน บริษัทมีโรงงานผลิตรวม 7 แห่งในประเทศไทย คือ กรุงเทพฯ พระนครศรีอยุธยา และเชียงใหม่
“พูดว่าเราเป็นผู้นำน่าจะได้ เครื่องดื่มชูกำลัง บริษัทอาหาร เครื่องดื่ม ต้องมีวัตถุดิบอย่างใดอย่างหนึ่งที่ใช้ในการผลิตจากบริษัทของพวกเรา เรามีหลาย account มาก เราจะเป็น supply list ให้กับบริษัทอาหารใหญ่ๆทุกวันนี้”
พ.ต.พญ.จัณจิดาบอกว่า อนาคตบริษัทจะให้ความสำคัญกับการผลิตสินค้าแบรนด์ตัวเองเพิ่มขึ้น ขณะที่ลูกค้าในกลุ่มอุตสาหกรรม บริษัทจะต้องช่วยหาโซลูชั่นด้านนวัตกรรมต่างๆ ให้และพร้อมที่จะช่วยจัดการด้านซัพพลายเชน หากไม่มีศักยภาพมากพอ กล่าวคือ บริษัทจะพยายามหาทางทำอย่างไรให้สินค้าผลิตได้ง่ายขึ้น สามารถเก็บได้นานขึ้น หรือทำอย่างไรให้อายุสินค้านานขึ้น 2-3 ปีโดยไม่มีกลิ่นหืนและคุณภาพข้างในยังดีอยู่
บุกเพื่อนบ้าน
อาร์ แอนด์ บี ฟู้ด ซัพพลาย เริ่มส่งออกสินค้าไปตั้งแต่ยุคแรกหลังบริษัทเปิด แต่มาบุกเบิกอย่างจริงจังในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เนื่องจาก รัฐบาลส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็น “ฮับ” ผู้ส่งออกอาหารหลักของโลก ไม่ใช่แค่การส่งออกเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมไปถึงการลงทุนในประเทศนั้นๆ โดยตรง โดยเฉพาะการตั้งโรงงานผลิต
ประเทศเวียดนามและประเทศอินโดนีเซีย เป็นประเทศที่ RBF ให้ความสนใจ เนื่องจากมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ ค่าแรงถูกและประชากรที่มีกำลังซื้อมาก โดยบริษัทเข้าไปตั้งสำนักงานขายเมื่อราว 4 ปีที่แล้ว พร้อมกับจ้างคนท้องถิ่นเข้าทำงาน เพื่อศึกษาตลาดอย่างจริงจัง
จนวันหนึ่งได้ข้อมูลที่แน่ชัดและมั่นใจกับตลาดนี้ บริษัทจึงตัดสินใจตั้งโรงงานในประเทศทั้งสอง ใช้เงินทุนแห่งละขั้นต้นราว 100 ล้านบาท เพื่อเป็นที่ผลิตแป้งทอดกรอบและเกล็ดขนมปังให้กับลูกค้าในกลุ่มอุตสาหกรรม โดยโรงงานทั้งสองจะเริ่มการผลิตอย่างเป็นทางการในปีนี้
ประเทศฟิลิปปินส์เป็นอีกประเทศที่เต็มไปด้วยโอกาส เนื่องจากประเทศเป็นหมู่เกาะ จำเป็นต้องใช้เรือส่งสินค้าระหว่างเกาะ ทำให้ต้นทุนสินค้าสูงขึ้น ดังนั้น การซื้อสินค้าจากไทยบางอย่างจะมีราคาถูกว่า และนี่คือโอกาสของ RBF
ปัจจุบันพ.ต.พญ.จัณจิดากำลังขอขึ้นทะเบียนสินค้าของ RBF ภายใต้แบรนด์ของตนเองเพื่อส่งไปจำหน่ายในดินแดนตากาล็อก นอกเหนือจากจำหน่ายผลิตภัณฑ์เกล็ดขนมปังให้กับกลุ่มอุตสาหกรรมและกลุ่มผลิตภัณฑ์ซอสเข้าไปในร้านอาหารเชนต่างๆ ในปัจจุบัน
นอกจากนี้ ยังกำลังรุกเข้าตลาดจีน โดยได้มีการตั้งสำนักงานขายที่เมือง Guangzhou ปัจจุบันได้รับใบอนุญาตการทำธุรกิจนำเข้าและส่งออกจากรัฐบาลจีนเป็นที่เรียบร้อย และได้เริ่มส่งออกข้าวเหนียวมะม่วงยี่ห้อ “อร่อยมาก” ซึ่งเป็นแบรนด์ของบริษัทไปจำหน่ายแล้ว อนาคตอันใกล้จะมีอาหารแช่แข็งอื่นๆ ส่งไปขาย รวมทั้งผลิตภัณฑ์ในกลุ่มวัตถุแต่งกลิ่นและสีผสมอาหาร เนื่องจาก Guangzhou เป็นที่ตั้งขอโรงงานผลิตขนมและลูกอมอยู่เป็นจำนวนมาก
เป้าหมายในระยะยาวของเธอคือ เป็นผู้เล่นสำคัญในตลาดโลก แต่ก่อนจะไปถึงวันนั้นพ.ต.พญ.จัณจิดาบอกว่า ต้องทำให้บริษัทแข็งแกร่งและมีความพร้อมในทุกๆ ด้าน และหนึ่งในนั้นก็คือการเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หวังยกระดับบริษัทและสร้างภาพลักษณ์ให้กับองค์กร คาดว่าหุ้นไอพีโอของบริษัทจะเข้าเสนอขายครั้งแรกภายในปีนี้
เมื่อทุกอย่างพร้อม เป้าหมายต่อไปอีก 5 ปีคือขยับตัวเองเป็นบริษัทระดับโลก และหนึ่งในวิธีการที่จะบรรลุเป้าหมายนั้นก็เป็นไปได้ในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการร่วมทุนหรือซื้อกิจการ โดยเฉพาะการขยายตลาดไปยังตลาดยุโรปและสหรัฐฯ ปัจจุบัน บริษัทได้ส่งออกสินค้าไปตลาดสหรัฐฯ และอังกฤษ มีทั้งกลุ่มอาหารแช่แข็งและอบแห้ง ส่วนใหญ่เป็นแบบรับจ้างผลิต
ขณะนี้รายได้จากต่างประเทศคิดเป็น 15% ของรายได้รวมในปี 2560 บริษัทมีรายได้ทั้งหมด 2.8 พันล้านบาท กำไรสุทธิ 400 ล้านบาท อนาคตคาดว่าสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศจะเพิ่มเป็น 20-30% เนื่องจากมีรายได้จากโรงงานผลิตที่ประเทศเวียดนามและอินโดนีเซียเข้ามาและขยายสินค้าไปสู่ตลาดใหม่ๆ
“มาถึงวันนี้ก็รักเลย เป็นงานที่ create ปล่อยให้เราคิดโน่นทำนี่ คิดออกอาหารใหม่ๆ ออกรสชาติใหม่ๆ ตลอดเวลา สนุกไปอีกแบบ ต่างจากอาชีพหมอ create อะไรมากไม่ได้เพราะมันเกี่ยวกับชีวิตคน” พ.ต.พญ.จัณจิดากล่าวทิ้งท้าย
เรื่อง: บำรุง อำนาจเจริญฤทธิ์ ภาพ: จันกลาง กันทอง
คลิกอ่านเรื่องราวฉบับเต็มของ “ผสมสีปรุงกลิ่นให้ RBF หอมฟุ้งทั่วโลก" ได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนกรกฎาคม 2562 ในรูปแบบ e-Magazine