ในบทสรุปของหนังสือ
The ASEAN Miracle: A Catalyst for Peace (สำนักพิมพ์ NUS Press ปี 2017)
Kishore Mahbubani และ
Jeffery Sng ผู้เขียนกล่าวไว้ว่า “หากมุมหนึ่งของโลกที่ไม่ได้สมบูรณ์แบบนักสามารถนำสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองมาสู่ประชากรกว่า 625 ล้านคนของตนได้ ภูมิภาคอื่นๆ ทั่วโลกก็น่าจะสามารถสร้างความสำเร็จเฉกเช่นความร่วมมือของ ASEAN ที่ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่องได้เช่นกัน”
ASEAN (ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 10 ประเทศ) ถือเป็นการรวมตัวของเหล่าประเทศในภูมิภาคที่เรียกได้ว่ามีความแตกต่างทั้งด้านเชื้อชาติ ศาสนา และภาษามากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก อินโดนีเซียเพียงประเทศเดียวมีภาษาที่ใช้สื่อสารกันมากกว่า 700 ภาษา ภูมิภาคนี้ได้รับอิทธิพลจากสิ่งที่ผู้เขียนเรียกว่า “คลื่นอารยธรรมทั้งสี่” ได้แก่ ยุคแห่งอินเดีย จีน มุสลิมและโลกตะวันตก ซึ่งทำให้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เปรียบเสมือนจุดตัดอันเป็นแหล่งรวมอารยธรรมสำคัญของโลก

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าเส้นทางที่ผ่านมาของ ASEAN จะโรยด้วยกลีบกุหลาบ สงครามเวียดนามดำเนินไปอย่างโหดร้าย ส่วนที่เลวร้ายไม่แพ้กันคือสงครามอเมริกันที่ปะทุขึ้นในสปป.ลาว (ช่วงปี 1962-1975) ซึ่งคร่าชีวิตประชาชนไปกว่า 10% และอีก 25% ต้องลี้ภัยออกจากประเทศ กลุ่มเขมรแดงที่ขึ้นครองอำนาจในกัมพูชาช่วงปี 1975 ถึงปี 1979 กระทำการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อันเป็นหนึ่งในโศกนาฏกรรมครั้งเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์โลก นอกจากนั้นยังมีเหตุการณ์ข่มเหงทารุณชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมโรฮิงญาในเมียนมาที่ดำเนินอยู่ในปัจจุบัน
แล้วปัจจัยแห่งความสำเร็จของ ASEAN คืออะไร?
ปัจจัยที่ส่งผลโดยรวมคือ คลื่นลมด้านมิติการเมืองที่เป็นใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรณีการเยือนประเทศจีนครั้งประวัติศาสตร์ของประธานาธิบดี
Richard Nixon เมื่อปี 1972 และการสิ้นสุดลงของสงครามเวียดนาม แม้จุดยืนและความคิดจะอยู่คนละขั้วการเมือง แต่สาธารณรัฐประชาชนจีนและสหรัฐฯ มองเห็นถึงความสำคัญที่จะพัฒนาความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกซึ่งจะเป็นประโยชน์กับทั้งสองฝ่ายเนื่องจากมีศัตรูรายเดียวกันคือสหภาพโซเวียต
ทั้งนี้ ประเด็นถกเถียงกันว่าภัยคุกคามที่น่าหวั่นเกรงที่สุดสำหรับประชาคม ASEAN ในปัจจุบันก็คือการแข่งขันระหว่างประเทศมหาอำนาจจากสองภูมิภาคอย่างจีนและสหรัฐฯ
อีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญคือการปฏิรูปเศรษฐกิจมาอิงกลไกตลาดเศรษฐกิจของหลายประเทศสมาชิกเติบโตอย่างก้าวกระโดดหลังจากได้รับเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ถึงแม้ว่าจะมีบางประเทศที่ขยายตัวต่ำกว่าตลาดอย่างเห็นได้ชัดเจนในประเทศฟิลิปปินส์
(ขอบคุณภาพจาก: Pichaya Svasti/โพสต์ทูเดย์)
ในช่วงศตวรรษที่ 1980 ประเทศไทยถูกเรียกกันในหมู่นักลงทุนว่า
“ประเทศแห่งการรอคิว” เนื่องจากแถวรอนำเสนอโครงการลงทุนที่ BOI (สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน) จะยาวเหยียดและแน่นเสมอ มาเลเซียผงาดขึ้นเป็นศูนย์กลางด้านอิเล็กทรอนิกส์ จุดหมายการลงทุนจากต่างชาติและอุตสาหกรรมการผลิต ประเทศที่โดดเด่นที่สุดเห็นจะ
เป็นเวียดนามที่ได้ปฏิรูปประเทศตั้งแต่รากฐานหลังจากรัฐบาลคอมมิวนิสต์นำพาประเทศชาติสู่ทศวรรษแห่งหายนะ ปัจจุบันเวียดนามเป็นหนึ่งในประเทศที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจแห่งหนึ่งของโลก
แล้วอนาคตจะเป็นอย่างไร? ASEAN จะต้องเผชิญอุปสรรคหลายประการโดยมีสองข้อที่เป็นประเด็นสำคัญ สถานการณ์ตึงเครียดระหว่างจีนและสหรัฐฯ จะส่งผลกระทบมหาศาลต่อประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะ ASEAN ข้อพิพาทเรื่องอธิปไตยเหนือดินแดนทะเลจีนใต้อาจเป็นชนวนสำคัญที่นำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรง นอกจากนี้ ผู้เขียนยังสังเกตเห็นว่า
ASEAN เป็นความร่วมมือที่อาจจำกัดวงอยู่แค่ในระดับนโยบาย ผู้บริหารระดับสูงจากภาครัฐและภาคเอกชนอาจมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันแต่ไม่ปรากฏชัดเจนนักสำหรับกลุ่มประชาชนทั่วไปของเหล่าประเทศสมาชิก ทั้งนี้ ASEAN จะต้องผลักดันนโยบายความร่วมมือจากระดับบนไปสู่ประชาชนให้มากขึ้น
ยังมีคนตั้งความหวังว่าปัญหาเหล่านี้และอุปสรรคอื่นๆ อันรวมถึงการเมืองที่ไม่โปร่งใสและการคอร์รัปชันที่พบเห็นกันดาษดื่นจะถูกทลายลงในที่สุด ASEAN คือเรื่องราวแห่งความสำเร็จที่ไม่ธรรมดาและเหตุผลที่ ASEAN ควรก้าวต่อไปสู่ความสำเร็จที่ไม่หยุดยั้งไม่ใช่เพื่อประโยชน์สำหรับประชาชน 625 ล้านคนในภูมิภาคเท่านั้น แต่ยังรวมถึงประชากรใน
กลุ่มประเทศตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ (MENA) อีก 385 ล้านคนและภาพรวมทั่วโลก เพราะแท้จริงแล้วการนำรูปแบบกลยุทธ์ไปปรับใช้ก็น่าจะเข้าท่าอยู่ไม่น้อย ด้วยกลุ่ม MENA สามารถเรียนรู้จาก ASEAN ที่มีชาวมุสลิมเป็นประชากรส่วนใหญ่

Jean-Pierre Lehmann
ผู้เขียนบทความให้กับ Forbes.com
ศาสตราจารย์กิตติคุณของ IMD ใน Lausanne ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
อาจารย์พิเศษแห่ง Hong Kong University และ NIIT University ใน Rajasthan ประเทศอินเดีย
คลิกอ่านบทความที่น่าสนใจ ได้ที่ Forbes Thailand Magazine ฉบับ กรกฎาคม 2560 ในรูปแบบ e-Magazine
