โจทย์ใหญ่เกี่ยวกับแรงงานตอนนี้ไม่น่าจะหนีจากการที่ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย ขณะที่เด็กเกิดใหม่ลดน้อยลงเพราะผลของนโยบายคุมกำเนิดในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา
หากอ้างอิงข้อมูลสถิติประชากรจากกรมการปกครองจะพบว่า ปัจจุบันเรามีผู้สูงอายุที่อยู่ในวัยเกษียณหมาดๆ มากที่สุด คือกลุ่มอายุ 60-69 ปี จำนวนถึง 7.12 ล้านคน ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดในกลุ่มประชากรสูงวัยทั้งหมดของประเทศ
ประชากรกลุ่มนี้เพิ่งพ้นจากวัยแรงงาน และเด็กเกิดใหม่ก็ลดน้อยลง ทำให้ประชากรแรงงานหน้าใหม่ๆ น้อยลงตามไปด้วย ส่งผลถึงการเปลี่ยนโฉมหน้าของแรงงานในประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ยิ่งไปกว่านั้นโฉมหน้าของแรงงานข้างต้นไม่ใช่แค่เรื่องช่วงวัยของประชากร แต่เกี่ยวพันไปถึงพฤติกรรม แนวคิด และความต้องการในรูปแบบการทำงานที่แตกต่างออกไปอีกด้วย ตัวอย่างเช่น จัดตารางเวลาทำงานได้เอง เป็นต้น
การพิจารณาเพิ่มเติมถึงผลของสังคมสูงวัยต่อโฉมหน้าของแรงงานยังพบว่าไม่ใช่แค่เบื้องหน้าของแรงงานเท่านั้นที่เปลี่ยนแปลง แต่เบื้องหลังก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เมื่อสมาชิกครอบครัวเข้าสู่วัยเกษียณมากขึ้น รายได้รวมก็ลดลง สมาชิกที่ต้องอยู่ในวัยแรงงานจึงต้องรับภาระมากขึ้นทั้งเรื่องค่าใช้จ่ายและการดูแลผู้สูงวัยที่ต้องใช้พลังงานและเวลามากพอๆ กัน
ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติแสดงให้เห็นว่า 59.9% ของผู้รับภาระดูแลผู้สูงวัยในครอบครัวคือ “ลูก” ที่อยู่ในวัยแรงงาน ซึ่งเห็นตัวอย่างกันเรื่อยๆ ว่า หากไม่มีตัวช่วยที่ดีแล้วนั้น มีความเป็นไปได้สูงที่เขาหรือเธอจะหลุดออกจากองค์กรเมื่อมาถึงจุดที่ต้องเลือกระหว่างงานกับครอบครัว
เมื่อประกอบกับกระแส new normal ซึ่งยังมีผลต่อเนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ที่สร้างความตื่นตัวในการดูแลสุขภาพทั้งกายและใจควบคู่ไปกับการทำงานอย่างพอเหมาะพอดี หรือ work-life balance จึงทำให้สิ่งเหล่านี้กลายเป็นประเด็นหลักๆ ที่ทำให้การบริหารทรัพยากรบุคคลในองค์กรต้องสามารถตอบโจทย์ความต้องการของวัยแรงงานได้อย่างรอบด้านและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น
เพื่อดึงดูดและรักษาพนักงานที่มีประสิทธิภาพไว้กับองค์กร ลดปัญหาการขาดหรือลาออกที่อาจทำให้เกิดการขาดช่วงของความรู้หรือทักษะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตำแหน่งงานที่สำคัญต่อการดำเนินธุรกิจ
ถ้าจะกล้าวถึงวิธีการที่ช่วยให้องค์กรดึงดูดและรักษาพนักงานให้อยู่กับองค์กรได้ตามที่ต้องการ นอกจากนโยบายค่าตอบแทนที่ครอบคลุมแล้วนั้น แนวคิดสถานประกอบการที่เป็นมิตรกับครอบครัวก็เป็นแนวทางหนึ่งที่องค์กรสามารถนำไปปฎิบัติเพื่อตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ในสังคมสูงวัยได้เช่นกัน
แนวคิดนี้มุ่งเน้นให้องค์กรวางรูปแบบการจ้างงานที่ยืดหยุ่น จัดสวัสดิการที่ตอบโจทย์ตามความต้องการของพนักงาน รวมถึงช่วยเหลือโดยตรงในการดูแลสมาชิกครอบครัวของพนักงาน โดยแบ่งเป็น 4 มิติ คือ
1.Time Management การจัดการเวลาในการปฏิบัติงาน เช่น จ้างเป็นชิ้นงานหรือโครงการ วันทำงาน 4 วัน/สัปดาห์ เลือกเวลาเริ่ม-เลิกงานได้ วันลาดูแลสมาชิกครอบครัวช่วงวิกฤต เป็นต้น
2.Work Location นโยบายด้านสถานที่ทำงาน เช่น ทำงานที่บ้าน การโอนย้ายกลับบ้านเกิด เป็นต้น
3.Family Support ช่วยให้พนักงานดูแลสมาชิกครอบครัวได้ตรงตามความต้องการมากขึ้น เช่น ทุนการศึกษา ศูนย์ Day Care มุมนมแม่ เงินกู้เฉพาะกาล บริการรับส่ง-ผู้สูงวัยพบแพทย์ จ้างผู้สูงวัยทำงานพิเศษ เป็นต้น
4.Relations ส่งเสริมความสัมพันธ์ เช่น วันครอบครัว เพิ่มทักษะในการดูแลเด็กหรือผู้สูงวัย ฯลฯ
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระของพนักงาน หรืออีกนัยหนึ่งที่เป็นประโยชน์ต่อองค์กรก็คือ เพื่อให้พนักงานมีเวลาในการปฏิบัติงานอย่างเต็มที่ ลดการลางาน ขาดงาน หรือลาออกในท้ายที่สุด
บทความโดย หทัยกาญจน์ สุริยะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอท 315 จำกัด
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ: “Digital Transformation” สำคัญกับองค์กรยุคใหม่