การเขียนบทความสำหรับคอลัมน์ Thought Leaders ครั้งนี้ ผมอยากเชิญชวนผู้อ่านให้คิดถึงโจทย์ใหญ่ของประเทศในเรื่องของการใช้ตลาดทุนเพื่อสร้างอิสรภาพทางการเงิน ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างมากต่อพลเมืองของประเทศที่มีสัดส่วนของการเข้าสู่วัยเกษียณอายุในอัตราสูง หรือที่เรียกกันว่า Ageing Society
เพราะหากประชาชนยังประสบทั้งปัญหาหนี้ครัวเรือน การออมยังไม่เพียงพอ และเลือกลงทุนไม่เป็น สิ่งเหล่านี้จะเป็นปัจจัยที่ทำให้ประเทศไทยประสบปัญหาทั้งด้านการเงิน การคลัง ปัญหาทางสังคมรวมไปถึงการขาดความสามารถของประชาชนที่จะใช้ชีวิตอยู่อย่างมีความสุขได้ สถิติสำคัญในด้านนี้ก็คงหนีไม่พ้นตัวเลขของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในระบบปัจจุบัน ซึ่งมีจำนวนสมาชิกกว่า 3 ล้านคน มีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการกว่า 1.1 ล้านล้านบาท แต่เมื่อพิจารณาตัวเลขนี้ในรายละเอียดแล้วจะเห็นว่าในจำนวนสมาชิกทั้งหมดนี้มีมากกว่าครึ่งหนึ่งที่จะมีเงินอยู่ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ณ วันเกษียณอายุไม่ถึง 1 ล้านบาท ซึ่งจะไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตภายหลังเกษียณได้อย่างมีคุณภาพ ปัญหาในด้านนี้ก็อาจมาจากการที่สมาชิกใส่เงินสะสมไม่มากพอ และมีการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงที่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของเงินลงทุน ซึ่งทำให้ผลตอบแทนของกองทุนเฉลี่ยอยู่ประมาณ 3-4% ต่อปี เท่านั้น ปัญหานี้เกิดจากหลายปัจจัย แต่ที่มาหลักๆ คงเป็นเรื่องเกี่ยวกับการขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องการลงทุนของสมาชิก และถึงแม้ว่ารัฐบาลปัจจุบันมีนโยบายชัดเจนที่จะผลักดันกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับ ที่จะกำหนดให้นายจ้างภาคเอกชนต้องตั้งกองทุนขึ้นเพื่อการเกษียณอายุของพนักงาน แต่ถ้าหากกองทุนนี้ยังไม่สามารถนำเงินไปลงทุนให้งอกเงยได้อย่างเพียงพอ ปัญหาของคนเกษียณอายุภาคเอกชนที่มีเงินไม่พอใช้ในยามเกษียณ ก็จะยังคงไม่หนีหายไปไหน นอกจากสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเองแล้ว ประชาชนโดยทั่วไปก็ยังไม่สามารถที่จะเข้าถึงตลาดทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพเพราะจากตัวเลขการเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์และบัญชีกองทุนรวมพบว่า มีจำนวนผู้ลงทุนเพียงไม่ถึง 4 ล้านคน จากประชากรวัยทำงานทั้งหมดกว่า 39 ล้านคน ซึ่งเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก ในขณะที่มูลค่าหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์กลับมีจำนวนสูงถึง 115% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ สิ่งที่เป็นตัวช่วยที่จะแก้ปัญหาในเรื่องเหล่านี้ ก็คงจะหนีไม่พ้นพัฒนาการทางเทคโนโลยี ที่จะสามารถทำให้ปัจจัยความต้องการของการลงทุนของแต่ละคนสามารถถูกจัดเก็บ ประมวลผล และสามารถจัด total solution ในเรื่องเกี่ยวกับการลงทุนให้แก่ประชาชนได้โดยไม่ยาก แนวความคิดนี้จึงนำไปสู่โครงการ “5 ขั้นมั่นใจลงทุน” โครงการที่มุ่งเน้นให้เทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อนการให้บริการคำแนะนำแบบครบวงจร เข้ามาช่วยแก้ปัญหาให้ประชาชนทุกระดับให้เข้าสู่ตลาดทุนง่ายขึ้น เสมือนเปิดประชาธิปไตยบริการทางการลงทุน สามารถตอบโจทย์ความต้องการลงทุนของแต่ละคนในลักษณะ “tailor-made” วางแผน การลงทุนแบบองค์รวม จับคู่ความใช่ เลือกผลิตภัณฑ์ทางการเงินตามคำแนะนำที่ถูกจริตกับความเสี่ยงของผู้ลงทุนแต่ละคนให้มากที่สุดเพราะเชื่อว่าเป้าหมายการลงทุนของแต่ละคนไม่เหมือนกัน จึงไม่มีคำาแนะนำสำเร็จรูปที่ออกแบบมาสำหรับทุกคน นอกจากนี้เทคโนโลยียังสามารถติดตามและรายงานสถานะการลงทุนให้ผู้ลงทุนทราบเป็นระยะ เพื่อจะปรับกลยุทธ์การลงทุนให้ทันกับสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ไม่พลาดจากเป้าหมายที่วางไว้เรื่องนี้ผมไม่คิดว่าเป็นเรื่องที่เพ้อฝัน เพราะปัจจุบันคนไทยถือว่ามีความเข้าถึงเทคโนโลยีในระดับที่เป็นแนวหน้าของสากลทีเดียว โดยสถิติของคนไทยยุคดิจิทัล 4.0 มีการใช้งานอินเทอร์เน็ตสูงถึง 57 ล้านคน หรือ 82% ของประชากรไทยทั้งหมด และมีผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ และโทรศัพท์มือถือสูงถึง 55 ล้านคน หรือ 80% ของประชากรทั้งหมด สถิติการใช้งานระบบ mobile banking เพิ่มสูงขึ้นทุกปี เฉพาะไตรมาสแรกของปี 2561 ก็สูงกว่า 400 ล้านรายการแล้ว ปัจจุบัน โครงการ “5 ขั้นมั่นใจลงทุน” ได้เปิดตัว และมีผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับความเห็นชอบให้บริการนี้แล้วเกือบ 30 รายซึ่งถือได้ว่าเป็นการเปลี่ยนโฉมธุรกิจการให้คำาแนะนำการลงทุนครั้งใหญ่ โดยเทคโนโลยีจะช่วยเปิดศักราชการเข้าถึงของตลาดทุนของผู้ลงทุนได้ หรือเรียกว่า Democratization of Financial Service ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญต่อตลาดทุนและประเทศของเรา เพราะการที่ผู้ลงทุนสามารถวางแผนและจัดการการลงทุนของตนเองและสร้างผลตอบแทนอย่างมีประสิทธิภาพได้ จะทำให้ทุกคนมีอิสรภาพทางการเงิน และยังช่วยลดปัญหาทางสังคมของประเทศ รวมทั้งสร้างความยั่งยืนให้แก่ตลาดทุนไทยได้อีกด้วย โดย รพี สุจริตกุล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์คลิกอ่านบทความทรงคุณค่าได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับ มกราคา 2562 ในรูปแบบ e-Magazine