เปิดฉากปีแห่งความท้าทาย - Forbes Thailand

เปิดฉากปีแห่งความท้าทาย

จากปัจจัยภายนอกที่ส่งสัญญาณสร้างความผันผวนต่อเศรษฐกิจและตลาดทุนไทย ส่งผลให้ปี 2560 น่าจะเป็นปีที่ต้องเผชิญหน้ากับความผันผวนมากที่สุดปีหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงทิศทางการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐฯ อย่างรุนแรงของผู้นำคนใหม่ ประกอบกับสภาวะเศรษฐกิจในประเทศขนาดใหญ่อย่างยุโรปและญี่ปุ่นยังคงเติบโตในระดับต่ำ รวมทั้งการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ซึ่งจะส่งผลต่อภาคเศรษฐกิจต่างประเทศของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ยิ่งไปกว่านั้น การพัฒนาด้านฟินเทคที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุน ยังเริ่มเข้ามามีผลกระทบต่อการทำธุรกิจในตลาดทุนทั่วโลก แม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างชัดเจนตลอดทั้งปี 2559 และจากที่ IMF ประมาณการว่าเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกามีแนวโน้มเติบโต 2.2% ในปี 2560 เพิ่มขึ้นจาก 1.6% ในปี 2559 ทว่าการเปลี่ยนแปลงนโยบายทางเศรษฐกิจใหม่ภายหลังการเลือกตั้งยังยากที่จะคาดเดาผลกระทบ ทั้งต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ และเศรษฐกิจโลก ซึ่งอาจจะมุ่งเน้นไปที่การกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศผ่านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐและการลดภาษีนิติบุคคลเพื่อดึงดูดเงินลงทุนของภาคเอกชนที่ช่วยกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศสหรัฐฯ แต่ลดการเปิดเสรีทางการค้ากับต่างประเทศ ประกอบกับนโยบายการต่างประเทศที่แตกต่างจากเดิมจะเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของการค้าโลก นอกจากนั้น สภาวะเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และจีนในปี 2560 ยังไม่สนับสนุนให้เศรษฐกิจโลกเติบโตได้มากนัก จากประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2560 ของสหภาพยุโรปและญี่ปุ่นยังคงเติบโตที่ระดับ 1.7% และ 0.6% ตามลำดับ แม้ว่าภาครัฐยังคงกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยมาตรการ QE และดำเนินนโยบายดอกเบี้ยต่ำอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มการเติบโตในอัตราที่ลดลง โดยคาดว่า จะเติบโต 6.2% ในปี 2560 ลดลงจาก 6.6% ในปี 2559 ตามมาตรการลดกำลังการผลิตส่วนเกิน และการชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ ด้านการส่งออกของประเทศ แม้สัดส่วนการส่งออกของไทยไปยังสหรัฐฯ โดยตรงมีจำนวนเพียง 10% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดแต่จากมาตรการลดการเปิดเสรีทางการค้าของสหรัฐฯ อาจจะส่งผลกระทบทางอ้อมต่อมูลค่าการส่งออกของคู่ค้าทั้งหมดของไทย โดยเฉพาะประเทศจีนและประเทศสมาชิกอาเซียนปรับตัวลดลงทำให้การส่งออกของไทยอาจจะยังไม่สามารถฟื้นตัวได้เร็วตามที่เคยคาดการณ์ไว้ นอกจากนี้ มาตรการดังกล่าวอาจจะส่งผลกระทบทางอ้อมต่อการลงทุนทางตรง และความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกในภาพรวม ตลอดจนความต้องการสินค้าส่งออกที่ลดลง ซึ่งจะส่งผลให้ภาคเอกชนชะลอการลงทุนตามการส่งออกไปด้วย เศรษฐกิจไทยยังแข็งแกร่ง แม้ภาพรวมเศรษฐกิจโลกอาจจะยังดูไม่สดใสนัก แต่เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องแบบค่อยเป็นค่อยไปอย่างมีเสถียรภาพ จากภาพรวมเศรษฐกิจมหภาคที่ยังมีความแข็งแกร่งไม่ว่าจะเป็น 1. มูลค่าหนี้สาธารณะที่ต่ำกว่าระดับ 50% ของ GDP 2. เงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่ระดับ 1.5 เท่าของหนี้ต่างประเทศทั้งหมด 3. อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับตัวสูงขึ้นเป็น 0.38% ในเดือนกันยายน 2559 จาก -0.53% ในเดือนมกราคม 2559 และ 4. อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำที่ 0.9% สะท้อนให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของพื้นฐานเศรษฐกิจไทย ทำให้สามารถใช้นโยบายการเงินและการคลังเพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจภายในประเทศเติบโตได้อย่างต่อเนื่องขณะที่ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกอาจจะส่งผลให้เกิดความผันผวนในตลาดทุนโลกมากขึ้น ซึ่งการเคลื่อนย้ายเงินทุนที่เป็นผลจากการเปลี่ยนการคาดการณ์ต่างๆ และการปรับนโยบายทางเศรษฐกิจรวมถึงหากมีการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในสหรัฐฯ อาจจะส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น ตลอดจนโอกาสการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจในประเทศในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ (emerging markets) น่าจะยังคงมีระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงจากการเติบโตภายในประเทศ และสามารถดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศที่ต้องการแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น ตลาดทุนไทยเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศและเป็นทางเลือกที่เหมาะสมสำหรับการลงทุน ด้วยศักยภาพในด้านสภาพคล่องการซื้อขายที่สูงที่สุดในอาเซียนและมีความพร้อมในการเป็นศูนย์กลางในการระดมทุนด้วยมูลค่าการระดมทุนในตลาดแรก (IPO) สูงที่สุดในอาเซียนตลอดช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ตลอดจนมีผลิตภัณฑ์เพื่อการลงทุนที่หลากหลายซึ่งนอกจากหุ้นสามัญแล้ว ยังมีกองทุนอสังหาริมทรัพย์ กองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน และตราสารอนุพันธ์ที่มีสินค้าอ้างอิงเป็นตราสารทุนและสินค้าโภคภัณฑ์บริษัทจดทะเบียนไทยยังคงพัฒนาศักยภาพอย่างต่อเนื่องทั้งในด้านกลยุทธ์ ผลประกอบการ และคุณภาพการบริหารจนเป็นที่ยอมรับ และผ่านการคัดเลือกให้เป็นองค์ประกอบในดัชนี MSCI Standard Index จำนวน 34 บริษัท ซึ่งดัชนี MSCI Standard Index เป็นดัชนีที่นักลงทุนสถาบันทั่วโลกใช้เป็นดัชนีอ้างอิงในการลงทุน ยิ่งไปกว่านั้นบริษัทจดทะเบียนไทยยังเป็นผู้นำในด้านบรรษัทภิบาลในอาเซียน ด้วยจำนวนบริษัทจดทะเบียนที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน 2015 ASEAN CG scorecard 23 บริษัทจากทั้งหมด 50 บริษัทในอาเซียน และเป็นผู้นำในด้านการพัฒนาอย่างยืน ด้วยจำนวนบริษัทจดทะเบียนที่อยู่ใน Dow Jones Sustainability Index มากที่สุดในอาเซียน ปัจจัยใหม่ที่กำลังมีผลกระทบต่อระบบการเงินทั่วโลกและเริ่มมีอิทธิพลต่อการให้บริการด้านการเงินในประเทศไทยมากขึ้นเรื่อยๆ คือการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีทางการเงิน หรือฟินเทคซึ่งมีบทบาทในระบบการเงินมากขึ้นในหลายมิติประการแรก คือ การเข้าถึงบริการทางการเงินที่ง่ายขึ้นและทั่วถึงของทุกกลุ่มประชากรทั้งในและต่างประเทศตามจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นช่องทางให้การทำธุรกรรมทางการเงินและการลงทุนสะดวกขึ้นผ่านระบบสารสนเทศ และการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ตามการพัฒนาเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ประการที่สอง คือ การเพิ่มประสิทธิภาพของการทำงานของสถาบันการเงิน เช่น การปรับกระบวนการทำงานให้เป็นอัตโนมัติตลอดกระบวนการ ลดระยะเวลาและขั้นตอน ซึ่งจะได้รับการสนับสนุนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น จากการสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศให้เป็นดิจิทัลประการสุดท้าย คือ การพัฒนานวัตกรรมสำหรับการลงทุนเช่น การพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ให้สามารถให้คำแนะนำการลงทุนได้ (robo-advisor) ตลอดจนการประมวลผลข้อมูลจำนวนมหาศาล (big data) ในด้านพฤติกรรมการลงทุนจะนำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่ตอบสนองความต้องการได้ดียิ่งขึ้น ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว นับเป็นการพลิกโฉมของระบบการเงิน โดยผู้ลงทุนจะมีทางเลือกมากขึ้นพร้อมเรียกร้องการบริการที่มีคุณภาพ และบทบาทการเป็นตัวกลางของสถาบันการเงินจะมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากผู้ลงทุนสามารถทำธุรกรรมกันได้เอง เช่น การกู้เงินระหว่างกัน โดยไม่ผ่านธนาคาร (peer-to-peer lending) การระดมทุน โดยไม่ผ่านตลาดหลักทรัพย์ (equity crowd funding) ธุรกิจอื่นที่ไม่ได้อยู่ในภาคการเงิน เช่น ธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม ธุรกิจค้าปลีกสามารถให้บริการได้เช่นเดียวกัน นอกจากนี้ในโลกแห่งเทคโนโลยีที่ไร้พรมแดน ผู้ให้บริการทางการเงินไม่จำเป็นต้องตั้งสำนักงานในประเทศไทยจากภาพเศรษฐกิจโลกในปีหน้าที่จะมีความผันผวนสูง การเคลื่อนย้ายเงินทุน ซึ่งเกิดจากสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ผู้ลงทุนต้องติดตามปัจจัยที่ส่งผลต่อการลงทุนอย่างใกล้ชิดไม่ว่าจะเป็นความเป็นไปได้ของนโยบายเศรษฐกิจและนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา รวมถึงการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ การดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และจีนที่อาจเปลี่ยนแปลง เนื่องจากการดำเนินนโยบายใหม่ของสหรัฐอเมริกา ตลอดจนผลจากมาตรการภาครัฐไทยที่สนับสนุนการเติบโตภายในประเทศและเสถียรภาพทางการเมืองในประเทศปัจจัยดังกล่าวข้างต้นล้วนเป็นปัจจัยที่ผู้ลงทุนควรติดตามอย่างใกล้ชิดและควรปรับกลยุทธ์การลงทุนให้ทันต่อทุกสถานการณ์ที่จะเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว นอกจากนั้น ผู้ลงทุนควรติดตามพัฒนาการในด้านเทคโนโลยีทางการเงินและการลงทุนที่จะอำนวยความสะดวกและช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการลงทุนสถาบันการเงินต้องปรับตัวให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีทางการเงินและสร้างนวัตกรรมเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ลงทุน ซึ่งจะมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น รวมถึงหน่วยงานกำกับดูแลควรวางระบบและสภาพแวดล้อม (ecosystem) ที่ส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมควบคู่กับการบริหารจัดการความเสี่ยงให้เกิดเสถียรภาพในระบบการเงินของประเทศ เกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ติดตามบทความทางด้านเศรษฐกิจเพิ่มเติมได้ที่ Forbes Thailand Magazine ฉบับ มกราคม 2560