ปีนี้เป็นปีครบรอบ 20 ปี ของการเปิดตัว เงินยูโร แต่ไม่มีการเปิดแชมเปญฉลองกันให้เอิกเกริกมากมายนัก ตั้งแต่ปี 2008 อียูเจอมรสุมเศรษฐกิจที่ทำให้เงินสกุลใหม่ไม่น่าตื่นตาตื่นใจเท่าที่ควร
น่าเสียดาย ถ้าคนยุโรปเข้าใจพื้นฐานนโยบายการเงินดีกว่านี้ เงินยูโรคงจะเป็นความสำเร็จที่น่าประทับใจ แต่ความเข้าใจผิดๆ ที่หยั่งรากลึกได้สร้างปัญหาให้กับความร่วมมือด้านสกุลเงินที่ไม่ธรรมดาดังกล่าวนี้จนอาจคุกคามอนาคตของเงินยูโรได้
เงินยูโร ตกเป็นกระแสวิจารณ์ว่ากีดกันไม่ให้กรีซ โปรตุเกส สเปน ไอร์แลนด์ และ ประเทศสมาชิกอื่นๆ ใช้มาตรการลดค่าเงินเพื่อช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศฟื้นตัวจากภาวะหดตัวรุนแรง แต่ก็มีบางความเห็นที่บอกว่าเงินยูโรช่วยให้เยอรมนีสามารถสร้างดุลการค้ามหาศาล
ข้อวิพากษ์วิจารณ์ที่รุนแรงที่สุดก็คือ เงินยูโร จะต้องถึงกาลหายนะหากอียูไม่สร้างระบบด้านกฎเกณฑ์การเงินและการธนาคารที่เป็นเอกภาพ ตลอดจนระบบการคลังและงบประมาณที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่การประเมินในแง่ลบดังกล่าวนี้เป็นการประเมินที่ผิดพลาด ด้วยเหตุผลต่อไปนี้
1. ความมั่งคั่ง ที่ผ่านมาเงินยูโรได้ขจัดอุปสรรคในการเคลื่อนย้ายเงินทุนข้ามแดน เป็นการช่วยลดค่าใช้จ่ายจากการแลกเปลี่ยนเงินตราและป้องกันความเสี่ยงของค่าเงินจากความผันผวนในกรณีที่เป็นการค้าขายระหว่างเงิน 2 สกุล อย่างไรก็ตาม สภาพเศรษฐกิจของยุโรปที่ซบเซามาเป็นเวลานานไม่ได้ปรับตัวดีขึ้นมากอย่างที่คาดหมายกัน เพราะปัญหาด้านโครงสร้าง
2. เงินยูโรคือโซ่ตรวนจองจำ ความเข้าใจผิดๆ ที่อันตรายที่สุดประการหนึ่งคือความเข้าใจที่ว่า การลดค่าเงินเป็นกลยุทธ์ที่ดีในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ประสบปัญหา แต่ความเป็นจริงคือในประวัติศาสตร์ ไม่มีประเทศใดลดค่าเงินแล้วเศรษฐกิจแข็งแกร่งขึ้นและประเทศร่ำรวยขึ้น ค่าเงินที่ไร้เสถียรภาพส่งผลลบต่อการลงทุนที่สร้างความเติบโต และที่เลวร้ายไปกว่านั้น ทำให้เงินทุนถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด
เราลืมวิกฤตฟองสบู่ที่อยู่อาศัยกันไปแล้วหรือ สาเหตุสำคัญของวิกฤตครั้งนั้นก็คือเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่อ่อนค่า อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์ต่อแถวกันคร่ำครวญว่าประเทศอย่างกรีซและอิตาลีไม่สามารถลดค่าเงินได้เพราะพวกเขาผูกติดกับเงินยูโรทุกคนควรจะยินดีปรีดาที่เป็นเช่นนั้น หาไม่แล้วกรีซคงจะกลายเป็นเวเนซุเอลาในเวอร์ชั่นอียู และสกุลเงินลีร์ของอิตาลีจะกลายเป็นเหมือนเงินเปโซของอาร์เจนตินาที่อ่อนค่าลงไม่รู้จบ
3. เงินยูโรไม่สามารถทำงานได้ดีถ้าปราศจากการกฎระเบียบที่ใช้กันในทุกประเทศสมาชิก รวมทั้งการจัดการด้านภาษีและงบประมาณ ปานามา เอกวาดอร์ เอลซัลวาดอร์ และติมอร์-เลสเต ใช้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ ยูโรเป็นสกุลเงินตามกฎหมายในโมนาโกและนครรัฐวาติกัน ฮ่องกงใช้นโยบายนี้กับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มาตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษที่ 80 แต่ที่เห็นได้ชัดก็คือไม่มีประเทศใดในบรรดาประเทศที่กล่าวมานี้มีนโยบายงบประมาณ ภาษี รายจ่ายรัฐบาลหรือกฎเกณฑ์ทางการเงินที่เชื่อมโยงกับสหรัฐฯ หรืออียู
4. เงินยูโรจะล้มเหลวในที่สุดเพราะความที่หวังพึ่งเยอรมนีให้ช่วยเหลือประเทศที่เป็นหนี้มหาศาลอย่างกรีซ นี่เป็นการประเมินที่ผิด เงินยูโรจะไม่มีอันเป็นไปทั้งในอนาคตและในตอนนี้ ย้อนกลับไปในยุคทศวรรษที่ 70 รัฐบาลสหรัฐฯ ปฏิเสธที่จะช่วยมหานคร New York ที่กำลังจะล้มละลาย แม้ทั้งคู่จะใช้สกุลเงินเดียวกัน เงินยูโรจะยังไปได้ดีถ้าทางการใส่ใจกับความจริงพื้นฐานที่ไม่อยู่ในกระแสเหล่านี้
5. เงินไม่ใช่เครื่องมือในการนำพาเศรษฐกิจ เงินไม่ได้ทำหน้าที่เหมือนพวงมาลัยในรถยนต์ ความพยายามที่จะใช้มันในทางผิดๆ จะทำให้ความเจริญทางเศรษฐกิจชะลอตัว ประเทศที่มีสกุลเงินน่าเชื่อถือและมีเสถียรภาพมักไปได้ดีกว่าประเทศที่ค่าเงินอ่อนแอ นี่เป็นความจริงที่แน่นอน
6. เงินเป็นมาตรวัดคุณค่าในแนวทางเดียวกับที่นาฬิกาเป็นเครื่องบอกเวลา เงินทำงานได้ดีที่สุดเมื่อมูลค่าคงที่ เช่นเดียวกับที่ตลาดทำงานได้ดีที่สุดเมื่อมีการใช้มาตราชั่งตวงวัดที่ตายตัว
7. แนวทางที่ดีที่สุดในการสร้างสกุลเงินที่มีเสถียรภาพและน่าเชื่อถือคือการผูกกับน้ำหนักทองคำ ที่ตรงข้ามกับความเชื่อผิดๆ ก็คือ มูลค่าที่กำหนดตายตัวไม่ได้จำกัดขนาดเศรษฐกิจมากไปกว่าการที่หน่วยความยาว 12 นิ้วหรือหนึ่งฟุตจะทำได้ในการจำกัดขนาดของอาคารที่ผู้รับเหมาต้องการก่อสร้าง ประสบการณ์ 4,000 ปีพิสูจน์แล้วว่ามาตรฐานทองคำมีประสิทธิภาพมากกว่าอะไรทั้งหมด
Robert Mundell นักเศรษฐศาสตร์เจ้าของรางวัลโนเบล บุคคลที่ถูกมองว่าเป็นผู้สถาปนาเงินยูโร เชื่อว่าแนวคิดของเขาจะทำให้ยุโรปแข็งแกร่งและมั่งคั่งยิ่งขึ้น ตลอดจนจะทำให้ยูโรกลายเป็นทางเลือกอีกทางนอกไปจากเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และสิ่งนี้จะทำให้เจ้าหน้าที่ของเงินทั้งสองสกุลดำเนินนโยบายการเงินที่มีประสิทธิภาพ เขาไม่ทันได้นึกภาพว่าทั้งดอลลาร์และยูโรจะยังตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของทฤษฎีเงินปลอม
ติดตามอ่านบทความทางธุรกิจอื่นๆ ได้ที่ Forbes Thailand ฉบับเดือนเมษายน 2562 ที่แผงนิตยสารชั้นนำหรือคลิกเพื่ออ่านในรูปแบบ e-Magazine