กว่า 10 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมการบิน ของไทยได้รับการยอมรับว่าเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจ เพราะนอกเหนือจากการที่อุตสาหกรรมการบินจะสามารถสร้างรายได้ทางตรง จากการขนส่งผู้โดยสารทั้งในและระหว่างประเทศแล้ว ยังเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่เป็นรายได้หลักของประเทศด้วย
การเติบโตอย่างก้าวกระโดดตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (2551-2560) มีเหตุผลหลักจากการเข้ามาของสายการบินต้นทุนต่ำ (low-cost service) ทำให้ภาพลักษณ์ของการเดินทางทางอากาศที่เคยเป็นการเดินทางที่หรูหราและมีค่าใช้จ่ายสูง กลายเป็นการเดินทางที่เข้าถึงกลุ่มคนในทุกระดับมากยิ่งขึ้น จำนวนผู้โดยสารและเที่ยวบินในปี 2558 จึงมีจำนวนเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าจากปี 2553 ส่งผลให้ไทยมีอัตราการเติบโตของการเดินทางทางอากาศสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกและเอเชียแปซิฟิกตลอดมา
อย่างไรก็ตาม การเติบโตอย่างรวดเร็วเริ่มแสดงให้เห็นปัจจัยเชิงลบหลายๆ ด้านที่อุตสาหกรรมการบินของไทยต้องเผชิญ โดยในปี 2558 ขณะที่เรากำลังดีใจกับอัตราการเติบโตของผู้โดยสารสูงสุดในรอบ 10 ปี องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization-ICAO) ได้ปักธงแดงประเทศไทยเกี่ยวกับมาตรฐานด้านความปลอดภัย ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นด้านมาตรฐานทางการบินของประเทศ และทำให้สายการบินสัญชาติไทยไม่สามารถขยายเส้นทางบินหรือเพิ่มความถี่ในบางประเทศได้ นำไปสู่การปรับโครงสร้างในการกำกับดูแล และการปรับปรุงมาตรฐานการกำกับดูแล จนไทยได้รับการปลดธงแดงจาก ICAO ในปี 2560
ในขณะที่อุตสาหกรรมการบินเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมนี้ก็มีความอ่อนไหวต่อสภาวการณ์โลกและสถานการณ์ภายในประเทศที่ส่งผลต่อการท่องเที่ยวด้วย เช่น เหตุการณ์เรือล่มในจังหวัดภูเก็ต และสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลให้จำนวนผู้โดยสารในเส้นทางบินระหว่างประเทศจีนและประเทศไทยลดจำนวนลงอย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้งการที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติซึ่งเป็นกลุ่มผู้โดยสารหลักมีจำนวนลดลง เพราะค่าใช้จ่ายในการเดินทางมายังไทยสูงกว่าประเทศคู่แข่งในภูมิภาคเดียวกัน
“ช่วงเวลานี้จึงเป็นช่วงเวลาแห่งความท้าทายของอุตสาหกรรมการบินของไทย อุตสาหกรรมการบินกำลังเข้าสู่ช่วงขาลงของ business life cycle ผมจึงอยากออกมากระตุ้นเตือนผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้พร้อมรับมือต่อสถานการณ์ดังกล่าว และในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลและส่งเสริมกิจการการบิน เราคงต้องใช้โอกาสนี้เรียนรู้และนำประสบการณ์มาเป็นบทเรียนในการปรับตัวให้อยู่รอด และแข็งแรงพอที่จะกลับไปต่อสู้กับเวทีโลกต่อไป”
จุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยคลิกอ่านบทความทางธุรกิจที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนพฤษภาคม 2563 ในรูปแบบ e-magazine