ความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของประชากรไทยในปัจจุบันนั้น ได้ก้าวเข้าสู่ สังคมผู้สูงอายุ (ageing society) อย่างต่อเนื่อง โดยมีคาดการณ์ว่าประเทศไทยจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ หรือมีจำนวนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมดภายในปี 2564 ด้วยเหตุนี้รัฐบาลจึงจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมด้านต่างๆ ทั้งงบประมาณและมาตรการเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุในระยะอันใกล้
สำหรับในปีงบประมาณ 2560 รัฐบาลได้จัดสรรงบรายจ่ายเพื่อจัดสวัสดิการการดูแลผู้สูงอายุและการเตรียมความพร้อมรองรับสังคมผู้สูงอายุด้านต่างๆ เช่น รายจ่ายด้านหลักประกันรายได้ยามชราภาพ ประกอบด้วย เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ บำเหน็จบำนาญข้าราชการ และเงินสมทบเข้ากองทุนการออมเพื่อการเกษียณต่างๆ ได้แก่ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนประกันสังคม และกองทุนการออมแห่งชาติเป็นจำนวนเงิน 3.26 แสนล้านบาท หรือร้อยละ 2 ของ GDP หรือร้อยละ 12 ของงบประมาณรายจ่าย
ขณะเดียวกัน รัฐบาลยังได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายตามแผนงานบูรณาการสร้างความเสมอภาคเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุอีกจำนวน 1.04 พันล้านบาท ด้วยการพัฒนาระบบการจัดสวัสดิการสังคม การส่งเสริมการมีงานทำของผู้สูงอายุ การพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีการดูแลผู้สูงอายุ การพัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว การพัฒนาระบบเฝ้าระวังและคุ้มครองทางสังคม รวมถึงการปรับสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตในสังคมผู้สูงอายุ เป็นต้น
นอกจากนี้ รัฐบาลยังให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมรองรับสังคมผู้สูงอายุ เพื่อให้มีรายได้ที่เพียงพอต่อการดำรงชีพและมีคุณภาพชีวิตที่ดีในวัยหลังเกษียณ ตลอดจนเป็นการบรรเทาภาระงบประมาณในการจัดสวัสดิการต่างๆ เพื่อดูแลผู้สูงอายุของภาครัฐในระยะยาว โดยเฉพาะด้านหลักประกันรายได้ยามชราภาพ
ดังนั้น ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2559 ได้มีมติเห็นชอบมาตรการรองรับสังคมผู้สูงอายุตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ประกอบด้วย
1.มาตรการบูรณาการระบบบำเหน็จบำนาญ โดยเสนอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ ซึ่งจะทำให้การใช้จ่ายงบประมาณด้านหลักประกันรายได้ยามชราภาพของรัฐมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังยังเสนอให้มีการจัดตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ ซึ่งเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับสำหรับแรงงานในระบบที่มีอายุตั้งแต่ 15 - 60 ปี ครอบคลุมแรงงานประมาณ 11.37 ล้านคน ด้วยเป้าหมายให้แรงงานในระบบมีรายได้หลังเกษียณที่เพียงพอหรือไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของรายได้ก่อนเกษียณ ทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้ประชากรในวัยแรงงานมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อตนเองมากขึ้น เพื่อเตรียมพร้อมสู่วัยชราในอนาคต ซึ่งจะเป็นการบรรเทาภาระงบประมาณด้านหลักประกันรายได้ยามชราภาพของรัฐในระยะยาว
2.มาตรการจ้างงานผู้สูงอายุ เป็นมาตรการทางด้านภาษีเพื่อจูงใจให้นายจ้างมีการจ้างแรงงานผู้สูงอายุที่ยังมีสุขภาพแข็งแรง และยังต้องการทำงานให้มีโอกาสได้ทำงานต่อเพื่อสร้างรายได้ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้
3.มาตรการสินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ (reverse mortgage) เพื่อให้ผู้สูงอายุนำที่อยู่อาศัยที่ตนมีกรรมสิทธิ์และปลอดภาระหนี้มาเปลี่ยนเป็นรายได้ในการดำรงชีพ
4.มาตรการสร้างที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุ (senior complex)
สำหรับมาตรการอื่นๆ ได้แก่ มาตรการช่วยเหลือผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยผ่านโครงการลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งจากข้อมูลการลงทะเบียนในรอบแรกเมื่อปี 2559 ประมาณ 2.358 ล้านคน จากจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการและเป็นผู้มีสิทธิได้รับการช่วยเหลือด้านสวัสดิการแห่งรัฐทั้งหมด 7.715 ล้านคน
อย่างไรก็ตาม นอกจากมาตรการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุข้างต้น รัฐบาลยังได้ร่วมมือกับภาคเอกชนและภาคประชาสังคม โดยมีส่วนร่วมในการดูแลผู้สูงอายุด้านต่างๆ ทั้งการส่งเสริมด้านรายได้และการทำงาน ด้านการออมเพื่อการเกษียณอายุตลอดจนด้านที่อยู่อาศัยและสิ่งแวดล้อมของผู้สูงอายุ ภายใต้กลไกของคณะทำงานประชารัฐเพื่อสังคม
ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะนำไปสู่การเสนอมาตรการรองรับสังคมผู้สูงอายุแบบบูรณาการที่ได้รับการขับเคลื่อนจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการเป็นสังคมผู้สูงอายุที่มีความมั่นคง ยั่งยืน และพร้อมที่จะเผชิญกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในระยะต่อไปโดยไม่เป็นภาระทางการคลังของภาครัฐและประเทศในระยะยาว
สมชัย สัจจพงษ์
ปลัดกระทรวงการคลัง