นักลงทุนเผชิญศึกหลายด้าน - Forbes Thailand

นักลงทุนเผชิญศึกหลายด้าน

แม้ตลาดหุ้นจะฟื้นตัวกลับมาแล้วหลังจากร่วงหนักเมื่อมกราคม แต่นักลงทุนยังคงต้องเผชิญกับภาวะยากลำบากต่อไปในปีนี้ ธนาคารกลางสหรัฐและหน่วยงานกำกับดูแลด้านการเงินอื่นๆ ดำเนินมาตรการทางการเงินแบบเข้มงวด ส่งผลให้ค่าเงินเหรียญสหรัฐฯ แข็งค่าขึ้นและฉุดราคาสินค้าลง โดยเริ่มจากราคาทองคำที่อ่อนตัวตั้งแต่ปี 2011 ดังที่ผมได้เคยพูดถึงในบทความก่อนหน้านี้หลายครั้ง การใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยที่ 0% และการดำเนินการเข้าซื้อพันธบัตรอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2009 เป็นเรื่องที่ผิดพลาดอย่างมหันต์ ซึ่งส่งผลให้อัตราเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกชะลอตัวจนแทบหยุดชะงัก ภาระจากนโยบายการเงินยิ่งทวีหนักขึ้นเมื่อขาดการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจในสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และยุโรป รัฐบาลสหรัฐฯ ใช้จ่ายเงินโดยปราศจากแผนงบประมาณที่มีเป้าหมายชัดเจน โดยใช้จ่ายเงินภาษีไปอย่างสิ้นเปลืองหลายแสนล้านเหรียญในแต่ละปี ขณะที่ออกกฎหมายจัดเก็บภาษีที่สลับซับซ้อนและเข้าใจยาก ระบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของสหรัฐฯ ในปัจจุบันก็ซับซ้อนอย่างมาก นอกจากนี้ยังติดอันดับหนึ่งในประเทศที่มีอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงที่สุด ทำให้เกิดปัญหาบริษัทย้ายฐานไปต่างประเทศ ขณะที่บริษัทที่ยังเติบโตแข็งแกร่งบางแห่งเก็บเงินสดในต่างประเทศเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ต้องเสียภาษีอัตราสูงในประเทศบ้านเกิด นโยบายของเฟดหนุนให้กระแสเงินไหลไปยังพันธบัตรและบริษัทต่างๆ นำเครื่องมือทางการเงินที่ซับซ้อนไปใช้ในการลงทุน ซึ่งไม่ได้มุ่งไปที่การเติบโตของธุรกิจ ส่งผลให้ตราสารหนี้ที่มีความน่าเชื่อถือระดับน่าลงทุนมีอัตราผลตอบแทนลดลงจนแทบจะไม่สร้างรายได้ ซึ่งเรื่องนี้ดูจะเป็นปัญหาต่อเนื่องที่จะดำเนินไปอีกหลายปี เป็นเวลาหลายทศวรรษที่นักลงทุนได้รับคำแนะนำในการแบ่งสัดส่วนการลงทุนระหว่างตราสารหนี้และตราสารทุน โดยให้เพิ่มสัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้เมื่ออายุมากขึ้น การจัดสรรการลงทุนเช่นนี้จะมีประสิทธิผลหากผลตอบแทนจากตราสารหนี้อยู่ในระดับสูงเช่นในอดีต แต่ไม่เพียงพอสำหรับชีวิตหลังเกษียณในเวลาที่มีอัตราผลตอบแทนต่ำและอายุเฉลี่ยยืนยาวมากขึ้น หุ้นของหลายๆ บริษัทถูกกำหนดราคาในระดับสูงซึ่งอิงจากอัตราเติบโตที่แข็งแกร่งทว่า แนวโน้มกำไรคาดการณ์ว่าจะลดลงหรือติดลบ การลงทุนทางธุรกิจของบริษัทอยู่ในระดับต่ำในเกือบทุกภาคธุรกิจ และการค้าระหว่างประเทศอยู่ในภาวะชะลอตัวอย่างรุนแรง ประเด็นนี้จะเลวร้ายยิ่งขึ้นหากมาตรการเพื่อควบคุมแรงงานอพยพของยุโรปยกระดับเป็นนโยบายกีดกันทางการค้า ตราสารหนี้ประเภท high-yield bond ให้ผลตอบแทนมากกว่า แต่ราคาไม่ได้ถูกเมื่อเทียบกับความเสี่ยง โดยเฉพาะเมื่ออัตราเติบโตยังอยู่ในระดับต่ำ อสังหาฯ เป็นที่ชื่นชอบของนักลงทุนมาอย่างต่อเนื่อง แต่ผลตอบแทนในอนาคตจะขึ้นอยู่กับอัตราเติบโตและอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งทั้งสองสิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องที่จะเห็นได้ง่ายในสถานการณ์ปัจจุบัน ไม่ได้หว่านพืชผล แทนที่บริษัทจำนวนมากจะนำกำไรไปลงทุนเพิ่มเติมในธุรกิจ กลับเอามาซื้อหุ้นด้วยเงินกู้ยืมหรือลงทุนในธุรกิจต่ำกว่าที่ควรจะเป็น สิ่งเหล่านี้ผลักดันให้ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นในระยะสั้น แต่นักลงทุนระยะยาวมองหาการทำกำไรใหม่ๆ ไม่ใช่เพียงไล่ราคาวางเดิมพันในธุรกิจที่ไม่ได้เติบโตอย่างมั่นคง บริษัทหลายแห่งไม่มีผลกำไรให้เก็บเกี่ยวเท่าไหร่นักเพราะไม่ได้หว่านพืชผลไว้ก่อนหน้านี้ อัตรากำไรหดตัวในปี 2015 ซึ่งเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าอาจเข้าสู่ภาวะถดถอยของตัวเลขกำไร วิธีแก้ปัญหาคือการลงทุนทางตรงมากขึ้นในธุรกิจและการขยายตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งจำเป็นต้องมีผู้นำที่แข็งแกร่งที่มุ่งจะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเดิม รัฐบาลอยู่ในภาวะหนี้ท่วมและบริหารงานอย่างไม่มีประสิทธิภาพ รัฐบาลไม่ได้ช่วยให้มาตรฐานการครองชีพดีขึ้น มิหนำซ้ำยังมักเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาอย่างที่เห็นได้ในประเทศกำลังพัฒนา เช่น บราซิล รัสเซีย แอฟริกาใต้และเวเนซุเอลา มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ Abenomics ของรัฐบาลญี่ปุ่น เน้นไปที่การอัดฉีดเม็ดเงินอย่างมหาศาลของรัฐบาลและการดำเนินการของธนาคารกลางเพื่อเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลซึ่งให้ผลตอบแทนที่ต่ำ สองสิ่งนี้ไม่ใช่วิธีที่จะผลักดันให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทางด้านยุโรปก็ยังไม่สามารถกอบกู้สถานการณ์ของรัฐบาลกรีซ ยิ่งไม่ต้องพูดถึงการควบคุมการใช้จ่าย การปฏิรูปด้านการเงินการธนาคาร และการเปิดเสรีตลาดซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นหากต้องการให้เศรษฐกิจขยายตัว ทั้งหมดนี้ชี้ให้เห็นว่าตัวแปรสำคัญอยู่ที่จุดเริ่มต้น นั่นก็คือการเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ประเทศสหรัฐฯ มีระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งการลงทุนในตราสารทุน ตราสารหนี้และอสังหาริมทรัพย์ของภาคเอกชนมีมูลค่าสูงกว่าการลงทุนในทั่วโลกรวมกัน (ไม่รวมหน่วยงานกึ่งรัฐกึ่งเอกชนของจีน) วิกฤตปัญหาด้านการเติบโตเห็นได้อย่างชัดเจนซึ่งหนทางแก้ไขจะเริ่มดำเนินการได้ในปี 2017 DAVID MALPASS นักเศรษฐศาสตร์ระดับโลกและประธาน ENCIMA GLOBAL LLC
คลิ๊กอ่านบทความเพื่อจุดประกายไฟฝันทางด้านธุรกิจ จาก Forbes Thailand ฉบับ MAY 2016 ในรูปแบบ E-Magazine