การขับเคลื่อนกลุ่มไทยซัมมิทให้ยืนหยัดอย่างแข็งแกร่งในฐานะผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ระดับโลกเพื่อส่งต่อกิจการไปยังทายาทรุ่นหลัง คือภารกิจของ ชนาพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้นำรุ่นสองที่รับไม้ต่อจากบิดาและผู้ก่อตั้ง พร้อมตั้งเป้ารายได้ทะยานสู่แสนล้านภายใน 5 ปี
อาณาจักร “ไทยซัมมิท” ได้เริ่มต้นขึ้นจากการเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ชั้นนำของประเทศไทยนับตั้งแต่ปี 2520 โดยโครงสร้างธุรกิจของกลุ่มไทยซัมมิทสามารถแบ่งออกเป็น 8 กลุ่ม ตามประเภทผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิต โดยมีกลุ่ม Automotive Metal Forming (ผลิตโครงสร้างเหล็กทั้งหมด) และกลุ่ม Interior and Exterior (ผลิตชิ้นส่วนพลาสติกทั้งหมด) เป็นกลุ่มที่สร้างฐานรายได้หลักให้กับองค์กร มีฐานผลิตผ่าน 13 โรงงานใน 6 ประเทศแถบเอเชียและอเมริกาเหนือ กลุ่มไทยซัมมิทตั้งเป้าหมายมุ่งทำรายได้ทั้งกลุ่มให้เทียบเท่าองค์กรระดับโลกที่ราว 1.1 แสนล้านบาทภายใน 5 ปี จากการเปิดเผยของ ชนาพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ รองประธานกรรมการ บริษัท ไทยซัมมิท โอโตพาร์ท อินดัสตรี จำกัด ในฐานะทายาทสาวคนโตวัย 40 ปี ผู้ได้รับมอบหมายให้รับช่วงกิจการต่อจาก พัฒนา จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้เป็นบิดาและผู้ก่อตั้งกลุ่มไทยซัมมิท “ยอมรับว่าเป็นเป้ารายได้ที่ท้าทายแต่ก็พยายามไปให้ถึง โดยเฉพาะในสภาพตลาดที่ยอดผลิตรถยนต์หดตัวจาก 2.4 ล้านคัน/ปี เหลือไม่ถึง 1.8 ล้านคัน/ปี และยังไม่เห็นปัจจัยชัดเจนที่จะทำให้ตลาดขยายตัวกว่านี้ จึงต้องหวังพึ่งรายได้จากต่างประเทศมากขึ้น แต่ถ้าทำได้ง่ายๆ ก็ไม่รู้จะตั้งเป็นเป้าหมายทำไม”หล่อหลอมสู่ผู้นำ
ก่อนจะมาเป็นผู้บริหารหัวโต๊ะของกลุ่มไทยซัมมิทในวันนี้ ชนาพรรณผ่านการเรียนรู้งานภายใต้กิจการของครอบครัวมาหลากหลายตั้งแต่เด็ก จนถึงช่วงเวลาที่ชนาพรรณเพิ่งสำเร็จการศึกษาปริญญาตรีจากคณะบริหารธุรกิจ สาขาวิชาการจัดการการผลิต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และกำลังฝึกงานอยู่ที่ Mitsubishi Corporation ที่ญี่ปุ่น ในปี 2545 ครอบครัวจึงรุ่งเรืองกิจต้องเผชิญกับมรสุมความสูญเสียครั้งใหญ่ อันนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงในอาณาจักรและภารกิจท้าทายของบัณฑิตใหม่ที่ต้องรับผิดชอบบริษัทในฐานะทายาท ร่วมนำทัพธุรกิจกับมารดา (สมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานกรรมการ) “เราถูกปลูกฝังความรับผิดชอบและธุรกิจในสายเลือดของเรา หลังจากคุณพ่อเสีย เราต้องมานั่งหัวโต๊ะทันทีในตำแหน่งรองประธานของกลุ่ม โดยไม่มีช่วงที่เรียนรู้งานบริหารอย่างจริงจัง นับว่าเป็นความท้าทายและช่วงที่หนักหน่วงของครอบครัวรวมถึงตัวเองพอควร เพราะเป็นเด็กจบใหม่และยังไม่มีประสบการณ์” การทุ่มเททำงานอย่างเต็มที่เป็นทางเลือกเดียวสำหรับชนาพรรณที่จะสร้างการยอมรับทั้งจากพนักงาน คู่ค้า และลูกค้า ภายใต้คำแนะนำเชิงนโยบายของมารดา ซึ่งเป็นประธานบริษัท ชนาพรรณเป็นผู้แสดงฝีมือด้านการวางแผนและตัดสินใจงานบริหาร คำว่า “Build to Be” และ “การทำงานหนัก” เป็นสะพานให้เธอผ่านพ้นจนกระทั่งเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย พร้อมขยับชั้นระดับประเทศสู่หัวแถวของภูมิภาค ด้วยตัวเลขรายได้รวมชี้วัดความสำเร็จจากการผลิตของกลุ่มไทยซัมมิท ณ วันแรกที่ชนาพรรณก้าวขึ้นรับตำแหน่งอยู่ที่ 2.5 หมื่นล้านไต่ระดับถึง 7.2 หมื่นล้านบาทเมื่อสิ้นปี 2559ภารกิจส่งต่อรุ่นสาม
ชนาพรรณเน้นย้ำในภารกิจของเธอว่า “ต้องไม่ให้กลุ่มไทยซัมมิทพังในรุ่นเรา” โดยต้องเริ่มจากสร้างให้กลุ่มธุรกิจของครอบครัวเป็นองค์กรที่แข็งแกร่งและมีมาตรฐานระดับโลก “บริษัทที่มีรายได้แต่ไม่มีกำไรก็เจ๊งแต่บริษัทที่กำไรดีแต่ยอดขายไม่โตก็ไม่สามารถขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งได้ ดังนั้น ถ้าต้องการเป็นบริษัทที่แข็งแรงและเป็นเบอร์หนึ่งก็ต้องดูทั้งรายได้และกำไร ที่เราต้องวัดตัวเองกับบริษัทข้ามชาติที่เป็น listed company เพื่อเทียบตัวเรากับบริษัทระดับโลกเหล่านั้น” ขณะที่ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมากลุ่มไทยซัมมิทต้องเผชิญความผันผวนในหลายด้าน ตั้งแต่ภัยน้ำท่วมปี 2554 นโยบายรถคันแรก หรือแม้แต่ช่วงราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ จึงทำให้ตัวเลขรายได้รวมของกลุ่มไทยซัมมิทมีความผันผวน อย่างไรก็ตาม รายได้ยังเติบโตเฉลี่ย 5% ต่อปี และเติบโตสูงสุดที่ 7.5 หมื่นล้านบาทในปี 2555 จากนโยบายคืนภาษีรถคันแรก ส่งผลให้ยอดผลิตถยนต์ในประเทศสูงถึง 2.4 ล้านคัน และมียอดขายในประเทศถึง 1.4 ล้านคัน แม้หลังจากนั้นยอดการผลิตรถยนต์ในประเทศจะไม่เคยแตะ 2 ล้านคันอีกเลย เช่นเดียวกับที่ยอดขายรถยนต์ในประเทศก็ไม่เคยขึ้นไป 9 แสนคัน “ปีนี้ตั้งเป้าหมายว่าเมื่อมาตรการภาษีรถคันแรกจบ ยอดขายรถยนต์ในประเทศน่าจะขึ้นไปได้ถึง 8 แสนคัน” ชนาพรรณกล่าวสู่ World-Class
เส้นทางสำคัญที่จะนำพากลุ่มไทยซัมมิทให้ขับเคลื่อนสู่การเป็นองค์กรระดับ worldclass ได้ ชนาพรรณย้ำว่า การขยายฐานการผลิตไปปักหมุดต่างประเทศยังเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์สำคัญ ขณะเดียวกันก็ต้องมีความชัดเจนในเรื่องขององค์ความรู้ (know how) และเทคโนโลยี โดยชนาพรรณเน้นย้ำว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่สามารถผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ได้เช่นเดียวกันแต่แตกต่างกันที่คุณภาพความแข็งแรงของผลิตภัณฑ์ ซึ่งสามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ รวมถึงการจัดการต้นทุน “เราต้องบอกลูกค้าให้ได้ว่า แม้สินค้าเหมือนกัน แต่ความแม่นยำและคุณภาพสม่ำเสมอกว่า โดยความปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับการผลิตรถยนต์” นอกจากนั้น ทางกลุ่มไทยซัมมิทยังได้จัดตั้ง ศูนย์ทดสอบงานเหล็กและศูนย์ทดสอบงานพลาสติก ขึ้น ด้วยงบประมาณราว 200 ล้านบาทต่อศูนย์ เพื่อยกระดับทางการวิจัยและพัฒนา รวมถึงพิสูจน์คุณภาพสินค้าของบริษัท สำหรับในส่วนการควบคุมต้นทุน เพื่อสร้างระดับกำไรให้เป็นมาตรฐาน ชนาพรรณเล่าว่า เริ่มจากการพัฒนาคนให้มีศักยภาพก่อน เพื่อให้เกิดอัตราการสร้างรายได้ต่อพนักงานที่ 5.1 ล้านบาท/หัว/คน ภายใน 5 ปี ซึ่งเมื่อย้อนหลังไปเมื่อ 5 ปีก่อนอยู่ที่ราว 3.1 ล้านบาท/หัว/คน เช่นเดียวกับที่ต้องพุ่งเป้าการใช้แรงงานคนในงานที่มีมูลค่าเพิ่ม ขณะที่ใช้การจ้างบริษัทภายนอก เครื่องจักรขนาดใหญ่ และหุ่นยนต์มาทดแทนแรงงานคนสำหรับงานที่ไม่สร้างมูลค่าเพิ่ม จากเดิมที่กลุ่มไทยซัมมิทเคยลงทุนซื้อหุ่นยนต์มาใช้งานเพียง 900 ตัวราว 5 ปีก่อนจึงเพิ่มเป็น 1,700 ตัวในปัจจุบัน รวมถึงยังมุ่งในเรื่องปรับกระบวนการผลิตให้มีส่วนสูญเสียน้อยที่สุด ด้วยการพัฒนาระบบการผลิตที่เป็นของบริษัทในชื่อระบบ TSPS หรือ Thai Summit Production System เพื่อนำไปใช้ในทุกโรงงานของเครือ ชนาพรรณทิ้งท้ายถึงภาพรวมวงการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ของเมืองไทยว่า “แม้จะภูมิใจที่กลุ่มไทยซัมมิทสามารถยืนหยัดบนมาตรฐานระดับโลกได้ แต่ก็เสียใจที่ทุกวันนี้เหลือผู้ประกอบการในธุรกิจผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ที่เป็นองค์กรไทยที่ยืนอยู่เป็นเพื่อนเราน้อยลงมากจนมีไม่ถึง 10 ราย เพราะอย่างน้อยถ้าเราไม่ได้งานนี้บริษัทไทยอีกแห่งก็น่าจะได้ แต่ตอนนี้มองไปมีแต่บริษัทต่างชาติ เราจึงอยากเห็นผู้เล่นที่เป็นบริษัทไทยซึ่งสามารถยืนหยัดในตลาดมีจำนวนมากกว่านี้”ภาพ: กิตติเดช เจริญพร
คลิกอ่าน "ชนาพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ "Build to Be" พิสูจน์ฝีมือ” โฉมใหม่ได้ที่ Forbes Thailand Magazine ฉบับ กรกฎาคม 2560 ในรูปแบบ e-Magazine