ด้วยวิสัยทัศน์ของ ประไพ-ธำรง แย้มสอาด ที่เล็งเห็นว่าจังหวัดปทุมธานียังไม่มีโรงพยาบาลเอกชน ปี 2527 จึงริเริ่มก่อตั้งโรงพยาบาลแพทย์รังสิตขึ้นเป็นแห่งแรกของจังหวัด กระทั่งปัจจุบันมีโรงพยาบาลในกลุ่ม 3 แห่ง และมีโครงการจะเปิดโรงพยาบาลเฉพาะทางแห่งที่ 4 ในปี 2568
แม้พื้นฐานครอบครัวจะทำธุรกิจโรงภาพยนตร์ชั้นสองแถบชานเมือง ทว่าความท้าทายครั้งใหม่มาถึง เมื่อเขยจากครอบครัว “ตระกูลช่าง” ซึ่งเป็นแพทย์โรงพยาบาลเอกชนต่างจังหวัดชักชวนให้ตั้งร้านขายยา หลังสำรวจทำเลแล้วได้ข้อสรุปว่า ธุรกิจโรงพยาบาลน่าจะตอบโจทย์มากกว่า และเลือกพื้นที่ชานเมืองแถบรังสิต เหตุผลคือ เป็นที่ตั้งของโรงงานจำนวนมาก และอยู่ไม่ไกลจากสนามบินดอนเมืองมากนัก
จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญเกิดขึ้นในปี 2538 เมื่อเข้าร่วมเป็นสถานพยาบาลตามสิทธิประกันสังคมเพื่อให้บริการแก่ผู้ประกันตนในจังหวัดปทุมธานี และมีการขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนจำนวน 50,000 ราย ทำให้โรงพยาบาลมีรายได้ประจำที่มั่นคงแน่นอน และยังเป็นกลุ่มลูกค้าหลักกระทั่งปัจจุบันปี 2565 โรงพยาบาลมีคนไข้ประกันสังคม 156,000 ราย คิดเป็น 34.65% ของรายได้รวม และได้รับความนิยมจากผู้ประกันตนเป็นอันดับต้นๆ ทั้งนี้จังหวัดปทุมธานีเป็นพื้นที่ที่มีนิคมอุตสาหกรรม หมู่บ้านจัดสรร และชุมชนหนาแน่น ทั้งยังเป็นจังหวัดที่มีผู้ประกันตนสิทธิประกันสังคมสูงสุดใน 10 อันดับแรก
ส่วนโรงพยาบาลเฉพาะทางแม่และเด็กแพทย์รังสิต (MCH) เปิดให้บริการปี 2554 โดย นพ.กฤชรัตน์ ตระกูลช่าง แผนกกุมารเวชกรรม ให้บริการดูแลสุขภาพเด็กและตรวจวินิจฉัยรักษาโรคในเด็กอย่างครบวงจร ตั้งแต่แรกเกิดถึงอายุ 15 ปี โดยกุมารแพทย์เฉพาะทางเด็กหลากหลายสาขา รวมทั้งโรคในเด็กที่ซับซ้อน เช่น โรคปอดและทางเดินหายใจ โรคเลือด โรคหัวใจ โรคทางเดินอาหารและโรคตับเด็ก โรคสมองและประสาท เป็นต้น
ด้านสูติ-นรีเวช ตรวจวินิจฉัยรักษา อาทิ เวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ ภาวะผู้มีบุตรยาก การรับฝากครรภ์ รักษาโรคสตรี โรควัยทอง เป็นต้น MCH เป็นโรงพยาบาลขนาดกลาง มีจำนวน 56 เตียง มีสตรีมาใช้บริการคลอดบุตรเฉลี่ยเดือนละ 100 คน แม้ว่าปัจจุบันอัตราการเกิดของทารกจะน้อยลง แต่ทว่าจำนวนผู้ใช้บริการที่โรงพยาบาลกลับไม่ลดลง ปี 2562 เปิดโรงพยาบาลแพทย์รังสิต 2 ด้วยเงินลงทุน 400 ล้านบาท และเป็นครั้งแรกที่พวกเขากู้เงินจากธนาคาร เพราะที่ผ่านมาเป็นการระดมทุนภายในครอบครัว เหตุผลที่เปิดโรงพยาบาลแห่งใหม่เนื่องจากมีผู้ใช้บริการเพิ่มมากขึ้น และต้องการแยกบริการระหว่างกลุ่มคนไข้ประกันสังคมและกลุ่มคนไข้ทั่วไป รวมทั้งเพื่อเจาะตลาดชาวต่างชาติและกลุ่ม CLMV
“เราลงทุนทำตรงนี้และ upgrade ทุกอย่างเทียบเคียงกับในเมือง อย่างห้อง ICU เราทำเป็นห้องเดี่ยวหมด เป็น VIP ICU การให้บริการ VIP ใกล้เคียงในเมืองในราคาที่ afford ได้” รณชิต แย้มสอาด ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แพทย์-รังสิตเฮลท์แคร์กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ PHG กล่าวพร้อมยิ้มน้อยๆ ระหว่างให้สัมภาษณ์ในห้องพักคนไข้ VIP ซึ่งประยุกต์มาเป็นห้องให้สัมภาษณ์เฉพาะกิจ และมีบุตรสาว “จุฑาบงกช แย้มสอาด” นั่งอยู่ด้านข้าง ช่วยอธิบายเสริมหรือขยายความบางประเด็นเติบโตจากประกันสังคม
“รณชิต” เป็นบุตรคนเล็กของ ประไพ-ธำรงและเข้ามาทำงานที่นี่ตั้งแต่ต้นปี 2563 หลังจากพี่ชายเกษียณ ก่อนหน้านี้เขาทำงานที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยในตำแหน่งที่ปรึกษา ส่วนบุตรสาว 2 คน “พญ.นลนภัส” เป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการ ด้านกลยุทธ์ ขณะที่ “จุฑาบงกช” เป็นผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจ รายหลังเข้ามาทำงานที่นี่ 3 ปีแล้ว เธอบอกว่า เพื่อช่วยโปรเจกต์ IPO โดยเฉพาะ ทั้งนี้บริษัทนำหุ้นจำนวน 54 ล้านหุ้นคิดเป็น 18% ของทุนจดทะเบียน เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาด้วยราคา IPO ที่ 21.00 บาท
การนำเงินระดมทุนที่ได้จากการเสนอขายหุ้น IPO มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นเงินลงทุนในโครงการระหว่างปี 2566-2569 ประกอบด้วย 1. โครงการก่อสร้างอาคารจอดรถ 100 ล้านบาท 2. โครงการก่อสร้างอาคารผู้ป่วยใหม่ที่ 1 ภายในปี 2567 3. โครงการก่อสร้างอาคารผู้ป่วยใหม่ที่ 2 ภายในปี 2569 4. สำหรับเป็นเงินทุนซื้อเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ 5. ชำระคืนเงินกู้ยืมแก่สถาบันการเงินบางส่วน 6. เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ
ทั้งนี้ผลประกอบการสำหรับงวดปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม ปี 2563-2565 และสำหรับงวด 3 เดือนสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม ปี 2566 บริษัทมีกำไรสุทธิ 104.64 ล้านบาท 317.48 ล้านบาท 293.10 ล้านบาท และ 44.55 ล้านบาท ตามลำดับ คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิ 6.73%, 15.99%, 14.27% และ 9.11% ตามลำดับ
บริษัท แพทย์รังสิตเฮลท์แคร์กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ PHG ก่อตั้งวันที่ 3 ตุลาคม ปี 2527 โดย ธำรง-ประไพ แย้มสอาดมีผู้ร่วมก่อตั้งประกอบด้วยครอบครัวตระกูลช่าง ครอบครัวฮันตระกูล และกลุ่มแพทย์ ด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มแรก 9 ล้านบาทในนาม บริษัท ปทุมรักษ์ จำกัด
ปัจจุบัน PHG มีโรงพยาบาล 3 แห่งตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกัน ให้บริการทางการแพทย์ทั่วไปและเฉพาะทางกว่า 20 สาขา รองรับผู้ใช้บริการจากจังหวัดปทุมธานี กรุงเทพฯ ตอนเหนือ และจังหวัดใกล้เคียง มีผู้ป่วยนอกเฉลี่ยวันละกว่า 2,000 คน จุดเด่นของที่นี่คือ มีศูนย์หัวใจที่มีศักยภาพในการผ่าตัดหัวใจแบบเปิด (open heart surgery) ให้บริการ 24 ชั่วโมง และเป็นโรงพยาบาลเอกชนแห่งเดียวที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการที่รับการส่งต่อเฉพาะด้านการทำหัตถการรักษาหลอดเลือดโคโรนารีผ่านสายสวน ระดับ 1 ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในเขต 4 ประกอบด้วยจังหวัดนนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง ลพบุรี สิงห์บุรี สระบุรี และนครนายก
“การจะเป็นศูนย์หัวใจระดับ 1 ได้ต้องมีหมอผ่าตัดเปิดหัวใจ 24 ชั่วโมง...การที่เราเป็นศูนย์หัวใจตติยภูมิในเขต 4 ทำให้เป็นที่รู้จัก โรงพยาบาลเอกชนบางแห่งก็ส่งคนไข้ มา...เราทำ stent บอลลูนหัวใจ (balloon angioplasty) 3,000 กว่าเคสต่อปี มี refer จากที่อื่น และผ่าตัดเปิดหัวใจ 100 กว่าเคสต่อปี
“เรามีศูนย์ฟอกไตและจะตั้งศูนย์รักษามะเร็ง ถ้าครอบคลุม 3 สาขาก็ตอบโจทย์ aging society (ประเทศไทย) มีแนวโน้มมาทางนี้ 20% เราอยู่ตรงนี้มา 40 ปี เราเล็งเห็นและศึกษา ปี 2566 โรงพยาบาลรับผู้ประกันสังคม 156,000 คน...ทางหน่วยงานประกันสังคมอยากให้รับมากกว่านี้ แต่เรารับตามกำลังที่ทำไหว ในย่านนี้อัตราการลงทะเบียนผู้ประกันตนของเราเป็นอันดับ 1 ตอนนี้ 98% แล้ว”
ลูกค้าของกลุ่มโรงพยาบาลแพทย์รังสิตประกอบด้วย 1. ลููกค้าทั่วไป ได้แก่ กลุ่ม ลููกค้าทั่วไป กลุ่มลููกค้าคู่สัญญา 2. ลูกค้าตามโครงการสวัสดิการภาครัฐ ได้แก่ โครงการประกันสังคม โครงการของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และลูกค้าโครงการสวัสดิการข้าราชการภายใต้กรมบัญชีกลาง หน่วยงานราชการ และรัฐวิสาหกิจ
ภายหลังการระบาดของโควิดช่วง 3 ปีที่ผ่านมาโรงพยาบาลแห่งนี้เป็นที่รู้จักมากขึ้นเนื่องจากเป็น 1 ใน 10 แห่งของโรงพยาบาลทั่วประเทศที่ร่วมกับภาครัฐระดมฉีดวัคซีนป้องกันโควิดให้แก่ประชาชน
“ช่วงปี 2562-2564 เป็นยามวิกฤตไม่มีใครกล้าตัดสินใจรับ เราคิดว่าท้องที่ต้องการ ถามว่าเราทำได้ไหม เรามั่นใจว่าทำได้ ก่อนหน้านั้นไม่คิดว่าจะฉีดวัคซีนเป็นหมื่นโดส เราให้สมาชิกในครอบครัว staff มารับวัคซีนด้วย ตอนนั้นวัคซีนเป็นของหายาก เขารู้สึกว่าเราทุ่มเทก็ระดมใจมาช่วย...เราไปฉีดให้กับผู้ป่วยติดเตียงถึงบ้าน ทีมงานต้องเดินข้ามสะพานไม้กระดานไป เราเข้าไปเองในพื้นที่ขาดแคลนที่มีคนชราหรือเด็กถูกกักตัว
“ปทุมธานีมีประชากร 1.5 ล้านราย เราฉีด 1.3 ล้านโดส...เราเช่าพื้นที่ในศูนย์การค้าเพื่อฉีดวัคซีนวันละเป็นหมื่นราย หลังโควิดจำนวนคนไข้เพิ่มมากขึ้นกว่า 10% มีทั้ง newcomer และ new visitor ลูกค้าประกันกลับมาใช้เราต่อเนื่อง และเปิดบริษัทคู่สัญญามากขึ้น”
มุ่งเป้าตอบโจทย์ผู้สูงอายุ
ทายาทรุ่น 2 ของตระกูลแย้มสอาดเอ่ยถึงเป้าหมายของกลุ่มโรงพยาบาลแพทย์รังสิตว่า ต้องการเป็นโรงพยาบาลระดับตติยภูมิโรคเฉพาะทางผู้สูงอายุและสตรี เน้นการพัฒนาเชิงลึก โดยแผนงานที่วางไว้คือ ต่อยอดความเชี่ยวชาญในการรักษาโรคผู้สูงอายุ โดยเฉพาะโรคมะเร็งและโรคทางนรีเวชให้ครอบคลุมครบวงจร เนื่องจากเล็งเห็นว่ามีความต้องการใน 2 สาขานี้เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะโรคมะเร็งที่มีจำนวนคนไข้เพิ่มขึ้นทุกปี
ปี 2565 ประเทศไทยมีการเติบโตของอัตราส่วนจำนวนประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปคิดเป็น 19.21% ของประชากรทั้งหมด ส่วนผู้ป่วยเป็นโรคมะเร็งยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในเขตการให้บริการสุขภาพเขต 4 มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยของผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ระหว่างปี 2562-2564 คิดเป็น 10.40% และที่ผ่านมากลุ่มโรงพยาบาลให้บริการรักษาโดยการผ่าตัดเท่านั้น
บริษัทมีแผนที่จะจัดตั้งศูนย์ตรวจ วินิจฉัยและรักษามะเร็งแบบครบวงจร (one stop service cancer center) โดยรักษาด้วยการใช้เคมีบำบัด รังสีรักษา การผ่าตัด และนวัตกรรมใหม่ๆ เช่น การรักษามะเร็งตามเป้าหมาย (targeted therapy) การรักษาแบบฮอร์โมนบำบัด ศัลยกรรมผ่าตัดเล็ก การรักษาแบบรังสีพุ่งเป้า ยากลุ่มภูมิคุ้มกันบำบัด (immunotherapy) และยาต้านการสร้างหลอดเลือดที่คอยให้อาหารแก่ก้อนมะเร็ง (anti-angiogenesis) เป็นต้น จากเดิมที่รักษาด้วยวิธีการผ่าตัดเพียงอย่างเดียว รวมทั้งเพิ่มพื้นที่ให้บริการผู้ป่วยในสำหรับผู้ป่วยที่ต้องการการดูแลอย่างใกล้ชิด เช่น ผู้ป่วยมะเร็ง ผู้ป่วยกึ่งวิกฤต โดยก่อสร้างอาคารผู้ป่วยใหม่แห่งที่ 2 คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จปี 2569 ในส่วนของศูนย์มะเร็งซึ่งจะเปิดเป็นโรงพยาบาลเฉพาะทาง และเป็นโรงพยาบาลแห่งที่ 4 ของกลุ่มฯ ใช้งบลงทุนประมาณ 500 ล้านบาท ตามกำหนดการจะก่อสร้างแล้วเสร็จปลายปี 2567 และเปิดดำเนินการช่วงต้นปี 2568
ปัจจุบันกลุ่มโรงพยาบาลฯ ให้บริการผ่าตัดคนไข้มะเร็งร้อยกว่าเคสต่อเดือน หากต้องรักษาด้วยวิธีการคีโมหรือฉายแสงต้องส่งต่อไปรักษาที่โรงพยาบาลอื่นและกลายเป็นต้นทุนของบริษัท การเพิ่มแนวทางการรักษา 2 แบบหลังเข้ามาจะทำให้โรงพยาบาลสามารถรักษาคนไข้มะเร็งได้ครบวงจร ไม่ต้องส่งคนไข้ต่อไปยังโรงพยาบาลอื่น ณ วันที่ 31 มีนาคม ปี 2566 จังหวัดปทุมธานีมีโรงพยาบาลเอกชน 12 แห่ง มากกว่าครึ่งหนึ่งมีกลุ่มเป้าหมายเดียวกัน แต่รณชิตกลับมองมุมบวกโดยกล่าวว่า “ในพื้นที่แข่งกันสูง น่านน้ำที่มีเรือมาจับปลาเยอะแสดงว่าแหล่งปลาชุกชุมใช่หรือไม่...แสดงว่ายังมีความต้องการของผู้บริโภค เราจะพัฒนาเชิงลึกในการให้บริการ เราไม่เพิ่มสาขา แต่ standalone ลงแนวดิ่ง พัฒนาคุณภาพ พัฒนาคน แพทย์ เครื่องมือ เหมือนที่เราทำศูนย์หัวใจ...เรามี land bank ที่พัฒนาได้ ในสิ่งนี้เมื่อเก็บ data ได้พอสมควร วิเคราะห์ เงินทุนพร้อม ตอนนี้เรามี 3 แห่ง เป็น medical complex”
เพิ่มคนไข้ต่างชาติ
นอกจากนี้ ยังขยายฐานไปยังคนไข้ต่างชาติกลุ่มอาเซียนในเขตภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (CLMV) และกลุ่มประเทศอาหรับ ซึ่งช่วงก่อนโควิดมีคนไข้ชาวเมียนมามาใช้บริการบ้างแล้ว รวมทั้งดูลู่ทางที่กัมพูชา ส่วนที่เริ่มดำเนินการแล้วกลางปีที่ผ่านมาคือ กลุ่มนักท่องเที่ยวอาหรับ
“เราไปตั้งคลินิกอยู่ที่ซอยนานาซึ่งเป็น community ของชาวอาหรับ ตั้งเป็นคลินิกเวชกรรมแพทย์รังสิต เปิดตรงนั้นเป็นปากทางเข้าให้คนไข้ต่างชาติรู้จักเรามากขึ้น ภายในคลินิกมีแพทย์ประจำ 1 คน เป็นแพทย์ศัลยกรรม เดิมเรารับลูกค้าจากเอเจนซี่ให้ค่าคอมฯ แต่ไม่ตอบโจทย์ เพราะเขาทำให้หลายแห่ง เราเลยเปิดเองเพื่อให้มีคนไข้ walk-in และมีหมออธิบายให้ฟัง จะช่วยให้มีคนมาโรงพยาบาลเรามากขึ้น”
“เดิมผู้ชายมา (คนเดียว) และมีคลินิกรักษาเฉพาะผู้ชาย แต่ตอนนี้เปลี่ยนไปแล้ว มาเป็นครอบครัว มีภรรยา แม่ ลูก เดิมไม่มีคลินิกทันตกรรม เสริมสวย...เราปรับตรงนี้ให้รับกับปัจจุบัน เดิมเขาเข้าโรงพยาบาลชั้น 1 เราเป็นอีก choice ไปต่อท่อไว้ว่ามีบริการแบบนี้และราคาเข้าถึงไม่ยาก”
ภายในคลินิกข้างต้นมีศัลยกรรมเพื่อการรักษาและศัลยกรรมเพื่อความสวยงามสำหรับผู้หญิงด้วย “ลูกสาวมี network กับชาวอาหรับได้คุยแลกเปลี่ยนกัน เดิมตั้งใจจะทำร้านขายยา เขาบอก you มีโรงพยาบาลทำไมไม่ทำโรงพยาบาล ก็ survey เห็น potential บริเวณนั้น แม้ยังไม่เปิดเป็นทางการก็มีชาวอาหรับเดินเข้ามาดูในพื้นที่เรา ดูห้องผ่าตัด ห้องตรวจ บางคนบอกว่า เจ็บตา ปวดหลัง ปวดท้อง แสดงว่าตลาดมีความต้องการ”
เอ่ยถึงตอนนี้ “จุฑาบงกช“ เสริมว่า ที่ผ่านมาคนไข้ต่างชาติมาใช้บริการโรงพยาบาลไม่มากนักจึงปรับกลยุทธ์ไปอยู่ในพื้นที่ที่คนอาหรับพักอาศัย ซึ่งตอนนี้พวกเขากลับมาเที่ยวประเทศไทยแล้วด้วยกลยุทธ์ต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้นผู้บริหาร PHG คาดว่าจะทำให้บริษัทเติบโตไม่น้อยกว่าปีที่ผ่านมา ปี 2566-2567 บริษัทเติบโตใกล้เคียงตัวเลข 2 หลัก จากการขยายศูนย์บริการต่างๆ และเพิ่มบริการการรักษา เช่น ด้านนรีเวชเดิมผ่าตัดแผลแบบเปิดก็จะเพิ่มการผ่าตัดแผลเล็ก ผ่าตัดด้วยวิธีการส่องกล้อง และอายุรกรรมโรคติดเชื้อเพิ่มขึ้น จะทำให้รายได้โตขึ้น
“ปีนี้ก็คาดหวังว่าไม่ต่ำกว่าปีที่แล้ว ปี 2565 เรามีรายได้ 2 พันล้านบาทเศษ ในยอดนี้เป็นโควิด 40% ปีนี้คาดว่าใกล้เคียง แต่ไม่มีรายได้จากคนไข้โควิดเข้ามา หรือน้อยมาก 5-10% เท่ากับว่าเราเติบโตแบบ organic” รณชิตกล่าวในตอนท้าย
อ่านเพิ่มเติม : เชื่อมโลก AI เปิดมิติการตลาด