“ขยะสามารถสร้างประโยชน์ได้ ทั้งการผลิตเป็นสินค้า แก๊ส หรือพลังงานทดแทน เมื่อเราเข้าไปศึกษาอย่างจริงจังจึงพบว่า เราสามารถนำขยะที่สกปรกผ่านกรรมวิธีที่ถูกต้องตาม know-how ของแต่ละประเทศกลายเป็นวัตถุดิบที่สามารถใช้พัฒนาเป็นสินค้าต่อไปได้”
ไพบูลย์ จุลศักดิ์ศรีสกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท คิงส์แพ็ค อินดัสเตรียล จำกัด ลูกชายคนเล็กวัย 31 ปีของเสรี จุลศักดิ์ศรีสกุล แห่งคิงส์กรุ๊ป ผู้นำทัพรุ่นสองของบริษัทผู้ผลิตและส่งออกบรรจุภัณฑ์พลาสติกรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เจ้าของโรงงานขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียน และติดอันดับ 1 ใน 3 ของเอเชีย ในขณะศึกษาต่อปริญญาโทด้าน International Business Economics มหาวิทยาลัย East Anglia ประเทศอังกฤษ ได้ศึกษาการทำธุรกิจเพื่อประโยชน์ของสังคมตามหลักการเศรษฐกิจพอเพียง “ช่วงที่ทำวิทยานิพนธ์ เราทำเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง และได้มองเห็นประโยชน์ของ social enterprise ที่ทำเพื่อสังคมตั้งแต่ต้นทาง โดยผู้เกี่ยวข้องได้รับผลกำไร เงินเดือน และคอมมิชชั่น เช่นเดียวกับเราที่ได้รับเป็นเงินเดือน ส่วนผลกำไรที่เกิดขึ้นกับบริษัทหลังหักต้นทุนจะได้รับการนำไปคืนให้กับสังคมผ่านรูปแบบการพัฒนาต่างๆ” ทั้งที่ตัวเขารู้ดีว่าหลังเรียนจบต้องกลับมาสร้างธุรกิจของครอบครัว ต่อยอดธุรกิจคิงส์กรุ๊ป ซึ่งมีคิงส์แพ็คเป็นผู้ผลิตและส่งออกบรรจุภัณฑ์พลาสติกไปทั่วโลก จนต้องเก็บความฝัน social enterprise ไว้ในลิ้นชักจนกว่าโอกาสจะมาถึง หลังกลับจากอังกฤษ ไพบูลย์เลือกเข้ามารับผิดชอบด้านการตลาดต่างประเทศ โดยวางเป้าหมายให้บริษัทเป็นหนึ่งในผู้นำด้านบรรจุภัณฑ์ พลาสติกของภูมิภาคเอเชีย และเป็นบริษัทผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ก้าวต่อไปสู่ความเป็นผู้นำระดับโลก ด้วยความเชื่อมั่นว่าธุรกิจ household packaging ยังทำการตลาดได้อีกมากในต่างประเทศ ความเปลี่ยนแปลงของคิงส์แพ็คมาถึง เมื่อเขาลดสัดส่วนกลุ่มบรรจุภัณฑ์ที่บริโภคเพียงครั้งเดียวที่เป็นต้นทุนขององค์กร จากสัดส่วนกว่า 60% ในอดีตเหลือ 26% เพื่อเพิ่มสัดส่วนกลุ่มบรรจุภัณฑ์ที่สามารถผลิตซ้ำหรือใช้ใหม่ได้ ทำให้รายได้เติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นับจากเริ่มงานปี 2552 ที่ 2,926 ล้านบาท เป็น 6,378 ล้านบาทในสิ้นปี 2556 ขณะเดียวกันยังได้ลูกค้าครอบคลุมตลาดสำคัญ ได้แก่ ห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ทั้งหมด 5 อันดับแรกในโลก ห้างค้าปลีก 3 อันดับแรกของประเทศออสเตรเลีย และห้างค้าปลีก 5 อันดับแรกของอังกฤษ รวมทั้ง ห้างค้าปลีกอันดับ 1 ใน สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส สวิสเซอร์แลนด์ ญี่ปุ่น ฮ่องกง และเยอรมนี เป็นต้น หลังวางรากฐานธุรกิจไว้อย่างแข็งแกร่งแล้ว ไพบูลย์จึงนำความฝัน social enterprise จากลิ้นชักขึ้นมาปัดฝุ่น เพื่อพิสูจน์ว่าบริษัทที่เติบโตจากพลาสติกที่สร้างปัญหาขยะให้สังคม จะสามารถแก้ปัญหาขยะล้น และนำกำไรทั้งหมดสร้างประโยชน์ให้กับสังคมได้ โดยนำโมเดลจากฐานการผลิตในต่างประเทศ เช่น ฝรั่งเศส สเปน อังกฤษ อเมริกา และออสเตรเลียมาปรับใช้ อีกทั้งยังสามารถสร้างความเติบโตให้กับธุรกิจทางอ้อมได้อีกด้วย
“เราไม่จำกัดเป้าหมายสูงสุด เพราะเรามั่นใจว่าธุรกิจนี้ไม่มีทางหยุดการเติบโต ขึ้นอยู่กับเราพอใจกับมันแค่ไหน เพราะพลาสติกเป็นสินค้าที่ใช้ทั่วไปทุกที่ ขณะที่วัตถุดิบของเรามีไม่จำกัด เพียงแต่วันนี้เราไม่ต้องการเสี่ยงมาก จึงพอใจแค่ระดับปีละ 20%” ไพบูลย์กล่าวย้ำแนวทางธุรกิจว่า ยิ่งเพิ่มต้องยิ่งลด เพื่อการเติบโตที่ยั่งยืนในยุคผลัดใบของคิงส์แพ็ค
ติดตามอ่าน "คิงส์แพ็ครุกตลาดถุงพลาสติกเวิลด์คลาส ปักธงธุรกิจ “ยิ่งเพิ่ม ต้องยิ่งลด”" ฉบับเต็มใน Forbes Thailand ฉบับ FEBRUARY 2014
ติดตามอ่าน "คิงส์แพ็ครุกตลาดถุงพลาสติกเวิลด์คลาส ปักธงธุรกิจ “ยิ่งเพิ่ม ต้องยิ่งลด”" ฉบับเต็มใน Forbes Thailand ฉบับ FEBRUARY 2014