DTC ท่องน่านน้ำใหม่ นวัตกรรมไทยผงาดนอกบ้าน - Forbes Thailand

DTC ท่องน่านน้ำใหม่ นวัตกรรมไทยผงาดนอกบ้าน

FORBES THAILAND / ADMIN
22 Mar 2016 | 02:43 PM
READ 13525
จากคำปรารภของบิดานำไปสู่การพัฒนาธุรกิจจำหน่ายและวางระบบอุปกรณ์ติดตามการเดินรถที่ประยุกต์จากกล่องดำซึ่งใช้กับเครื่องบิน (data locker) ทศพล คุณะเพิ่มศิริ ที่มีต้นทุนการศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ พร้อมเงินออมจากการทำงานประมาณ 1 ล้านบาท ก่อตั้ง บริษัท ดี.ที.ซี. เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (D.T.C. Enterprise Co., Ltd) เพื่อพัฒนาระบบการติดตามสัญชาติไทยขึ้น เมื่อปี 2539 และรับหน้าที่เป็นกรรมการผู้จัดการจนถึงปัจจุบัน ในช่วงแรก บริษัททำธุรกิจเกี่ยวกับการเพิ่มความปลอดภัยในการขนส่ง สำหรับตรวจสอบความสามารถทางกายภาพของบุคคลในการขับรถ ต่อมาบริษัทได้ขยายธุรกิจเกี่ยวกับการออกแบบและผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ สำหรับใช้ในการควบคุมและตรวจสอบยานพาหนะ “แนวคิดแรกของเราคือหากรถมีกล่องดำ หรือ data locker ที่บันทึกการขับขี่ได้เหมือนที่ใช้กับเครื่องบินก็น่าจะดี คนไทยเก่งก็น่าจะทำได้ เราจึงเริ่มนำเทคโนโลยีจากอากาศยานมาสู่รถ” ทศพล เล่าถึงที่มาของการริเริ่มธุรกิจ ขณะนี้มีการนำผลิตภัณฑ์ไปใช้ทั้งในภาครัฐและเอกชนทั่วไทย และบริษัทยังเปิดสาขาถึง 10 แห่งทั่วประเทศด้วย โดย ปี 2542 เริ่มรุกตลาดต่างประเทศเป็นครั้งแรกด้วยการส่งผลิตภัณฑ์ไปขายที่อินโดนีเซีย  โดยปัจจุบันผลิตภัณฑ์ของ DTC ยังถูกนำไปใช้เป็นระบบติดตามรถกว่า 12 ประเทศ ได้แก่ จีน ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย อินเดีย บังคลาเทศ เวียดนาม สปป.ลาว เคนยา มาเลเซีย ฮ่องกง เมียนมา และกัมพูชา “ตอนที่เราเริ่มเข้าสู่ตลาดต่อให้พูดอย่างไรลูกค้าก็ไม่เห็นภาพ จนให้ทดลองใช้ฟรีราว 1 เดือน จึงเห็นว่าของเราดีจริง” กลยุทธ์หนึ่งที่ทำให้ลูกค้าเชื่อใจและสนใจในการใช้ผลิตภัณฑ์มากขึ้น แม้ในขณะนั้น ราคาของผลิตภัณฑ์ที่ทศพล จำหน่ายยังมีราคาสูงกว่าต่างประเทศราว 20-30% ทศพลเล่าถึงการเปิดตัวกล่องดำบันทึกการใช้งาน (SW-100 Black Box) สู่ตลาดครั้งแรกและเป็นเวลากว่า 4 ปีนับตั้งแต่มีลูกค้ารายแรก กว่าชื่อของ “กล่องดำ DTC” จะเริ่มติดตลาดจนเป็นที่คุ้นเคยและเรียกขานของคนในแวดวงบริษัทโลจิสติกส์ในเมืองไทย จุดเปลี่ยนสำคัญที่อยู่คู่กับ DTC มาโดยตลอดคือคลื่นของเทคโนโลยีที่พัฒนาความสามารถของตัวเองเพื่อตอบโจทย์การทำงานให้ทันสมัยมากยิ่งขึ้น หลังการจัดตั้งบริษัทได้ 10 ปี เทคโนโลยี GPS (ระบบบอกพิกัดตำแหน่งบนโลกผ่านทางดาวเทียม) เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในเมืองไทย DTC จึงเริ่มทำวิจัยเพื่อนำมาใช้กับผลิตภัณฑ์กล่องดำแบบเดิม และในปี 2545 จึงเริ่มเปิดตัวอุปกรณ์บันทึกเส้นทางการเดินรถด้วยระบบดาวเทียม (SW-G) ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น “ตอนนั้นผมคิดแค่ว่าถ้าเอา GPS มารวมกับกล่องดำได้รับรองว่าต้องดี กระทั่งน้องที่ทำวิจัยเอาตัวอย่างที่พัฒนาเสร็จแล้วมาให้ดูผมก็ยิ่งมั่นใจว่าเราจะไปได้อีกไกล” ทศพล เล่าต่ออีกว่าอุปกรณ์ของบริษัทฯ จึงถูกขนานนามในชื่อใหม่ว่า “DTC GPS” แม้จะพัฒนาอุปกรณ์ให้ทันสมัยขึ้นโดยมี GPS มาเป็นตัวช่วย แต่ด้วยข้อจำกัดที่อุปกรณ์ของ DTC ในยุคนั้นยังไม่สามารถให้ข้อมูลได้แบบเรียลไทม์เพื่อตรวจสอบการเดินรถอีกครั้ง ในขณะนั้น บริษัท ยูไนเต็ด คอมมูนิเคชั่น อินดัสตรี จำกัด หรือ UCOM เริ่มมีอุปกรณ์แบบเรียลไทม์ที่นำเข้าจากสหรัฐอเมริกาจึงเข้าไปเจรจาขอพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ผนวกระหว่างของเดิมที่บริษัทฯ จำหน่ายเข้ากับอุปกรณ์ Trunk ที่ UCOM นำเข้ามาเพื่อช่วยเรื่องส่งข้อมูลแบบเรียลไทม์ เมื่ออายุสัมปทานของอุปกรณ์ Trunk หมดลง  ปี 2545 DTC จึงพัฒนาอุปกรณ์เพื่อใช้งานแบบเรียลไทม์ผ่านการใช้ซิมโทรศัพท์มือถือแทนอุปกรณ์ Trunk และถูกนำไปใช้ในวงกว้างกว่าเดิม การใช้งาน ซิมจาก DTAC เป็นจำนวนมากกว่า 4 หมื่นซิมเพื่อการใช้งาน จน Telenor บริษัทแม่ของ DTAC สนใจศึกษาธุรกิจและส่งตัวแทนมาเจรจาทางธุรกิจกับทศพล พร้อมทั้งแสดงความสนใจซื้อหุ้นของ DTC แต่ด้วยความเชื่อว่าอนาคตกิจการที่ปั้นมากับมือยังพัฒนาให้ก้าวไปได้อีกไกล ทศพลจึงปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว แต่เมื่อธุรกิจเริ่มเติบโตและสภาพแวดล้อมของธุรกิจที่ต้องพึ่งพิงนวัตกรรมเป็นสำคัญ การผนึกกำลังกับพันธมิตรที่เป็นขาใหญ่จึงเป็นสิ่งจำเป็น ปี 2558 DTC ได้ตกลงเป็นพันธมิตรและขายหุ้นในอัตราส่วน 9% ให้กับ Yazaki Energy System Corporation (บริษัทผลิตอุปกรณ์ในรถยนต์จากญี่ปุ่นที่มีเครือข่ายอยู่ใน 45 ประเทศทั่วโลก) ที่เล็งเห็นถึงศักยภาพของ DTC ผลจากความร่วมมือครั้งนี้ ยังเอื้อประโยชน์ต่อการขยายธุรกิจรับจ้างผลิต (OEM) การเป็นที่ยอมรับจากลูกค้าต่างชาติ และความเพิ่มศักยภาพในการผลิต OEM ปลายปีที่ผ่านมาบริษัทหันสู่น่านน้ำธุรกิจใหม่ซึ่งเป็นหนึ่งในอนาคตของ DTC ด้วยการนำเสนออุปกรณ์ติดตามตำแหน่งเรือประมงด้วยดาวเทียมในชื่อ TALAY ซึ่งมีเรือประมงติดตั้งแล้ว 400 เครื่อง สำหรับปี 2559 จุดหักเหของ DTC เกิดขึ้นอีกครั้งพร้อมๆ กับโอกาสครั้งสำคัญในการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและระดมทุนเพื่อรับ Mega Project จากภาครัฐและเอกชนที่จะเกิดขึ้น ทศพลทิ้งท้ายว่า ปัจจัยที่จะป้องกันความเสี่ยงในธุรกิจของ DTC คือการที่ต้องไล่ตามให้ทันเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าในแต่ละกลุ่มได้ ดังนั้นอีกหนึ่งงานหลักที่ผู้นำอย่างทศพลไม่อาจละเลยเพื่อนำพาธุรกิจให้ไปถึงจุดหมาย คือการพบปะและพูดคุยกับลูกค้าอย่างสม่ำเสมอ   เรื่อง: ชญานิจฉ์ ดาศรี ภาพ: ทวีศักดิ์ ภักดีหุ่น
อ่านฉบับเต็ม "DTC ท่องน่านน้ำใหม่ นวัตกรรมไทยผงาดนอกบ้าน" ได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ FEBRUARY 2016 ได้ในรูปแบบ E-Magazine