แบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้ารายใหญ่สายเลือดอังกฤษเสริมกำลังให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้นผ่านศูนย์เทคโนโลยีแห่งใหม่ ด้วยงบลงทุนมูลค่าราว 330 ล้านปอนด์
ความเชื่อมั่นในพลังเทคโนโลยีทำให้
James Dyson นักประดิษฐ์ชาวอังกฤษพัฒนาเครื่องดูดฝุ่นแบบไร้ถุงเป็นเครื่องแรกของโลกในราวปี 1983 และก่อตั้ง
Dyson Ltd. ขึ้นในปี 1987 ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นตัวขับเคลื่อน เช่น เครื่องเป่าลมมือ เครื่องดูดฝุ่นไร้สาย พัดลมฟอกอากาศ ไดร์เป่าผม ฯลฯ
กันยายนปีนี้ Dyson ประกาศการลงสนามครั้งใหม่คือการผลิตรถยนต์แบตเตอรี่ไฟฟ้า (EV) วางแผนใช้งบราว 2 พันล้านปอนด์และทีมวิศวกรอย่างน้อย 400 คนในการพัฒนา คาดว่าจะเปิดตัวได้ในปี 2020 สอดรับกับความต้องการใช้ EV ที่มากขึ้น
ปัจจุบัน Dyson มีฐานในหลายประเทศ เช่น อังกฤษ สิงคโปร์ มาเลเซีย จีน ฯลฯ มีพนักงานรวมกันราว 9,000 คน โดย 1 ใน 3 คือวิศวกรและนักวิทยาศาสตร์ มีผลิตภัณฑ์จำหน่ายใน 75 ประเทศทั่วโลก ซึ่งตลาดต่างประเทศสร้างสัดส่วนถึง 90% ของผลประกอบการที่ในปี 2015-2016 อยู่ที่ 1.7 พันล้านปอนด์ และ 2.5 พันล้านปอนด์ ด้านกำไรอยู่ที่ 448 ล้านปอนด์ และ 631 ล้านปอนด์
ส่วนตัวของ Dyson วัย 70 ปี ก็ติดอันดับที่ 414 ในโผ
“World’s Billionaires 2017” จัดโดยนิตยสาร
Forbes มีมูลค่าทรัพย์สิน (ณ มีนาคม) ราว 4.2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 3.17 พันล้านปอนด์
ขุมพลังแห่งใหม่
นอกจากสำนักงานใหญ่ของ Dyson ที่เมือง Malmesbury ประเทศอังกฤษ บริษัทยังตั้งสำนักงานที่สิงคโปร์ในปี 2007 ด้วยทีมวิศวกรไม่กี่คน กระทั่งไม่กี่ปีก่อน บริษัททุ่มงบราว 330 ล้านปอนด์ ก่อตั้ง
Dyson Singapore Technology Centre (STC) ที่ Science Park I เปิดตัวอย่างเป็นทางการไปเมื่อต้นปีนี้ ตั้งเป้าให้เป็นศูนย์ความเชี่ยวชาญด้านวิศวกรรม พัฒนาฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ รวมทั้งพัฒนาโครงการเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ (AI)
ภายใน STC ออกแบบผังห้องแล็บให้อยู่ใกล้กับส่วนโต๊ะทำงานเพื่อที่พนักงานจะได้นำความคิดเข้าไปทดลองในห้องแล็บได้อย่างรวดเร็ว มีเช่น Acoustics Lab ซึ่ง Dyson ใช้งบกว่า 11 ล้านปอนด์สร้างห้องทดลองเสียงเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ทำงานได้เงียบที่สุด Fluid Dynamics Lab ใช้ทดสอบพลังงานลมในรูปแบบต่างๆ Performance Lab ทำการทดลองผลิตภัณฑ์กับสภาพเส้นผมของคนแต่ละชาติพันธุ์ Connected Studio ทดสอบการทำงานของหุ่นยนต์ดูดฝุ่นที่ติดกล้องแบบ 360 องศา ซึ่งสามารถสร้างแผนที่ได้ด้วยตัวเองจากการจดจำทิศทางการเดิน เป็นต้น
Dyson ยังก่อตั้ง
Singapore Advanced Manufacturing Centre (SAM) ที่ West Park ในปี 2012 เป็นฐานการผลิต “ดิจิทัลมอเตอร์” ตั้งแต่รุ่น V2 ซึ่งเป็นมอเตอร์ของผลิตภัณฑ์ขนาดใหญ่ รุ่น V4 ใช้ในเครื่องเป่าลมมือและหุ่นยนต์ดูดฝุ่น 360 องศา รุ่น V6/V8 ใช้ในเครื่องดูดฝุ่นไร้สาย ส่วนดิจิทัลมอเตอร์ ขนาดเล็กสุดคือรุ่น V9 ใช้ในไดร์เป่าผม โดยมีขนาด 27 มิลลิเมตร และมีใบพัดลมตามแนวแกนที่หมุนได้ถึง 110,000 รอบ/นาที
SAM เน้นการทำงานด้วยระบบหุ่นยนต์อัตโนมัติซึ่งมีราว 300 ตัว โดยใช้แรงงานคนในการลำเลียงวัสดุป้อนเข้าสายการผลิตเท่านั้น ที่ผ่านมา SAM ผลิตดิจิทัล มอเตอร์ได้แล้วราว 20 ล้านชิ้น ก่อนส่งไปยังประเทศมาเลเซียเพื่อประกอบเข้ากับชิ้นส่วนอื่นๆ ให้เป็นผลิตภัณฑ์ แล้วจึงส่งออกจำหน่าย
เทคโนโลยีไม่สิ้นสุด
หลังการเยี่ยมชม STC และ SAM เสร็จสิ้น
Forbes Thailand มีโอกาสพูดคุยกับ
Scott Maguire ซึ่งดำรงตำแหน่ง Global Engineering Director ของ
Dyson เขาจบปริญญาตรีด้านวิศวกรรมการออกแบบผลิตภัณฑ์จาก University of Glasgow ในปี 2003 และเข้าทำงานที่ Dyson ตั้งแต่อายุราว 22 ปี โดยมีส่วนออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้บริษัทมากกว่า 50 แบบ ส่วนบทบาทในปัจจุบันคือการดูแลแนวคิดทางเทคโนโลยีและกระบวนการผลิต
เบื้องหลังความสำเร็จของ Dyson คือเทคโนโลยี ซึ่ง Maguire เล่าว่าบริษัทใช้งบราว 7 ล้านปอนด์/สัปดาห์ไปกับแผนกวิจัยและพัฒนา (R&D) และคาดว่าจะลงทุนด้านนี้ทั้งหมดประมาณ 1 พันล้านปอนด์ภายในปี 2020 ซึ่ง STC คือหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญขององค์กร
สาเหตุที่เลือกลงทุนที่นี่เนื่องจาก Dyson อยู่ในสิงคโปร์มาเป็นระยะเวลานาน รวมทั้งมีฐานการผลิตดิจิทัล มอเตอร์ ที่สิงคโปร์อยู่แล้ว จึงตัดสินใจลงทุนเพิ่มด้วยงบหลายร้อยล้านปอนด์เพื่อสร้างให้ STC เป็นหนึ่งในศูนย์เทคโนโลยีที่ดีที่สุดของบริษัท อีกประการคือคนรุ่นใหม่ชาวสิงคโปร์มีความรู้ทางวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์เป็นจำนวนมาก ซึ่งตอบความต้องการของ Dyson ได้ทุกอย่าง โดยขณะนี้มีพนักงานที่ STC ราว 1,000 คนแล้ว
แนวคิดและการวิจัยทั้งหมดจะเริ่มที่สำนักงานใหญ่ในอังกฤษ จากนั้นสิงคโปร์จะรับช่วงต่อมาทดลองและพัฒนาในห้องแล็บให้เกิดผลลัพธ์ ซึ่งทั้ง 2 แห่งจะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด เพื่อให้โครงการเดินหน้าไปได้อย่างราบรื่นและช่วยให้ฐานการผลิตสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
Maguire กล่าวถึงพนักงานของบริษัททั่วโลกว่าส่วนใหญ่มีอายุเฉลี่ย 26 ปี ซึ่ง Dyson ยินดีต้อนรับคนรุ่นใหม่เข้าสู่รั้วองค์กร เพราะคนเหล่านี้มักมาพร้อมความคิดสร้างสรรค์และไม่กลัวที่จะล้มเหลว
“หลายครั้งที่พวกเขาทำผิดพลาดหรือล้มเหลวแต่ก็กล้าจะยอมรับและเดินหน้าใหม่ ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดขององค์กรที่มีความกระตือรือร้นและทะเยอทะยานในการนำเทคโนโลยีมาใช้แก้ปัญหา”
แม้จะเป็นแหล่งรวมวิศวกรจำนวนมาก แต่ปัญหาหลักๆ ขององค์กรยังเป็นเรื่องการขาดแคลนวิศวกร ดังนั้นบริษัทจึงใช้งบ 22 ล้านปอนด์ ก่อตั้ง
Dyson Institute of Engineering and Technology ขึ้นที่เมือง Malmesbury เปิดรับนักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์รุ่นแรกไปเมื่อเดือนกันยายนนี้ เพื่อป้อนบุคลากรเข้าสู่อุตสาหกรรมต่างๆ ที่เดินหน้าด้วยเทคโนโลยี
ผู้บริหาร Dyson ไม่ได้กล่าวถึงส่วนแบ่งการตลาดที่แน่ชัดของบริษัทในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ภาพรวมมีอัตราการเติบโตสูง และในบางพื้นที่เติบโตมากกว่าตัวเลขสองหลัก สาเหตุมาจากลูกค้าในภูมิภาคมีความเข้าใจเทคโนโลยีมากขึ้นและมองหาผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ
สำหรับเมืองไทยนับเป็นหนึ่งในตลาดที่โตเร็วที่สุดของ Dyson ซึ่งบริษัทมีความพยายามสร้างตลาดในไทยให้โตขึ้นทั้งส่วนผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดบ้าน มีสินค้าหลักคือเครื่องดูดฝุ่นไร้สาย และส่วนผลิตภัณฑ์ความงามคือไดร์เป่าผม
Maguire ไม่กังวลว่าลูกค้าชาวไทยจะนิยมใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าจากประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และจีน ซึ่งเป็นที่รู้จักมากกว่าเพราะอยู่ในตลาดมานานกว่า และมีระดับราคาที่ย่อมเยากว่า Dyson ค่อนข้างชัดเจน
“แม้กระทั่งในจีนหรือญี่ปุ่น เราก็ยังได้รับความนิยมที่นั่น เราจึงไม่ได้กังวลเรื่องคู่แข่งจากประเทศอื่น” Maguire ยืนยันและเสริมว่า “เราจะพัฒนานวัตกรรมให้ดีที่สุดเพื่อทุกตลาด อย่างเมืองไทยก็เป็นตลาดใหญ่ของเครื่องดูดฝุ่นของเรา”
เมื่อวกกลับมาถามถึงความเป็นไปได้ในการตั้งสำนักงานหรือฐานการผลิตที่ไทย เขาบอกว่า Dyson มีแผนจะลงทุนมากขึ้นในทุกแห่ง “เรามองหาแหล่งที่มีศักยภาพทางวิศวกรรมศาสตร์ ตอนนี้เรายังไม่มี R&D ในไทยแต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีในอนาคต ที่ไหนมีวิศวกรฝีมือดีเราก็จะไปที่นั่น”
ภาพ: Dyson