ฟินเทคได้พัฒนา “เงินดิจิทัล” ไปสู่อีกระดับ เมื่อเหล่าสตาร์ทอัพนำมาต่อยอดเพื่อลดค่าธรรมเนียมบริการด้านการเงิน
เมื่อปีที่ผ่านมา ผู้เชี่ยวชาญจาก International Monetary Fund ออกมายืนยันว่า เงินเสมือนจริง (virtual currencies หรือ VCs) จะช่วยขยายฐานผู้เข้าถึงบริการทางการเงินให้มีจำนวนมากขึ้น แม้จะมีประเด็นเรื่องการอาจนำไปใช้ฟอกเงิน ก่อการร้ายหรือเป็นเครื่องมือทำธุรกรรมด้านมืดต่างๆ IMF ชี้ว่า “เงินดิจิทัลมีศักยภาพที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์มากมาย รวมถึงการชำระเงินและโอนเงินที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้นโดยเฉพาะการทำธุรกรรมระหว่างประเทศ” จุดเด่นในด้านการทำธุรกรรมข้ามแดนหนุนให้ธุรกิจบริการเงินบิตคอยน์หน้าใหม่ถือกำเนิดขึ้นในประเทศต่างๆ อย่างเช่น ฟิลิปปินส์ ซึ่งเม็ดเงินที่แรงงานฟิลิปปินส์ในต่างแดนโอนกลับประเทศมีมูลค่าสูงกว่า 2.6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ หนึ่งในบริษัทหน้าใหม่เหล่านั้นคือ Coins ผู้ให้บริการเทคโนโลยีบนระบบที่เน้นการใช้งานผ่านโทรศัพท์มือถือเป็นหลัก ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกด้านการโอนเงิน ชำระเงิน และเติมเงินค่าโทรศัพท์ “ตอนแรกผมมองหาช่องทางเพื่อตีโจทย์เรื่องค่าบริการโอนเงินข้ามประเทศอันแสนแพง ซึ่งทำให้ผมพบกับเทคโนโลยีบล็อคเชนและได้เรียนรู้ว่าสามารถใช้เทคโนโลยีนี้เพื่อเพิ่มโอกาสให้มีผู้เข้าถึงบริการทางการเงินในวงกว้างขึ้น” Justin Leow ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการธุรกิจของ Coins ในกรุง Manila กล่าว Coins ก่อตั้งขึ้นใน 2014 โดย Ron Hose และ Runar Petursson ซึ่ง Ron เคยเรียนอยู่ Cornell University เช่นเดียวกับ Leow นับตั้งแต่ก่อตั้ง Coins มีฐานสมาชิกผู้ใช้บริการเติบโตขึ้นสู่ระดับ 5 แสนรายและได้ร่วมมือกับร้านค้าปลีก ธนาคารและพันธมิตรเพื่อสร้างเครือข่ายสำหรับถอนและเบิกเงินกว่า 22,000 แห่งในฟิลิปปินส์ ในช่วงปลายปี 2016 บริษัทได้รับเงินสนับสนุน 5 ล้านเหรียญจากการระดมทุนรอบ series A Leow กล่าวว่า Coins ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายการทำธุรกรรมการเงินจาก 7-8% ลงเหลือประมาณ 2-3% โดยลูกค้าของบริษัทซึ่งรวมถึงผู้ใช้บริการชำระเงินค่าสินค้าและบริการโอนเงิน ไปจนถึงร้านค้าและผู้ให้บริการที่รองรับสกุลเงินบิตคอยน์ เป้าหมายสูงสุดของบริษัทคือ “การขยายความครอบคลุมด้านการเงินด้วยการนำเสนอบริการที่ผู้ใช้สามารถเข้าถึงได้ผ่านโทรศัพท์มือถือของตนเอง” ผู้เชี่ยวชาญมองว่า ธุรกรรมการโอนเงินคือตลาดที่สุกงอมพร้อมสำหรับนวัตกรรมสั่นสะเทือนวงการอย่างเงินดิจิทัล นอกจากฟิลิปปินส์แล้วยังมีอีกหลายประเทศที่ประชากรจำนวนมากทำงานในต่างแดนและเป็นเสาหลักของครอบครัวที่ต้องพึ่งพารายได้จากเงินโอนกลับเข้ามายังประเทศ ค่าธรรมเนียมการโอนเงินที่สูงและบริการที่ล่าช้าไม่สะดวกสร้างความยากลำบากให้กับผู้ที่ไม่สามารถเสียเวลาหลายๆ ชั่วโมงเพื่อรอเบิกถอนเงินหรือผู้ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลจากธนาคารหรือสาขาผู้ให้บริการ “ค่าธรรมเนียมสำหรับบริการเหล่านี้ซึ่งเฉลี่ยแล้วอาจสูงถึง 12% ในประเทศแถบแอฟริกาตอนใต้ ส่งผลกระทบต่อกลุ่มคนยากจนมากที่สุด ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีต่างๆ เช่น เงินดิจิทัลที่ใช้ระบบการเข้ารหัสและบันทึกสำเนาธุรกรรมบนเครือข่ายคอมพิวเตอร์อาจเป็นทางออก” Garrick Hileman นักวิจัยด้านการเข้ารหัสเงินดิจิทัลจาก Cambridge Centre for Alternative Finance กล่าวกับ Phys.org เว็บไซต์ด้านวิทยาศาสตร์ “ผมจะประหลาดใจอย่างมากถ้าอีก 30 ปีจากนี้เราจะไม่มองย้อนกลับมาแล้วพูดว่า ใช่ ช่วงเวลานั้นคือจุดเปลี่ยนสำคัญแห่งการเข้าถึงบริการทางการเงิน และเงินดิจิทัลแบบเข้ารหัส รวมถึงการบันทึกสำเนาธุรกรรมบนเครือข่ายคอมพิวเตอร์ทั่วโลกมีบทบาทสำคัญต่อการเปิดประตูประเทศกำลังพัฒนาสู่บริการทางการเงิน” บทความจาก KPMG ในปี 2016 ระบุว่า ประชากรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เกินกว่า 70% ไม่มีบัญชีธนาคาร ซึ่งหมายความว่าประชากรนับร้อยล้านคนขาดโอกาสในการเข้าถึงระบบการเงินที่ปลอดภัย แต่บริษัทสายเทคโนโลยีการเงินมองว่าเทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือคือสิ่งที่จะเข้ามาปิดช่องว่างดังกล่าว “หนึ่งในแนวทางสำคัญเพื่อขยายฐานการเข้าถึงบริการทางการเงินคือ การเอื้อให้ผู้ที่จำกัดอยู่ในโลกเงินสดสามารถเข้าถึงและทำธุรกรรมการเงินออนไลน์ได้ง่ายขึ้น สำหรับประเด็นนี้เงินดิจิทัลจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในฐานะตัวเชื่อมต่อบริการโอนเงินอันไร้พรมแดนและสามารถชำระค่าบริการต่างๆ” Leow จาก Coins กล่าว “จุดเด่นของเงินดิจิทัลเทียบกับระบบการเงินแบบปิดอื่นๆ คือ การที่ทุกคนสามารถเชื่อมต่อเข้าสู่เครือข่ายการชำระเงินได้อย่างง่ายดายและไม่ว่าใครก็ตามบนเครือข่ายก็สามารถเข้าถึงบริการได้” เทคโนโลยีบล็อคเชนที่ช่วยเปิดโอกาสบริการทางการเงินยุคใหม่ไม่ได้มีแค่บริการโอนเงินและการชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือเท่านั้น ในอีกด้านหนึ่ง กระบวนการทางธุรกิจก็ต้องเผชิญต้นทุนค่าบริการด้านการเงินในระดับสูงเช่นกัน ดังนั้น Acudeen ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทที่ตอบโจทย์ด้านนี้จึงถือกำเนิดขึ้น บริษัทสัญชาติฟิลิปปินส์แห่งนี้คือผู้ให้บริการเทคโนโลยีการเงินหน้าใหม่ที่ช่วยให้การจัดการเรียกเก็บเงินมีประสิทธิภาพมากขึ้นโดยนำเทคโนโลยีบล็อคเชนเข้ามาช่วยเพื่อให้แน่ใจว่าสัญญาทางธุรกิจของลูกค้าจะมีความปลอดภัย การเติบโตของเงินเสมือนจริงสู่ระบบการเงินโลกอย่างเต็มรูปแบบน่าจะเป็นไปอย่างที่คนไม่ทันสังเกต Luis Buenaventura ประธานบริหารฝ่ายเทคโนโลยีแห่ง Bloom Solutions และผู้เขียนหนังสือ Reinventing Remittances With Bitcoin แนะนำว่าบิตคอยน์ “น่าจะเหมาะเป็นเทคโนโลยีหลังบ้านมากกว่า” ในทำนองเดียวกับระบบเบื้องหลังเครือข่ายการรับส่งอีเมล เทคโนโลยีบล็อคเชนจะเป็นตัวขับเคลื่อนบริการต่างๆ แต่ผู้ใช้จะไม่ต้องปฏิสัมพันธ์หรือรู้ลึกถึงการทำงานเบื้องลึกของมัน Leow กล่าวว่า “เราควรระลึกว่าในท้ายที่สุดแล้วผู้ใช้เพียงต้องการให้งานลุล่วง และไม่สนใจถึงระบบขั้นตอนระหว่างทาง” เรื่อง: Casey Hynes เรียบเรียง: นวตา สันติวัฒนาคลิกเพื่ออ่านบทความอื่นๆ จาก Forbes Thailand ฉบับเดือนสิงหาคม 2560 ได้ในรูปแบบ e-Magazine