หนุ่มวัย 25 ปีพร้อมผองเพื่อน บุกเบิกธุรกิจ e-Logistics ภายใต้ชื่อ Giztix ที่ชิงชัยมาหลากเวที พร้อมลุ้นการระดมทุนรอบ series A มุ่งหวังฟูมฟักกิจการให้เติบโตสู่ระดับยูนิคอร์น
สามสหายศิษย์เก่าโรงเรียนศรีวิกรม์เลือกหันหลังให้กับธุรกิจของครอบครัว มุ่งหน้าสู่เส้นทางสตาร์ทอัพเพื่อร่วมตั้ง Giztix ธุรกิจ logistics online solutionหรือ e-Logistics เมื่อปี 2558 ที่แม้วันนี้อาจจะยังไม่ได้โกยรายได้เป็นกอบเป็นกำ แต่พวกเขากำลังย่างสู่ก้าวสำคัญของชาวสตาร์ทอัพ ด้วยการระดมทุนรอบ series A เพื่อหวังฟูมฟักให้กิจการเติบโตจนเป็นบริษัทระดับยูนิคอร์นหรือกิจการที่มีมูลค่าถึง 1 พันล้านเหรียญ ภายใน 5 ปีข้างหน้า หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งกิจการอย่าง สิทธิศักดิ์ วงศ์สมนึก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง บริษัท จิซทิกซ์ จำกัด ในวัย 25 ปี ซึ่งเป็นทายาทของ สุจิตรา เหมราช ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซี.เอ็น.เฟรทแอนด์ชิปปิ้ง จำกัดเล่าว่า เป็นความตั้งใจแรกเริ่มที่จะสร้างกิจการของตัวเอง เพื่อที่จะได้เรียนรู้ทั้งความสำเร็จและความล้มเหลวด้วยตัวเอง เช่นเดียวกับผู้ร่วมก่อตั้งอีกสองคนคือ ศราวุธ กิตติรัตนโสภา และณัฐวุฒิ ฮันพงษ์กุล ที่รับหน้าที่เป็น Co-Chief Technology Officer ทั้งสามต่างฝันที่จะทำธุรกิจที่ตนเองต้องการและในปัจจุบันทั้งพวกเขาและพนักงานบางส่วนถือหุ้นรวมกันในบริษัทจิซทิกซ์ที่ 80% ในขณะที่อีก 20% เป็นนักลงทุนต่างชาติ ทว่ากว่าจะมาเป็น Giztix ในวันนี้ สิทธิศักดิ์เคยเริ่มชิมลางเป็นผู้ประกอบการที่ให้บริการด้านขนส่งผ่านระบบออนไลน์ตั้งแต่ปี 2555 ก่อนที่เขาจะเรียนจบปริญญาตรี สาขาบริหารธุรกิจที่ Oxford Brookes University ประเทศอังกฤษ ซึ่งใช้ชื่อบริการว่า e-Shipping Service โดยเป็นความร่วมมือทางธุรกิจระหว่าง บริษัท ซี.เอ็น.เฟรทแอนด์ชิปปิ้ง จำกัด ซึ่งมารดาของเขาก่อตั้งขึ้น และ Mairon Freight Management (UK) Ltd. ซึ่งเป็นผู้ประกอบการท้องถิ่น โดยเน้นให้บริการกับคนไทยในอังกฤษที่ต้องการส่งของกลับเมืองไทยบริการ e-Shipping Service ครอบคลุมตั้งแต่การตรวจสอบค่าขนส่งจองรถขนส่ง ติดตามสถานะการขนส่งและชำระเงินค่าขนส่งได้บนเว็บไซต์ www.cnshippingservice.com ซึ่งประสบความสำเร็จสูงและมีกำไรตั้งแต่ปีแรกที่เปิดให้บริการ โดยปัจจุบันมีลูกค้าใช้บริการราว 600 รายต่อเดือน และสร้างรายได้ที่ราว 5 ล้านบาทต่อปี “ตอนนี้เป็นที่นิยมเป็นอันดับสองในตลาดที่อังกฤษรองจากบริษัทสัญชาติอเมริกันเพราะเราเป็นบริการขนส่งสินค้าจากอังกฤษกลับไทย โดยบริษัทคนไทยเพื่อคนไทยเจ้าแรกและเจ้าเดียวในอังกฤษ” สามแรงแข็งขันก่อตั้ง Giztix: (จากซ้าย) ศราวุธ กิตติรัตนโสภา, สิทธิศักดิ์ วงศ์สมนึก และ ณัฐวุฒิ ฮันพงษ์กุลชิมลางธุรกิจครอบครัว
แม้ปัจจุบันผู้เลือกหนทางสตาร์ทอัพอย่างสิทธิศักดิ์จะยังไม่รับไม้สานต่อธุรกิจจากครอบครัว แต่อีกธุรกิจที่เขาได้ปูทางไว้ก่อนที่ Giztix จะแจ้งเกิดนั้น ก็มีรากฐานมาจากที่ได้เรียนรู้งานด้านโลจิสติกส์ของครอบครัวมาก่อนเช่นกัน ดังนั้น ในปี 2556 เขาจึงริเริ่มธุรกิจพัฒนาระบบบริหารจัดการธุรกิจที่ครอบคลุมทั้งกระบวนการตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำหรือ ERP Software สำหรับธุรกิจโลจิสติกส์ ด้วยงบลงทุนรวมเป็นเงิน 5 แสนบาทกับเพื่อนที่เป็นผู้ก่อตั้ง Giztix ด้วยกัน ภายใต้บริษัท แมนอินโนเวชั่น จำกัด ในครั้งแรกก่อนจะมาอยู่ภายใต้ Giztix ในปัจจุบันที่ใช้ชื่อบริการว่า Biz Tech Solution ที่คิดราคาบริการที่ 25 เหรียญต่อผู้ใช้งานต่อเดือนจุดเปลี่ยนสู่ Giztix
จากเดิมที่ผู้ประกอบการหน้าใหม่หวังที่จะก้าวไปอีกขั้นด้วยการขาย ERP Software แบบออนไลน์และคิดค่าบริการเป็นรายเดือนแต่เมื่อได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการ DTAC Accelerate Batch 3 ของบริษัท โทเทิ่ลแอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน)หรือ DTAC เมื่อปี 2558 ซึ่งมีโอกาสได้เรียนรู้จากที่ปรึกษา (mentor) สมหวัง เหลืองไพบูลย์ศรี หัวหน้า PayPal Thailand จึงนำไปสู่การปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจใหม่เป็น logistics tech ในนาม Giztix และเริ่มให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อพฤศจิกายน 2558 “จากเดิมที่เราเคยคิดว่าทำเทคสตาร์ทอัพแล้ว แต่ความจริงแล้วยังไม่ใช่ ผมก็เคยวิ่งหาทุนจากต่างชาติมาก่อนแต่ก็ไม่ได้ คงเพราะนายทุนต้องการบริษัทที่กำลังเติบโตมากกว่าที่เพิ่งเริ่มต้น แต่พอได้ร่วมโครงการ ก็ทำให้เราไปถูกทาง รู้ว่าต้องอธิบายอย่างไร รู้ว่าควรเน้นประโยชน์ของลูกค้าในแง่ไหน เพื่อจะได้วางคอนเซปต์ให้ถูกต้องจนกลายเป็น Giztix” โดย Giztix คือ ตลาดกลางสำหรับการซื้อขายบริการด้านการขนส่งบนเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ที่ช่วยให้ผู้ส่งสินค้าสามารถตรวจสอบและเปรียบเทียบราคารวมทั้งชำระเงินออนไลน์ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว จึงช่วยให้ธุรกิจที่ต้องการขนส่งสินค้าสามารถหาราคาและผู้ให้บริการที่น่าเชื่อถือและปลอดภัยผ่านทางเว็บไซต์ www.giztix.com พร้อมระบบซอฟต์แวร์ให้บริการจัดการด้านโลจิสติกส์ ที่ครอบคลุมการขนส่งสินค้านำเข้า-ส่งออกระหว่างประเทศที่ปัจจุบันมีผู้ใช้บริการแล้วทั้งในไทย สปป.ลาว เวียดนาม สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฮ่องกง จีน และญี่ปุ่น ผ่านทั้งทางเส้นทางถนน ทะเล และอากาศ ทั้งนี้ เหตุผลสำคัญของการสร้างระบบการบริหารจัดการโลจิสติกส์บนเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ (logistics online solution) ก็เพื่อสนับสนุนและช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยให้มีแอพพลิเคชั่นที่ง่ายต่อการใช้งาน ซึ่งสมาชิกของ Giztix ที่เป็นฝั่ง transporter (ผู้ให้บริการขนส่งและโลจิสติกส์ได้แก่ บริษัทรับจ้างขนส่ง ผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ ตัวแทนผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ) สามารถเข้าใช้งานเว็บไซต์อี-คอมเมิร์ซเพื่อการค้าขายสินค้าและบริการได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และยังสามารถใช้แอพพลิเคชั่นเพื่อจัดทำใบเสนอราคาได้ ที่สำคัญคือ สมาชิกจะได้พบกับลูกค้าจากทั่วโลก และจัดทำข้อตกลงทางธุรกิจโดยเสียค่าธรรมเนียมเพียงครั้งเดียวหรือเท่ากับว่าให้บริการ e-Logistics ได้โดยไม่ต้องลงทุนสูงแต่เสนอบริการผ่าน Giztix แทน ขณะเดียวกันก็ช่วยให้ฝั่ง shipper (ผู้ที่ต้องการใช้บริการขนส่ง) สามารถค้นหา transporter ที่น่าเชื่อถือ ให้บริการได้ตรงกับความต้องการด้วยราคาที่โปร่งใสและทันท่วงที ปัจจุบัน Giztix มีฐานสมาชิกจากฝั่ง transporter ถึง 300 ราย มีจำนวนธุรกรรมราว 10 รายการต่อเดือน โดยมูลค่าของธุรกรรมเฉลี่ยอยู่ที่ 35,000 บาทต่อรายการ ขณะนี้ Giztix สร้างรายได้ที่เฉลี่ย 3 – 4 แสนบาทต่อเดือน ซึ่งมาจากค่าสมาชิกของ transporter ที่ 15 เหรียญต่อเดือน (ราว 525 บาทต่อเดือน) และค่าบริการ (commission) 10% ต่อธุรกรรมหากชำระเงินผ่านทาง Giztix แต่หากลูกค้าต้องการใช้ instant shipping prices หรือประหนึ่งผู้ช่วยส่งใบเสนอราคาแทน ที่สามารถทำให้ shipper เช็คราคาขนส่งของ transporter ได้ในทันทีค่าสมาชิกจะอยู่ที่ 100 เหรียญต่อเดือน (ราว 3,500 บาทต่อเดือน) “ภายในไตรมาสแรกของปีหน้า เราตั้งเป้ารายได้ไว้ที่ 100,000 เหรียญต่อเดือน (ราว3.5 ล้านบาทต่อเดือน) ซึ่งเท่ากับเติบโต100% ต่อเดือน แต่ตอนนี้เราโตเฉลี่ยราว50% ต่อเดือนเท่านั้น โดยเราจะเน้นกลยุทธ์ให้ shipper เลือกทำธุรกรรมผ่านระบบของเรามากขึ้น” มุ่งสู่ยูนิคอร์น ความโดดเด่นของ Giztix สามารถดึงดูดนักลงทุน VC หรือ venture capital โดยได้รับเงินลงทุนในระยะเริ่มต้นหรือ seed funding กว่า 2 แสนเหรียญ (ราว 7 ล้านบาท) เมื่อเดือนมีนาคม 2558 โดยได้รับการสนับสนุนเงินทุนจาก KK Fund & 500 Tuktuks บททดสอบความแกร่งครั้งต่อไปคือการระดมทุนในรอบ series A ที่มูลค่าราว 2 ล้านเหรียญ (70 ล้านบาท) ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการเจรจากับ VC จากต่างประเทศในรูปแบบ private pitch ตั้งแต่เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยตั้งใจจะนำเงินทุนนี้มาขยายทีมงานและทำการตลาด ท้ายที่สุด ความฝันที่สิทธิศักดิ์มุ่งมั่นจะปั้นให้เป็นจริงคือ การทำให้ Giztix มีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1 ร้อยล้านเหรียญ ถึงแม้ว่าอาจจะไต่ไปไม่ถึงขึ้นเป็นบริษัทยูนิคอร์นแต่อย่างไรก็ดี “เราไม่ละทิ้งฝันที่จะเป็นยูนิคอร์นรายแรกของไทยให้ได้ภายใน 5 ปีในชีวิตนี้ ผมมักตั้งเป้าให้สูงไว้ก่อนเสมอ” สิทธิศักดิ์กล่าว พร้อมยืนยันว่าปัจจัยที่จะทำให้บริษัทมีมูลค่าเติบโตได้ถึง 1 พันล้านเหรียญย่อมต้องอาศัยทีมงานที่มีศักยภาพเงินทุนสนับสนุน และความมุ่งมั่นที่จะไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรคใดๆคลิ๊กอ่านฉบับเต็ม "สิทธิศักดิ์ วงศ์สมนึก ฝันปั้น Giztix สู่ “ยูนิคอร์น”" ได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ October 2016 ในรูปแบบ e-Magazine