พีระพล ทยานุวัฒน์ ปั้น “แกรนด์โฮม” โฉมใหม่ - Forbes Thailand

พีระพล ทยานุวัฒน์ ปั้น “แกรนด์โฮม” โฉมใหม่

ทายาทคนสุดท้องแห่งครอบครัวผู้ค้าวัสดุตกแต่งบ้านรายใหญ่ ร่วมนำทัพ “รุ่น 2” สร้างภาพลักษณ์ใหม่ ปรับ “แกรนด์โฮม” ให้ทันสมัย มุ่งหวังขยายฐานครองใจลูกค้ารายย่อย

จากธุรกิจของครอบครัวที่แยกตัวจากธุรกิจต้นตระกูลเมื่อ ราชัญ ทยานุวัฒน์ ที่ขอสร้างเส้นทางความสำเร็จของตนเอง ผนึกกำลังกับ ประไพผู้เป็นคู่ชีวิต แตกหน่อก่อตั้ง บริษัท แกรนด์ โฮมมาร์ท จำกัด ขึ้นในปี 2532 ดำเนินธุรกิจค้าขายวัสดุตกแต่งบ้านในนาม “แกรนด์โฮมมาร์ท” แม้กิจการแต่สถานการณ์ของความต้องการในตลาดและสมรภูมิการแข่งขันเรียกร้องให้ธุรกิจของราชัญต้องปรับตัว กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ พีระพล ทยานุวัฒน์ ทายาทคนเล็กอาสาเข้ามารับช่วงต่ออย่างเต็มใจ ผลักดันให้ธุรกิจหลายพันล้านของครอบครัวเติบโตอย่างแข็งแกร่งภายใต้ชื่อใหม่ “แกรนด์โฮม” ที่ปัจจุบันมี 6 สาขาในกรุงเทพฯ และปริมณฑล

ปรับโฉมด้วยรุ่น 2

Forbes Thailand พบกับพีระพล วัย 28 ปี กรรมการบริหารของบริษัทที่แกรนด์โฮม บางนา บนถนนบางนา-ตราด กม.10 ซึ่งเป็นสาขาใหม่หมาด พีระพลมีพี่สาวคือ พริม ซึ่งอายุห่างกันเพียง 1 ปี และมีแฝดผู้พี่คือ พีระพัฒน์ ทั้งสามเติบโตและผูกพันกับธุรกิจของครอบครัวจึงตั้งใจว่าวันหนึ่งจะเข้ามาช่วยดูแลกิจการให้ก้าวหน้า ภายหลังจบปริญญาตรีด้าน Interior Design ที่ Parsons School of Design จบแล้วทำงานเป็นที่ปรึกษาด้านการออกแบบที่ Jeffrey Beers International บริษัทให้คำาปรึกษาด้านสถาปัตยกรรมและออกแบบตกแต่งภายในได้ราว 1 ปี ก่อนที่พีระพลในวัย 23 ปี จะตัดสินใจทิ้งอาชีพซึ่งกำลังไปได้ดีทั้งตัวงานและการเงินกลับมาสานต่อธุรกิจค้าวัสดุตกแต่งบ้านในปี 2554 เพื่อสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งรายอื่น แกรนด์โฮมหรือชื่อขณะนั้นคือแกรนด์โฮมมาร์ท เลือกวางตำแหน่งตัวเองเป็นผู้เล่นในธุรกิจวัสดุตกแต่งบ้านที่เชี่ยวชาญเรื่องกระเบื้องและสุขภัณฑ์ มีด้วยกัน 4 สาขา คือ รัตนาธิเบศร์ รามอินทรา งามวงศ์วาน และศรีนครินทร์ ส่วนบางบัวทองเป็นที่ตั้งศูนย์กระจายสินค้า พีระพลเข้ามาช่วยดูแลฝ่ายการตลาดและพัฒนาธุรกิจ เช่นการกระตุ้นการขายสินค้าผ่านการจัดโปรโมชั่น รวมทั้งมองหาลู่ทางในการสร้างโอกาสใหม่ๆ

ขยายฐานสู่ลูกค้ารายย่อย

ก่อนหน้านี้ลูกค้า 70% ของแกรนด์โฮม คือลูกค้าโครงการ ซึ่งเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ของไทย อาทิ บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) บริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) ฯลฯ ที่ให้แกรนด์โฮมจัดหากระเบื้องและสุขภัณฑ์แบรนด์ต่างๆ จากในประเทศและต่างประเทศ ป้อนโครงการอสังหาฯ ที่เจาะกลุ่มลูกค้าทุกระดับ ส่วนอีก 30% คือลูกค้ากลุ่มค้าปลีก (รีเทล) ที่ต้องการตกแต่งบ้านด้วยตนเอง หลังสถานการณ์น้ำท่วมกรุงเทพฯ ครั้งใหญ่ในปี 2554 ลูกค้ากลุ่มค้าปลีกหรือลูกค้ารายย่อยเริ่มเข้าร้านมาจับจ่ายสินค้าเพื่อซ่อมแซมบ้านมากขึ้น จุดนี้เองทำให้ผู้บริหารแกรนด์โฮมครุ่นคิดถึงการขยายฐานเข้าสู่กลุ่มลูกค้ารายย่อยอย่างจริงจัง โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าระดับ B ขึ้นไป ซึ่งต้องการวัสดุตกแต่งบ้านคุณภาพดีคุ้มราคา “ธุรกิจอสังหาฯ ส่วนโครงการ ทั้งดีเวลอปเปอร์ ผู้รับเหมาก่อสร้างดีไซเนอร์ ฯลฯ ไม่มีใครไม่รู้จักแกรนด์โฮมแต่ปัญหาคือส่วนรีเทลที่ยังไม่ค่อยรู้จักเรา ตอนที่ผมกลับมาต้องยอมรับว่าเราไม่มีคาแรคเตอร์ จึงต้องสร้างคาแรคเตอร์ขึ้นมาว่าลูกค้าอยากเห็นอะไรในตัวเรา” พีระพลให้ข้อมูลคร่าวๆ เกี่ยวกับมูลค่ารวมของตลาดกระเบื้องและสุขภัณฑ์ในกรุงเทพฯ ว่าอยู่ที่ราว 2.5 หมื่นล้านบาท และต่างจังหวัดอีกราว 1.7 หมื่นล้านบาท แกรนด์โฮมมีส่วนแบ่งตลาดราว 20% ในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายปัจจุบัน แกรนด์โฮมแบ่งสินค้าออกเป็น 6 ประเภท ได้แก่ กระเบื้อง มีสัดส่วน 50% ของสินค้าทั้งหมด เป็นตัวแทนจำหน่ายแบรนด์ เช่น คอตโต้ โสสุโก้ ดูราเกรส ฯลฯ และนำเข้าแบรนด์กระเบื้องชั้นนำจากยุโรปอย่าง Marazzi และ ABK จากอิตาลี กระเบื้องจากสเปน รวมถึงแบรนด์ระดับบนอย่าง Marco Polo และ Dongpeng จากจีนรวมทั้งนำเข้าจากเวียดนามและอินโดนีเซียรวมกระเบื้องทั้งหมดที่จำหน่ายขณะนี้มีร่วม 100 แบรนด์ ครอบคลุมความต้องการของลูกค้าทุกประเภทที่อยู่อาศัย “การใช้งานกระเบื้องนั้น ส่วนหนึ่งวัดกันที่ความพอใจของลูกค้าว่าอยากนำไปใช้งานแบบไหน มีรูปลักษณ์และราคาอย่างไรมากกว่าจะดูว่ามาจากประเทศไหน เพราะสุดท้ายลูกค้าจะเชื่อมั่นในแบรนด์ที่ขายให้เขามากกว่า เช่นถ้ามีปัญหาอะไรเราก็มีบริการหลังการขาย” พีระพลอธิบาย สินค้าที่มีสัดส่วนรองลงมา คือ สุขภัณฑ์เช่น อ่างล้างหน้า ชักโครก ฯลฯ แบรนด์ คอตโต้ อเมริกันสแตนดาร์ด โคห์เลอร์ เป็นต้น จำนวน 20% ส่วนอีก 30% ได้แก่ ครัว พร็อพ (สินค้าตกแต่งบ้านให้สวยงาม) ไลท์ติ้ง และสินค้าประเภท DIY (กลุ่มอุปกรณ์หรือเครื่องมือตกแต่งบ้าน) เมื่อดูทิศทางการเติบโตของธุรกิจวัสดุก่อสร้างในกลุ่มกระเบื้องและสุขภัณฑ์สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ระบุใน “สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมปี 2559 และแนวโน้มปี 2560” ที่เผยแพร่ในเดือนสิงหาคมปีที่ผ่านมาว่าการผลิตเซรามิกในปี 2559 ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ฟื้นตัวได้ไม่มาก ทำให้การลงทุนภาคอสังหาฯ ชะลอตัวส่วนผู้บริโภคก็มีปัญหาหนี้ครัวเรือนในระดับสูงการผลิตเซรามิกเพื่อใช้เป็นวัสดุก่อสร้างจึงได้รับผลกระทบต่อเนื่อง โดยปริมาณการผลิตกระเบื้องปูพื้น บุผนัง ในปี 2559 มีประมาณ 150.67 ล้านตารางเมตร ลดลง1.31% เมื่อเทียบกับปี 2558 ส่วนปริมาณการผลิตเครื่องสุขภัณฑ์ มีประมาณ 7.51 ล้านชิ้น เพิ่มขึ้น 3.73% เมื่อเทียบกับปี 2558 ขณะที่ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจธนาคารไทยพาณิชย์ เผยรายงานด้านอุตสาหกรรมการก่อสร้างของไทยไว้เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้วว่า อุตสาหกรรมกระเบื้องปูพื้นปูผนังเซรามิกมีแนวโน้มดีจากความต้องการใช้ที่สูงขึ้น โดยมีการก่อสร้างภาคเอกชนเป็นแรงสนับสนุนหลัก คาดว่าปริมาณความต้องการใช้กระเบื้องปูพื้นปูผนังเซรามิกในประเทศจะสูงราว 247 ล้านตารางเมตรในปี 2560 เติบโต 9% จากปี 2559 ด้วยความจำเป็นในการรุกตลาดมากขึ้นพีระพลโน้มน้าวให้ผู้บริหารของครอบครัวเห็นถึงความสำคัญการปรับตัวเพื่อสร้างภาพลักษณ์และการจดจำของผู้บริโภค ในที่สุดครอบครัวทยานุวัฒน์จึงทุ่มงบราว 1.2 พันล้านบาทสร้างสาขาแฟล็กชิพบนพื้นที่ 25 ไร่ มีพื้นที่โชว์รูม 21,000 ตารางเมตร ด้วยแนวคิดวาไรตี้สร้างจุดเด่นด้วยการนำเสนอสินค้าทั้ง 6 ประเภทให้ดูเข้าถึงง่ายและเข้าใจง่าย เปิดร้านอาหาร Grand de Cafe บนพื้นที่ 400 ตารางเมตร นำสินค้าที่จำหน่ายในแกรนด์โฮมมาตกแต่งเป็นเหมือนโชว์รูมไปในตัวให้ลูกค้าได้เข้ามารับประทานอาหารระหว่างเลือกซื้อสินค้า และเตรียมหาช่องทางขยายธุรกิจด้วยการจับมือกับพันธมิตรซึ่งเป็นผู้ดำเนินธุรกิจวัสดุตกแต่งบ้านในประเทศดังกล่าว ส่งออกหาโอกาสใหม่ๆ ทั้งช่องทางการจำหน่ายและหมวดหมู่สินค้า และไม่ลืมที่จะปรับตัวให้เร็วเช่นที่เคยทำมาแล้ว “คุณพ่อคุณแม่สนับสนุนลูกๆ เต็มที่ เราคุยกันตลอดถึงทิศทางของบริษัทว่าทำอย่างไรถึงจะดูสดใหม่ เพราะเทรนด์ต่างๆ และพฤติกรรมต่างๆ ของลูกค้าเปลี่ยนไป เขารับฟังความคิดเห็นของวัยเราและเปิดโอกาสให้ลองทำ เมื่อดูผลตอบรับจากลูกค้าก็ถือว่าดีลูกค้าเก่าก็เข้าใจทิศทางของเรามากขึ้นส่วนลูกค้าที่ไม่เคยรู้จักก็เริ่มรู้จักและเข้ามามากขึ้น” ลูกไม้ใต้ต้นกล่าวทิ้งท้าย
คลิกอ่าน "พีระพล ทยานุวัฒน์ ปั้น “แกรนด์โฮม” โฉมใหม่ได้ที่ Forbes Thailand Magazine ฉบับ กรกฎาคม 2560 ในรูปแบบ e-Magazine