SCG โชว์วิสัยทัศน์ผู้นำปูนซีเมนต์คาร์บอนต่ำ ในงาน INTERCEM Asia 2025 - Forbes Thailand

SCG โชว์วิสัยทัศน์ผู้นำปูนซีเมนต์คาร์บอนต่ำ ในงาน INTERCEM Asia 2025

FORBES THAILAND / ADMIN
14 May 2025 | 04:30 PM
READ 91

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลให้วิกฤตโลกร้อนรุนแรงมากขึ้นทุกวัน และได้ยกระดับกลายเป็นภาวะโลกเดือด (Global Boiling) ที่กระทบต่อสิ่งมีชีวิตทั่วโลก SCG ผู้วางรากฐานการพัฒนานวัตกรรมปูนซีเมนต์คาร์บอนต่ำอย่างต่อเนื่อง ในฐานะผู้นำอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ในภูมิภาค ได้แสดงวิสัยทัศน์ ศักยภาพในการลงทุนวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีการผลิต เพื่อยกระดับมาตรฐานความยั่งยืนในอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ในงาน INTERCEM Asia 2025 ระหว่างวันที่ 6 – 8 พฤษาคมที่ผ่านมา โดยมีผู้เข้าร่วมงานจากทั่วโลกกว่า 1,000 คน

    ในยุคที่ “นวัตกรรมกรีน” ไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็น “ทางรอด” ของธุรกิจ งาน INTERCEM Asia 2025 เป็นเวทีสำคัญในการหารือประเด็นเร่งด่วนที่ผู้ผลิตปูนซีเมนต์ทั่วโลกต้องปรับตัวพร้อมรับกับมาตรการใหม่ ๆ โดยเฉพาะมาตรการจำกัดคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) หรือการเก็บภาษีคาร์บอน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 7 – 8 ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลก



ท่ามกลางความท้าทายนี้ SCG ได้วางรากฐาน ลงทุนวิจัยและพัฒนานวัตกรรมปูนซีเมนต์คาร์บอนต่ำมาอย่างต่อเนื่อง โดยใช้งบประมาณไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาทต่อปี จนก้าวเป็นผู้นำอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของภูมิภาคอาเซียน และยังคงพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในกระบวนการผลิตปูนซีเมนต์ให้ได้ร้อยละ 50 เพื่อสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ในภูมิภาคอาเซียน และระดับโลก ตอกย้ำพันธมิตรสำคัญในการสร้างอนาคตแห่งการอยู่อาศัยที่ยั่งยืน


มนสิช สาริกะภูติ Chief Innovation & Technology Officer ธุรกิจเอสซีจี ซีเมนต์แอนด์กรีนโซลูชันส์


    มนสิช สาริกะภูติ Chief Innovation & Technology Officer ธุรกิจเอสซีจี ซีเมนต์แอนด์กรีนโซลูชันส์ ได้นำเสนอวิสัยทัศน์ในหัวข้อ “SCG’ Inclusive Green Growth: มุมมองเชิงกลยุทธ์ในการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์สู่โมเดลธุรกิจที่ยั่งยืน” ในฐานะผู้นำในอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ที่ดำเนินธุรกิจมาครบ 112 ปี SCG มุ่งขับเคลื่อนพันธกิจ “Inclusive Green Growth” หรือการเติบโตอย่างสมดุล ที่จะสร้างจุดเปลี่ยนสำคัญให้กับวงการอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ทั้งในประเทศไทยและอาเซียน เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์คาร์บอนต่ำที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

    SCG มุ่งมั่นพัฒนาปูนซีเมนต์คาร์บอนต่ำอย่างต่อเนื่อง โดยเจเนอเรชันแรกลดคาร์บอนได้ร้อยละ 10 เจเนอเรชันสองลดได้ร้อยละ 20 ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพัฒนาเจเนอเรชันสามที่ตั้งเป้าลดคาร์บอนให้ได้ร้อยละ 50 นอกจากนี้ยังได้พัฒนาเทคโนโลยี SCG 3D Printing: การพิมพ์ขึ้นรูปสามมิติด้วยปูนคาร์บอนต่ำ ที่ปฏิวัติวงการก่อสร้างด้วยความสามารถในการสร้างสรรค์โครงสร้างที่มีความซับซ้อนสูง ตอบโจทย์งานสถาปัตยกรรมที่ล้ำสมัย นวัตกรรมเครื่องพ่นฉาบปูนระบบดีเซล TORA S-ONE ที่ตราเสือพัฒนาร่วมกับคูโบต้า ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้อย่างรวดเร็วในการฉาบผนังปูนซีเมนต์ได้ถึงร้อยละ 40 รวมถึงบริการด้านโซลูชันแบบครบวงจรเพื่อช่วยพันธมิตรลดคาร์บอนและยกระดับศักยภาพในการแข่งขัน

    นอกจากการพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์แล้ว SCG ยังมุ่งลงทุนในการกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง โดยเพิ่มสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงชีวมวล เช่น แกลบและฟางข้าว แทนเชื้อเพลิงฟอสซิลได้ถึงร้อยละ 45 และเพิ่มการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ให้ได้ร้อยละ 40 และนำลมร้อนเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตกลับมาใช้ใหม่ เพื่อมุ่งเป้าหมาย NET ZERO ในปี 2050 (พ.ศ. 2593)


เจริญชัย เฉลียวเกรียงไกร Bio-Circular Business Director ธุรกิจเอสซีจี ซีเมนต์แอนด์กรีนโซลูชันส์ และประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสระบุรี


    เจริญชัย เฉลียวเกรียงไกร Bio-Circular Business Director ธุรกิจเอสซีจี ซีเมนต์แอนด์กรีนโซลูชันส์ และประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสระบุรี กล่าวถึงความร่วมมือระหว่าง SCG ภาครัฐ ภาคประชาชน และภาคประชาสังคม ในการพัฒนา “สระบุรีแซนด์บ็อกซ์ (Saraburi Sandbox) ต้นแบบเมืองคาร์บอนต่ำแห่งแรกของประเทศไทย ที่เข้าสู่โครงการของ World Economic Forum ซึ่งสระบุรี ถือเป็นจังหวัดที่มีคาร์บอนสูงเป็นอันดับ 2 รองจากกรุงเทพมหานคร และส่วนใหญ่ของจีดีพีมาจากอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์

    ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา สระบุรีแซนด์บ็อกซ์ มีการตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชนกว่า 10 ทีมด้วยกัน เพื่อดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมาย NET ZERO ในปี 2065 ให้เป็นจริง โดยมี 17 โครงการ ใน 38 พื้นที่ และมีความคืบหน้าหลายด้าน อาทิ การส่งเสริมการใช้ปูนคาร์บอนต่ำในโครงการก่อสร้างได้มากกว่าร้อยละ 80 ร่วมกับมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน จัดทำแผนพลังงานสะอาดของจังหวัด ซึ่งมีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดได้ถึง 100,000 เมกะวัตต์ การติดตั้ง Solar Carport ในศูนย์ราชการจังหวัดสระบุรี ที่สามารถลดค่าไฟฟ้าได้ถึงร้อยละ 15 ส่งเสริมการรับซื้อคาร์บอนเครดิต สร้างรายได้ให้ชุมชนเกือบ 1 ล้านบาท ขยายเครือข่ายป่าชุมชน 38 แห่ง ฟื้นฟูพื้นที่ป่ากว่า 15,000 ไร่ รวมถึงการส่งเสริมการทำเกษตรคาร์บอนต่ำ ผลักดันการท่องเที่ยวเชิงนิเวศเพื่อสร้างรายได้ให้ชุมชน

    “สระบุรีแซนด์บ็อกซ์ คือต้นแบบความร่วมมือของภาครัฐ ภาคประชาชน และภาคประชาสังคม ที่ร่วมกันพัฒนาเมืองสู่การเป็นพื้นที่ที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก พร้อมต่อยอดเป็นต้นแบบเมืองคาร์บอนต่ำ ให้เมืองอื่น ๆ ได้ต่อไปในอนาคต” เจริญชัย กล่าว



    งาน INTERCEM Asia 2025 ถือเป็นเวทีสำคัญในการเริ่มต้นสร้างการยอมรับและกำหนดมาตรฐานใหม่ของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ในภูมิภาคอาเซียน ทั้งในด้านการพัฒนามาตรฐานของปูนซีเมนต์คาร์บอนต่ำในระดับภูมิภาคอาเซียน การสนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียนในโรงงานผลิตปูนซีเมนต์ และการสร้างความร่วมมือจากนานาประเทศ หรือสตาร์ทอัพในการลงทุนด้านเทคโนโลยี CCUS (Carbon Capture, Utilization & Storage) เพื่อดักจับ และกักเก็บคาร์บอนมาใช้ประโยชน์ต่อไป

    “SCG ตระหนักดีว่าการเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์คาร์บอนต่ำ ไม่ใช่เพียงความท้าทาย แต่เป็นโอกาสเชิงกลยุทธ์ในการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันและก้าวสู่ความเป็นผู้นำในเวทีโลก การเป็นเจ้าภาพร่วม INTERCEM Asia 2025 เป็นก้าวสำคัญที่สะท้อนถึงศักยภาพ วิสัยทัศน์ และความมุ่งมั่นของเอสซีจีในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทยและอาเซียนให้เติบโตอย่างยั่งยืนและมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม” มนสิช กล่าวทิ้งท้าย