PwC ประเทศไทย ชูกลยุทธ์ “สมการใหม่” มุ่งสร้างความไว้วางใจและผลลัพธ์ที่ยั่งยืนให้องค์กรธุรกิจ - Forbes Thailand

PwC ประเทศไทย ชูกลยุทธ์ “สมการใหม่” มุ่งสร้างความไว้วางใจและผลลัพธ์ที่ยั่งยืนให้องค์กรธุรกิจ

PwC เปิดกลยุทธ์ใหม่ “The New Equation” รับเทรนด์ธุรกิจโลกหลัง COVID-19 เร่งการเปลี่ยนแปลง ทั้งเทคโนโลยีดิสรัปชันและสภาวะโลกร้อน ที่จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจของลูกค้า เตรียมลงทุนระบบไอทีและเพิ่มบุคลากร ขยายสู่งานบริการใหม่ๆ มุ่งเน้นการสร้างความไว้วางใจและผลลัพธ์ที่ยั่งยืนให้แก่ลูกค้า วางเป้าหมาย PwC ประเทศไทย เติบโตเฉลี่ย 11.3% ต่อปีในอีกหกปีข้างหน้า
ชาญชัย ชัยประสิทธิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท PwC ประเทศไทย
ชาญชัย ชัยประสิทธิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท PwC ประเทศไทย กล่าวว่า กลยุทธ์ใหม่ของ    เครือข่าย PwC ที่ได้ประกาศใช้ทั่วโลกเมื่อกลางปีที่ผ่านมา เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจในปี      2565-2570 ถือเป็นโมเดลการดำเนินธุรกิจที่ทางบริษัทได้วิเคราะห์และวางแนวทางไว้ตั้งแต่ปี 2560 โดยได้คาดการณ์ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลกต่อธุรกิจ หรือเรียกว่ากรอบความท้าทายโลก (ADAPT framework) ซึ่งการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ได้เข้ามาเป็นตัวเร่งให้ปัญหาเหล่านี้ขยายตัวรวดเร็วกว่าที่คาดไว้ “The New Equation หรือสมการใหม่ทางธุรกิจ เป็นกลยุทธ์ใหม่ที่เราให้ความสำคัญในการตอบสนองความต้องการสองด้านที่ลูกค้าจะเผชิญในบริบทใหม่ต่อจากนี้ นั่นคือ ความต้องการสร้างความไว้วางใจจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มที่จะเพิ่มมากขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อน และความจำเป็นในการสร้างผลการดำเนินงานที่ยั่งยืนในสภาพแวดล้อมที่การแข่งขันและความเสี่ยงจากการหยุดชะงักนั้นรุนแรงกว่าที่เคย จากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงเร็วมากและได้แรงกระตุ้นจาก COVID-19 ที่เข้ามาเปลี่ยนวิธีคิด วิธีการทำธุรกิจ และความต้องการของลูกค้าของเรา” ขณะเดียวกันสภาวะโลกร้อนเป็นกระแสที่ทั่วโลกให้ความสนใจมาก ทำให้ ESG หรือแนวคิดการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืนผ่านความใส่ใจและรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance) เข้ามามีบทบาทสำคัญในโลกธุรกิจมากขึ้น และได้สร้างผลกระทบและมีส่วนสำคัญต่อการเติบโตของธุรกิจ ในหลายประเทศทั้งในยุโรป สหรัฐอเมริกา หรือแม้แต่จีนเริ่มออกเป็นกฎหมายและกำหนดเป็นนโยบาย โดยให้น้ำหนักเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด ชาญชัยกล่าวว่า องค์กรธุรกิจไทยจึงต้องเร่งปรับตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทที่ต้องติดต่อธุรกิจ หรือขายสินค้าให้กับกลุ่มประเทศที่มีนโยบายเรื่อง ESG หรือธุรกิจไทยที่ต้องการดึงเงินลงทุนจากนักลงทุน        ต่างประเทศ ซึ่งแม้แต่สถาบันการเงินก็เริ่มนำ ESG เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณาปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจ เพื่อลดความเสี่ยงหากธุรกิจนั้นได้รับผลกระทบจากมาตรฐาน ESG ของคู่ค้า โดยความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เรื่องของการปลูกป่า หรือมองว่าเป็นความรับผิดชอบของธุรกิจที่ปล่อยคาร์บอนเท่านั้น แต่เป็นการดำเนินการภายในองค์กรและเป็นเรื่องของทุกๆ บริษัทที่จะต้องดำเนินการก่อนที่ ESG จะเข้ามาเป็นมาตรฐานใหม่ทางธุรกิจ
ชาญชัย ชัยประสิทธิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท PwC ประเทศไทย
สำหรับ ADAPT framework ที่นำมาสู่กลยุทธ์ใหม่ ชาญชัยอธิบายว่า ประกอบไปด้วย Asymmetry การไม่เท่าเทียมกันของสังคมหรือความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยและคนจน ซึ่งเกิดขึ้นทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ Disruption ทั้งเทคโนโลยีดิสรัปชันและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ Aging หรือสังคมสูงวัยที่หลายประเทศกำลังเผชิญกับจำนวนประชากรสูงวัยมากกว่าวัยแรงงาน ซึ่งมีผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยประเทศไทยยังถือเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่เข้าสู่สังคมสูงวัย Polarisation ที่กระแสชาตินิยมและประชานิยมจะมีผลต่อนโยบายรัฐ ซึ่งองค์กรธุรกิจต้องวิเคราะห์ เพราะมีผลกระทบทั้งเชิงบวกและเชิงลบต่อธุรกิจ สุดท้ายคือ Trust หรือความไว้วางใจที่นับวันจะทวีความสำคัญมากขึ้น “ความไว้วางใจเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของกลยุทธ์ใหม่ของ PwC ซึ่งในอนาคตจะไม่จำกัดแค่เพียงการสร้างความไว้วางใจผ่านข้อมูลทางการเงินเท่านั้น แต่จะครอบคลุมไปถึงความไว้วางใจผ่านข้อมูลหรือระบบงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับตัวเลขทางการเงินด้วย เช่น ไอที ความปลอดภัยทางไซเบอร์ และ ESG ซึ่ง PwC วางแผนที่จะขยายงานบริการดังกล่าว เพื่อรองรับกับกระแสใหม่ที่กำลังเกิดขึ้น” ชาญชัยกล่าว นอกจากการสร้างความไว้วางใจให้องค์กรธุรกิจ อีกเป้าหมายหนึ่งของกลยุทธ์สมการใหม่คือ การสร้างผลลัพธ์ที่ยั่งยืนให้กับองค์กรธุรกิจ โดยธุรกิจจะต้องลงทุนเรื่องระบบและเทคโนโลยี ใช้ Big Data ในการบริหาร วางแผนและพยากรณ์ธุรกิจ เพื่อเดินหน้าสู่การเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (Data-driven organisation) โดย PwC จะเข้าไปช่วยให้คำปรึกษาและวางกลยุทธ์ เพื่อทำให้ผลการดำเนินงานขององค์กรธุรกิจมีความยั่งยืน “การเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจไม่ใช่เฉพาะ PwC เท่านั้น ธุรกิจของลูกค้าต้องมีการเปลี่ยนแปลงด้วย ทั้งการเปลี่ยนกระบวนการภายใน เปลี่ยนรูปแบบทางธุรกิจ หรือกระจายความเสี่ยง เราเห็นสัญญาณการเทคโอเวอร์ การควบรวมและการร่วมทุนมากขึ้น เพราะวิธีการแบบเดิมๆ ขับเคลื่อนให้ธุรกิจเติบโตไม่ทัน  ดังนั้นธุรกิจจะต้องมีนวัตกรรม ต้องลงทุนด้านเทคโนโลยี ทั้ง Reskill และ Upskill เปลี่ยนแปลงองค์กร และสร้างความไว้วางใจทางธุรกิจ เพื่อนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ยั่งยืนขึ้น” เพื่อบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ เครือข่าย PwC ได้ตั้งงบลงทุนจำนวน 1.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐสำหรับการลงทุนด้านเทคโนโลยีและบุคลากรในอีกห้าปีข้างหน้า โดยจะเน้นเทคโนโลยีประเภท Cloud, Data Science, Digital Transformation และ AI ที่จะเข้ามาสนับสนุนบริการใหม่ๆ ให้ครบวงจรมากขึ้นทั้งบริการด้านดิจิทัล บริการด้านข้อมูล และบริการด้าน ESG รวมถึงการให้บริการด้าน Deal Value Creation ด้วย ขณะที่ด้านบุคลากร PwC คาดว่า จะสร้างงานใหม่จำนวน 1 แสนตำแหน่งทั่วโลกภายในปี 2569 จากปัจจุบัน PwC มีพนักงานทั้งหมดกว่า 2.5 แสนคน โดยรูปแบบการดำเนินธุรกิจที่อาศัยความเชี่ยวชาญจากหลายสาขาวิชาชีพของ PwC ถือเป็นรากฐานของกลยุทธ์นี้ในการสร้างให้เกิดศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญที่มีความหลากหลายทั้งในเรื่องของทักษะและความเชี่ยวชาญ “สำหรับ PwC ประเทศไทย เราตั้งเป้าเติบโตเฉลี่ยปีละ 11.3% ในช่วงปี 2564-2570 โดยสัดส่วนรายได้จาก Trust Services เช่น งานตรวจสอบบัญชีและที่ปรึกษาด้านภาษี ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วน 70% และรายได้จากการช่วยลูกค้าให้มีผลประกอบการที่ดี (Sustained outcome) หรือที่ปรึกษาด้านธุรกิจ ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วน 30% จะเปลี่ยนเป็น 50:50 ในหกปีข้างหน้า โดยงานบริการหลักจะยังคงเติบโตแต่ไม่สูงเท่างานบริการใหม่ที่คาดว่า จะเติบโตในอัตราเลขสองหลัก ซึ่ง PwC ในหลายประเทศใหญ่ๆ มีการเติบโตสูงในปีที่ผ่านมา” ชาญชัยกล่าว