LGT แห่งราชวงศ์ลิกเตนสไตน์ ชูจุดเด่น เจ้าของร่วมลงทุน ตอบโจทย์ตระกูล high net-worth ไทย ที่เตรียมส่งต่อความมั่งคั่งสู่ next gen พร้อมชี้เป้า ESG Investment การลงทุนในธุรกิจยั่งยืน เทรนด์ใหม่หลังยุคโควิด - Forbes Thailand

LGT แห่งราชวงศ์ลิกเตนสไตน์ ชูจุดเด่น เจ้าของร่วมลงทุน ตอบโจทย์ตระกูล high net-worth ไทย ที่เตรียมส่งต่อความมั่งคั่งสู่ next gen พร้อมชี้เป้า ESG Investment การลงทุนในธุรกิจยั่งยืน เทรนด์ใหม่หลังยุคโควิด

เอกภพ เมฆกัลจาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการบริหาร บริษัท หลักทรัพย์ แอลจีที (ประเทศไทย) จำกัด กลุ่มบริษัทผู้ให้บริการไพรเวทแบงก์กิ้งและการจัดการสินทรัพย์จากประเทศ          ลิกเตนสไตน์ กล่าวว่า โควิด-19 ได้เปลี่ยนกรอบความคิดของนักลงทุน โดยเริ่มเห็นความสำคัญของการ  กระจายสินทรัพย์ออกไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น เห็นถึงภาวะ stress test หรือการทดสอบช่วงวิกฤตของทรัพย์สินครอบครัว เมื่อมีเหตุการณ์โควิดทรัพย์สินรวมถึงพอร์ตการลงทุนและธุรกิจที่ดำเนินกิจการในไทยเป็นหลักได้รับผลกระทบหนัก และพบว่าไม่มีช่องทางใดที่ช่วยกระจายความเสี่ยงออกไปได้เลย “ธุรกิจหลักๆ ในไทยยังคงเป็น old economy เช่น อุตสาหกรรมการผลิต การบริการ และเกษตรกรรม ซึ่งนอกจากจะโดนกระทบอย่างหนักในช่วงสถานการณ์โควิด ก่อนหน้านั้นก็ไม่ได้มีโอกาสเติบโตหรือรับประโยชน์ตามกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดจากเทคโนโลยีและ disruptive innovation ที่มาอย่างรวดเร็ว โดยภาพรวมประเทศไทยเราไม่ได้อยู่ใน ecosystem นี้ และเมื่อครอบครัวเราไม่มีโอกาสหรือไม่สามารถปรับมาทำธุรกิจใน ecosystem นี้ได้ทัน เราก็ต้องหันมาลงทุน หรือถือหุ้นของบริษัทในต่างประเทศที่เป็นผู้นำในภาคอุตสาหกรรมเหล่านี้แทน” สำหรับธนาคาร LGT ปัจจุบันดำเนินธุรกิจมาครบ 100 ปี ถือครองโดยราชวงศ์ลิกเตนสไตน์ และเข้ามาเปิดสำนักงานในประเทศไทยอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2562 ราชวงศ์ลิกเตนสไตน์ถือเป็นราชวงศ์ยุโรปที่    เก่าแก่อายุกว่า 900 ปี สืบทอดกันมาถึง 30 เจเนอเรชั่น โดยในอดีตได้ผ่านวิกฤตเศรษกิจโลกและสงครามมามากมาย โควิดจึงไม่ใช่วิกฤตแรกที่เผชิญ การจัดการทรัพย์สินมรดกและการลงทุนที่ยั่งยืนจึงเป็นสิ่งที่ LGT ชำนาญและให้ความสำคัญเสมอ โดยลูกค้ารายใหญ่ที่สุดของกลุ่มธุรกิจ LGT คือ ราชวงศ์ลิกเตนสไตน์ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นและยังเป็นผู้บริหารของ LGT อีกด้วย โดยสินทรัพย์ที่ธนาคาร LGT บริหารจัดการคิดเป็นมูลค่ารวมมากกว่า 2.7 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ณ วันที่ 31 ธันวาคม ปี 2563
H.S.H. Prince Philipp von und zu Liechtenstein, Honorary Chairman LGT (ซ้าย) H.S.H. Prince Max von und zu Liechtenstein, Chairman LGT (ขวา)
หนึ่งในพอร์ตการลงทุนระยะยาวของเงินทรัพย์สินราชวงศ์ลิกเตนสไตน์คือ Princely Portfolio Strategy ที่เน้นการลงทุนกระจายความเสี่ยงในสินทรัพย์ที่หลากหลายทั่วโลก ตามแบบการลงทุน endowment fund ของมหาวิทยาลัย Harvard และมหาวิทยาลัย Yale โดยที่ราชวงศ์ได้ให้ LGT เริ่มต้นบริหารเงินกองทุนแรกในปี 2541 ด้วยเงินลงทุนราว 1 พันล้านเหรียญ ซึ่งเจ้าชายฟิลลิพ ฟอน อุนด์ ซู ลิกเตนสไตน์ (H.S.H. Prince Philipp von und zu Liechtenstein) มีดำริที่จะนำเงินของครอบครัวที่ได้จากการขายธุรกิจของราชวงศ์ในช่วงนั้นมาบริหารผ่านกองทุน Global Investable Markets (GIM) เพื่อดูแลเงินต้น และเพื่อผลตอบแทนที่มั่นคงในระยะยาว ตามแบบฉบับกองทุน endowment fund หรือกองทุนมหาวิทยาลัยชั้นนำในสหรัฐฯ ที่ใช้บริหารเงินสะสมของมหาวิทยาลัย โดย endowment fund ที่ใหญ่ที่สุดและเป็นต้นแบบโด่งดังในขณะนั้น เป็นของมหาวิทยาลัย Harvard และมหาวิทยาลัย Yale นั่นเอง การลงทุนของ endowment fund ของมหาวิทยาลัยจะมีนโยบายการจัดสรรสินทรัพย์ไปลงทุนในสินทรัพย์หลากหลายประเภททั่วโลก (Global Asset Allocation) และให้ผู้จัดการกองทุนที่ชำนาญการในแต่ละประเภทสินทรัพย์ร่วมบริหารอีกด้วย โดยในปัจจุบันกองทุนของ Harvard ยังคงเป็น endowment fund ที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีสินทรัพย์รวมมูลค่า 4.19 หมื่นล้านเหรียญ ณ เดือนมิถุนายน ปี 2563 และเมื่อนำมูลค่าสินทรัพย์ในปัจจุบันของกองทุน LGT Princely Portfolio Strategy ที่มีคอนเซ็ปต์คล้าย endowment fund เทียบอันดับในกลุ่ม endowment fund ของมหาวิทยาลัยชั้นนำ กองทุน LGT Princely Portfolio ที่มีสินทรัพย์มากกว่า 1.5 หมื่นล้านเหรียญ (ข้อมูล ณ วันที่ 31 มีนาคม ปี 2564) จะติดอันดับใน top 10 ถือเป็นกองทุนที่มีขนาดใหญ่มาก นอกเหนือจากการจัดสรรสินทรัพย์และการคัดเลือกผู้จัดการกองทุนที่มีความสามารถ กองทุน LGT Princely Portfolio ยังมีความโดดเด่นอีกเรื่องคือ ดำเนินกลยุทธ์การลงทุนแบบมีเจ้าของร่วมลงทุนไปด้วย คือเปิดให้นักลงทุนได้ร่วมลงทุนในกลยุทธ์นี้ผ่านกองทุนรวมภายใต้การบริหารโดย LGT พร้อมกับเงินทรัพย์สินของราชวงศ์ ซึ่งเป็นผู้ถือหน่วยลงทุนที่มีสัดส่วนสูงที่สุดในปัจจุบัน คิดเป็นสัดส่วน 22% ของกองทุน หรือมากกว่า 3.4 พันล้านเหรียญ (ข้อมูล ณ วันที่ 31 มีนาคม ปี 2564) ถือเป็นข้อดีเรื่องการร่วมดูแลผลประโยชน์ เนื่องจากเจ้าของร่วมลงทุนและมีส่วนได้ส่วนเสีย จึงจะไม่ทำอะไรที่สุ่มเสี่ยงผิดนโยบาย หรือมองการลงทุนในระยะสั้นเกินไปเป็นกองทุนที่เหมาะกับครอบครัวไทย ซึ่งปกติจะมีเงินกงสีที่เป็นเงินที่เก็บสะสมมาจากการทำธุรกิจที่ต้องการส่งต่อให้กับรุ่นถัดไป และในอดีตมักจะเก็บไว้ในรูปแบบเงินฝาก แต่ปัจจุบันผลตอบแทนหรือดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ในระดับต่ำหรือแตะ 0% ไม่งอกเงย “การลงทุนกับ LGT ผ่านกลยุทธ์ Princely Portfolio Strategy เน้นการลงทุนในระยะยาว สามารถส่งต่อไปยังลูกหลานได้อย่างมั่นคง เราดำเนินการบริหารจัดการกองทุนนี้มา 23 ปีแล้ว ซึ่งถือเป็นระยะเวลาที่ค่อนข้างนาน สะท้อนการลงทุนผ่านหลายช่วงวิกฤตทั้ง Dot-Com ในปี 2543 Hamburger Crisis ปี 2551 วิกฤตหนี้สาธารณะ Eurozone ปี 2553 หรือ FED ขึ้นดอกเบี้ยปี 2561 และล่าสุดโควิดในปี 2563 โดยพอร์ตของ LGT เติบโตสะสมถึง 38.69% ในสกุล USD ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ข้อมูลการลงทุนในอดีตจนถึงวันที่ 31 มีนาคม ปี 2564)” เอกภพกล่าว “จุดเด่นของกองทุน LGT Princely Portfolio Strategy อีกประการคือ การจัดสรรเงินลงทุนในการลงทุนในบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์หรือกิจการร่วมลงทุน (private equity) ซึ่งแตกต่างจากกองทุนประเภทจัดสรรสินทรัพย์ (Asset Allocation Fund) อื่นๆ โดย LGT มีการลงทุนใน private equity ในสัดส่วน 22% ของพอร์ต ซึ่งการลงทุนประเภทนี้ในอดีตสามารถสร้างมูลค่าได้มากกว่าการลงทุนในบริษัทจดทะเบียน บริษัทอย่าง Facebook, Tencent, Airbnb หรือ Tesla ต่างก็ผ่านการเป็นบริษัทที่เพิ่งเริ่มดำเนินธุรกิจและระดมทุนเสนอขายหุ้นผ่าน private equity มาแล้วก่อนจะประสบความสำเร็จ มีหลายบริษัทมีมูลค่าเติบโตเป็นหลายเท่าในช่วงเข้ามาจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ การเป็น early investor ในบริษัทเหล่านี้สามารถสร้างมูลค่าได้อย่างมากในระยะยาว” เอกภพกล่าว โดย private equity ในพอร์ตของ LGT มีการลงทุนหลักในธุรกิจ consumer คิดเป็นสัดส่วน 23% ธุรกิจเทคโนโลยี 20% และ healthcare 18% สำหรับหุ้นบริษัทเทคโนโลยีภายใต้สัดส่วน private equity ที่ LGT ลงทุนในกองทุนและมีการ IPO เข้าตลาดหลักทรัพย์ใน 1-2 ปีที่ผ่านมา อาทิ Pinduoduo บริษัท social e-commerce จากจีน Ozon บริษัทยักษ์ใหญ่ค้าปลีกออนไลน์จากรัสเซีย Allegro กลุ่ม e-commerce จากโปแลนด์ และ C3 AI บริษัทซอฟต์แวร์ปัญญาประดิษฐ์จากสหรัฐฯ ในอดีตสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้กว่า 200 ล้านเหรียญ คิดเป็นผลตอบแทนรวม 15 เท่านับจากมูลค่าเริ่มลงทุน ช่วยสร้างการเติบโตของผลตอบแทนในปีที่ผ่านมาได้สูง “สถานการณ์โควิดทำให้บริษัทเทคโนโลยีสามารถสร้างมูลค่าได้มหาศาล ซึ่งสำหรับนักลงทุนไทย การลงทุนหรือร่วมถือหุ้นในบริษัทเหล่านี้โดยเฉพาะในช่วงก่อนเข้าตลาดมีโอกาสยากมาก LGT จึงเป็นช่องทางที่นักลงทุนไทยสามารถลงทุนในธุรกิจแห่งอนาคตกลุ่มนี้ได้” เอกภพกล่าวเสริม นอกจากนี้ กองทุน LGT ซึ่งมีผู้จัดการกองทุนมือทองจากทั่วโลกกว่า 200 คนร่วมบริหารยังกระจายการลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ เช่น liquid alternatives หรือการลงทุนใน hedge fund ต่างๆ ซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่ไม่สัมพันธ์กับสภาวะตลาดและช่วยป้องกันความเสี่ยงในช่วงขาลงหรือตลาดมีความผันผวน ซึ่งในปีที่ผ่านมาช่วงตลาดผันผวนหนักจากวิกฤตโควิด การมีสินทรัพย์ประเภทนี้สามารถช่วยปกป้องความเสี่ยงจากการผันผวนได้ ซึ่งเหมาะกับเงินลงทุนของครอบครัวที่ต้องการส่งต่อไปยังรุ่นถัดไป ทั้งนี้ ใน 5 ปีย้อนหลัง อัตราการผันผวน (volatilities) ต่อปีของกองทุนนี้มีเพียง 6.76% เท่านั้น ขณะที่หุ้น  ทั่วโลกมีถึง 15% และหุ้นไทยผันผวนสูงถึงเกือบ 20% ทำให้ในอดีตสินทรัพย์ของกอง LGT ได้ผลตอบแทนที่เท่ากับหรือสูงกว่าตลาดแต่มีความผันผวนที่น้อยกว่าตลาด “จากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่แย่ลงเพราะโควิดในปีที่แล้ว ปีนี้จะเป็นปีที่รัฐบาลทุกประเทศทั่วโลกยังจะต้องอัดฉีดเงินดำเนินนโยบายขาดดุลมหาศาลและต้องกู้ยืมหนี้สาธารณะของทุกประเทศจะเพิ่มขึ้น โดยในที่สุดผู้ประกอบการและประชาชนอาจมีภาระภาษีที่ต้องปรับขึ้น เพื่อร่วมลดภาระภาครัฐจากหนี้ที่พุ่งสูงในครั้งนี้ ดังจะเห็นได้ชัดในสหรัฐฯ สภาพคล่องที่ธนาคารกลางร่วมกันอัดฉีดอาจก่อให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ และอาจส่งผลกระทบต่อตลาดในระยะสั้นได้ การกระจายความเสี่ยงของพอร์ตลงทุนเป็นเรื่องสำคัญและจะช่วยลดความผันผวนนี้ได้ การลงทุนในหุ้นหลายๆ กลุ่ม ถึงแม้ว่าราคาได้ปรับตัวขึ้นมามากแล้วในต้นปี แต่ยังคงน่าสนใจ หากพิจารณาจากอัตราการเติบโตระยะยาว การลงทุนใน private equity ที่ไม่ได้ผันผวนตามสภาวะตลาด เช่น ธุรกิจเทคโนโลยีหรือ healthcare มีโอกาสให้เงินลงทุนงอกเงยได้ โดยเฉพาะในกลุ่ม new economy ที่อาจจะมาแทน old economy อย่างแบงก์และพลังงาน” สำหรับเทรนด์การลงทุนหลังโควิด เอกภพกล่าวว่า นอกจากภัยจากโรคระบาดแล้ว คนจะให้ความใส่ใจเรื่องภัยพิบัติมากขึ้นด้วย และการเข้าสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ของ Joe Biden ทำให้ประเด็นภาวะโลกร้อนและความตกลงปารีสกลับเข้ามาเป็นนโยบายหลักอีกครั้ง ซึ่งเมื่อผนวกกับเม็ดเงินลงทุนของนักลงทุนสถาบันทั่วโลกที่ต้องดำเนินการตามกฎระเบียบต่างๆ รวมทั้งการเก็บภาษีจากธุรกิจที่สร้างมลพิษที่รัฐบาลในหลายประเทศได้เริ่มใช้ ทำให้ ESG (Environmental, Social and Governance) Investment หรือการลงทุนในธุรกิจที่ก่อให้เกิดความยั่งยืนจะเป็นหนึ่งใน megatrend ของการลงทุนในอนาคต เอกภพกล่าวว่า เม็ดเงินจำนวนมหาศาลจะมุ่งสู่ ESG และ sustainable investment ไม่ว่าจะเป็นพลังงานทางเลือก อุตสาหกรรมไร้คาร์บอน รถยนต์ไฟฟ้า plant-base ที่ลดการบริโภคเนื้อสัตว์ ธุรกิจการเงินเพื่อเพิ่มโอกาสทางการเข้าถึงบริการทางการเงิน ธุรกิจ healthcare for all ที่ให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการแพทย์ที่ต้นทุนต่ำและมีประสิทธิภาพ ซึ่งเทรนด์ธุรกิจเหล่านี้ได้ฝังอยู่ในดีเอ็นเอของ next generation ที่ให้ความสำคัญในการลงทุนที่ไม่ได้มองเพียงผลตอบแทนจากการลงทุนอย่างเดียวเท่านั้น แต่มองเรื่องความยั่งยืนในระยะยาวด้วย “นักลงทุนสามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้” เอกภพกล่าว “ESG Investment จึงไม่ใช่เรื่องการบริจาค แต่เป็นการลงทุนที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่าตลาดและยังสามารถช่วยโลกด้วย โดย LGT เริ่มเน้นนโยบายลงทุนในธุรกิจที่รับผิดชอบสังคมตั้งแต่ปี 2546 เพราะมองเรื่องความยั่งยืนในการลงทุนที่ต้องส่งต่อไปยัง next generation และเรายังร่วมกับองค์การชั้นนำรวมถึง UN ในการดำเนินนโยบายนี้ผ่านกรอบการลงทุน เผื่อให้นักลงทุนของเราทุกครอบครัวสามารถส่งต่อความยั่งยืนให้กับรุ่นต่อไปได้อย่างมั่นคง”