ถอดกลยุทธ์ กฤตธี มโนลีหกุล กับความท้าทายบทใหม่ นำทัพ “เทนเซ็นต์ คลาวด์” สยายปีกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ - Forbes Thailand

ถอดกลยุทธ์ กฤตธี มโนลีหกุล กับความท้าทายบทใหม่ นำทัพ “เทนเซ็นต์ คลาวด์” สยายปีกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

FORBES THAILAND / ADMIN
07 Oct 2021 | 11:25 AM
READ 2645
“เทนเซ็นต์” (Tencent) บริษัทเทคโนโลยีระดับโลก เป็นหนึ่งในผู้ให้บริการเอ็นเตอร์เทนเมนต์แพลตฟอร์มที่หลากหลายในไทย และมีบริการที่ถือได้ว่าเป็นเบื้องหลังความสำเร็จให้แก่ธุรกิจหลายๆ ธุรกิจนั้นก็คือ    “เทนเซ็นต์ คลาวด์” ซึ่งเป็นผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยีและโซลูชันอัจฉริยะที่ครบวงจร ที่พร้อมเป็นผู้ช่วยคนสำคัญสำหรับภาคธุรกิจในหลากหลายอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็น การเงิน การศึกษา การแพทย์ และสุขภาพ ธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจบันเทิง และภาคการผลิต เป็นต้น ก่อนจะเฉลยว่าเทนเซ็นต์ คลาวด์ จะเข้ามาเป็นผู้ช่วยคนสำคัญของผู้ประกอบการได้อย่างไร กฤตธี        มโนลีหกุล กรรมการผู้จัดการ เทนเซ็นต์ ประเทศไทย ที่ปัจจุบันยังควบตำแหน่งรองประธานเทนเซ็นต์    คลาวด์ อินเตอร์เนชันแนล ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เปิดฉากด้วยการฉายภาพรวมของ      อุตสาหกรรมคลาวด์ทั่วโลก โดยอ้างอิงจากข้อมูลของ Frost & Sullivan ที่รายงานว่า ในปี 2020 มากกว่า 52% ขององค์กรทั่วโลกมีการใช้บริการคลาวด์ และอีก 34% มีแนวโน้มจะเพิ่มโครงสร้างพื้นฐานระบบคลาวด์ ภายใน 2 ปีข้างหน้า สอดคล้องกับข้อมูลของ Gartner ที่คาดการณ์ว่าในปี 2021 มูลค่าการใช้จ่ายบริการคลาวด์สาธารณะ จะอยู่ที่ 3.32 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้น 23.1% จากปี 2020 ซึ่งมีการใช้จ่ายอยู่ที่ 2.7 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่อุตสาหกรรมคลาวด์ในเอเชียก็มีแนวโน้มเติบโตเช่นกัน โดยข้อมูลของ IDC Worldwide Public Cloud Services Spending Guide พบว่าในปี 2020 องค์กรต่างๆ ในเอเชียแปซิฟิก (ไม่รวมญี่ปุ่น)        มีการใช้จ่ายด้านบริการคลาวด์สาธารณะเติบโตมากกว่า 38% เป็น 3.64 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ที่น่าสนใจคือ อุตสาหกรรมคลาวด์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เห็นได้จากยอดผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในภูมิภาคนี้ ที่ในปัจจุบันมีจำนวนมากถึง 400 ล้านคน หรือคิดเป็น 70% ของประชากรในเอเชียตะวันออก  เฉียงใต้ โดยในปี 2020 พบว่ามีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตใหม่ที่เข้าสู่โลกออนไลน์เพิ่มขึ้นมากกว่า 40 ล้านคน เมื่อบวกกับการเกิดขึ้นของเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างหุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์ (AI) รวมถึงกลยุทธ์การพัฒนาประเทศภายใต้แนวคิด Industry 4.0 ทำให้อุตสาหกรรมคลาวด์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นอีกตลาดที่น่าจับตามอง โดยเฉพาะประเทศไทย ซึ่ง Gartner คาดว่าในปี 2021 มูลค่าการใช้จ่ายบริการคลาวด์สาธารณะจะสูงราว 2.68 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 31.7% จากปีก่อนหน้า และคาดว่าในปี 2022 จะมีมูลค่าราว 3.44 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 28.2% ตามการใช้งานที่หลากหลายมากขึ้น ถามว่าในฐานะหัวเรือใหญ่ที่รับภารกิจ  ดูแลเทนเซ็นต์ คลาวด์ ครอบคลุมใน 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินเดีย จะมีกลยุทธ์อย่างไรเพื่อคว้าโอกาสที่อยู่ตรงหน้า กฤตธี เผยว่า เป้าหมายของเทนเซ็นต์ คลาวด์ คือก้าวสู่การเป็น Digital Assistant ให้กับผู้ประกอบการในทุกอุตสาหกรรม ด้วย Smart Solutions ที่มุ่งยกระดับเทคโนโลยีเพื่อเสริมศักยภาพขององค์กรได้อย่างไร้ขีดจำกัด พร้อมกับสร้างนวัตกรรมที่ยั่งยืนในการขับเคลื่อนธุรกิจ เชื่อมโยงผู้คนเข้าด้วยกัน และส่งมอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดอย่างไร้รอยต่อให้กับผู้ใช้งาน เพื่อสร้างระบบนิเวศที่สมบูรณ์ “บริการคลาวด์ที่เทนเซ็นต์เน้นทำตลาด คือ บริการด้านแพลตฟอร์ม (PaaS) และบริการด้านซอฟต์แวร์ (SaaS) ด้วยการพัฒนาและนำเสนอ Smart Solutions ที่หลากหลาย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำธุรกิจให้กับผู้ประกอบการทั่วทั้งภูมิภาค ผ่านจุดแข็งของเทนเซ็นต์ คลาวด์ ที่มีการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของระบบปฏิบัติการคลาวด์ และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เน้นการขยายเครือข่ายทางธุรกิจผ่านพันธมิตรในธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยมีทีมสนับสนุนลูกค้าที่ประจำอยู่ในท้องถิ่นและทีมธุรกิจในตลาดต่างๆ เพื่อให้บริการและพัฒนาโซลูชันที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการในแต่ละท้องถิ่นอย่างไร้ที่ติ” กฤตธี เผยว่า ที่ผ่านมาเทนเซ็นต์มีการขยายศูนย์จัดเก็บข้อมูล (Data Center) อย่างต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าให้ในทุกประเทศที่ไปให้บริการต้องมีศูนย์จัดเก็บข้อมูล เพื่อให้การถ่ายโอนข้อมูลของลูกค้าเป็นไปอย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และปลอดภัยสูงสุด “อย่างในไทยตอนนี้เรามีศูนย์จัดเก็บข้อมูล 2 แห่ง สิงคโปร์ 3 แห่ง อินโดนีเซียเพิ่งเปิดไป 1 แห่ง และจะเปิดเพิ่มอีก 1 แห่ง ภายใน สิ้นปีนี้ ส่วนที่มาเลเซียอยู่ระหว่างการก่อสร้าง” ในส่วนของกลยุทธ์การรุกตลาด      กฤตธี เผยว่า จะโฟกัสในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ อุตสาหกรรมบันเทิง อุตสาหกรรมภาคการผลิต อุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพ หรือเฮลท์แคร์ อุตสาหกรรมธนาคาร-สถาบันการเงิน และค้าปลีกอีคอมเมิร์ซ เพราะเป็นกลุ่มที่คลาวด์น่าจะตอบโจทย์ และสอดคล้องกับเทรนด์ที่จะกำลังมาแรง ไม่ว่าจะเป็นการไลฟ์    สตรีมมิง ซึ่งมีการนำไปใช้ในหลายธุรกิจ เพราะช่วยให้เกิดปฏิสัมพันธ์และสร้างการมีส่วนร่วมกับกลุ่มผู้ชมทั่วโลกได้แบบเรียลไทม์ เช่นเดียวกับเทรนด์ Smart City ที่จะมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ ไปจนถึงธุรกิจรีเทล จากนี้เราสามารถใช้คลาวด์มาช่วยวิเคราะห์สต็อก หรือดูว่าตำแหน่งไหนในร้านที่ลูกค้ามีโอกาสมองเห็นสินค้ามากที่สุด รวมถึงเทรนด์สุขภาพมีการนำ AI เข้ามาช่วยในการวินิจฉัยเบื้องต้น เป็นต้น” “เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น ผมยกตัวอย่างอุตสาหกรรมบันเทิงที่นำ Smart Solutions ของเทนเซ็นต์ คลาวด์ ไปใช้เพิ่มประสิทธิภาพให้ธุรกิจ อย่าง JOOX และ WeTV ซึ่งเป็นเอ็นเตอร์เทนเมนต์แพลตฟอร์มที่อยู่ภายใต้เทนเซ็นต์ โดย JOOX มีฟีเจอร์ที่ช่วยเติมเต็มประสบการณ์ความบันเทิงได้อย่างครบรส ไม่ว่าจะฟังเพลง ร้องคาราโอเกะ ชมคอนเสิร์ต ในแบบไลฟ์สตรีมมิง และวิดีโอออนดีมานด์ ล่าสุดอย่างฟีเจอร์ห้องแชทแบบเห็นหน้าที่ต้องใช้ศักยภาพทางด้านเทคโนโลยีที่มหาศาล เช่นเดียวกับ WeTV นอกจากจะนำเสนอคอนเทนต์ที่หลากหลาย ยังมีฟีเจอร์ให้ผู้ชมสามารถเลือกเสียง และคำาบรรยายได้หลายภาษา และแสดงความคิดเห็นได้แบบเรียลไทม์” อย่างไรก็ตามนอกจากภารกิจใหญ่ในการสยายปีกเทนเซ็นต์ คลาวด์ อีกหนึ่งโจทย์หิน สำหรับผู้บริหารคนเก่ง คือ การที่ต้องบริหารทีมที่มีความหลากหลายของเชื้อชาติแบบข้ามประเทศให้ไปสู่เป้าหมายเดียวกัน “ความไว้ใจและความมั่นใจ คือกุญแจสำคัญในการบริหารทีมที่มีความหลากหลายของเชื้อชาติแบบข้ามประเทศ เราต้องมั่นใจและเชื่อใจในการตัดสินใจของ Country Head ที่ทำงานอยู่ในแต่ละประเทศ เนื่องจากว่าพวกเขาเหล่านั้นมีความใกล้ชิดกับลูกค้าซึ่งทำให้ทราบถึงความต้องการของลูกค้าได้ดีกว่าเข้าใจตลาด และเทรนด์ในประเทศนั้นๆ และรู้จักคู่แข่งมากกว่านอกจากนี้การให้ความสำคัญกับการสื่อสารในทีมยังเป็นอีกสิ่งที่สำคัญ เป็นการนำข้อดีของทีมที่มีความหลากหลายมาเรียนรู้ และต่อยอดจาก Case Study หรือ Know How ที่มีโดยไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นทุกอย่างจากศูนย์ เพื่อพาทีมไปสู่เป้าหมายที่จะทำรายได้เป็นท็อปทรีของภูมิภาคให้ได้ภายใน 2-3 ปี และเป็นผู้ให้บริการคลาวด์ที่เป็น Top of Mind ของลูกค้าและองค์กร” กฤตธี ทิ้งท้าย