ผ่ากลยุทธ์ “One Platform” ปั้น “เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ประเทศไทย” ขึ้นแท่นบริษัทอสังหาฯ ครบวงจร แพลตฟอร์มที่ยั่งยืน รายแรกของประเทศไทย - Forbes Thailand

ผ่ากลยุทธ์ “One Platform” ปั้น “เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ประเทศไทย” ขึ้นแท่นบริษัทอสังหาฯ ครบวงจร แพลตฟอร์มที่ยั่งยืน รายแรกของประเทศไทย

ท่ามกลางสถานการณ์การเมือง-เศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน โจทย์ใหญ่ของภาคธุรกิจวันนี้ ไม่เพียงต้องปรับตัวเพื่ออยู่รอด แต่ต้องงัดกลยุทธ์ที่ตกผลึกอย่างรอบด้าน เพื่อนำพาธุรกิจให้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน จากโจทย์ดังกล่าว กลายเป็นที่มาในการเดินเกมรุกครั้งสำคัญของ เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ประเทศไทย  ซึ่งเป็นการควบรวมกิจการระหว่างสองบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งวงการอสังหาฯ ไทย ได้แก่ บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ FPT ซึ่งถือหุ้นโดย เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ลิมิเต็ด (สิงคโปร์) ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ระดับโลก กระจายการลงทุนทั่วโลกกว่า 50 ประเทศ 70 เมือง และ บริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ โกลเด้นแลนด์ ผู้พัฒนาโครงการมิกซ์ยูส สามย่านมิตรทาวน์ และโครงการอสังหาริมทรัพย์แนวราบ อาทิ แบรนด์โกลเด้นทาวน์ โกลเด้น นีโอ เดอะแกรนด์ ฯลฯ ผลจากการควบรวบกิจการดังกล่าว ไม่เพียงทำให้ เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ประเทศไทย กลายเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ครบวงจรรายแรกในประเทศไทย ด้วยมูลค่าสินทรัพย์รวมกว่า 1 แสนล้านบาท ครอบคลุมอสังหาริมทรัพย์เพื่อที่อยู่อาศัย อุตสาหกรรม และพาณิชยกรรม เข้าไว้ในแพลตฟอร์มเดียวกัน สิ่งที่น่าจับตามากกว่านั้น คือกลยุทธ์ One Platform หรือการผสานธุรกิจทั้ง 3 กลุ่มไว้เป็นหนึ่งเดียวจะทำให้ เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ประเทศไทย ก้าวสู่การเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำที่สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนได้อย่างไร เจาะลึกพอร์ตแสนล้าน หลังจากปิดดีลเรียบร้อยไปเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เท่ากับว่าปัจจุบัน เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ประเทศไทย ดำเนินการใน 3 ธุรกิจหลัก ได้แก่ เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ โฮม ดำเนินธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อที่อยู่อาศัยแนวราบ ในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และหัวเมืองใหญ่ พร้อมสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ด้วยการขยายไปยังจังหวัดต่างๆ ปัจจุบันอยู่ในอันดับ Top 5 ของประเทศสำหรับกลุ่มธุรกิจเพื่อที่อยู่อาศัย มีโครงการที่พักอาศัยคุณภาพสูงรวม      59 โครงการ มีมูลค่าสินทรัพย์รวม 70,000 ล้านบาท และมีรายได้ 9 เดือนแรกของปี 2563 รวม 11,100    ล้านบาท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ อินดัสเทรียล ดำเนินธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่ออุตสาหกรรมแบบครบวงจร    โดยโรงงานและคลังสินค้า มีทั้งแบบพร้อมให้เช่า (Ready-Built) และแบบสร้างตามความต้องการของลูกค้า (Built-to-Suit) บนทำเลที่ตั้งยุทธศาสตร์กว่า 50 ทำเล ปัจจุบันมีพื้นที่โรงงานรวม 1.2 ล้านตารางเมตร พื้นที่คลังสินค้ารวม 1.8 ล้านตารางเมตร คิดเป็นพื้นที่ภายใต้การบริหารจัดการรวม 3 ล้านตารางเมตร และมี  รายได้ 9 เดือนแรกของปี 2563 รวม 1,700 ล้านบาท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ คอมเมอร์เชียล อสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชยกรรม ประกอบด้วย อาคารสำนักงานให้เช่า รีเทล โรงแรม และเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ รวมถึงโครงการมิกซ์ยูส ปัจจุบันมีอาคารสำนักงานและโครงการมิกซ์ยูสรวม 5 แห่ง คิดเป็นพื้นที่รวม 240,000 ตารางเมตร และมีห้องในโรงแรม  และเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ จำนวน 1,100 ห้อง มีรายได้ 9 เดือนแรกของปี 2563 รวม 1,200 ล้านบาท นอกจากนี้ เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ประเทศไทย ยังเป็นผู้สนับสนุนและผู้จัดการกองทรัสต์เพื่อการลงทุน  ในอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่ออุตสาหกรรมเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ หรือ FTREIT ซึ่งเป็นกองทรัสต์อุตสาหกรรมและโลจิสติกส์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ภายใต้การจัดการ มากกว่า 42,000 ล้านบาท โดยมีประเภทของทรัพย์สินคือโรงงานและคลังสินค้ารวม 620 ยูนิต โดยได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือหรือเครดิตเรทติ้งที่ระดับ A/Stable ซึ่งถือว่าเป็นอันดับความน่าเชื่อถือที่สูงสุดสำหรับกองทรัสต์ในประเทศไทย
ธนพล ศิริธนชัย
ถอดรหัส 3 แต้มต่อจากการผนึกกำลัง การผนึกเป็น “One Platform” ช่วยสร้างแต้มต่อมากมายในโลกธุรกิจที่มีการแข่งขันอย่างรุนแรง เพื่อฉายภาพให้เห็น ธนพล ศิริธนชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (Country CEO) บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ชี้ 3 จุดแข็งที่จะเกิดขึ้น เพื่อยกระดับวงการอสังหาริมทรัพย์บ้านเรา อันดับแรกและสำคัญที่สุด คือ Diversification การรวมกันทำให้มีธุรกิจมีความหลากหลาย สามารถกระจายความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจได้มากขึ้น เพราะหากมีธุรกิจเพียงอย่างเดียว เมื่อเกิดวิกฤตอาจทำธุรกิจต้องหยุดชะงักได้ จากการขาดกระแสเงินสด ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ “ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ สิ่งสำคัญคือสภาพคล่อง ขาดเงินเหมือนเลือดหยุด ดังนั้นหากเรามีธุรกิจหลากหลาย จะสามารถต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มจากสินทรัพย์ต่างๆ ที่มีรายได้ประจำมากกว่าเพียงซื้อมาขายไป เช่น อาคารสำนักงานให้เช่าและคลังสินค้า แม้เกิดวิกฤตแต่ธุรกิจก็จะยังได้รับกระแสเงินสดจากค่าเช่า” ถัดมาคือ Synergy ข้อดีของการมีหลายธุรกิจ ทำให้สามารถนำประสบการณ์หรือข้อมูลที่เกิดขึ้นในแต่ละธุรกิจมาประมวลร่วมกัน เพื่อวิเคราะห์พฤติกรรมของผู้บริโภค และยังทำให้เกิด Economy of Scale สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายและเพิ่มอำนาจในการต่อรองได้ขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นการเพิ่มศักยภาพการเรียนรู้ที่หลากหลายให้กับพนักงานในองค์กร สุดท้าย คือ Resilience การบริหารจัดการที่มีความยืดหยุ่น และทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงและสถานการณ์ที่ท้าทายได้เป็นอย่างดี “ในช่วงที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้พิสูจน์ความสามารถด้านการบริหารจัดการ สะท้อนจากความสามารถในการสร้างผลงานอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกจากผลกระทบของโควิด-19 ตลอดจนการชะลอตัวทางเศรษฐกิจและความไม่แน่นอนทางการเมืองภายในประเทศ ปัจจุบันรายได้หลักของเรา    70-80% ยังมาจากธุรกิจที่ซื้อมาและขายไป เช่น ธุรกิจที่อยู่อาศัย ส่วนค่าเช่าจากธุรกิจสำนักงาน และ  คลังสินค้าอยู่ที่ 20-25% สวนทางกับบริษัทใหญ่ๆ ในต่างประเทศจะพบว่ารายได้หลัก 70-80% มาจากค่าเช่า ผมมองว่านั่นคือ End Game ที่บริษัทอสังหาริมทรัพย์ไทยอยากไปให้ถึง” ผู้นำอสังหาฯ ครบวงจร แพลตฟอร์มที่ยั่งยืน มองภาพรวมสถานการณ์ สำหรับแนวโน้มของตลาดอสังหาริมทรัพย์จากนี้ ธนพล เผยว่า ในส่วนของกลุ่มที่อยู่อาศัยแนวราบ ยังเป็นที่ต้องการในตลาด แต่ยังมีความท้าทายจากการมีคู่แข่งจำนวนมาก จึงต้องสร้างกลยุทธ์ที่แตกต่างในการดำเนินธุรกิจ สำหรับกลุ่มอินดัสเทรียล ยังมีทิศทางการเติบโตที่ดีและมีดีมานด์ในตลาด โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากเทรนด์อีคอมเมิร์ซที่เติบโตขึ้นมาก โดยเฉพาะในช่วงโควิดที่ผ่านมา นอกจากนี้ ธุรกิจต่างๆ    ยังมีแนวโน้มขยายการตั้งศูนย์กระจายสินค้าในประเทศต่างๆเพิ่มมากขึ้นเพื่อกระจายความเสี่ยงในการดำเนินงาน ส่งผลให้กลุ่มธุรกิจโรงงานและคลังสินค้าให้เช่าเติบโตตาม ส่วนกลุ่มคอมเมอร์เชียลและรีเทล  ได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อย โดยส่วนพื้นที่สำนักงานให้เช่ายังอยู่ในเกณฑ์ที่ดีเนื่องจากซัพพลายในตลาด  ยังไม่สูง ถึงแม้เทรนด์การทำงานจากที่บ้าน (Work from Home) จะสูงขึ้น แต่หลายองค์กรยังมีความจำเป็นในการมีสำนักงาน โดยอาจจะมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบจากที่มีที่นั่งประจำเป็นที่นั่งหมุนเวียน (Hot Seat) แทนเท่านั้น เชื่อว่าในช่วง 2-3 ปีนี้จะยังไปได้ดีอยู่