กรุงศรีต่อยอดธุรกรรมการเงิน ยกระดับระบบดิจิทัล ครอบคลุมทุกความต้องการ พร้อมดึงเครือข่าย MUFG ชิงผู้นำธุรกรรมระหว่างประเทศ
ธุรกรรมการเงิน คือ บริการรับ-จ่ายเงินให้กับลูกค้า (Transaction Banking) เป็นสิ่งที่อยู่รอบๆ ตัวทุกคน และเป็นสิ่งที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้งในระดับบุคคล องค์กร หรือภาครัฐ ดังนั้นการพัฒนาบริการธุรกรรมการเงินให้รุดหน้าและสอดคล้องกับพฤติกรรมจึงเป็นหนึ่งปัจจัยที่จะช่วยเป็นพลังสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจได้ในทุกระดับ ยิ่งลักษณ์ คงคาสัย ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านธุรกรรมการเงิน ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารที่ทำหน้าที่ดูแลบริการด้านธุรกรรมการเงินของกรุงศรี อธิบายว่า กรุงศรีมีบริการธุรกรรมการเงินดิจิทัลที่ทันสมัย ครบ แตกต่าง ครอบคลุมทั้งธุรกรรมในประเทศและระหว่างประเทศที่ตอบสนองความต้องการตามขนาดและประเภทธุรกิจของลูกค้า โดยกรุงศรีมีกลุ่มลูกค้าที่หลากหลายทั้งลูกค้ารายย่อย เอสเอ็มอี ธุรกิจรายใหญ่ และหน่วยงานภาครัฐ
“ด้วยพฤติกรรมและความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไป ธนาคารไม่ได้เพียงทำหน้าที่ให้บริการด้านเงินฝากและสินเชื่อกับลูกค้าทั่วไป หรือให้บริการรับ-จ่ายเงินกับลูกค้ารายใหญ่เท่านั้น แต่เราต้องยกระดับ ปรับตัว และนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อสร้างนวัตกรรมทางการเงินต่างๆ ขึ้น ธนาคารจะทำหน้าที่เสมือนเป็นกระดูกสันหลังให้กับลูกค้า เพื่อให้การรับ-จ่ายเงินของลูกค้าสะดวก มีข้อมูลทางบัญชีและภาษี มีการเชื่อมต่อกันแบบออนไลน์ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าและส่งมอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้กับลูกค้าทุกกลุ่มได้มากยิ่งขึ้น ทัดเทียมกับระดับสากลมากขึ้น”
ปัจจุบันมีลูกค้าทั้งบุคคลและลูกค้าธุรกิจที่ใช้บริการธุรกรรมการเงินผ่านช่องทางดิจิทัลของกรุงศรีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสำหรับลูกค้าบุคคลมีปริมาณเพิ่มขึ้น 131% จากปี 2561 และลูกค้าธุรกิจเพิ่มขึ้น 56% จากปี 2562 โดยสัดส่วนการใช้บริการช่องทางต่างๆ ของธนาคารก็ปรับเปลี่ยนไปอย่างสอดคล้องกัน
กรุงศรียังมีจุดแข็งชัดเจนจากการมี MUFG หนึ่งในกลุ่มสถาบันทางการเงินชั้นนำระดับโลกเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ ซึ่งถือเป็นการผสานพลังและความเชี่ยวชาญทั้งในประเทศและระดับโลกเข้าไว้ด้วยกัน ทำให้ธนาคารมีความได้เปรียบในเรื่องเครือข่าย ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญอย่างมืออาชีพ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ช่วยให้เกิดความได้เปรียบในการให้บริการธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศ สอดคล้องกับโลกไร้พรมแดนและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เคลื่อนที่ไปอย่างรวดเร็ว
ภายใต้ความมุ่งมั่นของธนาคารสู่เป้าหมายในการเป็น “สถาบันการเงินไทยที่เป็นที่หนึ่งในใจลูกค้า พร้อมเชื่อมโยงความต้องการของลูกค้าทั่วทั้งภูมิภาคอาเซียน” ตามแผนธุรกิจระยะกลาง 2564-2566 กรุงศรีมุ่งหวังจะเป็นธนาคารที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าทั่วทั้งภูมิภาค ไม่เพียงเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น การให้บริการธุรกรรมทางการเงินถือเป็นส่วนสำคัญที่จะผลักดันให้ความมุ่งหวังนี้เกิดขึ้นได้ เปรียบเสมือนพันธมิตรที่ช่วยทำให้การบริหารจัดการธุรกรรมทางการเงินของลูกค้าเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะส่งผลเป็นสภาพคล่องทางการเงินในที่สุด ยิ่งลักษณ์กล่าว
สำหรับยุทธศาสตร์การให้บริการธุรกรรมทางการเงิน ประกอบด้วย การปรับตัวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลง ทั้งด้านพฤติกรรมการชำระเงินและเทรนด์ต่างๆ ของโลก ซึ่งปัจจัยต่างๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค กฎระเบียบและกติกาต่างๆ ของภาครัฐ แนวโน้มการขยายตัวของธุรกิจไปสู่ภูมิภาค อีกทั้งวิถีการใช้จ่ายในยุคปัจจุบัน ทำให้ธนาคารต้องไม่หยุดนิ่ง และปรับรูปแบบการให้บริการให้สอดรับกับเทรนด์ต่างๆ อย่างเหมาะสม
“เราไม่สามารถให้บริการแบบเก่าได้ และต้องก้าวข้ามสิ่งเดิมๆ มุ่งสู่การเป็นผู้ให้บริการที่นอกเหนือไปจากธุรกิจธนาคารในอดีต เรายังสร้างรากฐานการให้บริการที่แข็งแกร่งเพื่อก้าวย่างที่มั่นคงในอนาคต โดยกำหนด 3 เป้าหมาย คือ 1.ทันสมัย คือเราจะนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาให้บริการการรับ-จ่ายเงินทั้งในและระหว่างประเทศ 2.ครบ เราต้องให้บริการที่ตรงกับความต้องการที่แตกต่างของลูกค้าทุกกลุ่ม และ 3.แตกต่าง เน้นสร้างคุณค่าที่โดดเด่นและแตกต่างโดยร่วมมือกับ MUFG และธนาคารพันธมิตร” ยิ่งลักษณ์กล่าว
นิลวรรณ จีระบุญ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานพัฒนาผลิตภัณฑ์ธุรกรรมการเงิน กล่าวว่า ในปีนี้ธนาคารยังคงเดินหน้าพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การทำธุรกรรมของลูกค้าทั้งการซื้อของหน้าร้านหรือช่องทางออนไลน์ต่างๆ สมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยในปีที่ผ่านมากรุงศรีได้นำเทคโนโลยี API เข้ามาเป็นตัวช่วย ทำให้การแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างลูกค้าและธนาคารมีความสะดวก รวดเร็วแบบเรียลไทม์ และปลอดภัยมากขึ้น ลูกค้าบุคคลก็สามารถทำธุรกรรมในชีวิตประจำวันได้ด้วยสมาร์ทโฟน เช่น การเติมเงิน การจ่ายบิล ออนไลน์ช้อปปิ้ง นอกจากนี้ การโอนเงินไปต่างประเทศก็สามารถทำผ่านโมบายแบงก์กิ้งได้ทันที ส่วนลูกค้าที่เป็นเจ้าของกิจการ กรุงศรีได้เปิดตัว“กรุงศรี มั่งมี ช้อป” แอปพลิเคชั่นใหม่สำหรับร้านค้าที่เป็นลูกค้าบุคคลตัวช่วยในการรับชำระเงินด้วย QR Code ซึ่งลูกค้าสามารถเปิดใช้บริการและสร้างร้านค้าผ่านมือถือได้ทันทีโดยไม่ต้องมาใช้บริการที่สาขา
“สำหรับลูกค้าธุรกิจ เราได้ปฏิรูปจากการให้บริการผ่านช่องทางของธนาคารสู่การเชื่อมต่อตรงกับระบบของลูกค้า ซึ่งช่วยลูกค้าลดการทำงานที่ซ้ำซ้อน ลดปริมาณเอกสาร ไม่ต้องคอยตรวจเช็ค เพราะทุกกิจกรรมจะเชื่อมต่อเสมือนเป็นระบบเดียว เกิด Seamless Customer Journey ทุกกิจกรรมเป็นแบบเรียลไทม์และ Paperless”
นอกจากนี้ การมีเครือข่ายของ MUFG อยู่ในกว่า 50 ประเทศทั่วโลก และมีธนาคารพันธมิตรที่แข็งแกร่งในภูมิภาคอาเซียน ทำให้ธนาคารสามารถให้บริการที่แตกต่างในด้านการให้คำปรึกษา ในกรณีที่ลูกค้าต้องการลงทุนในต่างประเทศ หรือหาคู่ค้าในต่างประเทศ
“ในการสร้างประสบการณ์ที่ดียิ่งขึ้นให้กับลูกค้า เราจะเน้นใน 2 เรื่อง คือ Digitize และ Simplify” นิลวรรรณกล่าว “Digitize คือ การทำให้ทุกอย่างอยู่ในระบบดิจิทัลและต้องอยู่ในแพลตฟอร์มเดียว เพื่อให้ลูกค้าสามารถใช้งานได้สะดวก ทุกที่ ทุกเวลา ส่วน Simplify คือ การลดกิจกรรมที่ต้องทำซ้ำซ้อน เช่น การขอเอกสาร ทำให้สามารถเริ่มใช้งานได้ง่าย ลดปริมาณเอกสารและลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็นต่างๆ”
ทั้งนี้ ธนาคารมุ่งมั่นที่จะให้บริการที่ทันสมัย ครบ และแตกต่างเพื่อให้ลูกค้าบุคคลได้รับบริการที่มีความคล่องตัวมากขึ้น หมดกังวลกับการใช้เงินสด ไม่ว่าจะเป็นการใช้จ่ายในประเทศหรือต่างประเทศ ขณะที่ลูกค้าธุรกิจ นอกจากจะได้รับความสะดวกและคล่องตัว สอดรับกับพฤติกรรมการค้าทั้งในและต่างประเทศที่เปลี่ยนแปลงไปแบบ New normal แล้ว การจัดการต้นทุนและเวลาจะต้องเกิดประสิทธิภาพมากขึ้น และมีข้อมูลทางการเงินพร้อมสำหรับการตัดสินใจที่แม่นยำยิ่งขึ้นอีกด้วย