บีโอไอ เร่งดึงทุนนวัตกรรม-เทคโนโลยีขั้นสูง เพิ่มสิทธิยกเว้นภาษี ‘เซมิคอนดักเตอร์-ดิจิทัล-บรรจุภัณฑ์อัจฉริยะ’
บอร์ดบีโอไอเร่งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ปรับปรุงนโยบายเพิ่มสิทธิประโยชน์จูงใจให้เกิดกิจกรรมวิจัยพัฒนาและการฝึกอบรม อีกทั้งเร่งรัดการลงทุนในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ซึ่งกำลังขยายตัวหนุนอุตสาหกรรมดิจิทัล มุ่งสร้างบุคลากรด้านไอที พร้อมเปิดส่งเสริมประเภทกิจการใหม่ด้านบรรจุภัณฑ์อัจฉริยะ รองรับการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตามแนวคิด BCG
นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ เปิดเผยว่า วันนี้ (30 มิถุนายน 2564) ที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้พิจารณาเห็นชอบการปรับปรุงมาตรการและประเภทกิจการการส่งเสริมการลงทุนในหลายมาตรการ เพื่อเร่งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ดังนี้
ปรับปรุงสิทธิและประโยชน์เพิ่มเติมตามคุณค่าของโครงการ (Merit-based Incentives) เพื่อพัฒนาความสามารถในการแข่งขันในหลายประเด็น ได้แก่ 1.กรณีที่มีการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา (R&D) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 1 ของยอดขายรวม 3 ปีแรก หรือไม่น้อยกว่า 200 ล้านบาท นอกจากจะได้จำนวนปียกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มขึ้นอีกไม่เกิน 5 ปี ตามขนาดการลงทุนและค่าใช้จ่ายด้านวิจัยและพัฒนาแล้ว ยังไม่กำหนดเพดานการยกเว้นภาษีเงินได้อีกด้วย 2.ยังเพิ่มวงเงินยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็น 2 เท่า สำหรับกรณีที่มีการลงทุนเพิ่มในการฝึกอบรม หรือฝึกการทำงานเพื่อพัฒนาทักษะเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้กับนักศึกษาที่อยู่ระหว่างการศึกษาในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อจูงใจให้ผู้ประกอบการเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาคนมากขึ้น 3.กรณีที่เงินลงทุนหรือค่าใช้จ่ายที่เข้าข่าย เช่น วิจัยพัฒนา ฝึกอบรม ออกแบบ และพัฒนา Supplier ไม่ถึงเกณฑ์ขั้นต่ำ ก็ยังจะได้รับวงเงินยกเว้นภาษีเงินได้เพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วนตามเงินลงทุนหรือค่าใช้จ่ายเหล่านี้
เพื่อสนับสนุนให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมต้นน้ำของอิเล็กทรอนิกส์ บีโอไอได้ปรับปรุงการส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมการผลิตเวเฟอร์ที่ใช้เงินลงทุนสูง และใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูง โดยเพิ่มสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 10 ปี นอกจากนี้ เพื่อเร่งดึงการลงทุนจากต่างประเทศรายใหม่และสนับสนุนการขยายฐานการผลิตของรายเดิมในกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์หรืออุปกรณ์สารกึ่งตัวนำ และแผ่นวงจรพิมพ์ (PCB) ที่ความต้องการของตลาดมีแนวโน้มไปสู่รุ่นที่มีความซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งใช้เทคโนโลยีการผลิตและเงินลงทุนสูง และเป็นสายการผลิตแบบอัตโนมัติ จึงได้ปรับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุดเป็น 8 ปี ทั้งนี้ จะต้องมีการลงทุนค่าเครื่องจักรอย่างน้อย 1,500 ล้านบาทขึ้นไป ส่วนอุตสาหกรรม PCBA ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมต่อเนื่องก็ได้ปรับสิทธิประโยชน์สำหรับโครงการที่มีเงินลงทุนค่าเครื่องจักรอย่างน้อย 500 ล้านบาท
ปรับปรุงประเภทกิจการ เงื่อนไขและสิทธิประโยชน์อุตสาหกรรมดิจิทัล เพื่อสร้างความยืดหยุ่นและรวดเร็วในการให้การส่งเสริมฯ มุ่งให้เกิดการสร้างบุคลากรไทยด้านไอที และสร้างให้เกิดกระบวนการพัฒนาในประเทศ บีโอไอจึงได้ปรับปรุงเงื่อนไขและสิทธิประโยชน์ของประเภทกิจการซอฟต์แวร์ กิจการให้บริการเทคโนโลยีดิจิทัลและกิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ใหม่ โดยยุบรวมประเภทกิจการให้เหลือเพียง 1 ประเภท ได้แก่ กิจการพัฒนาซอฟต์แวร์ แพลตฟอร์มเพื่อให้บริการดิจิทัล หรือดิจิทัลคอนเทนต์ เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นในการให้การส่งเสริมฯ และตอบสนองรูปแบบธุรกิจที่มีความหลากหลาย อีกทั้งยังเพิ่มสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี โดยมีเงื่อนไขต้องจ้างงานและพัฒนาบุคลากรไทยด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (ไอที) หรือได้รับใบรับรองมาตรฐานด้านไอที (CMMI ระดับ 2) ซึ่งจะช่วยยกระดับผู้ประกอบการสามารถพัฒนาและให้บริการในระดับนานาชาติ
ยกระดับการส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ โดยเพิ่มประเภทกิจการกลุ่มบรรจุภัณฑ์อัจฉริยะ (Smart Packaging) ซึ่งเป็นการนำบรรจุภัณฑ์ทั่วไปมาพัฒนาต่อยอดกับเทคโนโลยีด้านต่างๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น เช่น ช่วยรักษาคุณภาพอาหาร ยืดอายุการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ การบ่งชี้คุณสมบัติผลิตภัณฑ์ภายในบรรจุภัณฑ์ หรือมีระบบที่สามารถตรวจติดตาม บันทึก สืบค้น สภาวะของผลิตภัณฑ์ในภาชนะบรรจุ เป็นต้น โดยให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 8 ปี
นอกจากนี้ เพื่อให้สอดรับกับทิศทางอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ในอนาคตตามแนวคิด BCG และรองรับเทคโนโลยีใหม่ บีโอไอได้ปรับปรุงสิทธิและประโยชน์ในกลุ่มวัตถุดิบสำหรับผลิตบรรจุภัณฑ์ ได้แก่ เม็ดพลาสติกรีไซเคิลเกรดพิเศษ คอมพาวด์พลาสติกชนิดพิเศษ รวมถึงการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ต่อเนื่อง โดยให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีเงินได้นิติบุคคล 5 - 8 ปี อีกทั้งยังขยายให้ครอบคลุมถึงบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่มีคุณสมบัติพิเศษและบรรจุภัณฑ์กระดาษ และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง
ปรับเงื่อนไขในการส่งเสริมการลงทุนกิจการศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ (International Business Center: IBC) และกิจการสนับสนุนการค้าและการลงทุน (Trade and Investment Support Office: TISO) โดยเพิ่มขอบข่ายให้ครอบคลุมการให้กู้ยืมเงินแก่วิสาหกิจในเครือ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุน ให้เกิดความคล่องตัวในการให้บริการแก่วิสาหกิจในเครือทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศในการให้บริการแก่วิสาหกิจในเครือ
การปรับปรุงมาตรการและประเภทกิจการการส่งเสริมการลงทุนต่างๆ ของบอร์ดบีโอไอครั้งนี้ จะมีส่วนช่วยเร่งการวิจัยและพัฒนา การพัฒนาบุคลากร และดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมและบริการที่ใช้นวัตกรรม เทคโนโลยีที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูง ตลอดจนการลงทุนตามแนวทาง BCG ให้เพิ่มขึ้น เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเหล่านี้ให้ก้าวหน้าอย่างรวดเร็วและเป็นรูปธรรม ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และยกระดับอุตสาหกรรมในประเทศเพื่อเป็นแหล่งรองรับการลงทุนในภูมิภาค” เลขาธิการบีโอไอกล่าว
TAGGED ON