แอสเซท พลัส ชู BLOCKCHAIN-DIGITAL ASSET ดาวเด่นปี 2565 เปิดตัวกองทุน ASP-DIGIBLOC เน้นอีโคซิสเต็มเทคโนโลยี Blockchain - Forbes Thailand

แอสเซท พลัส ชู BLOCKCHAIN-DIGITAL ASSET ดาวเด่นปี 2565 เปิดตัวกองทุน ASP-DIGIBLOC เน้นอีโคซิสเต็มเทคโนโลยี Blockchain

แอสเซท พลัส ชี้เทรนด์การลงทุน สินทรัพย์เสี่ยงยังเติบโตต่อเนื่อง ปักหมุด “บล็อกเชนดิจิทัลแอสเซท”    สองดาวเด่นปี 2565 พร้อมเปิดตัว กองทุน ASP-DIGIBLOC เน้นลงทุนในบริษัทและธุรกิจในอีโคซิสเต็มของบล็อกเชน เกาะกระแสคริปโตเคอร์เรนซีบูม คมสัน ผลานุสนธิ กรรมการบริหาร ประธาน เจ้าหน้าที่สายงานการตลาดและผลิตภัณฑ์ บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุน แอสเซท พลัส จํากัด กล่าวว่า สินทรัพย์เสี่ยงยังคงให้ผลตอบแทนดี สําหรับการลงทุนในปี 2565 โดยเฉพาะหุ้น แม้ไม่สูงเท่าปี 2564 ซึ่งสร้างผลตอบแทนได้กว่า 20% โดยในปี 2565 อาจเห็นการปรับฐานของหุ้น ซึ่งน่าจะสร้างผลตอบแทนได้ประมาณ 10% โดยหนึ่งในธีมการลงทุนหลักปี 2565 นอกจาก Climate Change แล้ว สินทรัพย์ดิจิทัลและบล็อกเชนจะเป็นอีกหนึ่งธีมหลัก ซึ่งสินทรัพย์ที่สร้างผลตอบแทนที่ดีที่สุดในปี 2564 คือ คริปโตเคอร์เรนซีหรือสกุลเงินดิจิทัลอย่าง Bitcoin “แม้ราคา Bitcoin มีการปรับฐานลงมาในช่วงปลายปี 2564 แต่เป็นการปรับลงในช่วงสั้นๆ และขึ้นต่อ ทําให้ราคาโดยรวมยังบวกเกือบ 70% ส่วน Ethereum และตัวหลักๆ มีการปรับราคาขึ้นถึง 3-4 เท่า ซึ่งการปรับฐานในช่วงปลายปีต่างจากการปรับฐานเมื่อกลางปี เพราะหลายคนมีความเชื่อมั่นมากขึ้นในการใช้ความ  จําเป็นและความนิยมของคริปโต” ในปี 2564 ตลาดคริปโตขยายตัวสูงถึง 4 เท่า เมื่อเทียบกับปี 2563 โดยมีมูลค่ารวม 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และมีผู้ใช้งานทั้งหมด 200 ล้านคนทั่วโลก คิดเป็น 2.5% ของประชากรทั่วโลก จํานวน 8 พันล้านคน ธุรกรรมของ Bitcoin มีมูลค่า 4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ โดยในปี 2563 มีการขยายตัวกว่า 300% Ethereum มีมูลค่าธุรกรรมอีก 4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ เติบโต 500% เมื่อเทียบกับ PayPal ที่มีมูลค่า 9 แสนล้านเหรียญสหรัฐ และเติบโต 50% เท่านั้น ถือว่าคริปโตมีขนาดใหญ่กว่า PayPal ถึง 4 เท่าในช่วงเวลาสั้นๆ และเมื่อเทียบกับ Visa ที่เป็นระบบการเงินเก่า มีการเติบโตเพียง 10% และแม้จะมีมูลค่าถึง 13 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ แต่เชื่อว่า Bitcoin จะแซงหน้า Visa ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ คมสันกล่าว นอกจากคริปโต สินทรัพย์ดิจิทัลอีกประเภท คือ ดิจิทัลโทเคน ซึ่งมี 2 ประเภท คือ โทเคนเพื่อการลงทุน (Investment Token) ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อกําหนดสิทธิในการร่วมลงทุน เช่น สิทธิในส่วนแบ่งรายได้หรือสิทธิในผลกำไรจากการลงทุน และโทเคนเพื่อการใช้ประโยชน์ (Utility Token) ที่สร้างขึ้นเพื่อกำหนดสิทธิในการได้รับสินค้าและบริการที่เฉพาะเจาะจง เช่น บัตรโดยสารรถไฟฟ้า คูปองในศูนย์อาหารหรือชิปในคาสิโน โดยแกนหลักที่ทําให้สินทรัพย์ดิจิทัลเติบโตอย่างรวดเร็วและกลายเป็นสินทรัพย์ด้านการลงทุนที่ได้รับความนิยมแพร่หลาย คือ เทคโนโลยีบล็อกเชน “บล็อกเชนและสินทรัพย์ดิจิทัลยังอยู่ในยุคที่เพิ่งเริ่มต้น แต่โดยพื้นฐานบล็อกเชนเป็นเทคโนโลยีที่ดีมาก สามารถแก้ปัญหาต่างๆ ได้ เพราะเป็นระบบประมวลผลและจัดเก็บข้อมูล แบบกระจายศูนย์ ข้อมูลจะถูกเก็บเป็นบล็อกๆ แต่ละบล็อกเชื่อมต่อกัน และไม่สามารถแก้ไขของเดิมได้ โดยข้อมูลที่ถูกบันทึกในระบบบล็อกเชนทําการเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ยาก CAGR ทําให้ช่วยเพิ่มความถูกต้องและความน่าเชื่อถือของข้อมูล ถือเป็นจุดเปลี่ยนสําคัญทั้งในโลกธุรกิจและการดําเนินชีวิตของมนุษย์ต่อไปในอนาคต” ปัจจุบัน บล็อกเชนไม่ได้ถูกใช้แค่ในอุตสาหกรรมการเงินเท่านั้น แต่สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในหลากหลายวงการ เช่น การทำสัญญา Smart Contract ทำให้ตรวจสอบรายละเอียดต่างๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นคู่สัญญาและเงื่อนไขต่างๆ ทำให้สะดวกและปลอดภัย ในระบบซัพพลายเชนหรือธุรกิจค้าปลีก สามารถตรวจสอบราคา วันที่ผลิต สถานที่จัดส่ง คุณภาพสินค้าหรือข้อมูลต่างๆ ได้ อุตสาหกรรมอาหารนำบล็อกเชนไปใช้เพื่อตรวจสอบที่มาของอาหาร กระบวนการผลิตไปจนถึงมือผู้บริโภค เป็นการช่วยยกระดับมาตรฐานของอาหารในธุรกิจท่องเที่ยว บล็อกเชนป้องกันการแฮกข้อมูลส่วนบุคคล และตัดตัวกลางในการค้าขายสินค้าและบริการ ทำให้ค่าใช้จ่ายลดลง หรือในวงการแพทย์ สามารถเรียกดูประวัติคนไข้ต่างโรงพยาบาลหรือต่างแผนกได้ ธุรกิจพลังงานสามารถติดตามข้อมูลการผลิต การใช้และแลกเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์ และยังช่วยให้ผู้ซื้อกับผู้ขายสามารถซื้อขายกันได้โดยตรง สำหรับธุรกิจประกัน บล็อกเชนช่วยในการโอนสินทรัพย์ออนไลน์ และสามารถนำ Smart Contract มาใช้ได้ สถาบันการศึกษาต่างๆ สามารถใช้ฐานข้อมูลเดียวกันและแชร์ข้อมูลระหว่างกัน ขณะที่ภาครัฐสามารถใช้บล็อกเชนเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคล วางแผนโครงสร้างพื้นฐาน หรือแม้แต่การเลือกตั้ง ซึ่งสามารถป้องกันการโกงเลือกตั้งได้ ผลวิจัยจาก ResearchGate ชี้ว่าปัจจุบันธุรกิจ Blockchain มีมูลค่ากว่า 38,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และจะเติบโตขึ้นเป็น 360,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2026 หรือคิดเป็นอัตราการเติบโต 57% ต่อปี และคาดว่าจะเติบโตถึง 3,160,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2030 หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตที่เร่งขึ้นกว่า 72% ต่อปี จากการศึกษาศักยภาพการเติบโตของธุรกิจเทคโนโลยีบล็อคเชน แอสเซท พลัส มองเห็นโอกาส จึงเปิดตัวกองทุน ASP-DIGIBLOC ที่ได้ประโยชน์จากการเติบโตของกลุ่มนี้ และเพิ่มโอกาสให้ผู้ลงทุนที่สนใจในสินทรัพย์ดิจิทัลแต่ไม่ต้องการลงทุนตรง เนื่องจากความกังวลเรื่องความผันผวนของราคาและความซับซ้อนของระบบ โดยจะลงทุนสัดส่วน 75% ในกองทุนของ VanEck Digital TransformationETF (Exchange Traded Fund) ซึ่งลงทุนในบริษัทที่อยู่ในธุรกิจบล็อกเชนและสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งมีตั้งแต่ทำเหมืองขุดสินทรัพย์ดิจิทัล ตลาดซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล ระบบแบงก์กิ้งที่เชื่อมโลกคริปโตกับโลกการเงิน ฮาร์ดแวร์ อุปกรณ์ต่างๆ เช่น การ์ดจอ ซอฟต์แวร์ ธุรกิจชำระเงินออนไลน์ และบริษัทที่ลงทุนซื้อคริปโตโดยตรง ขณะที่สัดส่วนอีก 25% ทางกองทุน ASP-DIGIBLOC จะเลือกลงทุนในหุ้นของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีบล็อกเชนและสินทรัพย์ดิจิทัล สัดส่วนการลงทุนสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามดุลพินิจของผู้จัดการกองทุน โดยกองยังมีให้เลือกลงทุนแบบ RMF และ SSF เพื่อตอบโจทย์ผู้ที่ต้องการลดภาษีเงินได้ “การมาของบล็อกเชนและสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นเรื่องใหญ่พอๆ กับการมาของอินเทอร์เน็ตเมื่อ 30 ปีก่อน แต่ที่ต่างกันคือ บล็อกเชนและสินทรัพย์ดิจิทัลเกี่ยวข้องกับเรื่องการเงิน จึงต้องมีการกำกับดูแลโดยหน่วยงานรัฐ ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อการจัดเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์ที่เป็นหัวใจของบล็อกเชน เราจึงต้องหาจุดสมดุล” “บล็อกเชนกำลังอยู่ในจุดเริ่มต้นของวงจรธุรกิจ ซึ่งกินเวลาอีกอย่างน้อย 20-30 ปีข้างหน้า โอกาสจึงมีมหาศาล” คมสันกล่าวทิ้งท้าย