การระบาดของไวรัสโคโรนาทำให้ผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตโควิด-19 ได้รับความสนใจอย่างล้นหลามแสดงให้เห็นว่าคนไทยจำนวนไม่น้อยตระหนักถึงความสำคัญของการมีหลักประกันให้กับตนเอง หรือคนในครอบครัวหากเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้น
สอดคล้องกับหลักคิดของ ไชย ไชยวรรณ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยประกันชีวิตจำกัด (มหาชน) ที่บอกว่าแก่นแท้ของการทำธุรกิจประกันชีวิตคือคุณค่าแห่งความรัก (value of love) ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ของ core value ของบริษัทอีก 2 ส่วนคือ คุณค่าของความเป็นมนุษย์ (value of people) และคุณค่าของชีวิต (value of life) “คุณค่าแห่งความรักเป็นแก่นแท้ของการทำธุรกิจประกันชีวิต ประกันชีวิตไม่ใช่แค่การคุ้มครอง หรือออมทรัพย์ ทำไมคนถึงซื้อประกันชีวิตทั้งที่ไม่อยากใช้ เพราะเขารักตนเอง ต้องการความคุ้มครองด้านสุขภาพ ต้องการออมทรัพย์ระยะยาว ทำให้มีความมั่นคง หรือซื้อเพื่อเป็นหลักประกันให้กับคนที่รักเมื่อเขาไม่อยู่แล้ว แก่นแท้คือเพื่อคนที่อยู่ข้างหลัง คนที่ได้รับประโยชน์ เช่น หัวหน้าครอบครัวซื้อไว้เพื่อให้ลูกได้มีหลักประกัน ได้เรียนจบ มันคือความรักความทรงจำ” นายใหญ่ของไทยประกันชีวิตขยายความถึงคุณค่าทางจิตใจ ซึ่งไม่อาจประเมินเป็นตัวเลขได้ เป็น “สาร” สำคัญที่ไทยประกันชีวิตสื่อถึงลูกค้าคนไทยมาโดยตลอด ผ่านงานโฆษณาชิ้นต่างๆ ไทยประกันชีวิตเป็นบริษัทประกันชีวิตแห่งแรกของคนไทย ก่อตั้งขึ้นในปี 2485 โดยมีเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ (จิตร ณ สงขลา) เป็นประธานกรรมการปี 2513 วานิช ไชยวรรณ บิดาของไชยได้เข้าซื้อกิจการ ซึ่งขณะนั้นยังอยู่ในลำดับท้ายๆ ของธุรกิจประเภทเดียวกัน อีก 12 ปี ต่อมาไชยจึงเข้ามาบริหารงาน กิจการเจริญเติบโตตามลำดับ ช่วงปี 2526-2529 ก้าวขึ้นสู่อันดับ 1 ของบริษัทประกันชีวิตคนไทย ในปี 2562 ยังครองตำแหน่งดังกล่าว และเป็นอันดับ 2 ของธุรกิจประกันชีวิต (รองจากกลุ่มบริษัท เอไอเอ จำกัด) ปี 2545 บริษัทได้กำหนด brand positioning ว่า เป็นบริษัทคนไทยในระดับสากล มีมาตรฐานการดำเนินธุรกิจทัดเทียมบริษัทข้ามชาติ ปี 2562 ประกาศ reinvent business model สู่การเป็นทุกคำตอบของชีวิต หรือ life solutions ด้วยการส่งมอบสุขภาพที่ดี (healthier) ความมั่งคั่ง (wealthier) และชีวิตที่ยืนยาว (better lives) ให้กับลูกค้าและคนไทย ผลการดำเนินงานของบริษัทในปี 2562 มีเบี้ยประกันภัยรับปีแรก 1.9 หมื่นล้านบาท เติบโต 21% เบี้ยประกันภัยรับชำระครั้งเดียว 8.3 พันล้านบาท ลดลง 5% เบี้ยประกันภัยรับปีต่อไป 6.5 หมื่นล้านบาท อัตราความคงอยู่ของกรมธรรม์ 83% เบี้ยประกันภัยรับรวม 9.2 หมื่นล้านบาท เติบโต 7% มีรายได้จากการลงทุน 1.6 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 13% สินทรัพย์สุทธิ 4.6 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% และเงินสำรองประกันชีวิต 3.4 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 9% ทั้งนี้ ในปี 2563 บริษัทตั้งเป้าเบี้ยประกันภัยรับจากธุรกิจใหม่ผ่านช่องทางตัวแทน 1.6 หมื่นล้านบาท เติบโต 15% ตัวเลขจากสมาคมประกันชีวิตไทยระบุว่าธุรกิจประกันชีวิตปี 2562 มีเบี้ยประกันภัยรับรวม 6.11 แสนล้านบาท เติบโตลดลง 2.63% และคาดว่าปี 2563 จะมีเบี้ยประกันภัยรับรวม 6.1 แสนล้านบาท โควิด-19 ส่งผลต่อภาคธุรกิจถ้วนหน้าในส่วนของ บมจ. ไทยประกันชีวิต มีแนวทางคือ lean process ลดต้นทุน ลดกระบวนการทำงาน ใช้คนให้น้อยลง เพิ่มประสิทธิภาพงาน ให้พนักงานพัฒนาทักษะเพิ่มเติมเพื่อทำงานได้หลากหลาย เช่น ตัวแทนคุยงานกับลูกค้าผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ และ customize ผลิตภัณฑ์มากขึ้น เพิ่มช่องทางการขายใหม่ๆ ไชยกล่าวว่า เมื่อเกิดวิกฤตผู้นำต้องมุ่งความสนใจไปยังปัญหาอย่างมีเป้าหมายรับรู้ถึงสิ่งที่เกิดขึ้น ต้องรู้จักตนเอง รู้จุดแข็งจุดอ่อนขององค์กรตัวเองและว่า จุดแข็งของไทยประกันชีวิตคือ “คน” ไม่ว่าจะเกิดวิกฤตครั้งใด บริษัทไม่เคยให้พนักงานออกคราวที่เกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง บริษัทประกาศเพียงว่าไม่มีโบนัสและไม่มีการปรับเงินเดือน สำหรับเหตุการณ์ครั้งนี้ นายใหญ่ของไทยประกันชีวิตมองในแง่ดีว่า เป็นโอกาสให้พนักงานได้พัฒนาทักษะเพิ่มขึ้น “ผมมองว่าวิกฤตเป็นโอกาส ทำให้พนักงานเรา upskill, reskill และเป็นโอกาสในการสร้างลายเซ็นของเราขึ้นมาใหม่ เราไม่ได้มองพนักงานในองค์กรเหมือนเป็นเครื่องมือในการหาเงิน แต่ดูแลเหมือนคนในครอบครัวไม่ว่าเกิดวิกฤตใดจะขับเคลื่อนให้ทุกฝ่ายฝ่าไปได้...กุญแจแห่งความสำเร็จของธุรกิจคือคนในองค์กร” ผู้บริหารไทยประกันชีวิตย้ำบ่อยครั้งว่า “คน” คือทรัพยากรและทรัพย์สินที่มีค่าเป็นปัจจัยที่ผลักดันให้บริษัทที่แต่เดิมมีขนาดเล็กสุด กลายเป็นบริษัทประกันชีวิตไทยชั้นนำในปัจจุบัน จากเดิมที่ผู้บริโภคคนไทยเชื่อมั่นแต่แบรนด์ต่างประเทศ ทว่ามาวันนี้ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า แบรนด์ไทยไม่ด้อยไปกว่าแบรนด์ต่างประเทศ และในปีที่ผ่านมาบริษัทมุ่งสร้างดีเอ็นเอให้ไทยประกันชีวิตเป็นทุกคำตอบของการประกันชีวิต หรือ life solutions เป็นเพื่อนคู่คิดที่อยู่เคียงข้างลูกค้าในทุกช่วงชีวิต โดยฝ่ายขายต้องเป็น life partner และ financial partner ที่ดูแลชีวิต สุขภาพและการเงินให้ลูกค้าอย่างรอบด้าน “ผมทำให้เขาเห็นว่า การตื่นมาทุกเช้าและได้ดูแลชีวิตคนอื่น ทำให้ตัวเขามีคุณค่า ตรงนี้ทำให้ไทยประกันชีวิตเป็นที่ 1 ในใจทุกคน” ในส่วนของการพัฒนาผลิตภัณฑ์จะยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง (customer centric) โดยพัฒนาแบบประกันกลุ่ม life solutions product เพื่อสร้างหลักประกันที่มั่นคง และวางแผนชีวิตให้ลูกค้าในทุกช่วงของชีวิตประกอบด้วยแบบประกัน 5 กลุ่ม คือ money fit การวางแผนด้านการเงิน investment fit การวางแผนการลงทุนที่คุ้มค่าและได้ผลตอบแทนที่ดี legacy fit การสร้างกองทุนมรดกเพื่อครอบครัว หรือการออมเพื่อการศึกษาบุตร life fit การสร้างหลักประกันคุ้มครองชีวิตและสุขภาพ และ health fit สัญญาเพิ่มเติมการคุ้มครองสุขภาพ ค่ารักษาพยาบาล และโรคร้ายแรง ทั้งหมดนี้ทำให้ไทยประกันชีวิต บริษัทประกันชีวิตของคนไทยเติบโตอย่างสวนกระแสในปีที่ผ่านมา และมีอายุย่างเข้าสู่ปีที่ 78 กึ่งศตวรรษ ภายใต้การบริหารของตระกูลไชยวรรณคลิกอ่านฉบับเต็ม Special Report – 7 ผู้นำธุรกิจ 7 เทรนด์เซตเตอร์ ได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนมิถุนายน 2563 ในรูปแบบ e-magazine