บริษัท ธนพิริยะ จำกัด (มหาชน) (TNP) บริษัทค้าปลีกภูธรที่ไม่ธรรมดา จากจุดเริ่มต้นเป็นร้านขายของชำแผงลอยในเทศบาลเชียงรายภายใต้ชื่อ "โง้วทองชัย" ของตระกูลพุฒิพิริยะ ตั้งแต่ปี 2508 มาวันนี้ได้แตกกิ่งก้านสาขาออกไปพื้นที่ใกล้เคียงและมีรายได้ทะลุพันล้านบาท
สมรภูมิธุรกิจค้าปลีกอันดุเดือดที่มีผู้เล่นเงินหนามากราย แต่แทบไม่น่าเชื่อเลยว่า TNP เจ้าของร้านค้าปลีกภูธร ภายใต้ชื่อ “ธนพิริยะ” สามารถยืนหยัดฝ่าฟันกับบรรดาคู่แข่งจนอยู่ได้ถึงวันนี้ และที่น่าทึ่งมากไปกว่านั้นคือ สามารถขยายสาขาออกจากพื้นที่เชียงรายบ้านเกิดไปสู่จังหวัดใกล้เคียงเพื่อสร้างการเติบโต ปัจจุบันบริษัทประกอบการค้าปลีกและค้าส่งสินค้าอุปโภคบริโภคที่ไม่รวมอาหารสดตามข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยระบุว่า ในปี 2564 บริษัทมีรายได้รวม 2,638.33 ล้านบาท กำไรสุทธิ 192.10 ล้านบาท โดยรายได้ 96.2% มาจากรายได้จากสาขา และ 3.8% ที่เหลือมาจากรายได้จากค้าส่งสำนักงานใหญ่ ขณะที่ปี 2563 มีรายได้รวม 2,208.29 ล้านบาท กำไรสุทธิ 133.86 ล้านบาท โดย ณ วันที่ 29 เมษายน ปี 2565 บริษัทมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดอยู่ที่ 4,040 ล้านบาท ขณะที่จำนวนสาขา ณ สิ้นปี 2564 รายงานประจำปีของบริษัทระบุว่า มีจำนวนทั้งสิ้น 38 สาขา แบ่งเป็นซูเปอร์มาร์เก็ต 37 สาขา และศูนย์ค้าส่ง 1 สาขา โดยตั้งอยู่ในจังหวัดเชียงราย 30 สาขา จังหวัดพะเยา 5 สาขา และจังหวัดเชียงใหม่ 3 สาขา โดยมีสินค้าจำหน่ายหลากหลายทั้งปลีก และส่งมากกว่า 15,000 รายการ การเป็นมวยรองในสนามและเป็นคนตัวเล็กในวงการทำให้บริษัทต้องพลิกกลยุทธ์รักษาพื้นที่ตัวเองในทุกรูปแบบบนหลักการที่ว่า คนท้องถิ่นที่รู้ถึงคนท้องถิ่นมากกว่าคนนอกพื้นที่ ซึ่งเภสัชกรหญิง อมร พุฒิพิริยะ รองกรรมการผู้จัดการของ TNP บอกกับ Forbes Thailand ว่า ความสำเร็จที่เกิดขึ้นของธนพิริยะนั้นไม่เพียงเกิดจากบริษัทเข้าใจพฤติกรรมของผู้บริโภคอย่างถ่องแท้ และจำหน่ายสินค้าในราคาที่เป็นธรรมแล้ว แต่ยังมีการให้บริการลูกค้าเหมือน “ญาติมิตร” ตามสโลแกนของบริษัทที่ว่า “ราคาถูกจริง ช็อปปิ้งถูกใจ อยู่ใกล้บ้านคุณ” อีกด้วย รวมไปถึงได้รับความร่วมมือที่ดีจากบรรดาคู่ค้า ซึ่งช่วยพัฒนาคุณภาพและบริการของร้าน ส่งผลให้ร้านค้าปลีกท้องถิ่นของบริษัทสามารถพัฒนาเป็นร้านค้าปลีกที่เป็นตัวเลือกแก่ผู้บริโภคไม่แตกต่างไปจากร้านค้าปลีกรายใหญ่ของประเทศ โดยรายงานประจำปีของบริษัทปี 2564 ระบุว่า การทำธุรกิจค้าปลีกค้าส่งมายาวนาน ทำให้ธนพิริยะเข้าใจความต้องการของคนในพื้นที่เป็นอย่างดี และมีหลักการสำคัญที่จะสร้างการบริการที่เป็นเลิศได้ก็คือการรู้จักและเข้าใจความต้องการของลูกค้า ทำให้สามารถเลือกสรรสินค้าและการบริการได้เหมาะกับคนในพื้นที่ได้ ถือว่าเป็น “จุดเด่น” ของบริษัท ความเอาใจใส่ในทุกๆ รายละเอียดของการให้บริการที่เป็น “จุดต่าง” ในตลาดได้กลายเป็น “จุดแข็ง” ให้กับ TNP อีกด้วย ตัวอย่างเช่น บริษัทรู้ถึงวิถีชีวิตของการจับจ่ายใช้สอยของลูกค้า และรู้ว่าหากจะซื้อของสด คนท้องถิ่นจะชอบไปตลาดสด หากจะซื้อของสินค้าอุปโภคก็จะเลือกในซูเปอร์มาร์เก็ตที่ทันสมัย ดังนั้น จากโจทย์นี้จึงพยายามหาที่ตั้งของร้านที่ง่ายต่อการสัญจร มีสินค้าที่หลากหลายและมีราคาย่อมเยา ขณะที่การบริการบริษัทมุ่งเน้น “ความเป็นเลิศ” เพื่อให้ลูกค้าประทับใจ เช่น มีพนักงานต้อนรับหน้าร้านที่ยังคอยช่วยหยิบตะกร้าใส่สินค้าให้ มีพนักงานประจำอยู่ที่ชั้นสินค้าเพื่อแนะนำสินค้า มีจำนวนจุดชำระเงินอย่างเพียงพอเพื่อไม่ให้ลูกค้ารอนาน หรือมีพนักงานช่วยขนของส่งที่รถของลูกค้า อีกหนึ่งยุทธการของ TNP ที่น่าสนใจคือบริษัทได้ทำการสำรวจราคาสินค้าอย่างเป็นประจำ มีการเทียบราคาและโปรโมชั่นกับผู้ประกอบการรายอื่น เพื่อให้มั่นใจว่าทางร้านจำหน่ายสินค้าในราคาที่ถูก ยุติธรรมให้กับลูกค้า และสามารถแข่งขันกับคู่แข่งรายอื่นๆ ได้ นอกจากนี้แล้วบริษัทยังมีต้นทุนที่แข่งขันได้ เนื่องจากมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับซัพพลายเออร์ มีการสั่งสินค้าในปริมาณที่มาก และการประหยัดค่าโลจิสติกส์ เพราะร้านค้าอยู่ในบริเวณที่สามารถจัดส่งสินค้าได้สะดวก ส่งผลให้บริหารต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ บริษัทยังมีฐานสมาชิกกว่า 140,000 ราย (ณ สิ้นปี 2564) โดยระบบสมาชิกนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อคืนกำไรเป็นส่วนลดให้กับลูกค้าและมอบสิทธิพิเศษต่างๆ ให้ ถือเป็นการสร้างแรงจูงใจให้ลูกค้ากลับมาใช้บริการกับร้านอย่างต่อเนื่องและยังรักษาฐานลูกค้าไปในตัว “ในช่วงที่ผ่านมาเราพยายามปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่ตลอด เพื่อจัดเตรียมสินค้าให้เพียงพอต่อความต้องการ โดยมองความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก จึงทำให้เราสามารถผ่านวิกฤตที่เกิดขึ้นได้” อมรกล่าว เมื่อเราถามถึงวิกฤตต่างๆ ที่วิ่งเข้าหา โดยเฉพาะการระบาดของโควิด-19 ที่ยืดเยื้อเธอบอกว่า ทั้งหมดนี้ต้องขอบคุณทีมงานที่เข้มแข็งของบริษัทที่ช่วยร่วมกันฝ่าฟันจนบริษัทยืนหยัดได้จนทุกวันนี้ และ “รู้สึกดีใจที่ลูกค้ายังนึกถึงร้านธนพิริยะ และยังคงเข้ามาใช้บริการร้านเราตลอดที่เกิดสภาวะวิกฤต” สำหรับอนาคตบริษัทยังมุ่งมั่นที่จะขยายสาขาเพิ่มต่อไปอีก อย่างในปี 2565 มีแผนที่จะขยายสาขา 6 สาขา โดยใช้งบลงทุนไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาท และคาดว่าในปีถัดๆ ไปหลังจากที่โรคระบาดคลี่คลายแล้วบริษัทจะสามารถขยายสาขาได้มากขึ้น โดยขยายไปในพื้นที่ใหม่ๆ เพื่อกระจายการให้บริการไปยังผู้บริโภคมากขึ้น เพื่อเติมเต็มวิสัยทัศน์ของบริษัทคือ “การเป็นผู้นำในธุรกิจค้าปลีกรูปแบบซูเปอร์มาร์เก็ตท้องถิ่นรายใหญ่ในภาคเหนือของประเทศ” ภาพ: TNP อ่านเพิ่มเติม:- GABRIEL ESCARRER JAUME รุ่น 2 “MELIÁ HOTELS” มั่นใจท่องเที่ยวฟื้นเร็ว
- ตระกูลจิราธิวัฒน์ เดินหน้าขยายธุรกิจอย่างเต็มแรง
- RECESSION อาจทำ BEAR MARKET อยู่ต่ออีก 2 ปี
คลิกอ่านฉบับเต็มและบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนมิถุนายน 2565 ในรูปแบบ e-magazine