สามมุมของชีวิต ‘พีช’ พชร จิราธิวัฒน์ - Forbes Thailand

สามมุมของชีวิต ‘พีช’ พชร จิราธิวัฒน์

พชร จิราธิวัฒน์ ทายาทเครือเซ็นทรัลผู้ก้าวเข้าสู่วงการบันเทิงตั้งแต่วัยมัธยมปลายและกลายเป็นไอคอนของเด็กวัยรุ่น มุ่งสู่เส้นทางธุรกิจพันล้านกับ โปเตโต้ คอร์เนอร์” ภายใต้มาดสุดกวนนั้น เขามีความคิดเชิงสังคมที่เผ็ดร้อนซ่อนอยู่

บนชั้น 52 ของโรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ ทีมงาน Forbes Thailand พบกับ พชร จิราธิวัฒน์ ดาราหนุ่มขวัญใจวัยรุ่นในห้องรับรองของโรงแรม พชร หรือ “พีช” ในวัย 24 ปีเป็นทายาทเครือธุรกิจยักษ์ใหญ่ของไทย เขาแจ้งเกิดตั้งแต่จับงานแสดงเรื่องแรก โดยรับบทเป็น “คุ้ง” ในภาพยนตร์เรื่อง Suckseed ห่วยขั้นเทพ เมื่อปี 2554 และด้วยหน้าตาบุคลิกที่โดดเด่นทำให้ไฟสปอตไลต์ต่างหันมาจับจ้อง แม้จะเริ่มโลดแล่นในวงการบันเทิงกับค่ายจีทีเอช แต่เมื่อปี 2558 นักแสดงหนุ่มเปลี่ยนมาเซ็นสัญญากับช่อง 3 แทน รวมถึงเริ่มเปิดเส้นทางใหม่ในฐานะนักธุรกิจกับแบรนด์ร้านฟาสต์ฟู้ด “โปเตโต้ คอร์เนอร์”เมื่อ 2 ปีก่อน  

ความเจ็บปวดในธุรกิจบันเทิง

พชรเกริ่นถึงวงการบันเทิงว่าเรตติ้งละครโทรทัศน์กำลังลดลง ส่วนวงการภาพยนตร์ไทยก็มีภาพยนตร์ที่มุ่งหมายสื่อประเด็นที่ยิ่งใหญ่ลดลงทุกที “entertainment business คำถามแรกคือ มันประกอบด้วยสองคำใช่ไหม ต้องมีสินค้าก่อนแล้วทำธุรกิจจากมัน แต่ประเทศเรามองกลับด้าน เรามองเป็น business entertainment คิดก่อนว่าจะหาเงินอย่างไร” พชรกล่าวอย่างเผ็ดร้อน “สมมติว่า ‘เฮ้ย เราต้องทำเงินร้อยล้าน’ ทำอะไรดีให้ได้ร้อยล้านโดยไม่แคร์ด้วยว่ามันดีหรือไม่ดี กลายเป็นว่าเรามองหนังหรือละครเป็นแค่เครื่องมือหนึ่งในการเรียกสปอนเซอร์ แต่ไม่ได้มองเป็นสื่อเชิงศิลปะ” เขาเองยอมรับว่าตนเองเป็นคนหนึ่งที่เสียศรัทธากับวงการบันเทิง แต่เพราะยังไม่หมดไฟทำให้ยังคงท้าทายตัวเองกับบทบาทใหม่ๆ  ดาราหนุ่มกำลังเครื่องติดกับมุมมองที่เขาเห็นในวงการบันเทิงไทย เขากล่าวต่อถึงอีกหนึ่งอาชีพที่รักคือการเป็นนักดนตรี พชร จิราธิวัฒน์ “ผมเคยเห็นตัวเลขดาวน์โหลดใน iTunes ของบางวงแล้วค่อนข้างเศร้าใจ รายได้เขาแค่ซื้อบิ๊กแมคยังไม่ได้เลย” เขากล่าวว่าศิลปินไทยบางรายประสบความสำเร็จและอยู่ได้ด้วยการขายเพลง แต่เป็นส่วนน้อย ส่วนใหญ่แล้วต้องลดต้นทุนสู้กับสถานการณ์ ทำให้ใช้ดนตรีที่สร้างขึ้นในคอมพิวเตอร์ทดแทนการอัดเสียง งานเพลงจึงลดคุณภาพลง และนักดนตรีถูกบีบให้เขียนเพลงสำหรับเล่นในผับเพื่อเรียกรายได้จากการออกงานอีเวนต์ พชรเคยเป็นมือกีตาร์และคีย์บอร์ดในวง Rooftop และ White Rose แต่ปัจจุบันเขาบินข้ามทวีปไปรับทำสกอร์เพลงประกอบโฆษณาและสารคดีที่ประเทศอังกฤษแทน ซึ่งสาเหตุหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงมาจากความ ‘หมดหวัง’ ดังกล่าว “ผมว่าที่ทำอยู่ตอนนี้โอเคแล้ว” พชรกล่าวถึงเส้นทางนักดนตรีของตัวเอง “ไม่ใช่ว่าไม่อยากเล่นสดแล้วนะชอบ แต่ไม่อยากจะเอาตัวเองไปอยู่ในร้านเหล้า ไปเล่นแล้วคนดูเมาหมดเลย เหมือนเราไปสนับสนุนอะไรก็ไม่รู้”  

เฟรนช์ฟรายส์พันล้าน

อาชีพสายศิลปะของเขากำลังอยู่ท่ามกลางพายุใหญ่ที่พัดกระหน่ำ แต่เส้นทางในวงการธุรกิจของเขาเพิ่งจะเริ่มต้น พชรร่วมกับ ชยภัทร ทองเจริญ เพื่อนสนิทที่รู้จักกันมาตั้งแต่วัยอนุบาล ก่อตั้ง บริษัท ร็อคส์ พีซี จำกัด บุกอุตสาหกรรมอาหารด้วยการซื้อแบรนด์ โปเตโต้ คอร์เนอร์ ร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดต้นกำเนิดจากประเทศฟิลิปปินส์ซึ่งมีสินค้าหลักเป็นเฟรนช์ฟรายส์ปรุงรสเข้ามาเปิดในประเทศไทย  พชร จิราธิวัฒน์ “ตอนนี้เราเป็นแบรนด์ที่โตเร็วที่สุดในประเทศไทยในวงการอาหาร” พชรกล้ากล่าวเช่นนั้นเพราะโปเตโต้ คอร์เนอร์ที่เปิดสาขาแรกเมื่อปี 2559 จนถึง ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ก็ขยายไปแล้ว 20 สาขาทั่วประเทศ สร้างยอดขายสิ้นปี 2560 ที่ 90 ล้านบาท หลายคนปรามาสว่าพชรอาศัยเพียงความโด่งดังของเขาและทรัพยากรของครอบครัวเป็นทุน แต่พชรยืนยันว่าเขาและเพื่อนเป็นผู้ลงมือลงแรงเอง โดยชยภัทรซึ่งปัจจุบันนั่งตำแหน่งกรรมการผู้จัดการเป็นผู้ค้นพบแบรนด์โปเตโต้ คอร์เนอร์สมัยเป็นนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขาเดินทางไปฟิลิปปินส์เพื่อแข่งขันโต้วาที และเมื่อเห็นว่าเฟรนช์ฟรายส์ยี่ห้อนี้มีคนต่อแถวยาวแถมมีรสชาติดีจึงสนใจนำเข้า
เฟรนช์ฟรายส์ปรุงรส Potato Corner แฟรนไชส์จากประเทศฟิลิปปินส์
ร็อคส์ พีซีใช้เวลาเตรียมการ 1 ปีก่อนจะเปิดตัวแบรนด์ มีการทำวิจัยความรับรู้ต่อเฟรนช์ฟรายส์และพบว่าคนไทยรู้จักอาหารชนิดนี้ดีอยู่แล้ว ทั้งยังเป็นสินค้าที่ขายดีที่สุดในร้านฟาสต์ฟู้ด ทำให้ทั้งคู่เกิดความมั่นใจในผลิตภัณฑ์ “อุตสาหกรรมอาหารของไทยมีคนที่ทำอะไรหวือหวาเยอะ เพราะประเทศเรานิยมตามกระแส ดังนั้นเราต้องหาของที่มันอาจจะไม่เป็นเทรนด์ ไม่เท่ อย่างร้านนี้ถ้าคนได้ฟังอาจจะรู้สึกว่า ‘ก็แค่เฟรนช์ฟรายส์หรือเปล่า’ แต่ผมว่าการทำธุรกิจมันคือ long term เราต้องหาของที่มัน long term แล้วเข้าถึงได้ทุกคน” พชรกล่าว ในแง่ของเงินทุน เขาไม่เปิดเผยว่าจนถึงปัจจุบันลงทุนไปแล้วเท่าไหร่แต่ทั้งหมดเป็นการขอสินเชื่อธนาคารทั้งสิ้น แม้ว่าที่จริงจะมีทุนส่วนตัวเพียงพอก็ตาม “ผมเรียนรู้ hard way เพราะในระยะยาว ถ้าสมมติบริษัทเราจะโตกว่านี้เราก็ต้องกู้แบงก์แล้วถ้าเราไม่ได้เรียนรู้กระบวนการและความกดดันมาก่อนมันก็ไม่ได้ ถูกไหม บริษัทเราตอนนี้จึงโตจาก debt ครับ”
ร้าน Potato Corner สาขาสยาม พารากอน
พชรในตำแหน่งผู้อำนวยการบริษัทรับหน้าที่ดูแลงานการตลาดเป็นหลัก เขากล่าวว่า ปัจจุบันฐานลูกค้าโปเตโต้ คอร์เนอร์คือคนวัย 15-30 ปีและกำลังเร่งขยายสาขาทั้งในกรุงเทพฯ กับต่างจังหวัด  โดยต่างจังหวัดมีเปิดขายแล้วใน จ.นครราชสีมา จ.กระบี่ และ จ.พระนครศรีอยุธยา ตั้งเป้าปี 2561 จะขยายให้ถึง 50 สาขาทั่วประเทศ วางเป้ารายได้เติบโตแตะ 300 ล้านบาท  และยังมองอนาคต 5 ปีข้างหน้าหรือภายในปี 2566 โปเตโต้ คอร์เนอร์จะทำรายได้แตะ 2 พันล้านบาท นั่นหมายถึงจะต้องขยายไปมากกว่า 200 สาขา โดยยึดโมเดลที่ฟิลิปปินส์เป็นแม่แบบ เพราะที่นั่นร้านนี้มีทั้งแบบ kiosk ร้านมีโต๊ะที่นั่ง ฟู้ดทรัก รถเข็น ทำให้กระจายไปได้ทุกพื้นที่ ดาราหนุ่มบอกว่า การทำธุรกิจเป็นความฝันของตนเองอยู่แล้วมิใช่การกำหนดจากครอบครัว ส่วนการช่วยเหลือจากที่บ้านนั้นมีบ้างในระยะแรกๆ “แต่ก่อนเขาก็ถามแล้วก็มาช่วยดู แต่พอเราไปรอดแล้วเขาก็ปล่อยเพราะเห็นว่าทำเองได้” ‘เขา’ ในที่นี้คือคุณพ่อ ธีระยุทธ จิราธิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โรงแรมและรีสอร์ทในเครือเซ็นทารา และคุณแม่ ชนัดดา จิราธิวัฒน์ เจ้าของธุรกิจเพชร ไดมอนด์ ทูเดย์  พชร จิราธิวัฒน์ แต่อย่างไรก็ตาม การเติบโตในครอบครัวนักธุรกิจก็ทำให้พชรได้ซึมซับบทเรียนธุรกิจมาตลอด โดยตัวเขาเองเคยถูกส่งไปฝึกงานเป็นแคชเชียร์และพนักงานจัดสต๊อกสินค้าที่เซ็นทรัล ชิดลมตั้งแต่อายุ 15 ปี “พ่อผมเขาจะสอนว่า human asset คือสิ่งสำคัญ เพราะมันคือ frontline ที่เจอกับลูกค้า ลูกค้าจะรู้สึกดีหรือไม่ดีกับของของเราอยู่ที่พนักงานล้วนๆ ดังนั้นเราต้องทำ human asset ให้แข็งแรงก่อน ซึ่งจะแข็งแรงได้ผู้บริหารต้องเข้าใจความคิดและความเป็นอยู่ของพนักงาน ผมจึงถูกส่งไปฝึกงานในห้างฯ” พชรกล่าว พชรบอกกับเราว่า ทั้งสามเส้นทางชีวิตที่เดินอยู่จะยังไม่ละทิ้งเส้นทางไหนเพราะทุกทางที่ทำคือสิ่งที่รัก   ภาพ: อรรคพล คำภูแสน