อุทัย ธเนศวรกุล ปั้น I.P. One เปิดสูตรครองบัลลังก์ขจัดคราบ - Forbes Thailand

อุทัย ธเนศวรกุล ปั้น I.P. One เปิดสูตรครองบัลลังก์ขจัดคราบ

ความมุ่งมั่นไม่ยอมแพ้รับผิดชอบภาระหนี้สินของครอบครัวของ อุทัย ธเนศวรกุล เป็นแรงผลักดันเปิดประวัติศาสตร์น้ำยาล้างห้องน้ำสูตรแรกของไทย สู่ความสำเร็จของวิกซอลบุกเบิกตลาดทำความสะอาดตั้งแต่สุขภัณฑ์ถึงกลุ่มดูแลเสื้อผู้สร้างชื่อ ไฮยีน พร้อมเดินหน้ารีเฟรชแบรนด์ไอวี่ ต่อยอดธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มส่งออกต่างประเทศ

เส้นทางธุรกิจที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบของ อุทัย ธเนศวรกุล บุตรชายคนโตเจ้าของกิจการนำเข้าและจัดจำหน่ายยาจากต่างประเทศ ซึ่งถูกเรียกตัวกลับกะทันหันระหว่างกำลังเก็บเกี่ยวประสบการณ์ชีวิตที่อเมริกากว่า 5 ปี เพื่อช่วยกอบกู้วิกฤตหนี้สินของครอบครัวจำนวน 20 ล้านบาทในวัยไม่ถึง 25 ปี ด้วยความเพียรพยายามทำทุกวิถีทางจนกระทั่ง เล็งเห็นโอกาสใกล้ตัวที่สามารถสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย โดยเฉพาะด้านความสะอาดและสุขอนามัยที่ดี “ผมเรียนหนังสือถึงประมาณเตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัยและไปอเมริกาตั้งแต่อายุ 18 ปี ผมอยู่ประมาณ 5 ปีแม่ก็โทรมาบอกให้รีบกลับมาช่วยทำงานที่บ้าน ตอนนั้นแม่ผมมีหนี้ประมาณ 20 ล้านบาท เราไม่ได้เริ่มจากศูนย์ แต่เริ่มจากติดลบ จังหวะชีวิตช่วงนั้นก็รับของมาขายจนปิ๊งไอเดียเรื่องห้องน้ำที่สมัยก่อนเป็นส้วมซึม ซึ่งควรเป็นห้องปลดทุกข์ไม่ใช่อมทุกข์จากกลิ่นเหม็น ด้วยความที่ผมพอจะมีความรู้ด้านเคมีจึงลองผสมสูตรน้ำยาล้างห้องน้ำเอง โดย ไอ.พี. วัน ถือเป็นบริษัทสตาร์ทอัพยุคแรกๆ เพราะเราไม่มีเงินเลย เรามีติดตัวแค่ถังวัตถุดิบไม่กี่ถังนำมาผสมและส่งเอง ซึ่งในช่วง 10 ปีแรกผมหน้ามืดมองอะไรไม่เห็นเลยกว่าจะฟื้นขึ้นมา ผมคิดว่าไม่ใช่เพราะความเก่ง แต่เป็นจังหวะหรือโชคที่วิ่งเข้ามาชน ทำให้เราสามารถขยายตัวต่อเนื่อง” อุทัย ธเนศวรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไอ.พี. วัน จำกัด ในวัย 76 ปี เล่าถึงช่วงเวลาการบุกเบิกธุรกิจจากการค้นคว้าทดลองผสมสูตรน้ำยาทำความสะอาดสุขภัณฑ์ ด้วยความเพียรพยายามลองผิดลองถูกอย่างไม่ลดละหรือท้อถอยต่อความล้มเหลว จนกระทั่งได้สูตรที่มีส่วนผสมของกรดไฮโดรคลอริกประสิทธิภาพสูงสูตรแรกของประเทศที่เห็นผลการขจัดคราบสกปรกและกลิ่นไม่พึงประสงค์ได้อย่างชัดเจนภายใต้ชื่อ “วิกซอล” และสามารถก่อตั้ง ห้างหุ้นส่วน อินเตอร์ โปรดักส์ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด ในปี 2515 พร้อมทั้งผลิตน้ำยาเคลือบเงาพื้น น้ำยาลอกแว็กซ์ น้ำยาดับกลิ่น และสบู่ล้างมือ โดยเป็นบริษัทแรกของไทยและในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่สามารถผลิตน้ำยาจากสูตรที่คิดค้นขึ้นเอง “ช่วงแรกๆ ลำบากมาก พนักงานถือตะกร้าขายตามบ้านหนัก เราหาคนทำงานก็ลำบาก และไม่มีโฆษณา ผมเล่นสินค้าที่ยักษ์ใหญ่ไม่เล่น เช่น น้ำยาเคลือบเงา แว็กซ์ ซึ่งอยู่ในกลุ่ม building maintenance ผมทำขายหน่วยราชการ โรงพยาบาล โรงแรม บริษัททำความสะอาด จนช่วงหลังเราสามารถเจาะบริษัททำความสะอาดที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทยได้และกลายเป็นจุดเปลี่ยน เพราะเขายังนำสินค้าของเราไปขายให้ เป็นตัวแทนจำหน่ายทั่วประเทศและทำให้เราเติบโตขึ้น” ขณะเดียวกันอุทัยยังเดินหน้าเปิดน่านน้ำการแข่งขันใหม่ตามจังหวะและช่องว่างทางธุรกิจที่เล็งเห็นในบลูโอเชียน ไม่ว่าจะเป็นการต่อยอดกลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลเสื้อผ้า (laundry) ภายใต้แบรนด์ไฮยีน ได้แก่ น้ำยาอัดกลีบ น้ำยาปรับผ้านุ่ม พรีวอช และผลิตภัณฑ์ซักผ้า กลุ่มทำความสะอาดพื้นและกำแพง (floor and wall) ชื่อแบรนด์วิซ ได้แก่ น้ำยาเช็ดกระจกและน้ำยาถูพื้นสูตรเข้มข้น กลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคล (personal care) ได้แก่ แบรนด์แดนซ์สำหรับผู้หญิง และแบรนด์โฟกัสสำหรับผู้ชาย รวมถึงธุรกิจเครื่องดื่มแบรนด์ไอวี่ เป็นต้น “เราลงทุนกับสินค้าที่จับกลุ่ม niche หรือยักษ์ใหญ่ไม่เล่น แต่มีดีมานด์ในตลาด ซึ่งการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ เกิดจากการค้นคว้าวิจัยเอง เพราะสมัยก่อนที่พ่อผมทำธุรกิจเอเย่นต์ยา เราเห็นว่าเอเย่นต์ถูกเปลี่ยนง่ายและไม่มั่นคง เราจึงพยายามกัดฟันทำเองทั้งหมด ผมอาจจะไม่ใช่คนเก่งมาก แต่เหมือนจังหวะชีวิตที่ก้าวขึ้นบันไดทีละขั้น เพราะจับความต้องการของลูกค้าได้ถูกจุดและสร้างตลาดขึ้นมาได้ บางครั้งลูกค้ายังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเขาต้องการใช้สินค้ากลุ่มนี้ แต่ ไอ.พี. วัน ลงทุนทำไปแล้ว แน่นอนว่าที่ผ่านมาต้องล้มลุกคลุกคลานเยอะมากกว่าจะมีวันนี้” สำหรับกลยุทธ์ทางธุรกิจหลักของบริษัท ยังคงมุ่งเน้นที่ความต้องการของผู้บริโภคเป็นศูนย์กลาง โดยในช่วงแรกเป็นการปรับปรุงพัฒนาสินค้าจากการรับฟังความเห็นของร้านค้าและเสียงตอบรับของผู้บริโภค ก่อนจะใช้วิธีศึกษาข้อมูลเชิงลึกของตลาดและข้อมูลผู้บริโภคจากแหล่งต่างๆ นำมาวิเคราะห์และเชื่อมโยง เพื่อวางกลยุทธ์และแผนการดำเนินงานขององค์กรในระยะยาว รวมถึงการพัฒนานวัตกรรมที่ตอบโจทย์ผู้บริโภค ซึ่งทีมงาน R&D ของบริษัทให้ความสำคัญกับการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการผลิตและพัฒนาสูตรของผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์และโดนใจผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้น อุทัยยังวางกลยุทธ์การพัฒนาร่วมกับคู่ค้าทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็กให้เกิดการเติบโตในระยะยาว ทั้งการบริหารจัดการสต็อก การจัดเรียงสินค้า การทำรายการส่งเสริมการขายเพื่อสร้างการตัดสินใจซื้ออย่างต่อเนื่อง การเข้าร่วมพัฒนาคู่ค้าในทุกมิติ ซึ่งถือเป็นการสร้างความยั่งยืนตลอดทั้งซัพพลายเชน พร้อมทั้งการเสริมสร้างศักยภาพของบุคลากรคุณภาพให้มีความพร้อมขับเคลื่อนองค์กรอย่างยั่งยืน รวมถึงแผนงานพัฒนาคู่ค้าและขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง “เรามองการลงทุนต่างประเทศเป็นการกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจ คิดเป็นพอร์ตรายได้ประมาณ 5-6% โดยเราเริ่มไปที่กัมพูชาเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว และขยายไปที่เวียดนาม ซึ่งน่าจะเป็นประเทศที่สามารถเติบโตต่อเนื่องมากที่สุด และน่าจะมีโอกาสการเติบโตมากที่สุดในอนาคต เพราะสินค้าจากประเทศไทยได้รับความนิยมในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คนเวียดนามเห็นสินค้าไทยก็ซื้อสินค้าไทย ส่วนจีนถ้าเราได้พาร์ตเนอร์ที่ถูกต้อง ผมคิดว่าเราสามารถเติบโตได้ แต่ต้องพัฒนาสินค้าให้จีนโดยเฉพาะ ซึ่งปัจจุบันเราสามารถเปิดตลาด CLMV และส่งออกไอวี่ขายที่ฮ่องกง จีน ไต้หวัน รวมถึงมัลดีฟส์ที่สั่งไปขายในซูเปอร์มาร์เก็ตของเขาประมาณ 1-2 ปีมาแล้ว” อุทัยกล่าวถึงการขยายธุรกิจส่งออกผลิตภัณฑ์ไปยังต่างประเทศ โดยเริ่มจากประเทศในกลุ่ม CLMV (กัมพูชา, ลาว, เมียนมา, เวียดนาม) และขยายไปประเทศอื่นๆ เช่น จีน ประเทศในตะวันออกกลาง และยุโรป ซึ่งได้รับผลตอบรับจากผู้บริโภคเป็นอย่างดีจากคุณภาพของผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะแบรนด์ไฮยีนที่ได้รับการยอมรับและรู้จักในต่างประเทศ ซึ่งถือเป็นความภูมิใจของอุทัยที่สามารถนำแบรนด์ไทยออกสู่ตลาดสากลได้ ขณะที่กลยุทธ์ในประเทศไทยได้มุ่งเน้นการเสริมความแข็งแกร่งทางธุรกิจด้วยการเข้าสู่ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งเริ่มจากการรีเฟรชแบรนด์ไอวี่ที่เคยสร้างความสำเร็จในปี 2538 โดยเฉพาะนมเปรี้ยวในบรรจุภัณฑ์ดีไซน์ทันสมัยคงคุณภาพและรสชาติที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค พร้อมให้ความสำคัญกับช่องทางการจำหน่ายและการตลาดผ่านออฟไลน์ควบคู่กับออนไลน์ที่มีแนวโน้มเติบโตมากขึ้นทุกปี “จำนวนสินค้าเราประมาณ 500-600 SKU บางครั้งเราก็พลาด เช่น ตลาดอาจจะเล็กเกินไป แต่ส่วนใหญ่ลูกค้ามักจะไม่ตัดสินค้าของเราทิ้ง อย่างไอวี่ที่เคยผ่านช่วงล้มลุกคลุกคลานมาจากจุดเริ่มต้นเข้าสู่ธุรกิจเครื่องดื่ม เพราะสินค้า detergent ของเรามีครบเกือบทั้งหมดแล้ว ซึ่งเรามองตลาดน้ำผลไม้และนมเปรี้ยวยังมีโอกาส แต่เพราะเจอปัญหาบางอย่างในช่วงนั้น และทุนเราไม่มากทำให้ต้องหยุดไปก่อน จนเมื่อปีที่ผ่านมาเราคิดว่าเราสู้ไหว เราจึงกลับมาปลุกตลาดโยเกิร์ตและนมเปรี้ยวใหม่ โดยเรายังมีลูกค้าเดิมที่ loyalty กับ ไอวี่ ทำให้เราสามารถเติบโตได้แม้จะมีโควิด-19 ซึ่งเราคาดหวังให้ไอวี่เป็นสินค้าปูทางในธุรกิจเครื่องดื่ม และในอนาคตอาจจะต่อด้วยอาหารสำหรับส่งออกซึ่งเรามีโรงงานที่แปดริ้ว 78 ไร่ ยังสามารถขยายได้มาก”

“ไอวี่” เบิกทางธุรกิจ F&B

นับจากบันไดขั้นแรกแห่งการค้นคว้าทดลองกรรมวิธีต่างๆ ในบ้านหลังเล็กที่ใช้เป็นที่พักอาศัยร่วมกับสำนักงานและโรงงานของครอบครัว สู่การเติบโตเป็นอาณาจักรที่มีพนักงานรวมกว่า 1,200 คน ทั้งอาคารสำนักงานใหญ่ที่เริ่มต้นก่อตั้งในปี 2551 และศูนย์กระจายสินค้า รวมถึงโรงงานที่นิคมอุตสาหกรรมบางปู จังหวัดสมุทรปราการ พร้อมเดินหน้าขยายโรงงานพื้นที่ราว 78 ไร่ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มของบริษัทในอนาคต ขณะที่บริษัทยังมีช่องทางการจัดจำหน่ายครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศไม่ว่าจะเป็นร้านค้าปลีกส่งแบบดั้งเดิม (traditional trade) และร้านค้าปลีกค้าส่งสมัยใหม่ (modern trade) เช่น ซูเปอร์มาร์เก็ต ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ และช่องทางพิเศษอื่นๆ โดยสามารถสร้างการเติบโตด้านรายได้ทะยาน 5.3 พันล้านบาท และกำไรสุทธิ 180.4 ล้านบาท ภายใต้สินทรัพย์รวม 2.5 พันล้านในปี 2563 “ธุรกิจของเราเติบโตเป็น double digit ติดต่อกันมากกว่า 5 ปีแล้ว ปัจจุบัน 80% ของการดำเนินธุรกิจของ ไอ.พี. วัน อยู่ที่สินค้าดูแลผ้ายี่ห้อไฮยีน รองลงมาเป็นกลุ่มทำความสะอาดบ้านยี่ห้อวิกซอล, วิซ ตามมาด้วยนมเปรี้ยวไอวี่ที่เราเพิ่งเปิดตัวใหม่ในปีนี้ เรายังคงคาดการณ์ว่าจะยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง double digit ต่อไปในปีหน้า” อุทัยกล่าวถึงสัดส่วนรายได้ธุรกิจหลักจากผลิตภัณฑ์ไฮยีน ซึ่งสามารถคว้ารางวัลแบรนด์ยอดนิยมอันดับ 1 ที่ผู้บริโภคเลือกซื้อมากที่สุดในประเทศหรือ Most Chosen Brands ในกลุ่มสินค้าประเภทดูแลบ้าน (home care category) ติดต่อกันเป็นปีที่ 3 จาก Kantar, Brand Footprint 2021 – Thailand สำหรับรางวัลดังกล่าวเป็นการจัดอันดับแบรนด์ที่ครองใจผู้บริโภคสูงสุดด้วยการวิเคราะห์ Consumer Reach Point หรือ CRPs ซึ่งวัดความแข็งแกร่งของแบรนด์ผ่านจำนวนครั้งของแบรนด์ที่เข้าถึงตัวผู้บริโภค จากทั้งหมด 572 แบรนด์ในกลุ่ม FMCG ครอบคลุมการจับจ่ายของผู้บริโภคทั้งออนไลน์และออฟไลน์ โดยไฮยีนเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผู้บริโภคเลือกซื้อมากที่สุดในกลุ่มผลิตภัณฑ์ในครัวเรือน 177 ล้านครั้งในปีที่ผ่านมา “น้ำยาปรับผ้านุ่มเริ่มจากการนำเสนอของทีมการตลาดในช่วงที่คู่แข่งมีแต่รายใหญ่ แต่เรามีนักเคมีที่เก่งสามารถคิดค้นผลิตภัณฑ์ขึ้นมาขายได้ ซึ่งความสำเร็จของสินค้าแต่ละอย่างเกิดจากหลายองค์ประกอบ ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพของที่ถูกใจคนไทย แพ็กเกจจิ้ง การตลาด และพนักงานของบริษัทเป็นส่วนสำคัญที่สุดในการสร้างการเติบโต ทุกอย่างต้องพอเหมาะพอเจาะ รวมถึงเราต้องไม่หลอกผู้บริโภค โดยเราถือเป็นเรื่องใหญ่ที่สุด คือ ของต้องดี เราจะทำอย่างไรให้สินค้าของเราดีกว่าคนอื่น” ดังนั้น อุทัยจึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาและผลิตสินค้าที่มีคุณภาพด้วยการคัดเลือกวัตถุดิบที่ดีที่สุด พร้อมตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคตลอดระยะเวลาการดำเนินงานเกือบ 50 ปี ส่งผลให้ผู้บริโภคเกิดความพึงพอใจและสนับสนุนผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการเพิ่มผลิตภัณฑ์ให้ครอบคลุมกลุ่มผู้บริโภคที่มีความหลากหลาย โดยเฉลี่ย 5-6 ผลิตภัณฑ์ใหม่ต่อปี ทำให้ผลิตภัณฑ์ของบริษัทสามารถครองสัดส่วนผลิตภัณฑ์ในครัวเรือนรวมกันมากกว่า 70% “ตั้งแต่เด็กผมคิดอย่างเดียวว่า ผมต้องการทำธุรกิจที่สามารถขายให้กับผู้คนได้จำนวนมาก ซึ่งก็โชคดีมากที่ได้ทำธุรกิจนี้ และผมตั้งใจในเรื่องคุณภาพของสินค้าตั้งแต่วันแรกที่เริ่มต้นธุรกิจ สินค้าจะต้องดีคนใช้จะต้องชอบ ถ้าธุรกิจเกิดปัญหาอะไรขึ้น อย่างไรเราก็ไม่ตาย เมื่อเรากลับมาอีกครั้ง ลูกค้าก็ให้การสนับสนุนหรือการตอบรับเหมือนเดิม ส่วนการที่สินค้าเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องเกิดจากคนช่วยกันทำทั้งหมด” นอกจากนี้ บริษัทยังมุ่งเน้นการทำธุรกิจแบบยั่งยืน (sustainability) ด้วยการริเริ่มใช้วัตถุดิบที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ (biodegradable) สำหรับผลิตน้ำยาปรับผ้านุ่มไฮยีนเป็นบริษัทแรกของเอเชียตั้งแต่ปี 2532 และได้มีการติดตั้งหลังคาพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งโรงงาน รวมถึงเลือกใช้พลังงานบริสุทธิ์เพื่อสร้างความยั่งยืนให้โลก ขณะเดียวกันบริษัทได้เดินหน้าแผนงาน “ผลิตภัณฑ์ทุกชิ้น คิดเพื่อโลก” สะท้อนภาพการใช้ทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด มุ่งลดและจัดการขยะจากการผลิต โดยการแปรรูปและนำกลับมาใช้อีกในอนาคต ด้วยการจับมือ คอร์สแอร์ กรุ๊ป บริษัทผู้พัฒนาโซลูชันธุรกิจด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีฐานการดำเนินงานทั้งในประเทศไทยและเนเธอร์แลนด์ เพื่อร่วมกันเปลี่ยนขยะพลาสติกและขยะเหลือทิ้งจากการผลิตมาเป็นน้ำมันชีวภาพขั้นสูง (advanced bio-oil) ซึ่งสามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงทางเลือกได้ต่อไปในโครงการ ภายใต้เป้าหมาย 18 ตันต่อปี หรือเฉลี่ยเดือนละไม่ต่ำกว่า 1.5 ตันขึ้นไป “ไอ.พี. วัน มีผู้หญิงทำงานจำนวนมากและส่วนใหญ่รักษ์สิ่งแวดล้อม เขาต้องการรณรงค์การนำบรรจุภัณฑ์ของตัวเองมาบรรจุน้ำยาปรับผ้านุ่มและน้ำยาซักผ้าของไฮยีนรวมๆ ประมาณ 8-10 กลิ่น โดยเราได้เริ่มติดตั้งเครื่องเติมน้ำยา 2 เครื่องที่บิ๊กซีและเมกาบางนา เพื่อทดลองตลาดและผลตอบรับจากผู้บริโภค” อุทัยกล่าวถึงโครงการล่าสุดที่สามารถช่วยลดขยะบรรจุภัณฑ์พลาสติกได้ผ่านตู้รีฟิลผลิตภัณฑ์ไฮยีน (Refill Station) ซึ่งเกิดจากแนวคิดของบุคลากรในองค์กรที่ถือเป็นส่วนสำคัญของเบื้องหลังความสำเร็จตลอดเส้นทางของบริษัท ภายใต้ค่านิยมองค์กร 6I ประกอบด้วย Integrity ความซื่อสัตย์ ยึดมั่นคุณธรรม In love รัก หลงใหลในสิ่งที่ทำ Insightful รู้จัก รู้จริง รู้ใจ Innovation สร้างสรรค์นวัตกรรม In-sync รวมพลังหนึ่งใจเดียว และ Into the Future มองอนาคต ทั้งยังให้ความสำคัญกับนวัตกรรมองค์กร โดยลงทุนกับเทคโนโลยีเพื่อช่วยขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจ เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของพนักงานให้คล่องตัวรวดเร็ว พร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงในอนาคต “พวกเราอยู่กันแบบไม่มีแรงกดดันและสร้างบรรยากาศการทำงานให้สนุก เราไม่เน้นการแข่งขันแต่เน้นการเติบโต โดยพรุ่งนี้ต้องดีกว่าวันนี้ หรือปีนี้ต้องดีกว่าปีที่แล้ว แต่ทางทีมจะมีการวางเป้าหมายไว้อย่างน้อย 8-10% และ 1 หมื่นล้านบาทใน 5 ปีข้างหน้า ซึ่งถือว่าท้าทายมาก โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิด-19 แต่ที่ผ่านมาเรายังสามารถเติบโตได้มากกว่า 10% ต่อปี” ท้ายสุดในฐานะผู้ก่อตั้งอาณาจักรได้วางเป้าหมายสร้างการเติบโตทางธุรกิจมากกว่าตัวเลขรายได้หรือผลกำไร โดยมุ่งเน้นการรักษาและส่งต่อ “คุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดี” ให้คนไทยทุกบ้านมีผลิตภัณฑ์ของบริษัท พร้อมทั้งทำประโยชน์ให้สังคมและสิ่งแวดล้อม ด้วยเป้าหมายการเป็นโรงงานสะอาดระดับ no landfill ภายใน 5 ปีรวมถึงสร้างการรับรู้ชื่อ ไอ.พี. วัน มากขึ้น ควบคู่กับภาพลักษณ์แบรนด์ที่มีคุณภาพได้รับความเชื่อมั่นเป็นระยะเวลานาน พร้อมสืบทอดความแข็งแกร่งทางธุรกิจสู่ทายาทรุ่นต่อไปอย่างยั่งยืน “ผมต้องการให้ภาพลักษณ์ของเราเป็นบริษัทที่ผลิตสินค้าคุณภาพตอบแทนกับเงินที่ผู้บริโภคจ่าย ซึ่งผมคิดอย่างเดียวว่า ถ้าเขาจ่ายเท่านี้เขาควรจะได้ของดี เราต้องการให้ผู้บริโภคเชื่อถือในแบรนด์ของเรา และปีนี้เราเริ่มโปรโมตบริษัทให้ภายนอกรู้จัก ไอ.พี. วัน มากขึ้น โดยอนาคตที่เราอายุมากขึ้นและเกษียณก็จะมีลูกสาว ลูกเขยเข้ามาแทน ซึ่งเราได้มีการถ่ายทอดหลักธุรกิจต่างๆ ให้ แต่การนำไปใช้งานก็แล้วแต่เขา ผมไม่ใช่คนเก่ง แต่เพื่อนบอกว่า ผมเป็นนักสู้ ทำแบบไม่ถอย ถ้าไม่สู้ก็อดตาย” ภาพ: กิตติเดช เจริญพร และ บริษัท ไอ.พี. วัน จำกัด
คลิกอ่านบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนธันวาคม 2564 ในรูปแบบ e-magazine