ในชีวิตประจำวันเราคงเคยใช้งานผลิตภัณฑ์คอนกรีตอัดแรงไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เพียงแต่ว่ามองไม่เห็น เพราะในการก่อสร้างอาคาร คอนโดมิเนียม ต้องมีเสาเข็มทำหน้าที่รับน้ำหนักโครงสร้างอาคารสิ่งปลูกสร้างจากฐานรากและถ่ายเทลงสู่พื้นดิน ทำให้อาคารมีความมั่นคงแข็งแรง หรือสายไฟฟ้าที่จำหน่ายไฟเข้าในอาคารหรือตัวบ้านก็ต้องมีเสาไฟฟ้าคอนกรีตเสริมเหล็กเป็นหลักยึด
บริษัท สยามเทคนิคคอนกรีต จำกัด (มหาชน) เป็นหนึ่งในผู้นำการผลิตและจำหน่ายเสาเข็มคอนกรีต และเสาไฟฟ้าคอนกรีตเสริมเหล็กอัดแรง ซึ่งปัจจุบันมีรายได้หลักพันล้านบาทต่อปี จากทุนเริ่มต้น 35 ล้านบาท หลังจบการศึกษาด้านวิศวกรรมโยธา จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น วัฒน์ชัย มงคลศรีสวัสดิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สยามเทคนิคคอนกรีต จำกัด (มหาชน) หรือ STECH เริ่มต้นชีวิตการทำงานกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เป็นวิศวกรดูแลด้านการผลิตและวิชาการ กองผลิตภัณฑ์คอนกรีตอัดแรง ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ผลิต/จัดซื้อ เสาไฟฟ้า ตอม่อ สำหรับขยายเขตไฟฟ้าให้กับผู้ใช้ไฟฟ้า พร้อมๆ กันนั้นทุกวันเสาร์-อาทิตย์ก็รับเป็นที่ปรึกษาให้กับบริษัทเอกชน ซึ่งทำธุรกิจคอนกรีตอัดแรง ทำงานเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจได้ 13-14 ปี จึงลาออกมาทำงานกับหุ้นส่วน ขณะอายุ 36 ปี โดยรับตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการอยู่ 8 ปี ก่อนจะแยกตัวมาทำธุรกิจของตนเองในปี 2544 ในชื่อ “บริษัท สระบุรีเทคนิคคอนกรีต จำกัด” เป็นโรงงานผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์คอนกรีตอัดแรงที่จังหวัดสระบุรี ซึ่ง “บุญสรวง ลิมปะพันธุ์” คหบดีผู้เป็นเจ้าของขายต่อให้ โดยมีวิศวกรร่วมก่อตั้งอีก 2 คน ปีแรกมีกำลังการผลิต 87,000 ลูกบาศก์เมตร อีก 2 ปีต่อมาเจ้าของเดิมบอกขายต่อโรงงานอีก 2 แห่ง ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายเสาไฟฟ้าคอนกรีตอัดแรงรายใหญ่ให้กับ กฟภ.- เริ่มจากเสาไฟฟ้าคอนกรีตอัดแรง -
บริษัท สยามเทคนิคคอนกรีต จำกัด (มหาชน) หรือ STECH เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์คอนกรีตอัดแรงภายใต้เครื่องหมายการค้า STEC แบ่งธุรกิจออกเป็น 2 ส่วน คือ 1.ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์คอนกรีตอัดแรง เช่น เสาเข็มคอนกรีตอัดแรง, เสาไฟฟ้าคอนกรีตอัดแรง และผลิตภัณฑ์ประกอบเสาไฟฟ้า, ผลิตภัณฑ์คานสะพานและพื้นสะพาน, เสาเข็มคอนกรีตเสริมเหล็กอัดแรงโดยใช้แรงเหวี่ยง หรือเสาเข็มสปัน (spun pile) เป็นต้น คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 90% เฉพาะเสาไฟฟ้าคอนกรีตอัดแรงและผลิตภัณฑ์คอนกรีตอัดแรงที่ใช้ประกอบเสาไฟฟ้าซึ่งเป็นธุรกิจแรกของบริษัท มีสัดส่วนรายได้คิดเป็น 14% เป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในงานก่อสร้างและติดตั้งสายส่งไฟฟ้าแรงสูงของการไฟฟ้า ผลิตขึ้นภายใต้ข้อกำหนดและมาตรฐานของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) โดยได้รับการรับรองระบบบริหารคุณภาพตามมาตรฐานสากล ISO 9001:2015 2.ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง เป็นงานรับเหมาก่อสร้างเฉพาะกรณีที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจหลักของบริษัท และงานก่อสร้างที่บริษัทมีผลงานและประสบการณ์เฉพาะทาง ได้แก่ งานติดตั้งระบบสายส่งไฟฟ้าแรงสูง 115 kV และงานออกแบบจัดหาพร้อมติดตั้งเคเบิลใยแก้วนำแสง โดยงานรับเหมาก่อสร้างจะเติบโตตามแผนการลงทุนของ กฟผ. คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 10-15% ลูกค้ามาจากหลายกลุ่มอุตสาหกรรม เช่น การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กลุ่มผู้รับเหมาโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ เช่น ช.การช่าง, อิตาเลียนไทย, ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้, ซีพี, PTT เป็นต้น- กำไรสะสมพันล้าน -
เพื่อต่อยอดให้กับการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์คอนกรีตอัดแรงซึ่งเป็นธุรกิจเดิมของบริษัทฯ ปี 2546 จึงขยายมาทำธุรกิจ รับเหมาก่อสร้าง เป็นทั้งผู้รับเหมาหลักและผู้รับเหมาช่วง (sub-contractor) โดยเข้าประมูลโครงการก่อสร้างและสัมปทานจากหน่วยงานของภาครัฐและเอกชน (ธุรกิจส่วนนี้หยุดดำเนินการตั้งแต่ต้นปี 2561) ปี 2559 บริษัทลงทุนก่อสร้างโรงงานเสาเข็มสปัน และเปลี่ยนชื่อจาก บจ. สระบุรีเทคนิคคอนกรีต เป็น บจ. สยามเทคนิคคอนกรีต ปี 2562 แปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนและนำหุ้น STECH เข้าซื้อขายใน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม ปี 2564 จำนวน 203.50 ล้านหุ้น โดยคาดว่าจะได้เงินจากการระดมทุนครั้งนี้ 550 ล้านบาท เพื่อนำไปใช้ในการขยายธุรกิจเสาคอนกรีตอัดแรง ก่อสร้างโรงงานใหม่และขยายกำลังการผลิต ชำระคืนเงินกู้ระยะสั้นประเภทตั๋วสัญญาใช้เงินจากสถาบันการเงิน และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงาน ระหว่างปี 2561-2563 บริษัทมีรายได้รวม 1,804.54 ล้านบาท 1,712.83 ล้านบาท และ 1,550.33 ล้านบาท กำไรสุทธิ 85.74 ล้านบาท 93.23 ล้านบาท และ 140.60 ล้านบาท ตามลำดับ โดยมีผู้ถือหุ้นใหญ่ 2 อันดับแรกคือ บจ. ร่วมชัยกิจ ซึ่งเป็นบริษัทโฮลดิ้ง และกลุ่มครอบครัวมงคลศรีสวัสดิ เมื่อพลิกเอกสารดูตัวเลขผลประกอบการไม่พบว่าปีไหนกำไรถึงพันล้าน? วัฒน์ชัยอธิบายว่า หมายถึงตั้งแต่ก่อตั้ง บริษัทได้จ่ายปันผลแก่ผู้ถือหุ้นเป็นเงินมากกว่าพันกว่าล้านบาทแล้ว นั่นหมายความว่ากำไรสะสมต้องเกินพันล้าน จุดเด่นของบริษัทคือ “ต้นทุน” ที่สามารถแข่งขันได้ เนื่องจากมีโรงงานกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาค ทำให้ค่าขนส่งซึ่งเป็นต้นทุนหลัก ต่ำกว่ารายอื่น รวมทั้งตัวโรงงานตั้งอยู่ในเขตที่มีความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ เช่น เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เขตพื้นที่สำหรับก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรม และการเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ทำให้สามารถต่อรองกับคู่ค้าผู้จำหน่ายปูนซีเมนต์และ ลวดเหล็กได้ เนื่องจากสั่งซื้อคราวละมากๆ ปัจจุบัน STECH เป็น 1 ใน 5 ของผู้ผลิตรายใหญ่ในประเทศ และมีจำนวนโรงงานมากที่สุด “เราทำเสาเข็ม ขนส่งและบริการตอกเสาเข็ม เรามีเครื่องมือครบ ถือว่ามีความสมบูรณ์ทั้งความสามารถในการผลิต ตั้งแต่ขนาดเล็กสุดถึงใหญ่สุด และการบริการตอกเสาเข็ม เครื่องจักรที่ใช้ตอกในประเทศไทยก็มีครบหมดทุกอย่าง ปั้นจั่นล้อยาง ปั้นจั่นล้อแทรค ปั้นจั่นระบบไฮดรอลิก รถกดเข็มโดยไม่สั่นสะเทือนอาคารข้างเคียง”- โอกาสในวิกฤต -
แม้ประเทศไทยจะประสบปัญหาทางเศรษฐกิจจากการระบาดของโควิด-19 ในช่วงปี 2563-2564 แต่ผู้บริหาร STECH มั่นใจว่าธุรกิจเสาเข็มคอนกรีตยังมีอนาคต เนื่องจากภาครัฐมีโครงการก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานของประเทศในระยะ 10 ปีนับจากนี้ ตัวอย่างเช่น โครงการรถไฟทางคู่เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ, โครงการรถไฟทางคู่ สายบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม, โครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา-หนองคาย และโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC เป็นต้น “รถไฟรางคู่ตอนนี้ยังไม่ทั่วประเทศ ที่ผ่านคณะรัฐมนตรีแล้วมูลค่า 4 แสนล้าน เพิ่งประมูลไปแค่ 1.3 แสนล้าน เด่นชัย เชียงราย เชียงของ 7 หมื่นล้าน และสายบ้านไผ่ นครพนม มุกดาหาร 6 หมื่นล้าน เหลืออีก 2.7 แสนล้าน สัญญาที่เพิ่งประมูลไปใช้เวลาก่อสร้าง 6 ปี ยังไม่ครบทั่วประเทศ นอกจากตรงนี้แล้วยังมีรถไฟความเร็วสูง ซึ่งทยอยมา ตอนนี้สายเหนือยังไม่ออก ออกแต่สายอีสานไปแค่โคราช ดอนเมือง สุวรรณภูมิ สัตหีบ...ยังมีมอเตอร์เวย์เส้นทางบางปะอิน-โคราช เสาเข็มสปันตอกใต้ฐานสะพาน 20 สัญญา เราได้ 11 สัญญา ในระยะมากกว่า 10 ปียังมีความต้องการเสาเข็มคานสะพานอยู่” และว่า การระบาดของโควิด-19 ทำให้ภาคอุตสาหกรรมแทบไม่มีการขยายโรงงาน คาดว่ารายได้จากภาคเอกชนจะลดลง แต่โชคดีที่ภาครัฐยังมีแผนงานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ซึ่งมีทั้งถนน สะพาน ป้องกันน้ำท่วม และโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งจะมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคตะวันออก ได้แก่ ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขันและการขนส่ง งานที่ได้ตอนนี้เป็นอานิสงส์จากภาครัฐซึ่งบริษัทรับเหมาก่อสร้างมาซื้อเสาเข็มและผลิตภัณฑ์ต่างๆ จากเรา โดยได้ติดต่อพูดคุยกับลูกค้าที่เป็นพันธมิตรและได้รับสัมปทานจากภาครัฐบ้างแล้ว สิ่งที่เสริมความมั่นใจคือ ช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564 มียอดรับรู้รายได้กว่า 80% ของเป้าหมายที่ตั้งไว “ปีที่แล้วยอดขายของเราตกลงไม่เยอะ แต่กำไรสูงขึ้น เพราะการบริหารต้นทุน อย่างตึกนี้เมื่อก่อนเช่าบริษัทแม่ ตอนหลังซื้อเลยประหยัดค่าเช่าสิบกว่าล้าน การบริหารดอกเบี้ย เดิมมีที่ปรึกษาหลายคน ค่าใช้จ่ายปีละหลายล้านก็ปรับลด หลายตัวประกอบกันทำให้กำไรสูงขึ้น” อ่านเพิ่มเติม:- ศึกเหรียญมีม: ทำไมจู่ๆ ราคาเหรียญ SHIBA INU ถึงตกต่ำ
- “FLASH COFFEE” เสิร์ฟกาแฟด้วยเทคโนโลยี
- วิธีลงทุน ‘คริปโตเคอร์เรนซี’ แบบไม่เสี่ยงมาก
คลิกอ่านฉบับเต็ม และบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนกันยายน 2564 ในรูปแบบ e-magazine