เปิดกลยุทธ์ "สิงห์ เอสเตท" สู่การเติบโตแบบก้าวกระโดด
ขยายธุรกิจเพิ่ม เสริมแกร่งธุรกิจหลัก
วิกฤตโควิด 19 ที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่และอนาคตที่ไม่อาจคาดเดา ธุรกิจที่จะสามารถยืนหยัดและเติบโตในโลกที่เต็มไปด้วยความท้าทายจากนี้ อาจไม่ใช่ธุรกิจที่สามารถทำกำไรได้มากที่สุด แต่เป็นธุรกิจที่มีกลยุทธ์ในการพัฒนาธุรกิจให้มีศักยภาพพร้อมรับมือกับทุกสถานการณ์
เมื่อโจทย์ในการดำเนินธุรกิจเปลี่ยน บมจ. สิงห์ เอสเตท (S) บริษัทผู้พัฒนาและลงทุนอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำของไทย จึงต้องวางแผนเชิงกลยุทธ์ให้พร้อมรับกับโลกธุรกิจที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
เดิมเกมรุก สร้าง Synergy ให้ธุรกิจ
หนึ่งในหมากตัวสำคัญของสิงห์ เอสเตท จากนี้ คือ การขยายธุรกิจหลักจากเดิมที่โฟกัสใน 3 ส่วน
ประกอบด้วย ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ ธุรกิจโครงการที่พักอาศัย และธุรกิจรีสอร์ตและโรงแรม ทำรายได้คิดเป็นสัดส่วน 96% ของรายได้ทั้งหมดของบริษัทฯ ไปสู่ธุรกิจผลิตกระแสไฟฟ้า และธุรกิจบริการที่เกี่ยวเนื่อง
ที่จะส่งเสริมซึ่งกันและกัน ซึ่งสิงห์ เอสเตท เชื่อมั่นว่า กลุ่มธุรกิจที่ 4 จะเข้ามาเติมเต็มและ ต่อยอดธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นแกนหลักมาแต่เดิม จะช่วยสร้างรายได้ให้กับบริษัทฯ และยังเป็นการเติมเต็มและเสริมความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของบริษัทฯ อีกด้วย
นายจุตินันท์ ภิรมย์ภักดี ประธานกรรมการ บมจ. สิงห์ เอสเตท กล่าวว่า จากจุดเริ่มต้นของสิงห์ เอสเตท ในฐานะบริษัทของครอบครัวที่บริหารจัดการสินทรัพย์และดำเนินธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของตระกูล มาสู่การเป็นบริษัทมหาชน ที่มีการบริหารงานอย่างมืออาชีพ มีสินทรัพย์อยู่ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่หลากหลาย กระจายอยู่ในหลายภูมิภาค ปีนี้ ถือเป็นอีกก้าวสำคัญของสิงห์ เอสเตทในการเข้าสู่เฟสต่อไปของการพัฒนาธุรกิจใหม่
"เราเชื่อมั่นในอนาคตของประเทศไทย ซึ่งเป็นฐานที่มั่นทางธุรกิจของสิงห์ เอสเตท ในขณะเดียวกัน เรายังเดินหน้ามองหาโอกาสที่จะสร้างการเติบโตใหม่ๆ ในระดับโลก ไปพร้อมกันด้วย”
วางโรดแมปเติบโตแบบก้าวกระโดด
ขณะที่นางฐิติมา รุ่งขวัญศิริโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. สิงห์ เอสเตท เสริมว่า ภายในระยะเวลา 3 ปี สิงห์ เอสเตท ตั้งเป้าเพิ่มรายได้ขึ้น 3 เท่าตัว ให้กลายเป็นประมาณ 20,000 ล้านบาทต่อปี พร้อมกับสร้างธุรกิจให้มีมูลค่าสินทรัพย์เพิ่มขึ้น จาก 65,000 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2563 ไปเป็นธุรกิจที่มีมูลค่าสินทรัพย์ 80,000 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2566 ขณะเดียวกัน ยังตั้งเป้าเพิ่มอัตราผลกำไรในการทำธุรกิจด้วย
กุญแจสำคัญที่่จะพาสิงห์ เอสเตทไปสู่เป้าหมายดังกล่าวได้ คือ การพัฒนาโครงการขนาดยักษ์หลากหลายโครงการในประเทศไทย และการเดินหน้าบูรณาการธุรกิจต่างๆ ของสิงห์ เอสเตท ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น โดยผนึกกำลังธุรกิจโรงแรม ธุรกิจที่พักอาศัย ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์และอุตสาหกรรม เข้ากับธุรกิจผลิตกระแสไฟฟ้า และธุรกิจให้บริการด้านนวัตกรรมที่เกี่ยวเนื่องต่างๆ
ที่จะส่งเสริมซึ่งกันและกัน ซึ่งจะสร้างความได้เปรียบเชิงธุรกิจให้กับสิงห์ เอสเตท ได้อย่างมหาศาล และเพิ่มความสามารถในการ คว้าโอกาสทางธุรกิจใหญ่ๆ ที่กำลังจะมีเข้ามา
"การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้น เป็นสิ่งยืนยันการตัดสินใจที่ถูกต้องของบริษัทฯ ในการวางโครงสร้างธุรกิจเป็น 4 กลุ่มธุรกิจที่เชื่อมโยงกัน เพื่อจะทำให้บริษัทฯ สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดี ได้อย่างสม่ำเสมอ ท่ามกลางสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ยากจะคาดเดา ทั้งในประเทศและทั่วโลก"
โดยเหตุผลที่สิงห์ เอสเตท มองว่า นี่เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเดินหน้ากลุ่มธุรกิจที่ 4 เพราะ ประเมินจากความแข็งแกร่งทางการเงินของสิงห์ เอสเตท จากอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนที่ต่ำ อยู่ที่ 0.96 เท่า ประกอบกับการมีเครดิตดี สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อีก 25,000 ล้านบาท โดยเชื่อว่าการเดินหน้า 4 กลุ่มธุรกิจของสิงห์ เอสเตท ยังทำให้บริษัทมีจุดโดดเด่นที่แตกต่าง ช่วยเพิ่มโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ที่เกี่ยวเนื่องได้มากกว่า
นอกจากนี้ ยังช่วยให้มีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น จากการเติมเต็มซึ่งกันและกันของกลุ่มธุรกิจต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ทรัพยากรร่วมกัน และการบูรณาการธุรกิจ ที่สำคัญ ยังช่วยให้ธุรกิจมีความมั่นคงมากยิ่งขึ้น จากการที่ธุรกิจในเครือมีวงจรทางธุรกิจที่แตกต่างกัน มีรูปแบบความเสี่ยงไม่เหมือนกัน และเพิ่มความสามารถในการสร้างรายได้ประจำและสม่ำเสมอ
ทั้งนี้ นางฐิติมา ยังเสริมด้วยว่า ขณะนี้ สิงห์ เอสเตท กำลังศึกษาแนวคิดและวิธีใหม่ๆ ระดับโลก นำมาใช้ในการบริหารจัดการธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ตของบริษัทฯ เพื่อเพิ่มศักยภาพของธุรกิจให้สามารถเดินหน้าต่อไปได้เป็นอย่างดีในทุกสถานการณ์ (Resilient Business) โดยสิงห์ เอสเตท มีเป้าหมายที่จะแสวงหาความร่วมมือทั้งภายในประเทศและระดับโลก เพื่อสร้างความเชี่ยวชาญที่มากขึ้น ซึ่งจะเป็นการเสริมความแข็งแกร่งความสามารถในการแข่งขัน และช่วยขยายฐานธุรกิจในต่างประเทศให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น
สำหรับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ของสิงห์ เอสเตท ซึ่งประกอบด้วยพื้นที่อาคารสำนักงานและพื้นที่ค้าปลีกรวม 140,000 ตารางเมตร สร้างรายได้ให้กับบริษัทฯ ประมาณ 15% ของรายได้ทั้งหมดในปี 2563 นอกจากนั้น บริษัทฯ ยังมีโรงแรมและรีสอร์ต 39 แห่ง ใน 5 ประเทศ ซึ่งมีห้องพักรวมกัน 4,647 ห้อง สร้างรายได้ให้กับบริษัทฯ ประมาณ 24% ของรายได้ทั้งหมด และมีโครงการที่พักอาศัย 23 โครงการ ประกอบด้วยที่อยู่อาศัยแนวราบ และคอนโดมิเนียม เช่น แบรนด์สันติบุรี The ESSE และแบรนด์อื่นๆ ซึ่งสร้างรายได้ให้กับบริษัทฯ ประมาณ 57% ของรายได้ทั้งหมด