Seekster สตาร์ทอัพผู้บริการจัดหาแม่บ้าน-ช่างซ่อมคว้าดีลพันธมิตรใหม่ "อนันดาฯ" ช่องทางเข้าถึงลูกค้าผู้อยู่อาศัยในคอนโดฯ 5 หมื่นยูนิต วางเป้าปี 2561 ขยายสู่หัวเมืองต่างจังหวัด เพิ่มยอดขายเท่าตัว
สเฮ็บ อนันต์ทรงวิทย์ ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
Seekster (ซีคสเตอร์) สตาร์ทอัพผู้ให้บริการจัดหาแม่บ้านและช่าง เปิดเผยว่า Seekster ได้ร่วมเป็นพันธมิตรกับ บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ อย่างเป็นทางการ เพื่อให้ Seekster ได้เป็นผู้จัดหาแม่บ้านและช่างซ่อมแก่ลูกบ้านในโครงการของอนันดาฯ ซึ่งมีกว่า 5 หมื่นยูนิต และได้รับองค์ความรู้เพื่อการพัฒนาต่อไป
ด้าน
ชานนท์ เรืองกฤตยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่
บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทเล็งเห็นว่า Seekster จะเป็นผู้มาเติมเต็มความต้องการของลูกค้าอนันดาฯ ซึ่งต้องการแม่บ้านและช่าง และยังเป็นแพลตฟอร์มที่ต่อยอดการให้บริการแก่ลูกค้าอนันดาฯ ที่เป็นผู้อยู่อาศัยในเมืองได้อีกหลายรูปแบบในอนาคต ตามเป้าหมายการเป็น Urban Tech ของบริษัท จึงสนใจที่จะทำงานร่วมกัน
โดยอนันดาฯ เป็นเสมือนพี่เลี้ยงพร้อมให้พื้นที่สำหรับ Seekster ได้ทดลองบริการต่างๆ และไม่ได้ปิดกั้นการทำงาน Seekster สามารถเป็นพันธมิตรกับบริษัทอสังหาริมทรัพย์อื่นๆ ได้อีกในอนาคต
สเฮ็บ กล่าวต่อว่า สำหรับ Seekster เป็นสตาร์ทอัพที่ก่อตั้งเมื่อปี 2558 และเปิดบริการเต็มรูปแบบเมื่อเดือนมกราคม 2559 ก่อนจะได้รับเงินลงทุนรวม 10-15 ล้านบาทในรอบระดมทุน Seed Stage จาก 3 ผู้ลงทุนหลัก ได้แก่
500 TukTuks, ดีแทค แอคเซอเลอเรท และ DV ในเครือธนาคารไทยพาณิชย์ ปัจจุบัน Seekster มีแม่บ้านและช่างในระบบ 3,500 คน ได้รับคำสั่งเรียกใช้บริการราว 5,000-6,000 งานต่อเดือน คาดว่าปี 2560 นี้จะมียอดขายเฉลี่ย 3.5 ล้านบาทต่อเดือน โดยบริษัทได้รับรายได้เป็นค่านายหน้า 10-30% ของยอดขาย
สเฮ็บ เปิดเผยว่า จากการเข้าร่วมโครงการบ่มเพาะสตาร์ทอัพทั้ง
ดีแทค แอคเซอเลอเรท batch 5 และ
DV batch 0 ทำให้ Seekster มีโมเดลธุรกิจที่คมชัดขึ้น มุ่งเน้นการบริการแม่บ้านและช่างเป็นหลัก จากเดิมเมื่อแรกก่อตั้งมีบริการทุกอย่างทั้งกลุ่มทำความสะอาด ซ่อมแซม ความงาม ไปจนถึงติวเตอร์กวดวิชา
และเมื่อ 7 เดือนก่อนได้เบนเข็มจากการทำธุรกิจแบบ B2C มุ่งลูกค้ารายย่อย เป็นการทำธุรกิจ B2B โดยเริ่มจากเจาะตลาดกลุ่มสำนักงานขนาดเล็กของบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ก่อน เสนอทางเลือกให้ลูกค้าเปลี่ยนจากการจ้างแม่บ้านแบบเต็มเวลาซึ่งคิดค่าใช้จ่าย 9,000-12,000 บาท/เดือน มาเป็นการจ้างงานแบบรายครั้งกับ Seekster ตามความจำเป็นแท้จริง ซึ่งทำให้ลดค่าใช้จ่ายได้ 20%
ทำให้ปัจจุบันยอดขาย 40% มาจากธุรกิจแบบ B2B ซึ่งมีการใช้ซ้ำสูง 85% และคาดว่าจะเพิ่มสัดส่วนเป็น 80% ในปี 2561 จากการเริ่มรุกตลาดจับมือกับบริษัทอสังหาฯ อย่างอนันดาฯ และดีเวลลอปเปอร์อีก 2 รายที่กำลังจะเป็นพันธมิตรในเร็วๆ นี้ นอกจากนี้ยังมุ่งเจาะตลาด SMEs ที่เป็นเจ้าของห้องเช่าให้เช่าผ่านแพลตฟอร์ม Airbnb และ Agoda Home สามารถเลือกใช้ Seekster ในการทำความสะอาดห้องพักให้เช่า ส่วนแผนในอนาคต คาดว่าจะขยายไปสู่กลุ่มโรงแรมได้ จากปัจจุบันเริ่มมีความร่วมมือกับเชนโรงแรมบูทิค เช่น
KoKotel
สเฮ็บ กล่าวต่อไปว่า
เชื่อว่าปี 2561 บริษัทจะเร่งยอดขายเป็นเท่าตัวได้ เพิ่มเป็นประมาณ 7 ล้านบาทต่อเดือน จากการเน้นธุรกิจ B2B ดังกล่าว และการขยายพื้นที่ให้บริการไปยังต่างจังหวัด เริ่มจากจ.ชลบุรี ภายในไตรมาส 1 ปีหน้า และจะทยอยขยายไปหัวเมืองต่างๆ เช่น เชียงใหม่ รวมถึงการเพิ่มจำนวนผู้ให้บริการ (แม่บ้านและช่าง) จาก 3,500 คนเป็น 15,000 คน ทำให้เป็นอันดับ 1 ในตลาดจัดหาบริการแม่บ้านและช่าง
"เงินลงทุนที่ได้มาจะนำมาพัฒนาทั้งเว็บไซต์และแอพพลิเคชั่นให้ใช้งานได้ดีทั้งฝั่งผู้ให้บริการและผู้รับบริการ และจะนำมาสร้างศูนย์ฝีกหัดแม่บ้านและช่างให้มีคุณภาพเพื่อให้ลูกค้ามั่นใจในมาตรฐานของ Seekster
จุดเริ่มต้นเราอาจจะมาจากลักษณะของ marketplace คือเป็นพื้นที่จับคู่ระหว่างแม่บ้านกับคนรับบริการ แต่เราเป็นแค่นั้นไม่ได้ ตอนนี้เราไม่ใช่เพียงแค่ marketplace เราคือผู้จัดหาบริการที่ต้องตรวจสอบประวัติและควบคุมคุณภาพ อย่างการฝึกหัดช่างล้างแอร์ก็มีการติดต่อซัยโจเด็นกิแล้ว เพื่อร่วมมือกันในการฝึกหัดช่าง" สเฮ็บกล่าว
ทั้งนี้
สมโภชน์ จันทร์สมบูรณ์ ผู้อำนวยการ
ดีแทค แอคเซอเลอเรท หนึ่งในผู้ร่วมลงทุนใน Seekster กล่าวว่า ดีแทคเล็งเห็นอนาคตของ Seekster ที่สามารถเข้าถึงชาวไทยได้กว่า 40 ล้านคนทั่วประเทศ และยังขยายไปในอาเซียน เช่น เมียนมา มาเลเซีย ที่มีความต้องการบริการเหล่านี้เช่นกัน คาดว่าจะมีผู้ใช้บริการอีก 20 ล้านคน รวมเป็น 60 ล้านคนนี้คือกลุ่มลูกค้าคาดหวังที่เป็นไปได้ของ Seekster