ผลิตภัณฑ์คอนกรีตชลบุรี (CCP) รื้อโครงสร้างธุรกิจ พลิกสัดส่วนรายได้เน้นจำหน่ายพรีคาสท์โครงการภาครัฐ โละขายแพล้นปูน 13 แห่ง เปิดโมเดลใหม่ “โลจิสติกส์” รับขนส่งปูนซีเมนต์
อาทิตย์ ทีปกรสุขเกษม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ผลิตภัณฑ์คอนกรีตชลบุรี จำกัด (มหาชน) หรือ CCP เปิดเผยว่า บริษัทเริ่มปรับโครงสร้างธุรกิจมาตั้งแต่ปี 2560 และจะเห็นผลของการปรับตัวได้ชัดเจนในปีนี้ โดยมีการเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ คือ บริษัทจะมุ่งเน้นงานผลิตภัณฑ์คอนกรีตสำเร็จรูป (พรีคาสท์) เพิ่มมากขึ้น และเปลี่ยนการบริหารแพล้นปูนเพื่อขายคอนกรีตผสมเสร็จ (ready-mix) มาเป็นการรับจ้างขนส่ง
การปรับโครงสร้างนี้จะทำให้สัดส่วนที่มาของรายได้เปลี่ยนแปลงเช่นกัน จากก่อนหน้านี้ CCP มีรายได้จากการขายคอนกรีตผสมเสร็จ 60% และจากการขายพรีคาสท์ 40% ปีนี้โครงสร้างรายได้จะพลิกกลับ คือ ทำรายได้จากพรีคาสท์ 80% และจากการรับจ้างขนส่งคอนกรีตผสมเสร็จ 20% จากเป้ารายได้ปี 2562 ที่ตั้งไว้ 2.5 พันล้านบาท
สำหรับธุรกิจพรีคาสท์ อาทิตย์กล่าวว่า บริษัทสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้หลากหลายตามที่ลูกค้าต้องการ เช่น รางระบายน้ำ ท่อดินลอด ฐานรองเสาไฟฟ้า เสาเอ็น บ่อพักคอนกรีตเสริมเหล็ก ฯลฯ โดยเน้นรับงานโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐเป็นหลัก 80% ของงานโปรเจกต์ทั้งหมด
“การขยายด้านพรีคาสท์เพราะธุรกิจนี้มี barrier of entry ทำให้เราได้เปรียบคู่แข่ง” เขายังเสริมด้วยว่า ช่วง 5 เดือนแรกปี 2562 มีคำสั่งซื้อผลิตภัณฑ์พรีคาสท์เข้ามาที่ CCP แล้ว 400 คำสั่งซื้อ เทียบกับปี 2561 ตลอดทั้งปีมี 650 คำสั่งซื้อ จึงมองว่าปีนี้น่าจะมีแนวโน้มธุรกิจที่ดี
ประกอบกับความชัดเจนของการก่อตั้งรัฐบาล หลังพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นนายกรัฐมนตรี ทำให้การดำเนินนโยบายของรัฐบาลน่าจะเกิดขึ้นต่อเนื่องและเรียกความเชื่อมั่นจากนักลงทุนได้ โดยเฉพาะงานโครงสร้างพื้นฐานโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC)
โละขายแพล้นปูน 13 แห่ง เน้นวิ่งรถรับขนส่งซีเมนต์
อาทิตย์กล่าวต่อว่า ด้านธุรกิจแพล้นปูนนั้นบริษัทมีการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ในช่วงเดือนสิงหาคม 2561 บริษัทได้ตัดขายแพล้นปูน 13 แห่งในพื้นที่จังหวัดชลบุรีออกไปให้กับ บมจ.ปูนซีเมนต์เอเชีย มูลค่ารวมกว่า 200 ล้านบาท โดยบริษัทยังเหลือแพล้นปูนบริหารเพียง 2 แห่งเท่านั้น เพื่อหันมามุ่งเน้นกับการโลจิสติกส์ขนส่งคอนกรีต ready-mix จากทุกแพล้นปูนไม่ว่าจะในหรือนอกบริษัท
เอ็มดี CCP อธิบายว่า ธรรมชาติของธุรกิจแพล้นปูน เครื่องจักรมีกำลังผลิตได้ถึง 60-90 คิวต่อชั่วโมง แต่ส่วนใหญ่แล้วจะสามารถส่งขายได้ 200 คิวต่อวันเป็นอย่างมาก เนื่องจากติดคอขวดเรื่องรถขนส่งปูนที่ไม่เพียงพอ
ขณะเดียวกันเมื่อ 5-6 ปีก่อนหน้ามีปัญหาปริมาณงานก่อสร้างลดลงกะทันหัน ทำให้บริษัทต่างๆ ต้องดั๊มราคาลงจนราคาคอนกรีต ready-mix ตกลงมาก เหลือเพียง 1,250-1,500 บาทต่อคิว จากปกติ 1,600 บาทต่อคิว ซึ่งทำให้รายได้บริษัทลดลงแต่ต้นทุนการบริหารแพล้นปูนยังเท่าเดิม และจนถึงปัจจุบันสถานการณ์ราคายังไม่ฟื้นตัวเต็มที่
ดังนั้น บริษัทจึงตัดขายแพล้นปูนเพื่อหันมาเน้นรับงานขนส่งปูนแทน ด้วยปริมาณรถขนปูน 120 คัน และคนขับรถปูน 90 คนของบริษัทสามารถรับจ้างขนปูนเพื่อแก้ปัญหาคอขวดให้แพล้นปูนทุกแห่ง โดยบริษัทยังมีทีมเซลส์เพื่อติดต่อเป็นคนกลางซื้อมาขายไป ซึ่งจะทำให้ได้กำไรส่วนต่างและค่ารับจ้างขนส่ง และตัดค่าโสหุ้ยของการบริหารแพล้นปูนไปได้ 3-4 ล้านบาทต่อเดือน
“เมื่อ capacity อยู่ที่รถไม่ใช่ที่แพล้นปูน การแข่งขันจึงอยู่ที่โลจิสติกส์ เราจึงมาเน้นตรงนี้ ให้รถของเราวิ่งไปรับของมาขายลูกค้า” อาทิตย์เสริมว่า ปกติบริษัทจะขายคอนกรีต ready-mix ในเขตจังหวัดชลบุรี ระยอง และปราจีนบุรี แต่หลังจากนี้สามารถส่งรถไปขนส่งได้ทั่วไทยขึ้นอยู่กับการตกลงราคา
อย่างไรก็ตาม จากจำนวนรถที่มากกว่าจำนวนคนขับรถ อาทิตย์ยอมรับว่ายังหาทางแก้ปัญหาคนขับรถขาดแคลนได้ยาก เนื่องจากการขับรถปูนต้องอาศัยความรับผิดชอบสูง แม้จะดันเพดานรายได้ไปถึง 21,000 บาทต่อเดือนก็ยังขาดแคลนบุคลากร และไม่สามารถจ้างแรงงานต่างด้าวได้เพราะอาจติดปัญหาการขับรถข้ามจังหวัด
รอ ‘รถไฟ’ ส่งพรีคาสท์ขายทั่วประเทศ
อาทิตย์ยังกล่าวถึงแนวคิดในอนาคตของบริษัทต้องการออกประมูลโปรเจกต์ได้ไกลขึ้น เพื่อส่งผลิตภัณฑ์พรีคาสท์ของบริษัทไปทั่วประเทศ แต่ปัจจุบันยังติดปัญหาด้านการขนส่งที่ต้องลดต้นทุนลง ซึ่งการขนส่งที่เหมาะสมที่สุดจะเป็นระบบราง แต่ขณะนี้ระบบรางยังติดปัญหาเรื่องตารางเวลา มองว่าอนาคตหากโครงข่ายรถไฟทางคู่แล้วเสร็จจะทำให้บริษัทบุกไปทั่วประเทศได้
นอกจากนี้ บริษัทกำลังศึกษาการพัฒนาเครื่องจักรผลิตพรีคาสท์ที่ขนย้ายได้เป็นทางเลือกที่สอง อาจขนย้ายเฉพาะเครื่องจักรไปผลิตพรีคาสท์ใกล้ไซต์งาน แทนที่จะต้องผลิตจากโรงงานในชลบุรีเท่านั้น
- รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส เปลี่ยน SCG ให้แข่งได้ในระดับโลก
- เชิดศักดิ์ อัมพรสุขสกุล ก่อ “แสงฟ้า” ให้สว่างไสวถึงหมื่นล้าน
ทั้งนี้ สำหรับรายได้ CCP ปี 2562 บริษัทตั้งเป้าไว้ที่ 2.5 พันล้านบาท ทรงตัวใกล้เคียงกับปีก่อน โดยมีแบ็กล็อกงานในมือแล้ว 2 พันล้านบาท ทยอยรับรู้รายได้ในช่วง 1 ปี 6 เดือน แบ่งเป็นการรับรู้รายได้ภายในปีนี้ 60% ของแบ็กล็อกทั้งหมด
ด้านผลประกอบการไตรมาส 1/62 บริษัททำรายได้ไป 638 ล้านบาท กำไรสุทธิ 5.4 แสนบาท ตามรายงานในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย