ซีอาร์ซี ไทวัสดุ เติบโตสวนกระแสเศรษฐกิจซบ รายได้พุ่ง 3 หมื่นล้านบาท เดินหน้าขยายสาขา 7 แห่ง ปี 2563 ลงทุน 3.5 พันล้านบาท ผุดโมเดลใหม่ไซส์เล็ก รูปแบบดิจิทัล สโตร์ เจาะพฤติกรรมคนไทยซื้อของออนไลน์
สุทธิสาร จิราธิวัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจวัสดุก่อสร้าง สินค้าตกแต่งบ้าน บริษัท ซีอาร์ซี ไทวัสดุ จำกัด เปิดเผยว่า ภาพรวมธุรกิจวัสดุก่อสร้างในปีนี้ชะลอตัวลงตามสภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่หายไปในกลุ่มชาวต่างชาติที่เดินทางมาท่องเที่ยวและอาศัยในประเทศไทย ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร และอสังหาริมทรัพย์ แต่สำหรับไทวัสดุยังเติบโตสวนกระแสจากการขยายสาขาเพิ่ม ด้วยอัตราการเติบโต 20% รวมรายได้ 3 หมื่นล้านบาทในปีนี้
“ภาพรวมของธุรกิจวัสดุก่อสร้างปีนี้ชะลอตัวกว่าปีที่แล้ว ซึ่งเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจและกลุ่มชาวต่างชาติที่หายไป โดยเฉพาะชาวจีนที่ก่อนหน้านี้เข้ามาซื้ออสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย และซื้อวัสดุ ของตกแต่งบ้าน ขณะที่ในกลุ่มมนักท่องเที่ยวก็ลดลง ส่งผลต่อธุรกิจโรงแรม ร้านอาหารเปิดสาขาน้อยลง ความต้องการในตลาดวัสดุและของตกแต่งบ้านก็ลดลงตามไปด้วย” สุทธิสารกล่าว
ทุ่ม 3.5 พันล้านขยายสาขา
สุทธิสาร กล่าวว่า ช่วง 3 ปีก่อนหน้านี้ ธุรกิจไทวัสดุไม่ขยายตัว เนื่องจากหยุดขยายสาขาเพื่อต้องการปรับปรุงโครงสร้างธุรกิจให้สอดรับกับความต้องการของผู้บริโภคและผู้รับเหมา หลังจากนั้นจึงเริ่มกลับมาขยายสาขาอีกครั้งตั้งแต่ปี 2560 จำนวน 3 สาขา ปี 2561 จำนวน 4 สาขา ปี 2562 จำนวน 5 สาขา และในปี 2563 บริษัทตั้งเป้าหมายขยายสาขารวม 7 แห่ง โดยใช้งบลงทุน 3.5 พันล้านบาท แบ่งเป็นสาขาขนาดปกติที่มีพื้นที่ 30 ไร่ขึ้นไป จำนวน 5 สาขา และสาขาขนาดเล็ก พื้นที่ประมาณ 10 ไร่ จำนวน 2 สาขา
ในปัจจุบัน ไทวัสดุมีสาขารวม 50 แห่ง แบ่งเป็นต่างจังหวัด 35 สาขา และกรุงเทพฯ 15 สาขา โดยสาขาล่าสุดสาขาที่ 50 อยู่ที่เขตหนองจอก เป็นรูปแบบใหม่ “ไทวัสดุ ก่อสร้าง ฮาร์ดแวร์ สุขภัณฑ์” เป็นดิจิทัล สโตร์ที่มีขนาดพื้นที่และจำนวนพนักงานลดลง 50% จากสาขาปกติ และใช้ดิจิทัลเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการ โดยใช้งบลงทุน 300 ล้านบาท จากปกติจะใช้งบลงทุนสาขาละ 500 ล้านบาท
มุ่งไซส์เล็ก-ดิจิทัลสโตร์
สุทธิสาร กล่าวว่า การขยายสาขาในรูปแบบใหม่ที่มีขนาดพื้นที่ลดลง เพื่อต้องการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าในชุมชนได้มากขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้บริการในรัศมีการเดินทางไม่เกิน 15 กิโลเมตร แต่ยังมีสินค้าวัสดุก่อสร้างครบ จำนวนกว่า 20,000 รายการ โดยบริษัทได้นำระบบช็อปปิ้งผ่าน Android Application “Easy Shopping App” ที่ลูกค้าสามารถสแกน QR Code ของสินค้าที่ต้องการ เลือกจำนวน กดยืนยัน และชำระเงินที่จุด Check-Out จะได้รับสินค้าภายใน 15 นาที โดยที่ไม่ต้องหยิบสินค้าใส่รถเข็น เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าในการเลือกซื้อสินค้า สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค
นอกจากนี้ บริษัทอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบ E-ordering ที่ลูกค้าสามารถเลือกซื้อสินค้าได้จากที่บ้าน และมารับสินค้าที่สโตร์ หรือมีบริการส่งฟรีในรัศมี 30 กิโลเมตร ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 และในช่วงไตรมาสที่ 2 จะเป็นให้บริการอี-คอมเมิร์ซอย่างครบวงจร
“ทุกวันนี้พฤติกรรมของลูกค้ายอมรับในเทคโนโลยีมากขึ้น นิยมช็อปปิ้งออนไลน์ แม้ในธุรกิจจำหน่ายวัสดุก่อสร้างยังมาไม่เต็มที่ แต่เทรนด์มาแน่นอน เราจึงเริ่มต้นทดลองให้บริการดิจิทัลสโตร์ที่สาขาหนองจอก ซึ่งถือเป็นแหล่งชุมชนที่มีที่อยู่อาศัยหนาแน่น” สุทธิสารกล่าว
อ่านเพิ่มเติมไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine