เอสซีจี เซรามิกส์ เผยรายได้ครึ่งปี 62 ลดลง ผลจากนโยบาย LTV ทำการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคชะลอตัว-ตลาดกระเบื้องเซรามิกในประเทศเติบโตเป็นศูนย์ หันซบกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน
นำพล มลิชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสซีจี เซรามิกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ COTTO ผู้ผลิตและจำหน่ายกระเบื้องภายใต้แบรนด์คอตโต้ (COTTO), โสสุโก้ (SOSUCO) และคัมพานา (CAMPANA) เปิดเผยรายได้งบการเงินรวมก่อนสอบทานของ COTTO ในไตรมาส 2/2562 ว่าบริษัทมีรายได้จากการขาย 2,790 ล้านบาท ลดลง 5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลง 7% จากไตรมาสก่อนหน้า โดยสัดส่วนรายได้มาจากในประเทศ 81% และต่างประเทศ 19%
"รายได้ไตรมาสนี้ลดลงมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากรายได้จากการส่งออกไปอินโดนีเซียหายไป เนื่องจากการตั้งกำแพงภาษีของอินโดนีเซียซึ่งทำให้เราไม่สามารถส่งสินค้าที่ผลิตจากจีนไปยังอินโดนีเซียได้"
"สำหรับกำไรของไตรมาส 2/2562 อยู่ที่ 21 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลง 84% จากไตรมาสก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจริงๆ แล้วไตรมาสนี้บริษัทควรมีกำไร 113 ล้านบาท แต่เนื่องจากเราต้องตั้งประมาณการค่าใช้จ่ายตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานฉบับใหม่ที่เพิ่มสิทธิค่าชดเชยพนักงานเกษียณอายุจาก 300 วัน เป็น 400 วัน รวมเป็นเงิน 124 ล้านบาท ซึ่งไม่ถือเป็นรายจ่ายประจำ เมื่อหักลบในส่วนนี้แล้วจึงทำให้กำไรลดลงจากไตรมาสแรก"
นำพล กล่าวอีกว่า ขณะที่ผลประกอบการครึ่งปีแรกของปี 2562 นั้น เอสซีจี เซรามิกส์ มีรายได้จากการขาย 5,802 ล้านบาท ลดลง 4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยหลายด้าน ทั้งการแข่งขันด้านราคา โดยครึ่งปีแรกที่ผ่านมาราคากระเบื้องของเราปรับตัวลดลงเฉลี่ย 10 บาท/ตารางเมตร
“อย่างไรก็ตาม ครึ่งปีแรกของปี 2562 บริษัทมีกำไร 151 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 182% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลมาจากกำไรที่ได้จากการขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมหนองแค และการควบรวมกิจการในปีที่ผ่านมาทำให้ต้นทุนผันแปร ต้นทุนคงที่ และต้นทุนการตลาดลดลง นอกจากนี้ยังทำให้เรามีสินค้าในกลุ่มที่แข่งขันได้เพิ่มขึ้น แลกกับราคาที่ขยับลงบ้างเล็กน้อย”
อนึ่ง เอสซีจี เซรามิกส์ ถือเป็นผู้เล่นที่มีส่วนแบ่งอยู่ในตลาดคิดเป็น 1 ใน 3 โดยมีสัดส่วนรายได้ในประเทศแบ่งเป็นกรุงเทพฯ และปริมณฑล 50% และต่างจังหวัด 50% และแบรนด์ที่สร้างรายได้หลักให้บริษัทคือ คอตโต้ มีสัดส่วนอยู่ที่ 30-35%
“ทั้งนี้ ไตรมาสที่ผ่านมาถือว่าตลาดในประเทศไม่มีปัจจัยบวก จากนโยบาย LTV ของรัฐบาล และการรอดูทิศทางของภาครัฐและสถานการณ์ในประเทศ ทำให้การตัดสินใจซื้อและการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ของผู้บริโภคชะลอตัวลง ส่งผลกระทบต่อยอดขายเซรามิกและอัตราการเติบโตของตลาดเซรามิกในประเทศเป็นศูนย์"
ขณะที่ไตรมาส 3 มองว่าตลาดยังทรงตัว เนื่องจากยังไม่มีปัจจัยบวกมากนัก ซึ่งหวังว่ารัฐบาลใหม่จะมีทิศทางการดำเนินงานที่ทำให้ครึ่งปีหลังมีสภาพเป็นบวก โดยต้องให้กำลังใจรัฐบาลที่ต้องเจอกับความท้าทายต่างๆ ในภาวะที่เศรษฐกิจโลกเป็นแบบนี้ สำหรับไตรมาส 4 มองว่าการเติบโตของตลาดก็ยังเป็นศูนย์ สาเหตุจากปัญหาภัยแล้งในขณะนี้ที่กระทบกับรายได้ของเกษตรกร ส่งผลต่อกำลังซื้อในไตรมาส 4 ไปจนถึงต้นปีหน้า
ส่วนตลาดต่างประเทศที่ครึ่งปีแรกมีสัดส่วน 17% นั้น ครึ่งหนึ่งเป็นรายได้ที่มาจากตลาดกลุ่ม CLM (กัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และเมียนมา) ซึ่งเป็นตลาดที่บริษัทให้ความสำคัญ โดยยังถือว่ามีการเติบโตต่อเนื่องยกเว้นลาวที่มีปัญหาเศรษฐกิจในประเทศ
นำพลระบุว่า ในปี 2562 นี้ที่บริษัทเคยตั้งเป้าประมาณการเติบโตไว้ที่ 5-10% จากรายได้รวมปีก่อนอยู่ที่ 1.1 หมื่นล้านบาท โดยถึงแม้ในปีนี้ตลาดจะดูทรงตัว แต่จากความสามารถในการลดต้นทุน และตัวเลขกำไรที่เพิ่มขึ้น มองว่าปีนี้บริษัทยังมีโอกาสการเติบโตอยู่ โดยบริษัทปรับประมาณการเติบโตรวมทั้งปีเป็นไม่ต่ำกว่า 5%
“สำหรับแผนลงทุนปีนี้ที่มีงบประมาณ 500-600 ล้านบาท ครึ่งปีแรกใช้ไปแล้วไม่เกิน 200 ล้านบาท โดยการลงทุนหลักในปีนี้เน้นไปที่การปรับปรุงเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ส่วนกลยุทธ์ในครึ่งปีหลังคือการคงสภาพยอดขายในประเทศไว้ และเร่งขยายตลาดส่งออกมากขึ้น เนื่องจากการขยายในประเทศคงไม่พ้นการเผชิญกับการแข่งขันทางราคา จึงมองไปที่ตลาดต่างประเทศมากกว่า โดยมองหาตลาดที่มีแนวโน้มขยายได้ในกลุ่มประเทศใกล้เคียง คือ ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย”
นอกจากนี้ กลยุทธ์ของเรายังเน้นไปที่การออกแบบให้มีดีไซน์เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ของลูกค้าแต่ละแบรนด์, รักษามาตรฐานและยกระดับคุณภาพสินค้า ควบคู่ไปกับการสร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่ง ดังจะเห็นได้ว่าในทุกโรงงานที่เป็นฐานการผลิตของเราจะมีห้องปฏิบัติการทดสอบคุณภาพกระเบื้องที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน มอก.17025 (ISO/IEC-17025) ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ให้การรับรองห้องปฏิบัติการทดสอบที่มีการดำเนินด้านระบบคุณภาพ
“จากดีมานด์กระเบื้องในประเทศที่มีอยู่ 170-180 ล้านตารางเมตร เชื่อว่าหากเรามีดีไซน์ที่เหมาะกับไลฟ์สไตล์ผู้บริโภค สินค้ามีคุณภาพดี ธุรกิจก็ยังเติบโตไปได้”
สำหรับการสร้างพลังงานทดแทนอย่างโครงการระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบลอยน้ำและบนหลังคาเมื่อปีที่ผ่านมา เพื่อนำกระแสไฟฟ้าที่ได้มาใช้ผลิตน้ำประปาป้อนให้กับโรงงานอุตสาหกรรมในนิคมนั้น ขณะนี้บริษัทอยู่ในช่วงการเซตทีมงานและศึกษาความเป็นไปได้ในตลาด
รายงานโดย กนกวรรณ มากเมฆ / Online Content Creator