กลุ่มบีทีเอสปรับทิศจับมือพันธมิตรเพิ่มระดับความแข็งแกร่งพร้อมส่งมอบคันบังคับให้ผู้กุมบังเหียนคนใหม่คุมหัวขบวนขับเคลื่อนอาณาจักรสู่ส่วนต่อขยายในธุรกิจสื่อโฆษณา อสังหาริมทรัพย์ และบริการครบวงจร
รถไฟฟ้า 52 ขบวนยังคงขับเคลื่อนบนเส้นทางที่ทอดยาวเชื่อมโยงการเดินทางระหว่างสายสุขุมวิท (สายสี เขียวเข้ม) และสายสีลม (สายสีเขียวอ่อน) รวมระยะทาง 36.3 กิโลเมตร จำนวน 34 สถานี ภายใต้การขับเคลื่อนธุรกิจของ กวิน กาญจนพาสน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ร่วมต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กับบิดาผู้ก่อตั้งอาณาจักรตั้งแต่เริ่มลงทุน 1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สำหรับการออกแบบรถไฟฟ้าโดย Porsche Design “ผมชอบธุรกิจที่ไม่มีคู่แข่ง” แนวคิดการต่อยอดธุรกิจที่กวินเคยให้สัมภาษณ์กับทีม งาน Forbes Thailand ในเดือนมีนาคม 2558 สะท้อนชัดถึงอนาคตของบีทีเอสที่ ได้รับการกำาหนดทิศทางจากซีอีโอวัย 41 ปี เมื่อธุรกิจรถไฟฟ้าเริ่มปรากฏคู่แข่งขอแชร์ส่วนแบ่งตลาดในธุรกิจบลูโอเชียน กวินเลือกใช้กลยุทธ์สร้างความแข็งแกร่งให้บริษัทด้วยการผนึกกำาลังเป็นพันธมิตรกับบริษัทยักษ์ใหญ่ภายใต้ชื่อกลุ่มกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (BSR Joint Venture) โดยกลุ่มบีทีเอสยังคงถือหุ้นใหญ่จำนวน 75% ผลจากความร่วมมือของผู้นำในอุตสาหกรรม ไม่เพียงทำให้บริษัทสามารถประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสีเหลืองได้สำเร็จ แต่ยังช่วยเสริมทัพทางธุรกิจกลุ่มบีทีเอสให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้นจากระยะทางรถไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นราว 283% หรือ 36.3 กิโลเมตรเป็น 139.1 กิโลเมตรในปี 2563 และข้อเสนอการเพิ่มระยะทางของสายสีเหลืองอีก 2.6 กิโลเมตรจากสถานีรัชดาเชื่อมต่อกับส่วนต่อขยายสายสีเขียวที่สถานีรัชโยธินซึ่งจะช่วยเพิ่มจำนวนผู้โดยสารสายสีเขียวในอนาคต ขณะเดียวกัน บริษัทยังมีโอกาสสร้างการเติบโตในธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ได้แก่ บริษัท วี จี ไอ โกลบอล มีเดีย จำกัด (มหาชน) โดยสามารถการันตีถึงพื้นที่โฆษณาบนรถไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้นอีก 3-4 เท่า หลังจากรถไฟฟ้า สายสีเขียว สีชมพู และสีเหลืองเริ่มดำเนินงานรวมถึงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่บริษัทมีที่ดิน 800 ไร่ตามเส้นทางรถไฟฟ้ามูลค่าทางบัญชีจำนวน 1.7 หมื่นล้านบาท โดยบริษัทได้เตรียมพัฒนาคอนโดมิเนียมร่วมกับ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) อยู่แล้วกว่า 20 โครงการ ทั้งนี้ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) คาดการณ์จำนวนผู้โดยสารของรถไฟฟ้าสายสีชมพูจำนวน 127,000 คนต่อวันในปี 2563 ขณะที่รถไฟฟ้าสายสีเหลืองจะมีผู้โดยสารจำนวน 227,000 คนต่อวันโอกาสใต้เงามังกรสยาม
แม้ธุรกิจรถไฟฟ้าจะเป็นแหล่งรายได้ที่มั่นคงและทำให้กลุ่มบริษัทเติบโตในระยะยาว แต่โอกาสทางธุรกิจไม่จำกัดเฉพาะบนฟากฟ้าเมื่อตลอดเส้นทางสามารถแปรเปลี่ยนเป็นตัวเลขต่อยอดธุรกิจเกี่ยวเนื่องไม่ว่าจะเป็นธุรกิจโฆษณา อสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจบริการ ซึ่งสร้างรายได้รวมกันจำนวนมากกว่าธุรกิจขนส่งมวลชนที่เป็นธุรกิจหลักของบริษัทภายใต้กลยุทธ์การจับมือกับพันธมิตรที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญสูง จากวิสัยทัศน์และความมั่นใจของกวิน ที่เล็งเห็นโอกาสต่อยอดการเติบโตให้กลุ่มธุรกิจตามรอยความสำาเร็จของรถไฟฟ้าใน ฮ่องกงกลายเป็นจุดเริ่มต้นธุรกิจโฆษณาบนรถไฟฟ้าในประเทศ พร้อมขยายสื่อโฆษณาครอบคลุมทุกสถานีรถไฟฟ้า และสร้างเครือข่ายสื่อโฆษณาครบวงจรครอบคลุมทั่วประเทศ (National Integrated Media Platform) ภายในปี 2561 ไม่ว่าจะเป็น สื่อโฆษณาในระบบขนส่งมวลชน อาคารสำนักงาน โฆษณากลางแจ้ง สนามบิน และสื่อดิจิทัล พร้อมคาดการณ์ รายได้รวมปี 2559/60 เพิ่มขึ้น 50% เป็น 3.1 พันล้านบาท สำหรับก้าวแรกของบริษัทในการขยายสื่อโฆษณาตามกลยุทธ์ที่วางไว้ ได้แก่ การรุกพื้นที่ต่างจังหวัดผ่านการซื้อหุ้นเพิ่ม ในบริษัท มาสเตอร์แอด จำกัด (มหาชน) หรือ MACO ซึ่งมีสื่อโฆษณาที่ให้บริการครอบคลุมทั้งประเทศ โดยบริษัทยังได้รับประโยชน์ จากดีลที่ MACO ไปเทคโอเวอร์บริษัท มัลติไซน์ จำกัด (MTS) ผู้ประกอบการธุรกิจป้ายโฆษณากลางแจ้งรายใหญ่ ซึ่งมีเครือข่ายสื่อนอกบ้านครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศ จำนวน 862 ป้าย พร้อมทั้งลงทุน 20% ในบริษัท แอโร มีเดีย กรุ๊ป จำกัด (Aero Media) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการสื่อโฆษณาใน 13 สนามบิน และเป็นตัวแทนขายสื่อโฆษณาบนเครื่องบิน 19 ลำของสายการบินไลออนแอร์ ไม่เพียงสร้างเครือข่ายโฆษณาครบวงจรในประเทศกวินยังสนใจโอกาสขยายการลงทุนในต่างประเทศ ด้วยการจับมือเป็นพันธมิตรกับผู้ประกอบการสื่อโฆษณานอกบ้านรายใหญ่ในประเทศมาเลเซีย 3 ราย เพื่อจัดตั้งบริษัทร่วมทุนภายใต้ชื่อ Titanium Compass Sdh Bhd (TCSB) คว้าสิทธิ์บริหารสื่อโฆษณาเป็นเวลา 10 ปี ในระบบรถไฟฟ้า MRT สายใหม่ หรือ สาย SBK ระยะทาง 51 กิโลเมตร รวม 31 สถานี และมีขบวนรถไฟฟ้าจำนวน 58 ขบวน โดยเตรียมเปิดเดินรถเฟสแรกภายในปลายปีนี้ ก่อนเปิดให้บริการอย่างเต็มระบบในกลางปี 2560 ในขณะที่ความเคลื่อนไหวล่าสุดเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา วีจีไอยังคงสร้างแรงสั่นสะเทือนวงการสื่อโฆษณากลางแจ้งอย่างต่อเนื่อง ด้วยการขายสื่อโฆษณาผ่านออนไลน์เต็มรูปแบบครั้งแรกในประเทศไทยซึ่งเป็นการจับมือกับยักษ์ใหญ่ Alibaba.com ให้สามารถซื้อสื่อโฆษณาของบริษัทได้ตลอด 24 ชั่วโมง ด้านธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่กลุ่มบีทีเอส จับมือกับบริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ยังคงเดินหน้าร่วมทุนพัฒนาโครงการอย่างต่อเนื่องตามแผนร่วมมือกันพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมในแนวเส้นทางระบบขนส่งมวลชนสัดส่วน 50:50 จำนวน 25 โครงการ มูลค่ารวม 1 แสนล้านบาท ซึ่งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา บริษัทได้พัฒนาโครงการ ร่วมกันแล้วจำนวน 8 โครงการมูลค่ารวม 3 หมื่นล้านบาท ขณะเดียวกันกลุ่มบีทีเอสยังได้ผนึกกำลังระหว่างวีจีไอและบัตร Rabbit ซึ่งช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งทางธุรกิจด้วยระบบการ ชำระเงินแบบ Rabbit Card และเปิดตัว Rabbit Line Pay เมื่อปลายปีก่อน โดยมีผู้ใช้บริการ 1.5 ล้านคนแต่มีการทำธุรกิจ 30,000 รายการต่อวันเฉลี่ยรายการละ 120 บาท โดยบริษัทต้องการเพิ่มจำนวนบัญชี Rabbit Line Pay 6 ล้านบัญชีและปริมาณทำธุรกรรม 4 ล้านรายการต่อวัน “ธุรกิจจะประสบความสำเร็จ คุณต้องคิดอะไรที่ต่างจากคนอื่น ถ้าตามคนอื่น ไม่มีทางทำาได้ดี ไม่ว่าจะธุรกิจอะไรทุกอย่างอยู่บนพื้นฐานของการซื้อมาขายไป เราต้องศึกษาเตรียมความพร้อมและตัดสินใจได้อย่างรวดเร็วตามแผนที่วางไว้” คำอธิบายของกวินในวันวานยังคงสามารถปรับใช้เป็นแนวทางการวางกลยุทธ์ต่อยอดอาณาจักรบีทีเอสในวันพรุ่งนี้ภาพ: กลุ่มบริษัทบีทีเอส
อ่านเพิ่มเติม:คีรี - กวิน กาญจนพาสน์ คู่พ่อลูกต่อยอดขับเคลื่อนธุรกิจ อ่านเพิ่มเติม: ย้อนรอย คีรี กาญจนพาสน์ ขับเคลื่อนมังกรสยามเชื่อมมหานคร อ่านเพิ่มเติม: กวิน กาญจนพาสน์ “ผมชอบธุรกิจที่ไม่มีคู่แข่ง”
คลิกอ่านฉบับเต็ม "คีรี กาญจนพาสน์ ขับเคลื่อนมังกรสยามเชื่อมมหานคร" ได้ที่ Forbes Thailand Magazine ฉบับ มีนาคม 2560