สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้านเผยตลาดรับสร้างบ้านกรุงเทพฯ-ปริมณฑลมูลค่า 5 หมื่นล้านบาท คาดการณ์ปีนี้เติบโตได้ 5% ค่าแรงขั้นต่ำปรับขึ้นเดือนเม.ย.61 เชื่อกระทบราคาบ้านปรับขึ้นเล็กน้อยหลังตรึงราคามาหลายปี จับมือจุฬาฯ สำรวจดีมานด์ประเทศเพื่อนบ้านกรุยทางขยายตลาด CLMV
ศิริพร สิงหรัญ นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน (HBA) ได้รับเลือกจากบอร์ดสมาคมฯ ให้ดำรงตำแหน่งเป็นนายกสมาคมฯ คนที่ 8 วาระ 2 ปี (2561-62) ต่อจาก
พิชิต อรุณพัลลภ นายกสมาคมฯ คนก่อน
ในโอกาสนี้ ศิริพรฉายภาพตลาดรับสร้างบ้านในกรุงเทพ-ปริมณฑลปี 2560 เฉพาะในกลุ่มสมาชิกสมาคมฯ 53 ราย มียอดขายรวม 10,500 ล้านบาท เติบโตจากปีก่อนหน้า 5% ทั้งนี้ ยอดขายรวมของสมาชิกสมาคมฯ คิดเป็นสัดส่วน 20% ของตลาดรวมซึ่งคาดว่ามีบริษัทรับสร้างบ้านอยู่ราว 1,000 บริษัท สร้างยอดขายปีละกว่า 5 หมื่นล้านบาท
สำหรับปี 2561 เชื่อว่าตลาดจะยังคงเติบโตต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 5% มูลค่าเพิ่มเป็น 11,000 ล้านบาท โดยมีสัญญาณที่ดีทางเศรษฐกิจมาตั้งแต่ช่วงครึ่งปีหลังของปี 2560 โดยสินค้ากลุ่มหลักยังคงเป็นบ้านราคา 2.5-5 ล้านบาท คิดเป็น 40% ของยอดขายรวม รองลงมาเป็นกลุ่มราคา 5-10 ล้านบาท คิดเป็น 36% ของยอดขายรวม ส่วนที่เหลือคือบ้านกลุ่มราคาต่ำกว่า 2.5 ล้านบาท สัดส่วน 10% กลุ่มราคา 10-20 ล้านบาท สัดส่วน 5% และมากกว่า 20 ล้านบาท สัดส่วน 4%
ด้านเทรนด์แบบบ้านที่น่าจับตามอง 4 เทรนด์หลัก ได้แก่ 1.บ้านรักษ์โลก ประหยัดพลังงาน 2.บ้าน 3 เจนเนอเรชั่น เป็นมิตรกับการอยู่อาศัยของผู้สูงอายุ 3.บ้านส่งเสริมไลฟ์สไตล์การอยู่อาศัยแบบครอบครัวขยายแต่ยังคงเป็นส่วนตัว ผู้บริโภคนิยมก่อสร้างบ้านสูง 3 ชั้นขึ้นไปเพื่ออยู่ร่วมกันได้ทั้งหมด และ 4.Innovative Living คือบ้านอัจฉริยะ สามารถสั่งการด้วยเทคโนโลยี เช่น เปิดปิดไฟฟ้า ผ้าม่าน เครื่องปรับอากาศ
ปรับค่าแรง 1 เม.ย. บ้านราคาขยับตาม 5%
ศิริพรกล่าวต่อว่า กรณีรัฐบาลจ่อปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแรงงานไทยทั่วประเทศ 5-22 บาท/วัน ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และคาดว่าจะเริ่มใช้อัตราค่าแรงขั้นต่ำใหม่ในวันที่ 1 เม.ย.61 นั้น สมาคมฯ มองว่าผลกระทบโดยตรงอาจมีไม่มากเพราะไม่ใช่อัตราการเพิ่มแบบก้าวกระโดด แต่อาจเป็นต้นทุนโดยอ้อมได้เพราะวัสดุก่อสร้างที่ใช้จะปรับขึ้นราคาตามค่าแรงขั้นต่ำ
ส่งผลให้ปลายทางเชื่อว่าหลังเดือนเมษายนนี้ บริษัทรับสร้างบ้านต่างๆ น่าจะปรับขึ้นราคาบ้านราว 2-3% หรือสูงสุดไม่เกิน 5% หลังจากที่ 1-2 ปีที่ผ่านมาแต่ละบริษัทพยายามตรึงราคาไม่ปรับขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อจากภาวะเศรษฐกิจค่อนข้างซบเซา
“แต่การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำมีผลดีกับเราด้วยเช่นกัน เพราะที่ผ่านมาภาคก่อสร้างมีปัญหาขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะปีก่อนที่รัฐบาลมีมาตรการควบคุมแรงงานประเทศเพื่อนบ้านทำให้ยิ่งมีแรงงานในระบบน้อยลง เมื่อปรับค่าแรงแล้วอาจจะจูงใจให้แรงงานเข้ามาทำงานในภาคก่อสร้างมากขึ้น” ศิริพรกล่าว
ศึกษาลู่ทางทำตลาด CLMV
ด้าน
วรวุฒิ กาญจนกูล เลขาธิการสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน (HBA) เปิดเผยว่า ขณะนี้สมาคมฯ ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กำลังอยู่ระหว่างศึกษาตลาดประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ เมียนมา สปป.ลาว และกัมพูชา เพื่อมองหาโอกาสที่บริษัทไทยจะเข้าไปเจาะตลาด
เบื้องต้นจากการสำรวจตลาด พบว่าประเทศที่น่าสนใจคือลาวและกัมพูชา โดยลาวมีปัจจัยบวกจากภาษาและวัฒนธรรมใกล้เคียงกับไทยมาก การโฆษณาประชาสัมพันธ์จะทำได้ง่าย และมีบางบริษัทไทยที่เคยเข้าไปรับงานในลาวมาแล้ว แต่ปัจจัยลบคือตลาดยังไม่เติบโตมากนัก
ในขณะที่กัมพูชา ช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจของกัมพูชามีการเติบโตสูงมาก แต่ทั้งนี้ประเทศกัมพูชามีความต่างทางชนชั้นค่อนข้างสูง ดังนั้นกลุ่มกำลังซื้อที่เป็นไปได้จึงต้องเป็นตลาดระดับบน เป็นบ้านมูลค่าสูงกว่า 20 ล้านบาท ทั้งนี้ ทั้งสองประเทศมีบริษัทรับสร้างบ้านท้องถิ่นอยู่แล้วบ้าง ซึ่งบริษัทเหล่านั้นมีความสนใจที่จะร่วมทุนกับบริษัทไทย
“ดูแล้วมีโอกาสมากเพราะแบรนด์ไทยมีความน่าเชื่อถือในหมู่ผู้ซื้อเพื่อนบ้าน บริษัทท้องถิ่นที่เขามีอยู่ก็ยังมีคุณภาพการก่อสร้างไม่เทียบเท่าไทย ดังนั้นเขาจึงต้องการร่วมทุนกับบริษัทไทยเพราะต้องการองค์ความรู้ แต่จะเกิดขึ้นได้ก็ต้องใช้เวลาทำความรู้จักคุ้นเคยกันก่อนระหว่างทั้งสองฝ่าย” วรวุฒิกล่าวปิดท้าย