ดีมานด์ที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุเพิ่ม 5% คาดบ้านหลังเกษียณพุ่ง 8 หมื่นยูนิตใน 20 ปี - Forbes Thailand

ดีมานด์ที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุเพิ่ม 5% คาดบ้านหลังเกษียณพุ่ง 8 หมื่นยูนิตใน 20 ปี

PR / PR NEWS
29 Sep 2017 | 05:03 PM
READ 3591
กมลภัทร แสวงกิจ ผู้จัดการใหญ่ประจำประเทศไทยของ ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ เว็บไซต์สื่อกลางอสังหาริมทรัพย์ ในเครือพร็อพเพอร์ตี้กูรู กรุ๊ป ประเทศสิงคโปร์ กล่าวว่า ดีดีพร็อพเพอร์ตี้สังเกตเห็นถึงศักยภาพการเติบโตของที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุได้จากผลสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคต่อสภาพตลาดอสังหาริมทรัพย์ โดยในผลสำรวจช่วงครึ่งปีหลังของปี 2559 และช่วงครึ่งปีแรกของปี 2560 ผู้บริโภคเริ่มให้ความสำคัญต่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุหรือเพื่อรองรับวัยเกษียณของตนเองในอนาคตเพิ่มมากขึ้น 5% ดีดีพร็อพเพอร์ตี้คาดการณ์ว่าแนวโน้มดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 5% ในการสำรวจรอบต่อไป และคาดว่าในอีก 20 ปีข้างหน้าดีมานด์ในที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนถึง 8 หมื่นยูนิต” “จากที่ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคทุกๆ 6 เดือน เราเชื่อว่าแนวโน้มความต้องการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุจะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นโอกาสอันดีของบรรดาผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ที่ผ่านมา เราเริ่มเห็นดีเวลอปเปอร์บางรายเริ่มเบนเข็มการพัฒนาสินค้าเพื่อตอบโจทย์ความต้องการดังกล่าวนี้แล้ว ซึ่งทางดีดีพร็อพเพอร์ตี้มองว่า นี่จะกลายเป็นเทรนด์สำคัญของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย และเราได้เฝ้าติดตามสถานการณ์นี้อย่างใกล้ชิด” กมลภัทรกล่าว
กมลภัทร แสวงกิจ ผู้จัดการใหญ่ประจำประเทศไทยของ ดีดีพร็อพเพอร์ตี้
ทั้งนี้ จากข้อมูลของ ธนาคารโลก ณ ปี 2559 ระบุว่า ร้อยละ 11 ของประชากรในประเทศไทยมีอายุ 65 ปีขึ้นไป เพิ่มจากที่สำรวจเมื่อปี 2538 หรือ 21 ปีก่อน มีผู้สูงวัยอายุมากกว่า 65 ปีอยู่เพียงร้อยละ 5 เท่านั้น และจากการคาดการณ์ของธนาคารโลก ในปี 2583 ประชากรไทยกว่า 17 ล้านคนหรือมากกว่าหนึ่งในสี่ของประชากรทั้งหมดจะมีอายุมากกว่า 65 ปี ความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สนับสนุนเทรนด์ดังกล่าว จากแต่เดิมที่คนไทยมักจะอยู่อาศัยกันเป็นครอบครัวใหญ่ ที่มีทั้งพ่อแม่และปู่ย่าตายาย และลูกหลานจะต้องดูแลผู้ใหญ่ในบ้านยามแก่เฒ่า แต่ในปัจจุบันรูปแบบสังคมมีการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งคนไทยและคนในภูมิภาคอาเซียนเริ่มมีมุมมองที่เปิดกว้างในเรื่องที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุมากขึ้น นอกจากนี้ ชาวต่างชาติวัยเกษียณ อาทิ ชาวญี่ปุ่น ชาวจีน และ ชาวยุโรป ที่มองหาที่อยู่อาศัยในประเทศไทย ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน ประเทศไทยนั้นมีข้อได้เปรียบเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น บริการทางสุขภาพที่ได้มาตรฐานระดับโลก ราคาที่อยู่อาศัยที่ยังถูกกว่าประเทศอื่นๆ วัฒนธรรมที่เป็นมิตร ภูมิอากาศเขตร้อนที่ไม่หนาวเกินไป รวมไปถึงการขอวีซ่าสำหรับวัยเกษียณที่มีขั้นตอนไม่ยุ่งยาก ในช่วงที่ผ่านมา มีโครงการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุหรือเป็นโครงการที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกตอบโจทย์การใช้ชีวิตของผู้สูงอายุทยอยเปิดตัวหลายแห่ง อาทิ จ.ปทุมธานี, อ.บางเสร่ จ.ชลบุรี, เกาะสมุย, จ.เชียงใหม่ และ จ.ภูเก็ต และยังมีอีกหลายโครงการที่เตรียมจะเปิดตัวอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ทางคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติร่างพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ (ฉบับที่...) พ.ศ.... เพื่อรองรับการดำเนินมาตรการให้เงินช่วยเหลือเพื่อการยังชีพแก่ผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งงบประมาณจะมาจากกองทุนผู้สูงอายุ สะท้อนให้เห็นถึงความตื่นตัวทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน