สุนันทา สมบุญธรรม ผู้สืบสาน “ธนิยะกรุ๊ป” - Forbes Thailand

สุนันทา สมบุญธรรม ผู้สืบสาน “ธนิยะกรุ๊ป”

จากรุ่น 1 แห่งธนิยะกรุ๊ป ผู้วางวิสัยทัศน์สะสมที่ดินทำเลทอง สู่รุ่น 2 สุนันทา สมบุญธรรม ผู้บริหารที่ดินให้งอกเงย พร้อมวางแผนสู่โครงการใหม่ “หมู่บ้านผู้สูงอายุ”

แม้แม่ทัพของกลุ่มธนิยะวัย 63 ปีอย่าง สุนันทา สมบุญธรรม จะอยู่ในช่วงเกษียณอายุแล้วแต่เธอก็ยังคงกุมบังเหียนบริษัทอย่างกระฉับกระเฉง หลังจากเดินตรวจรอบห้างสรรพสินค้าธัญญาพาร์ค ศรีนครินทร์อย่างที่ทำเป็นประจำ ประธานของกลุ่มธนิยะก็เปิดออฟฟิศให้  Forbes Thailand ได้พูดคุยถึงประวัติที่ผ่านมาของธนิยะจนถึงทิศทางอนาคต “คุณพ่อคุณแม่เป็นหมอและสะสมที่ดินด้วย เพราะทั้งสองท่านมองว่าที่ดินเป็นสิ่งที่หมดไปเรื่อยๆ ขณะที่จำนวนประชากรโตขึ้น อีกทั้งที่ดินยังราคาขึ้นได้มากกว่าราคาดอกเบี้ย” สุนันทาเล่าถึงจุดเริ่มต้นธุรกิจธนิยะในยุคของนายแพทย์ประเสริฐ สมบุญธรรม และแพทย์หญิงญดา สมบุญธรรม แพทย์ทั้งสองท่านมีวิธีมองหาที่ดินในยุคนั้นโดยการเลือกจากสถานที่สำคัญอย่างสถานทูตอังกฤษ สถานทูตญี่ปุ่นและองค์กรต่างประเทศต่างๆ ส่วนหนึ่งเนื่องจากวิชาชีพแพทย์ทำให้ต้องติดต่อซื้อขายยาและเวชภัณฑ์กับชาวต่างชาติ จึงทราบดีว่าบริเวณรอบๆ องค์กรต่างประเทศเหล่านี้จะมีความต้องการที่อยู่อาศัยของเหล่า “expat” จากต่างเมือง “แม้ที่ดินย่านเพลินจิต-ชิดลมในสมัยนั้นยังเป็นสวนผัก ทำเกษตรกรรม แต่ท่านก็ลงทุนซื้อ” สุนันทากล่าว คุณหมอทั้งสองมีโอกาสต่อยอดการสะสมที่ดินจากจุดนี้ โดยสร้างอะพาร์ตเมนต์ให้ชาวต่างชาติเช่า และต่อมายังได้รับการทาบทามจาก Sumitomo Real Estate ประเทศญี่ปุ่นให้ร่วมลงทุนหุ้น 50:50 เพื่อก่อสร้างอาคารธนิยะ บริเวณถนนสีลม โดยอาคารนี้จะเป็นสำนักงานของ Sumitomo และให้เช่าพื้นที่ที่เหลือ ตระกูลสมบุญธรรมผู้เป็นเจ้าของที่ดินตอบตกลง อาคารจึงได้เปิดใช้เมื่อปี 2513 ถือเป็นก้าวสำคัญของกลุ่มบริษัท (อย่างไรก็ตาม ช่วงวิกฤตเศรษฐกิจมีผลกระทบกับผู้ร่วมทุนฝั่งญี่ปุ่น Sumitomo จึงตัดสินใจขายหุ้น 50% ของโครงการนี้ให้กับธนิยะกรุ๊ป) ในขณะที่ชีวิตส่วนตัวของคุณหมอ มีทายาททั้งหมด 4 คน โดยสุนันทาเป็นลูกคนที่ 2 ของครอบครัว และเป็นคนเดียวที่ไม่ได้ศึกษาทางด้านการแพทย์ “พี่เห็นว่าการเป็นหมอเหนื่อยมาก ทั้งยังกลัวเลือดด้วยจึงสนใจเรื่องการค้าขายมากกว่า เป็นความสนใจตั้งแต่เด็กที่ได้ช่วยคุณพ่อคุณแม่ดูแลอะพาร์ตเมนต์ คลุกคลีอยู่ตลอด” หลังสุนันทาเรียนจบปริญญาตรีด้านพาณิชยศาสตร์ จาก University College of Dublin ประเทศไอร์แลนด์ และปริญญาโท MBA สาขาการเงิน จาก Suffolk University สหรัฐอเมริกา เธอบินกลับมาร่วมงานกับบริษัท ยูนิลีเวอร์ (ประเทศไทย) จำกัดอยู่ประมาณ 4-5 ปี แต่แล้วกลับมีเหตุให้ต้องออกจากธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภคเพื่อไปช่วยธุรกิจครอบครัว สุนันทาเล่าถึงยุคที่กลับมาช่วยครอบครัวว่า เป็นช่วงที่ครอบครัวเปิดอาคารธนิยะ (ปัจจุบันคืออาคารธนิยะ บีทีเอส บิลดิ้งซึ่งเชื่อมต่อกับสถานีบีทีเอสศาลาแดง) และอาคารญาดาไปแล้วระยะหนึ่ง เธอเล็งเห็นว่าผู้เช่าและพนักงานภายในตึกมีความต้องการจับจ่ายใช้สอย จึงร่วมกับนายแพทย์ประเสริฐ-แพทย์หญิงญดา ก่อสร้างอาคารธนิยะ พลาซ่า เพิ่มโดยต่อเชื่อมกับอาคารเดิม อาคารใหม่นี้เป็นตึกสูง 29 ชั้น มีพื้นที่เช่า 17,000 ตารางเมตร และจัดสรรพื้นที่ชั้น G ถึงชั้น 4 ให้เป็นพื้นที่เช่ารีเทลบริการร้านอาหาร ธนาคารไปรษณีย์ ฯลฯ อาคารใหม่สร้างเสร็จและเปิดใช้ในปี 2533 นับเป็นโครงการฝึกฝีมือของทายาทผู้เข้ามามีส่วนร่วมในการเสนอแนวคิด ก่อนจะเริ่มขยับไปสู่ธุรกิจใหม่ในทำเลต่างจังหวัด

ไร่สับปะรดสู่สนามกอล์ฟ

หลังจากโครงการอาคารธนิยะ พลาซ่า สุนันทาเริ่มมองแนวทางพัฒนาที่ดินแปลงอื่นๆ ของครอบครัว โดยตระกูลสมบุญธรรมมีที่ดินกว่า 2,000 ไร่ใน อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ซึ่งแม้จะอยู่ใกล้ชายทะเล แต่ช่วงปี 2533 นั้นแหล่งตากอากาศของคนไทยยังกระจุกตัว อยู่เฉพาะ อ.หัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ขณะที่อ.ชะอำ ยังเป็นพื้นที่ทำไร่อยู่ ด้วยความที่ชื่นชอบการตีกอล์ฟอยู่แล้ว และเห็นว่าพื้นที่ อ.ชะอำ มีภูมิอากาศดีเพราะอยู่ใกล้ทะเล การจะพัฒนาให้เป็นสนามกอล์ฟที่ดึงดูดคนทั้งในไทยและทั่วโลกให้มาออกรอบและท่องเที่ยวพักผ่อนนั้นมีความเป็นไปได้ เพียงแต่ต้องทุ่มลงทุนปลูกต้นไม้ยืนต้นในพื้นที่เพื่อสร้างโอโซนและความเขียวชอุ่มน่าพักผ่อน ระหว่างนั้น สุนันทาลงทุนติดต่อ Jack Nicklaus เซียนกอล์ฟระดับโลกเพื่อให้มาเป็นผู้ออกแบบสนามกอล์ฟ 27 หลุมบนที่ดินดังกล่าว และเปิดตัวโครงการสนามกอล์ฟสปริงฟิลด์ รอยัล คันทรี คลับ ขึ้นเมื่อปี 2536 พร้อมด้วยบริการรีสอร์ต สปริงฟิลด์ วิลเลจ กอล์ฟ แอนด์ สปา โฮเทล กว่า 100 ห้อง ภายในสนามกอล์ฟ นอกจากนี้ยังเปิดโรงแรมอีกแห่งหนึ่งห่างจากสนามกอล์ฟ 16 กิโลเมตรคือ สปริงฟิลด์ แอท ซี รีสอร์ท แอนด์ สปาซึ่งติดชายหาดชะอำ เป็นตัวเลือกที่พักให้ลูกค้า “ความสำเร็จที่เกิดขึ้นเรามองว่าไม่ใช่เฉพาะความสำเร็จของบริษัท แต่เป็นการทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่ได้มากขึ้น เราภูมิใจที่เข้าไปแล้วได้ช่วยสร้างงานให้คนในชุมชน พนักงานของเราเป็นคนในพื้นที่ที่มีรายได้พอส่งบุตรหลานเรียนถึงระดับปริญญาตรีโดยที่ไม่ต้องจากบ้านไปทำงานในกรุงเทพฯ ส่วนกำไรที่ได้ เรามีการแบ่งไปทำกิจกรรมซีเอสอาร์ในชุมชนตามที่คุณพ่อคุณแม่ฝากไว้ว่าไปทำธุรกิจที่ไหนต้องช่วยชุมชนด้วย”

โอกาส “บ้านผู้สูงอายุ”

ปัจจุบันรีสอร์ตในสนามกอล์ฟสปริงฟิลด์มีการพัฒนาเพื่อดึงดูดให้ลูกค้าเข้ามาพักผ่อน โดยการเสริมโปรแกรมรีทรีตเพื่อชะลอวัย (anti-aging) และสุนันทายังมีเป้าหมายต่อยอดบริการนี้ไปสู่โครงการใหม่ ผู้นำเครือธนิยะกำาลังวางแผนพัฒนาโครงการ Active Retirement Home หรือหมู่บ้านคนวัยเกษียณที่ยังช่วยเหลือตัวเองได้ โดยมองการพัฒนาบนที่ดิน 80 ไร่ใน อ.ชะอำ บริเวณเดียวกันกับสนามกอล์ฟ สปริงฟิลด์ ลักษณะเป็นโครงการอสังหา-ริมทรัพย์ที่มีทั้งส่วนขายขาดและให้เช่า เน้นกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้สูงวัยอายุ 50-55 ปีที่เกษียณอายุเร็วทั้งชาวต่างชาติและชาวไทย ทั้งนี้ ธนิยะอยู่ระหว่างพูดคุยกับพันธมิตรที่สนใจร่วมลงทุนจากต่างประเทศ โดยมีผู้สนใจ 2 ราย รายหนึ่งจากออสเตรเลียและอีกรายจากสิงคโปร์ “สิ่งที่เราหาจากพาร์ทเนอร์คือ know-how, เงินทุน และเทคโนโลยี ต้องการคนที่มีความเชี่ยวชาญด้านการดูแลผู้สูงอายุ” สุนันทากล่าวด้วยว่าแม้ในไทยจะเริ่มมีหมู่บ้านผู้สูงวัยบ้างแล้ว แต่โมเดลที่บริษัทกำลังศึกษาจะเป็นบ้านในประเทศญี่ปุ่นและทวีปยุโรปซึ่งเข้าสู่สังคมสูงวัยมาก่อนประเทศไทย

ห้างฯ ที่เกิดจาก passion

สำหรับการพัฒนารีเทล นอกจากพื้นที่เช่าที่อยู่ในอาคารธนิยะทั้ง 2 อาคารแล้ว สุนันทายังขยายการพัฒนาเป็นพื้นที่รีเทลเต็มรูปแบบที่ศูนย์การค้าธัญญาพาร์ค ถนนศรีนครินทร์ งบลงทุนราว 2 พันล้าน  “พี่ไปดูหนังเรื่อง The Inconvenient Truth ทำให้ได้ฉุกคิดขึ้นมาว่าเราอยากจะทำอะไรเพื่อสิ่งแวดล้อมในธุรกิจของเรา จึงพัฒนาธัญญาพาร์คซึ่งเป็นห้างฯ ที่ไม่ต้องติดแอร์และมีพื้นที่สีเขียว” สุนันทาอธิบายว่า เธอวางคอนเซปท์ให้ห้างสรรพสินค้านี้เป็น sustainable retail ตั้งแต่โครงสร้างอาคารที่ออกแบบให้ไม่ต้องติดแอร์ จึงต้องหันมุมให้ลมหมุนเวียนในอาคารได้ ติดตั้งกระจก Low-E ซึ่งช่วยกรองแสงลดความร้อน และใช้เทคโนโลยีประหยัดพลังงาน เช่น ติดตั้งโซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้าใช้ในอาคาร พลังงานการหมุนของบันไดเลื่อนนำกลับมาใช้ใหม่ได้ วิธีออกแบบอาคารของธัญญาพาร์คถือว่าท้าทายผู้บริโภคมาก เนื่องจากเป็นห้างฯ ขนาดใหญ่ที่ไม่ติดเครื่องปรับอากาศและถูกมองว่าทางเดินมีความซับซ้อนจากการต่อเชื่อมหลายอาคาร อย่างไรก็ตาม ด้วยทำเลของห้างฯ ที่อยู่ในพื้นที่เรดโอเชียน แวดล้อมด้วยศูนย์การค้าจำนวนมาก และด้วยคอนเซปท์ห้างฯ ที่แตกต่างของธัญญาพาร์ค ทำให้แข่งขันค่อนข้างลำบาก แต่ในที่สุดธัญญาพาร์คก็สามารถสร้างแม่เหล็กสำคัญดึงดูดคนเข้ามาใช้บริการ ด้วยสำนักงานหนังสือเดินทางที่ย้ายจากเซ็นทรัล บางนา มาเปิดบริการในธัญญาพาร์คตั้งแต่ปลายปี 2557 ซึ่งทำให้ทราฟฟิกของลูกค้าดีขึ้นมาก จากจุดนี้ห้างฯ จึงดึงหน่วยงานภาครัฐเข้ามาเปิดบริการอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันช่วง peak hour ของธัญญาพาร์คเป็นช่วง 11.00-15.00 น. ของวันจันทร์-ศุกร์สวนทางศูนย์การค้าอื่นที่จะมีทราฟฟิกมากในวันหยุด “เมื่อรถไฟฟ้าสายสีเหลืองสร้างเสร็จราวปี 2564 สถานีคลองกลันตันจะอยู่หน้าห้างฯ ธัญญาพาร์คของเราเลย ก็หวังว่าจะช่วยดึงดูดคนมาใช้บริการมากขึ้น เป็นกลุ่มเป้าหมายครอบครัวที่ไม่ต้องการความแออัดในเมืองหรือห้างฯ อื่นๆ” ด้วยวัย 63 ปีของสุนันทา เธอจึงเตรียมการส่งธุรกิจต่อให้กับคนในตระกูล ทั้งนี้เธอไม่มีทายาทโดยตรง แต่มีหลานๆ ที่เริ่มเข้ามาช่วยกิจการบ้างแล้ว ตระกูลสมบุญธรรม จึงมีการจัดทำธรรมนูญครอบครัวไว้เพื่อให้มีระเบียบวิธีในการบริหารธุรกิจ การทำกิจกรรมเพื่อสังคมของตระกูลนั้นอยู่ภายใต้มูลนิธิเซนต์โยเซฟที่นายแพทย์ประเสริฐก่อตั้งขึ้น และสุนันทาได้สืบทอดต่อมา แต่เธอไม่สามารถเปิดเผยได้ว่าแต่ละปีมีการบริจาคเพื่อสังคมเป็นมูลค่าเท่าไหร่ “ทำบุญมือขวาอย่าให้มือซ้ายรู้” สุนันทากล่าวด้วยรอยยิ้มถึงสุภาษิตคำสอนของศาสนาคริสต์ที่หมายถึง การทำทานต้องไม่ป่าวประกาศ ทั้งนี้ มูลนิธิเซนต์โยเซฟในปัจจุบันจะเน้นการบริจาคเครื่องมือแพทย์ในโรงพยาบาลที่ขาดแคลนและการสร้างโรงเรียน  “ความมั่งคั่งที่กระจายออกไปนั้นงอกงามกว่า อยู่ในธนาคารเงินก็เป็นแค่กระดาษการให้อะไรกลับคืนกับสังคมต่างหาก ที่จะทำให้เรายืนได้มั่นคง”   ภาพ: กิตติเดช เจริญพร คลิกอ่านฉบับเต็มของ “สุนันทา สมบุญธรรม ผู้สืบสาน “ธนิยะกรุ๊ป”” ได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับ มกราคา 2562 ในรูปแบบ e-Magazine