เส้นทางแห่งพรหมลิขิตที่เริ่มต้นจากคำชักชวนของหลงจู๊ได้นำพาให้ นุชนารถ รัตน-สุวรรณชาติ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บางกอก เดค-คอน จำกัด (มหาชน) หรือ BKD ก้าวสู่ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ตั้งแต่อายุเพียง 18 ปี ในช่วงเวลาแห่งความสูญเสีย นับตั้งแต่บิดาเสียชีวิตและมารดาไม่อาจประคับประคองกิจการต่อได้ ทั้งยังมีภาระหนี้หลายแสนบาทยิ่งฉุดให้กิจการค้าปูนซีเมนต์ของครอบครัวต้องจมดิ่ง
“ช่วงแรกที่เริ่มธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ เราบอกหลงจู๊ท่านนั้นว่าเราไม่มีเงินทุน ท่านออกปากให้เราสามารถชำระหนี้คืนระหว่างทางได้ เพราะท่านมองว่า เราชอบและตั้งใจค้าขายจริง สุดท้ายจึงกู้เงินมาครึ่งหนึ่งจ่ายให้หลงจู๊ก่อน 1 ล้านบาท และทยอยผ่อนอีก 1 ล้านบาทซึ่งท่านยังมาช่วยเป็นผู้จัดการให้และคอยสอนงานในระยะหนึ่ง” โรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์ขาเหล็กสำหรับขายส่งจึงได้เริ่มต้นขึ้นในปี 2528 ได้รับผลตอบรับดีจนสามารถรวบรวมเงินชดใช้หนี้สินทั้งหมด และนำเงินส่วนที่เหลือสร้างโรงงานแห่งใหม่ ขยายธุรกิจเพิ่มการผลิตเฟอร์นิเจอร์ไม้ยางพาราตรา “I-Relax” เพื่อส่งขายทั้งในและต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม สภาวะการทำธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ทวีความรุนแรงทำให้นุชนารถต้องหาทางรอดด้วยการแตกยอดธุรกิจรับเหมาตกแต่งภายในในปี 2536 และเริ่มลดงานผลิตและจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์ลงจนกระทั่งเน้นการตกแต่งภายในอย่างเต็มรูปแบบในปี 2543 พร้อมเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น บริษัท บางกอก เดคคอน จำกัด ฝ่ากลโกงให้อยู่รอด แม้การดำเนินธุรกิจจะราบรื่นมาด้วยดี แต่ย้อนไปราว 10 ปีก่อน ผู้ประกอบการหญิงแกร่งอย่างนุชนารถก็ถูกท้าทายด้วยสถานการณ์ที่คาดไม่ถึง เมื่อเธอไว้ใจคนผิด ทำให้ถูกเจ้าของกิจการโรงแรมที่มีภาพลักษณ์ของผู้มีฐานะมั่งคั่งกลับชักดาบค่าตกแต่งภายในของโรงแรมแห่งหนึ่งมูลค่ากว่า 100 ล้านบาท จากข้อกำหนดทางกฎหมายที่ว่า งานที่สำเร็จในพื้นที่ของลูกค้าจะกลายเป็นทรัพย์สินของลูกค้า และถึงแม้จะฟ้องร้อง แต่การดำเนินคดีมักจะใช้เวลานับสิบปีซึ่งทำให้เสียเวลาและค่าใช้จ่าย ดังนั้นทางออกที่ดีคือ การตรวจสอบข้อมูลความน่าเชื่อถือให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เหตุการณ์ครั้งนี้ นุชนารถเปิดใจว่าเป็นบทเรียนที่สอนตัวเธอว่าจะไม่ไว้ใจเลือกรับงานจากฐานะที่แสดงออกโดยไม่ตรวจสอบภูมิหลังที่ผ่านมา ซึ่งภายหลังเธอกลับค้นพบว่าเหล่าลูกค้าที่มีเงินไม่มากหรืองบประมาณจำกัด กลับมีความซื่อตรงในการชำระเงินมากกว่าเสียอีก ความท้าทายด้านการแข่งขันล่าสุดที่บริษัทต้องเผชิญหลังจากประเทศจีนรุกทำตลาดด้วยต้นทุนต่ำกว่า นุชนารถจึงตัดสินใจแปรสภาพธุรกิจเป็นมหาชนภายใต้ชื่อ บมจ. บางกอก เดค-คอน (BKD) ระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในปี 2556 เน้นงานกำไรกว่า 20% นุชนารถเล่าถึงทิศทางการเติบโตของ BKD ว่า หลังจากที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ บริษัทสามารถทำยอดขายเติบโต 20-30% ต่อปีมาโดยตลอดจนสามารถทะลุกว่า 1 พันล้านบาทตั้งแต่ปี 2558 กระนั้น นุชนารถยังมุ่งเน้นให้บริษัทค่อยๆ เติบโตอย่างมั่นคง จึงไม่รับงานที่ใหญ่เกินกำลังบริษัทฯ และแต่ละโครงการจะต้องมีกำไรขั้นต้นไม่น้อยกว่า 20% ทั้งนี้ ธุรกิจหลักของ BKD ที่สร้างรายได้หลักราว 90% ของรายได้รวมคือ ธุรกิจรับจ้างตกแต่ง และปรับปรุงอาคาร โดยมีในแบบ prefab ซึ่งเป็นการเตรียมงานส่วนใหญ่ภายในบริษัท และนำไปติดตั้ง เพื่อให้ใช้เวลาในการติดตั้งน้อยที่สุด และทาง BKD ยังมีการบริการรับจ้างตกแต่งตามราคาที่ลูกค้ากำหนด (budget) โดยบริษัทได้กำหนดมาตรฐานการรับงานไว้ที่มูลค่าตั้งแต่ 50 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งในปัจจุบันมูลค่าโครงการเฉลี่ยที่บริษัทให้บริการอยู่ที่ 200 ล้านบาทขึ้นไป “เราเน้นประมูลงานราชการเพราะเชื่อว่าอย่างไรก็ไม่โดนโกงแม้จะได้เงินช้าและทำให้ต้องจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ให้ธนาคารบ้าง” นุชนารถกล่าวถึงรายได้จากงานราชการคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 80% ของรายได้ทั้งหมด และยังคงสัดส่วนดังกล่าวต่อไปในระยะยาว ด้วยเงื่อนไขที่ว่า ผู้ให้บริการที่จะคว้างานได้มักต้องเสนอราคาต่ำที่สุด ทำให้การควบคุมต้นทุนให้มีประสิทธิภาพคือโจทย์สำคัญ กลยุทธ์ที่นำมาใช้คือการยอมจ่ายเงินสดเพื่อขอส่วนลดพิเศษจากซัพพลายเออร์ได้อีก 10-20% รวมถึงจากการเป็นบริษัทที่จดทะเบียนฯ ก็มีส่วนทำให้การต่อรองและเจรจาการค้ากับพันธมิตรต่างๆ เป็นไปได้ง่าย กระนั้นแม้ตลาดในประเทศจะยังคงรุ่งเรืองแต่นุชนารถก็ไม่ปล่อยให้โอกาสที่จะขยายไปต่างประเทศต้องหลุดลอย และเป็นอีกครั้งที่เธอยอมรับว่าเป็นเรื่องของ “โชค” ที่มีผู้แนะนำให้ได้รู้จักกับเจ้าของ Chip Mong Group Co., Ltd. ซึ่งมีบริษัทในเครือมากมายในกัมพูชา รวมถึงโครงการหมู่บ้านจัดสรร The Park Land Sen Sok ในกรุง Phnom Penh ซึ่งมีขนาดโครงการใหญ่เป็นอันดับสองของกัมพูชา ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง Chip Mong Land และ BKD บริษัทเริ่มต้นรับงานติดตั้งตู้โทรทัศน์และครัวให้ลูกค้าที่ซื้อบ้านในเฟสแรกกว่า 900 หลังคาเรือน โดยอยู่ในข้อตกลงที่ทาง BKD จะต้องไม่ไปให้บริการตกแต่งภายในแก่หมู่บ้านจัดสรรของผู้ประกอบการรายอื่นและ Chip Mong Land ก็จะให้ BKD เป็นพันธมิตรเพียงรายเดียวที่มาตกแต่งภายในโครงการของตนเช่นกัน การบริหารคนนับเป็นเรื่องสาหัสในธุรกิจตกแต่งภายใน เพราะนอกจากเป็นงานที่ใช้คนจำนวนมากแล้ว ธุรกิจดังกล่าวยังต้องเผชิญกับปัญหาขาดแคลนแรงงานที่มีความถนัดเฉพาะด้านอีกด้วย ซึ่งสไตล์การบริหารแบบนายหญิงเธอเน้นย้ำว่า “การเป็นผู้บริหารหญิงไม่ต้องมีหลักการอะไรเป็นพิเศษ แต่เชื่อในแนวคิดของเราว่าอะไรถูกหรือผิด ซึ่งเป็นธรรมชาติ ถ้าหากลูกน้องคนไหนไม่ชอบสไตล์การบริหารแบบเรา วันหนึ่งก็คงไม่อยู่ จึงไม่เกี่ยวว่าเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย” ผสานบทผู้นำและมารดา นุชนารถมีบุตรสาวคนเดียวนาม ณัฐนันท์ ประสงค์ชัยกุล วัย 27 ปี ซึ่งเริ่มมาเรียนรู้งานที่ BKD ในฐานะ ผู้จัดการทั่วไป สำหรับการบริหารชีวิตให้สมดุลทั้งในแง่ความเป็นผู้นำองค์กรและความเป็นมารดานั้น นุชนารถกล่าวว่า แม้เธอเลือกที่จะให้ความสำคัญกับบุตรสาวเป็นอันดับสองรองจากงานเพราะมองว่าภารกิจที่หนักหนากว่าคือการดูแลพนักงานอีกหลายร้อยชีวิต ซึ่งเธอจำต้องทำให้ธุรกิจเดินหน้าไปได้ด้วยดี แต่สิ่งสำคัญที่ผู้เป็นแม่ต้องให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่อง คือ การศึกษา สุขภาพ และวางแผนสำหรับอนาคต นอกจากนี้ เธอยังคาดหวังให้ณัฐนันท์เข้ามาสืบทอดกิจการต่อ ซึ่งณัฐนันท์ได้เข้ามารับผิดชอบงานด้านนักลงทุนสัมพันธ์มากว่า 2 ปีแล้ว พร้อมกับดูแลด้านการบริหารต้นทุนและงานขาย “เราบอกลูกว่า ‘หม่าม้าจะปลดเกษียณตอนแป้งทำงานได้ 5 ปีแล้ว’ แต่ลูกกลับไม่เชื่อว่าเราจะวางมือจริงๆ” เธอกล่าวพลางหัวเราะ เพราะในความเป็นจริงนั้นใครๆ ก็รู้ว่า นุชนารถเป็นหญิงแกร่งที่ไม่เคยหยุดนิ่งคลิกอ่าน "นุชนารถ รัตนสุวรรณชาติ โชคชะตาพลิกผัน สู่วิถีผู้นำ BKD" ฉบับเต็ม ได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ พฤษภาคม 2560 ในรูปแบบ e-Magazine